Skip to main content
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์  (อับดุลสุโก ดินอะ)
ฝ่ายวิชาการโครงการพัฒนาเครือข่ายตำบลสุขภาวะจังหวัดชายแดนใต้
อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยทักษิณ
ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ
อ.จะนะ  จ.สงขลา         
http://www.oknation.net/blog/shukur
 

  "มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัล ลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลกขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ศาสนฑูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน"

“รายอแน” เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต ซึ่งเป็นประเพณี แม้ไม่มีระบุในคำสอนของศาสนาก็คือ จะถือโอกาสนี้เฉลิมฉลองกันอีกครั้ง มีการทำอาหารเลี้ยงกัน ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษที่เสียชีวิต เยี่ยมกุโบร์ (สุสาน) ทำความสะอาดกุโบร์ และอ่านอัลกุรอาน    มุสลิมมลายูที่นี่เรียกวันนี้ว่า “รายอแน”

ในปีนี้วันรายอแนตรงกับวันที่  4 สิงหาคม 2557  เหตุที่เรียกว่า “รายอแน” มาจากภาษามลายู เพราะ “แน” แปลว่า “หก” หมายถึงการถือศีลอดเพิ่มอีก 6 วันในเดือนเชาวาลนั่นเอง และเป็นสิ่งที่พี่น้องมลายูมุสลิมปฏิบัติสืบเนื่องกันมากระทั่งถึงทุกวันนี้

ทำไม มุสลิมมลายูมุสลิมชายแดนใต้จึงจัดให้มีรายอแน ทั้งๆที่ไม่มีระบุในหลักศาสนาหรือวิถีวัฒนธรรมของชาวอาหรับ หรือชุมชนมุสลิมประเทศอื่น

ครับ ผู้เขียนมีทัศนะว่านี่น่าจะเป็นอุบายหรือเป็นความชาญฉลาดของผู้รู้ในอดีตที่เป้าประสงค์หลายประการดังนี้

๑. ต้องการให้คนในหมู่บ้านได้ถือศีลอด หกวัน หลังรอมฎอน เพราะการถือศีลอดในหกวันของเดือนรอมฎอนนั้น ท่านศาสนทูตสนับสนุน ซึ่งท่านได้กล่าวไว้ความว่า

“ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน แล้วเขาได้ถือศีลอดต่ออีกหกวันในเดือนเชาวาล นั่นเสมือนกับว่าเขาได้ถือศีลอดถึงหนึ่งปี” (บันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1164)

โต๊ะครูในอดีต จึงนัดชาวบ้านทำอาหาร เพื่อขอบคุณพระเจ้าที่เขาและชุมชนโดยเฉพาะคนแก่ๆสามารถถือศีลอดเต็มหกวัน ซึ่งไม่ใช่ง่ายเช่นกันที่แต่ละคนจะทำได้ และ จึงเรียกวันวันนั้นว่า รายอแน เป็นคำเรียกด้านภาษา มิใช่รายอ หรือความหมายตามศาสนบัญญัติซึ่งในอิสลามมีเพียงสองวันเท่านั้น คือ อิดิลฟิตรฺ และอีดิลอัฎฮา  

โดยท่านศาสนฑูตมูฮัมมัด ได้กล่าวไว้ความ ว่า "อัลลอฮฺทรงเปลี่ยนสองวันนี้ (ที่พวกท่านกำลังฉลองอยู่ตามประเพณีอาหรับโบราณ) ด้วยสองวันอันประเสริฐยิ่งกว่า คือ วันอีดิ้ลฟิตรฺ และวันอีดิลอัฎฮา"

ซึ่งหาก มุสลิมคนใดถือว่าวันนี้ เป็นวันหรือคำด้านศาสนบัญญัติก็จะเป็นบิดอะห์ทันที และผมก็มั่นใจว่าอุลามาอ์ในอดีตคงมีองค์ความรู้พอ เพียง อุลามาอ์รุ่นหลังจะต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจ

 ประเด็นต่อมา การเยี่ยมเยียน ญาติพี่น้อง  อันเนื่องมาจากคนมลายูมุสลิมมีญาติเยอะและนิยมเยี่ยมญาติ การเยี่ยมญาติหรือแม้กระทั่งสุสานญาติไม่ว่าฝ่ายสามี หรือภรรยา ในวันอีดเพียงวันเดียวไม่เพียงพอต้องใช้เวลา

