Skip to main content

 

ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้
 
 
หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้เป็น ‘บทนำ’ ในหนังสือที่ชื่อ ‘เส้นทางของกระบวนการสันติภาพ’ ของ ‘รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช’ จัดพิมพ์โดยสถาบันสันติศึกษา โดยเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวได้รับการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้แล้วโดยโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) และมีกำหนดจะเผยแพร่ครั้งแรกในงานประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ในวันที่ 21 – 22 สิงหาคมนี้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
 

 

"เส้นทางกระบวนการสันติภาพปาตานี" เป็นการลำดับเรื่องราวที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ปาตานี หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า"ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่ยืดเยื้อยาวนานมานับสิบปีแล้ว การกล่าวลำดับเรื่องราวบางชนิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ในลักษณะข้ามมิติเวลาจะเป็นเสมือนปูมหรือตำนานที่ถูกบันทึกไว้อย่างต่อเนื่องและกลายเป็น "สิ่งที่ถูกกล่าวถึง" ซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อๆ กันไป ถ้าสิ่งที่กล่าวถึงนี้มีความหมาย พลังทางภาษา และสัญญะของมันก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการก่อรูปทางวาทกรรมหรือสร้างบทสนทนาที่แปรเปลี่ยนจากถ้อยคำ การแสดงออกที่มีความสับสนปนเป ทับซ้อนและย้อนแย้งหลายอย่างหลายชุดให้กลายมาเป็นชุดของคำพูด สัญญะ หรือคำอธิบายที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนความคิด ความเข้าใจ หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนอารมณ์ของผู้คนได้ และก็ยังทำให้เกิดปฎิบัติการทางสังคมที่นำไปสู่การสร้างหรือสานต่อบทสนทนาแบบเดียวกัน การกล่าวซ้ำต่อไปอีกอย่างไม่สิ้นสุด

นี่ก็คือความสำคัญของการที่จะต้องมีบันทึกเรื่องราวแบบที่เราเรียกว่า "กระบวนการสันติภาพ" ให้เป็นตัวบทตั้งต้นเพื่อสะท้อนให้เห็นกระบวนการสันติภาพในปฎิบัติการที่เป็นจริงของสังคม

ผู้บันทึกเหตุการณ์ทำหน้าที่ในฐานะเหมือนอารักษ์ของปูมหรือพงศาวดารกระบวนการสันติภาพที่ปาตานีตั้งแต่การพบกันที่เกาะลังกาวีในปี พ.ศ. 2548 บทบาทของโอไอซีในปี พ.ศ. 2553-2555 ซึ่งช่วยกระตุ้นการพูดคุยสันติภาพจากภายนอก ต่อมาก็มีความพยายามให้เกิดการพูดคุยสันติภาพที่โบกอร์ ในอินโดนีเซียในปลายปี พ.ศ. 2551 ซึ่งก็ประสบความล้มเหลว จนมาถึงบทบาทของ HDC ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 นำมาสู่การพบกันระหว่างพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์นายกรัฐมนตรีขณะนั้น กับผู้นำกลุ่มขบวนการบางกลุ่มที่ประเทศบาห์เรนในปี พ.ศ. 2550

อันนับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำของประเทศไทยที่ยังอยู่ในตำแหน่งพบกับแกนนำของขบวนการแยกดินแดน

จากนั้น สิ่งที่เรียกว่า "กระบวนการเจนีวา" โดยการประสานงานของ HDC ก็มีนัยสำคัญอยู่ตรงที่ว่า ในตอนปลายสมัยรัฐบาลอภิสิทธื์มีคำสั่งให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ดำเนินการยกระดับการพูดคุยให้เป็น "ทางการ" และเลขาธิการ สมช. ในขณะนั้นซึ่งก็คือคุณถวิล เปลี่ยนสี เริ่มใช้คำพูดที่ กล่าวอ้างถึงกลุ่มขบวนการแยกดินแดนว่า "ผู้เห็นต่างจากรัฐ" ในการสัมภาษณ์กับสื่อมวลชนใน เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ตราเอาไว้ด้วยว่ามีคำพูดต่อสาธารณะว่ารัฐบาลสนับสนุนการพูดคุยกับพวกขบวนการและ "ไม่มีอะไรขัดข้องการปกครองพิเศษชายแดนใต้"

