Skip to main content

สงครามในยุค globalization เราจะพบว่าไม่ใช่สงครามที่เกิดขึ้นเฉพาะ "คู่สงครามในพื้นที่สงคราม" เท่านั้น แต่มันจะเป็นสงครามที่เกิดขึ้น "ทั้งโลก" โดยที่สงครามที่เกิดขึ้นในพื้นที่จะเป็นสงครามจริงๆ มีความสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และความสูญเสียอื่นๆจริง ตามบริบทของอาวุธและกลยุทธ์สงครามที่ใช้ในการสงครามของแต่ละฝ่าย

 

ในขณะที่ในพื้นที่นอกสงคราม ซึ่งแผ่วงกว้างออกไปตามเงื่อนไขของการรับรู้ข่าวสารของสงครามที่ได้เกิดขึ้น และกำลังเกิดขึ้น ซึ่งในบริบทของเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ได้ทำให้คนนอกพื้นที่สงครามรับรู้สิ่งที่เกิดในพื้นที่สงครามราวกับว่า ได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่สงครามจริงๆ

 

ซึ่ง ณ พื้นที่นอกเขตสงครามก็เกิด "สงคราม" ขึ้นเช่นเดียวกันระหว่างมวลชนที่เห็นด้วย สนับสนุน หรือเห็นด้วยกับคู่สงครามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สงครามนอกเขตสงครามนี้ ไม่ผิดนักหากจะเรียกว่า สงครามความคิด สงครามความรู้สึก หรือสงครามข้อมูลข่าวสารระหว่างผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่าย ซึ่งต่างหยิบยกกันขึ้นมา "สู้รบกันบนสนามรบไร้พรมแดนอย่าง Social Network " ดุเดือดเลือดพล่านไม่เป็นรองสงครามในพื้นที่สงครามจริง

 

ลักษณะสงครามนอกพื้นที่สงครามเช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับนบีมูหัมมัด ศ็อลฯ และบรรดาศอหาบะฮฺ ในคราวที่มีสงครามระหว่าง 2 มหาอำนาจในขณะนั้นคือสงครามระหว่าง "จักรวรรดิโรมัน" กับ "จักรวรรดิเปอร์เซีย" ซึ่งนบี ศ็อลฯและศอหาบะฮฺ อยู่ข้างโรมัน เพราะในขณะนั้นโรมันนับถือพระเจ้า ในขณะที่ชาวมุชรีกีนมักกะฮฺเชียร์ข้างเปอร์เซีย เพราะเป็นพวกบูชาไฟ หรือเป็นมุชรีกีนด้วยกัน เป็นต้น

 

จะเห็นได้ว่า คู่สงคราม จะมีผู้สนับสนุนจากนอกเขตพื้นที่สงคราม ตามบริบทของ ศาสนา สติปัญญา ชาติพันธ์ อุดมการณ์ แนวคิด ผลประโยชน์ ฐานะ ตำแหน่ง และหรือรวมถึง แนวโน้มทางอารมณ์ของปัจเจกชน หรือหลุ่มชนนั้น และรวมถึง การเข้าถึงข้อมูลของสงครามด้วย เป็นต้น

 

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกที่เมื่อเกิดสงครามขึ้น ในระดับประเทศ หรือรัฐ จะคิดหนักในการเลือกข้างว่า จะอยู่ข้างไหน หรือจะสนับสนุนข้างไหนของ "คู่สงคราม" เพราะจะต้องชั่งน้ำหนักผลดีผลเสีย และผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศ และโดยเฉพาะ "ตำแหน่ง"

เฉพาะอย่างยิ่งหากคู่สงครามฝ่ายหนึ่งมี "มหาอำนาจ" หนุนหลังด้วยแล้ว ก็อาจจะคิดหนักเป็นหลายเท่า และยิ่งมหาอำนาจมีศักยภาพสามารถนำเสนอ การสู้รบผ่านรายการทีวีให้เห็นจะๆว่า หากอยู่ฝ่ายตรงข้ามจะเกิดความสูญเสียอย่างไร แบบ "เชือดไก่ให้ลิงดู" ด้วยแล้ว ยิ่งแล้วใหญ่ ดังเคยเกิดขึ้นมาแล้วในตะวันออกกลางเมื่อครั้งสงครามอ่าวเปอร์เซีย

 

ในขณะที่ระดับ "ปัจเจกชน" จะมีอิสระกว่า และจะแสดงการสนับสนุนออกมาว่าอยู่ข้างไหนที่ชัดเจน ตามบริบทของ ศาสนา สติปัญญา ชาติพันธ์ อุดมการณ์ แนวคิด ผลประโยชน์ ฐานะ ตำแหน่ง และหรือรวมถึง แนวโน้มทางอารมณ์ของปัจเจกชน หรือกลุ่มชนนั้น รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของสงคราม ดังกล่าวแล้ว

ใครที่เคยศึกษาประวัติศาสตร์อิสลามจะพบว่า เมื่อนบี ศ็อลฯ ได้สถาปนารัฐอิสลามขึ้น ณ นครมาดีนะฮฺ พลันอาหรับมุชรีกีนก็ยกทัพมาหวังบดขยี้รัฐอิสลาม โดยมี “พันธมิตร” จากกลุ่ม “ยิวและคริสเตียน” ให้การสนับสนุน และมี “ไส้ศึก” จากภายในนครมาดีนะฮฺ คือพวก “มุนาฟิกีน” แอบให้การสนับสนุนจากภายในอย่างลับๆ ซึ่งอัลกุรอานก็ได้กล่าวไว้ เสมือนหนึ่งเป็น “สูตรสำเร็จ” ที่บรรดาศรัทธาชนจะต้องเผชิญกับ “สูตรสำเร็จ” ของศัตรูอิสลามในลักษณาการที่กล่าวข้างตนจวบจนถึงวันกิยามะฮฺ

 

การศึกษาอัลกุรอานและประวัติศาสตร์จะทำให้เราได้รู้ว่า จะต้องเผชิญกับอุปสรรคต่างๆจากกลุ่มต่างๆ เพื่อจะได้ไม่ต้อง “แปลกใจ” ว่าทำไม? เพราะอะไร? และเราจะต้องเตรียมพร้อมในการ “ต่อสู้ในสนามความคิด” ด้วย “อาวุธแห่งการนำเสนอ” ที่ดีที่สุดตามที่อัลกุรอานกำหนดไว้ วัลลอฮฺฮูอะอฺลัม