ครั้นจะเยี่ยมญาติต่อเลยในวันอีดดิลฟิตร์ ก็ติดกับการถือศีลอดอีกหกวัน ซึ่งถ้าหยุดการถือศีลอดหลายๆวัน เขาก็กลัวว่าจะไม่สามารถต่อให้ติด ดังนั้นจึงตัดสินใจถือศีลอดต่อ พอถือศีลอดเสร็จ วันที่เจ็ดจึงตั้งเป็นประเพณี ให้วันเยี่ยมญาติกัน และเป็นที่รู้ก็ของชาวบ้าน ซึ่งการเยี่ยมญาติ การเยี่ยมสุสานศาสนาสนับสนุนอยู่แล้วเพียงแต่ไม่ได้ระบุวันเวลาที่ชัดเจน ดังนั้นการนัดจนเป็นประเพณี จึงง่ายในการจัดการชุมชน ซึ่งมันไม่ใช่อีบาด๊ะห์ที่เจาะจง

๒. ประเพณีการละหมาดตัสบีฮฺ ในวันนี้ก็เช่นกันขอชี้แจงดังนี้

การละหมาดตสบีฮฺตามหลักศาสนาพบว่ามีหะดีษเกี่ยวกับการละหมาดตัสบีฮฺนั้นรายงานโดยอบูดาวูด, อิบนุมาญะฮฺ ; อิบนุ คุซัยมะฮฺในซ่อฮีฮฺของเขา และอัฏฏอบรอนีย์ และมีการรายงานจากสายรายงานมากมายและกลุ่มหนึ่งจากเหล่าซอฮาบะฮฺ ดังที่อัลฮาฟิซฺ อิบนุ ฮะญัรกล่าวเอาไว้ อาทิเช่น หะดีษของอิกริมะฮฺ อิบนุ อับบ๊าสฺ ซึ่งท่านร่อซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้กล่าวในหะดีษนั้นกับท่านอัลอับบ๊าส อิบนุ อับดิลมุฏฎ่อลิบว่า : “หากว่าท่านสามารถที่จะละหมาดตัสบีฮฺ 1 ครั้งในทุก ๆ วัน ท่านก็จงทำเถิด และถ้าหากท่านไม่สามารถก็ให้ละหมาดในทุกศุกร์ (สัปดาห์) 1 ครั้ง ถ้าหากท่านไม่ทำก็ให้ละหมาด 1 ครั้งในทุก ๆ ปี และถ้าหากท่านไม่ทำก็ให้ละหมาด 1 ครั้งในชั่วชีวิตของท่าน”

 นักท่องจำหะดีษกลุ่มหนึ่งถือว่าหะดีษนี้ถูกต้อง (ซ่อฮีฮฺ) ท่านอิหม่ามอันนะวาวีย์ (ร.ฮ.) กล่าวว่า : อัตติรมีซีย์กล่าวว่า : แท้จริงมีหะดีษมากกว่า 1 บทถูกรายงานจากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในเรื่องละหมาดตัสบีฮฺ และมีจำนวนมากไม่ซ่อฮีฮฺ ท่านอิบนุ อัลมุบาร็อกและท่านอื่น ๆ จากนักวิชาการมีความเห็นว่าส่งเสริมให้ละหมาดตัสบีฮฺและพวกเขาได้ระบุถึงความประเสริฐในการละหมาดตัสบีฮฺเอาไว้