สิ่งสำคัญที่สุดที่พึงตราเอาไว้ก็คือ บทบาทของ สมช. ต่อการปูพื้นฐานอันชอบธรรมและถูกกฎหมาย ให้กับกระบวนการพูดคุยสันติภาพโดยการออกนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี พ.ศ. 2555-2557 ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ในมาตราที่ 4 ความเป็นทางการและ "ถูกกฎหมาย" ได้ปรากฏในนโยบายตามวัตถุประสงค์ที่ 8 เพื่อสร้าง "สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อ" ต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกต่อความขัดแย้งและ ให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวขัอง และผู้มีส่วนได้เสีย ในการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ

นี่เป็นบทสนทนาของรัฐไทยอันสมบูรณ์แบบที่สุดในปัญหาภาคใต้/ปาตานีที่เป็นแม่บทของการวิเคราะห์ปัญหาและ "การตั้งโจทย์ปัญหา" ต่อความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นและปรากฎเป็นครั้งแรกในเอกสารนโยบายแห่งรัฐ

หมายเหตุของเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ในนี้เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่า "พื้นที่" หรือ "สนาม" ของสันติภาพ ได้ถูกแผ้วถางเอาไว้แล้วเป็นอย่างดี แม้จะไม่ราบรื่นนัก แต่หลักใหญ่ใจความที่ทำให้กระบวนการนี้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีพลังและความหมาย ซึ่งปรากฎในเอกสารนโยบายดังกล่าว ก็คือการมุ่งแก้ปัญหาทั้งที่ระดับรากเหง้า (อัตลักษณ์ และความสมดุลในการปกครอง) และในระดับของปรากฎการณ์ (ลดและยุติการใช้ความรุนแรง) อย่างไม่มีอคติโดยเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากทุกๆ ฝ่าย

สิ่งที่ควรจดจำไว้อีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีก็คือ "ปัจจัยทักษิณ" ที่ส่งอิทธิพลทั้งบวกและลบ ปัจจัยดังกล่าวปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดมากในปี พ.ศ. 2555 มีรายงานบันทึก ไว้ว่าทักษิณได้ไปพบนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในเดือนมกราคม และพบผู้นำขบวนการแยกดินแดนอีก 17 คน ที่กัวลาลัมเปอร์ในช่วงกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 หลังจากนั้นอีกแค่สองสัปดาห์ใน วันที่ 31 มีนาคม 2555 ก็เกิดระเบิดใหญ่กลางเมืองหาดใหญ่และเมืองยะลา ตามมาด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ต่อการริเริ่มพูดคุยสันติภาพครั้งใหม่นี้

แรงกระเพื่อมของการขยับไปข้างหน้าถูกตอบโต้จากปฎิบัติการทางวาทกรรมอีกด้านหนึ่งทั้งคำพูด บทวิเคราะห์/วิพากษ์วิจารณ์ และปฎิบัติการความรุนแรงในสนาม แม้จะมีแรงตอบโต้และกระแสปฏิเสธการเคลื่อนไหวสู่การพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการและเปิดเผยโดยปัจจัยทักษิณและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยดังกล่าว สภาวะใหม่ที่มิอาจปฏิเสธได้ของวาทกรรมสันติภาพคือ ณ จุดนั้น ความโดดเด่น (distinction) ของกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ก่อเกิดขึ้นแล้ว และผุดขึ้นมาในทุกที่ทุกสนาม ทุกอาณาบริเวณของการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง

ในการเฝ้าดูการก่อตัวพัฒนาการของบทสนทนาหรือวาทกรรมหลักในสังคม สิ่งที่น่าสนใจและมี ความหมายต่อการเฝ้ามองไม่ใช่ความมีเอกภาพหรือความเป็นหนึ่งเดียวของคำพูดหรือดูที่เจตนาของผู้พูดที่สร้างวัตถุแห่งวาทกรรม แต่อยู่ที่การกระจายตัวของคำพูดในลักษณะที่ไม่เป็นระบบ และความมั่วกระจุยกระจายในจุดเริ่มแรกของบทสนทนาดังกล่าว

สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่การมีปฎิกิริยาตอบโต้ระหว่างกันและกันในระหว่างการปรากฎตัวขึ้นของวาทกรรมเหล่านี้และการกระจายตัวของบทสนทนาเรื่องสันติภาพในสนามปฎิบัติการทางสังคม การก่อตัวของคำพูดบทสนทนาดังกล่าวนำจะมาซึ่ง "ความสัมพันธ์ใหม่" สนามใหม่ของความสัมพันธ์ ที่สัญญะบางอย่างมีความหมายร่วมกัน สัญญะอันนั้นก็คือ "กระบวนการสันติภาพ" จนกระทั่งในที่สุดคำพูดหรือถ้อยแถลงจะจัดกลุ่มตัวเองใหม่ สร้างเอกภาพในตัวเอง ทำให้เกิดเอกลักษณ์และเนื้อหาเพื่อความอยู่รอดของตนเอง

บนเส้นทางนี้ วาทกรรมจะมีชีวิต ผู้พูดไม่ใช่ผู้สร้างวาทกรรม แต่วาทกรรมจะสร้างผู้พูด

ดังนั้น เมื่อสนามถูกเปิดออก ลูกบอลถูกเตะออกไป มีคนเล่นในสนามจากกลุ่มเล็กขยับไปเป็นคนกลุ่มใหญ่มากขึ้น กติกาธรรมชาติก็ก่อรูปขึ้น และสิ่งที่ทุกคนไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น แม้มีคนพยายามเตะลูกออกนอกสนามโดยจงใจ แต่หลังจากนั้นไม่นานก็จะมีใครสักคนโยนมันกลับเข้ามาใหม่แล้ว ทุกคนก็เล่นกันต่อไปเรื่อยๆ

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ตัวแทนรัฐบาลไทยในยุคของยิ่งลักษณ์ก็เดินทางไปพบนายกรัฐมนตรี มาเลเซียอย่างเป็นทางการในเรื่องที่จะให้ มาเลเซียเป็นตัวกลางในการเจรจาใกล่เกลี่ยเรื่องความ ขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ พลันในวันที่ 28 กุมภาพันธ์เดือนถัดมา การลงนามเพื่อเปิดฉากการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการก็บังเกิดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยมี พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสมช.ไทยในฐานะ "ปาร์ตี้ A" กับนายฮาซัน ตอยิบใน ฐานะ ตัวแทนของขบวนการปลดปล่อยปาตานี ซึ่งเป็น "ปาร์ตี้ B" อันเป็นเงื่อนไขภายใต้ "ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ" (General Consensus on the Peace Dialogue Process)

แรงเหวี่ยงไปสู่วาทกรรมสันติภาพจึงถูกยกระดับขึ้นอย่างชัดเจนในปี พ.ศ. 2556 หลังจากการลงนามฉันทามติฯ ดังกล่าวที่ทำให้มีการพูดคุยกันถึง 3 รอบที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