ท่านอิหม่ามอบูบักร อิบนุ อัลอะรอบีย์ได้กล่าวไว้ในตำราอัลอะฮฺวะซีย์ ฟี ชัรฮิ อัตติรมีซีย์ หะดีษของอบีรอฟิอฺ (ที่อิหม่ามอัตติรมีซีย์ รายงานเอาไว้และระบุว่าเป็นหะดีษฆ่อรีบ) นี้เป็นหะดีษอ่อน (ฎ่ออีฟ) ไม่มีที่มาสำหรับเรื่องนี้ไม่ว่าหะดีษซ่อฮีฮฺหรือฮะซัน ที่ท่านอัตติรมีซีย์ระบุหะดีษนี้เอาไว้เพื่อเตือนให้รู้และไม่ถูกหลอก และคำกล่าวของอิบนุ อัลมุบาร็อกนั้นมิใช่หลักฐาน นี่เป็นคำพูดของอบูบักร อิบนุ อัลอะรอบีย์ และอัลอุกอยลีย์กล่าวว่า : ไม่มีหะดีษที่ถูกต้องในเรื่องการละหมาดตัสบีฮฺ และอิหม่ามอันนะวาวีย์กล่าวว่า : กลุ่มหนึ่งจากบรรดาอิหม่ามของอัศฮาบุชชาฟิอียะฮฺระบุว่าส่งเสริมให้ละหมาดตัสบีฮฺนี้ เช่น อบูมุฮำหมัด อัลบัฆวีย์ และอบุลฮะซัน อัรรูยานีย์ (อัลอัซก๊าร, อันนะวาวีย์ หน้า 168-169)

ท่านชัยค์ อะฏียะฮฺ ศ็อกฺร์ กล่าวว่า : สามารถกล่าวได้ว่าไม่มีข้อห้ามจากการละหมาดตัสบีฮฺ เพราะเป็นเรื่องของความประเสริฐ (ฟะฎีละฮฺ) และบรรดาหะดีษที่อ่อนนั้นถูกยอมรับในเรื่องฟะฎออิลุ้ลอะอฺม๊าลฺ ดังที่นักวิชาการจำนวนมากกล่าวเอาไว้ และการละหมาดตัสบีฮฺเป็นประเภทหนึ่งของการละหมาด มีการซิกรุ้ลลอฮฺในการละหมาดและไม่ได้รวมเอาสิ่งที่ค้านกับหลักมูลฐานที่ถูกต้อง

ส่วนวิธีการละหมาดตัสบีฮฺนั้นคือ มี 4 ร็อกอะฮฺให้ละหมาดทีละ 2 รอกอะฮฺ หรือจะละหมาด 4 รอกอะฮฺรวดเดียวก็ได้ โดยให้ผู้ละหมาดอ่านในแต่ละรอกอะฮฺซึ่งซูเราะฮฺฟาติฮะฮฺและซูเราะฮฺ หลังอ่านซูเราะฮฺก่อนการรุ่กัวอฺให้กล่าวตัสบีฮฺ 15 ครั้ง ในการรุ่กัวอฺ 10 ครั้ง ในการอิอฺติด้าล 10 ครั้ง ในการสุหญูดครั้งแรก 10 ครั้ง ในการนั่งระหว่าง 2 สุหญูด 10 ครั้ง ในการสุหญูดครั้งที่ 2 ให้อ่านตัสบีฮฺ 10 ครั้ง หลังการสุหญูดครั้งที่ 2 ให้อ่านตัสบีฮฺ 10 ครั้ง รวมใน 1 รอกอะฮฺมีการอ่านตัสบีฮฺ 75 ครั้ง และใน 4 รอกอะฮฺ มีการอ่านทั้งหมด 300 ครั้ง และการกล่าวตัสบีฮฺนี้ไม่มีสำนวนที่แน่นอน ให้กล่าวว่า “ซุบฮานัลลอฮฺ วัลฮัมดุลิลลาฮฺ ว่าลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ วัลลอฮุอักบัร” ก็ได้เป็นต้น ส่วนความประเสริฐของการละหมาดตัสบีฮฺนั้น คือ จะได้รับการอภัยโทษ (โทษเล็ก ๆ) ในเบื้องแรก เบื้องท้ายเก่าและใหม่, พลั้งพลาดและเจตนา, เล็กและใหญ่, ลับและเปิดเผย (รายงานโดยอบูดาวูด อิบนุมาญะฮฺ และอิบนุคุซัยมะฮฺ) -อะฮฺซะนุ้ลกะลาม ฟิลฟะตาวา วัลอะฮฺกาม, ชัยค์ อะฎียะฮฺ ศ็อกร์ เล่มที่ 9 หน้า 538-540 โดยสรุป)

ดังนั้นการละหมาดตัสบีฮฺ สามารถทำได้ทุกวัน ทุกอาทิตย์ และทุกปี แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ทำได้หรือไม่ ประเด็นมีอยู่ว่าส่วนใหญ่โต๊ะครูในอดีตมองว่า จะทำอย่างไรให้คนในชุมชนทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ของตนเองได้ทำอย่างน้อยปีละครั้ง จะเกิดนัดให้ชาวบ้านได้ละหมาดวันนี้ 