บันทึกเหตุการณ์และเรื่องเล่าจากการพูดคุยทั้งสามครั้งถูกเผยแพร่สู่สาธารณะผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง ทุกมิติทั้งไทยและเทศ ทั้งภาพข่าว รายงานข่าวเหตุการณ์สด วิดีทัศน์ รายงานทางวิทยุ/โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ รวมทั้งการแถลงการณ์ผ่านยูทูปของบีอาร์เอ็นอีกไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นพลังของปฎิบัติการสื่อสารและยังได้สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ซึ่งมีทั้งน่าสนใจ น่าประทับใจ และน่าผิดหวัง นี่เป็นเรื่องธรรมดาของโลกแห่งความเป็นจริง โดยเฉพาะเมื่อมีการต่อสู้ในสนามการเมืองแห่งการแย่งชิงการสร้างบทสนทนาที่สร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับของฝ่ายตน

แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าการโต้แย้งกันในทางการเมืองในบันทึกเส้นทางสันติภาพรอบปีที่ผ่านมาก็คือการก่อตัวของวาทกรรม (discursive formations) ที่ทำให้เนื้อหาหลักของคำพูด บทสนทนา (theme) ของถ้อยแถลงเรื่องราวเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพ "นูนเด่น" ขึ้นในพื้นที่สาธารณะ

ซึ่งในท่ามกลางความสับสนและย้อนแย้งกันนั้น เรื่องราวในบทพูดก็ได้สร้างความเข้าใจ อารมณ์ ความรู้สึกร่วมที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องของกระบวนการพูดคุยสันติภาพ กลายเป็นภาพสัญญลักณ์ ที่ก่อตัวขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก มันถูกกล่าวถึงซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเนื้อหาของบทสนทนาเกี่ยวกับสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งผุดขึ้นในความสำนึกรู้ของผู้คนทั่วไป

ภาพความน่าประทับใจของการพูดคุยสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์คือสิ่งที่เรียกว่า "การสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ" หรือ confidence building ในภาคปฎิบัติที่ไม่ใช่ภาคทฤษฎี ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องยอมรับด้วยความเจ็บปวดว่า

"ปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นความผิดของขบวนการบีอาร์เอ็น หรือกลุ่มขบวนการต่อสู้ของชาวมลายูอย่างเดียว แต่จะต้องพูดถึงว่ารัฐไทยก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรงด้วยเช่นกัน …… "

เรื่องราวได้ถูกบันทึกไว้ว่าตัวแทนของขบวนการบีอาร์เอ็นได้อธิบายถึงความรู้สึกสะเทือนใจจากการกระทำที่อยุติธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐในอดีต เป็นการเล่าเรื่องด้วยอารมณ์อันอ่อนไหวอย่างรุนแรง จนฝ่ายบีอาร์เอ็นด้วยกันเองกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ ในขณะที่คณะผู้แทนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยก็นั่งนิ่งรับฟังอย่างสงบ ทุกคนตั้งใจที่จะรับฟังความเจ็บปวดของพี่น้องประชาชนปาตานี 

อีกด้านหนึ่งของบันทึกในระหว่างการพูดคุยสันติภาพที่น่าจะจดจำก็คือการที่ทั้งสองฝ่ายร่วมกัน ประกาศ "ความเข้าใจร่วมกัน: ความริเริ่มสันติภาพในเดือนรอมฎอน 2556" (Common Understanding: Ramadan Peace Initiative) การหยุดความรุนแรงมีผลอย่างชัดเจนในช่วงสองสามสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมหลังคำประกาศดังกล่าว แต่แล้วก็มีการกล่าวหาซึ่งกันและกัน เรื่องการละเมิดข้อตกลงจนกระทั่งสองวันก่อนจะสิ้นสุดเดือนรอมฎอนทางบีอาร์เอ็นได้ประกาศออกทางยูทูปยุติข้อตกลงหยุดยิงในเดือนรอมฎอนพร้อมทั้งประนามฝ่ายไทยว่าไม่จริงใจด้วยคำพูดที่รุนแรงเสียดแทงใจ