ประเด็นนี้ต้องแยกแยะเช่นกันถ้าการนัดการละหมาดดังเพื่อสะดวกในการทำก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่เจาะจงเหมือนละหมาดที่มีหลักฐานตามศาสนบัญญัติย่อมเป็นบิดอะห์หรืออย่างน้อยที่สุด เป็นการกระทำที่ไม่มีสุนนะฮฺที่ชัดเจน ก็เข้าข่ายว่า คิลาฟุสสุนนะฮฺ คือค้านกับสุนนะฮฺ แต่ไม่ถึงขั้นว่าทำไม่ได้หรือละหมาดไม่เศาะฮฺ 

ประเด็นต่อไป คือการละหมาดตัสบีหฮฺนั้นมีสุนนะฮฺ(แบบอย่างศาสนฑูต)ให้ละหมาดแบบญะมาอะฮฺหรือไม่? คำตอบก็คือ ไม่มีสุนนะฮฺให้กระทำแบบญะมาอะฮฺ (อิอานะตุฏฏอลิบีน เล่ม 1 หน้า 299) และถ้าไม่มีสุนนะฮฺให้กระทำแบบญะมาอะฮฺแล้วไปกระทำแบบญะมาอะฮฺล่ะ การละหมาดจะใช้ได้หรือไม่? ในตำราอัน-นิฮายะฮฺระบุว่า “ถ้าหากละหมาดแบบญะมาอะฮฺก็ไม่ถือว่ามักรูฮฺ แต่เห็นต่างกันว่าจะได้ผลบุญหรือไม่? ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าได้ อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ได้ (อ้างแล้ว เล่ม 1 หน้า 284)

 ในตำราอัล-มัจญมูอฺก็ระบุว่าถ้าหากละหมาดแบบญะมาอะฮฺก็ถือว่าการละหมาดนั้นใช้ได้ (อัล-มัจญมูอฺ 3/499) อย่างไรก็ตามการปฏิบัติในสิ่งที่ไม่มีสุนนะฮฺให้กระทำในทำนองนี้ เรียกว่า “คิลาฟุล-เอาลา” ซึ่งหมายความว่าค้านกับสิ่งที่ดีกว่าหรือดีที่สุด แต่ไม่ถึงมักรูฮฺตามกฏเกณฑ์ในมัซฮับ อันนี้ว่าถึงการละหมาดตัสบีหฮฺแบบญามาอะฮฺ 

สรุป รายอแน ไม่ใช่ อิบาด๊ะห์คูซูซียะห์ เหมือนวันอีดทั้งสอง มันเป็น ความหมายทางด้านภาษา เท่านั้น ที่โต๊ะครูในอดีต พยายาม นำแนวคิด Islamization มาผนวกกับวัฒนธรรมชุมชน แต่ถ้ารายอแน เป็นพิธีกรรม เหมือน อีดทั้งสอง ย่อมเป็น บิดอะห์ หรืออุตริกรรมอย่างแน่นอน 

สุดท้ายนี้ อย่าทะเลาะกัน ยังมีเรื่องฟิกฮ์อีกมากมาย ที่ อุลามาอ์ยังเห็นต่างในแง่วิชาการ เพียงแต่คนปฏิบัติควรรู้ในสิ่งที่เขากำลังทำ และโต๊ะครูก็ต้องช่วยชี้แจง

ที่สำคัญที่สุด ของคนที่กล่าว่าหาว่ามันบิดอ๊ะห์ ท่านได้เยี่ยม ญาติ ไปหลุมศพพ่อ แม่ ญาติสนิทเพื่อรำลึกความตายกี่ครั้งแล้วปีนี้ และถือศีลอด หกวันครบหรือยัง (ที่นบีทำเพราะมันเป็นสุนนะฮ์ )

 

หมายเหตุ: หลักฐานศาสนบัญญัติ รวมถึงตำราทางศาสนาคัดลอกและเรียบเรียงจาก ทัศนะอาลี เสือสมิง http://alisuasaming.com/webboard/index.php?topic=436.0