ความพยายามยุติความรุนแรงในเดือนรอมฎอนปี พ.ศ. 2556 จึงดูเหมือนว่าจะล้มเหลวในที่สุด แต่การที่ความรุนแรงลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงแรกก็สะท้อนความจริงบางอย่างว่าบีอาร์เอ็น สามารถควบคุมสั่งการฝ่ายปฏิบัติการที่อยู่ในพื้นที่ได้เช่นกัน แม้กระนั้นผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศ บางคนก็ระบุว่าการหยุดยิงในครั้งนี้ไม่มีความหมาย เกิดการก่อเหตุโจมตีด้วยระเบิดสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

แต่ข้อเท็จจริงที่ย้อนแย้งกันก็คือ ตราไวัด้วยว่าเดือนกรกฎาคมของปี พ.ศ. 2556 กลับเป็นเดือนที่สร้างประวัติการบันทึกเหตุการณ์ความไม่สงบที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปีและมีการสูญเสียชีวิตจาก เหตุการณ์ความไม่สงบต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 นอกจากนี้การโจมตีต่อเป้าหมายพลเรือนที่ อ่อนแอหรือผู้บริสุทธิ์ (soft targets) ก็ลดลงมากอย่างมีนัยสำคัญ และมีระดับต่ำลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบสิบปีด้วย

สิ่งท้าทายที่เด่นชัดที่สุดซึ่งปรากฏในบันทึกเส้นทางกระบวนการสันติภาพเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับข้อ เรียกร้อง 5 ข้อของขบวนการบีอาร์เอ็น จุดหักมุมของกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์ก็ คือการเสนอข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นที่ทำให้เกิดประเด็นโต้แย้งกันอย่างรุนแรงจากหลายฝ่าย รวมทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไทย ข้อเสนอ 5 ข้อถูกนำเสนอด้วยวิธีอย่างประหลาดในตอนแรกผ่านยูทูป ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556 สามวันก่อนการพบกันที่กัวลาลัมเปอร์เพื่อการพูดคุยสันติภาพครั้งที่สอง

ข้อเสนอชี้ชัดว่าบีอาร์เอ็น 1) ต้องการให้ยอมรับมาเลเซียเป็นผู้ไกล่เกลี่ย ไม่ใช่ผู้อำนวยความสะดวก 2) ให้รัฐไทยยอมรับว่าเป็นการพูดคุยกับชาวปาตานีซึ่งนำโดยบีอาร์เอ็น 3) ให้ยอมรับให้มีพยานจากประเทศอาเซียน โอไอซีและเอ็นจีโอต่างประเทศ 4) ให้มีการปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัว และยกเลิกหมายจับในคดีความมั่นคงทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข และ 5) ยอมรับว่าบีอาร์เอ็นเป็นขบวนการปลดปล่อยปาตานีไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน

หลังจากนั้นอีกสามวันตัวแทนบีอาร์เอ็นก็ได้เข้าร่วมโต็ะพูดคุยสันติภาพกับผู้แทนของฝ่ายไทย และได้ยื่นเอกสารข้อเสนอโดยละเอียดในที่ประชุมท่ามกลางความไม่สบายใจและ "ความตึงเครียดในการพูดคุยครั้งที่สอง" หลังจากนั้นก็มีการแถลงผ่านยูทูปเป็นครั้งที่สองเพื่อขยายความข้อเรียกร้องทั้งห้าข้อนี้ ผลก็คือ”การฑูตยูทูป” ของบีอาร์เอ็นในช่วงเวลาดังกล่าวได้สร้างผลกระทบทางการเมืองเป็นอย่างมากโดยการออกแถลงยูทูปทั้งหมด 5 ครั้ง (26 เมษายน 2556, 24 พฤษภาคม 2556, 24 มิถุนายน 2556 และ 6 ธันวาคม 2556) ทุกครั้งที่ออกมาวาทกรรมยูทูปก็สร้างความปั่นป่วนให้กับรัฐไทยไม่แพ้การก่อเหตุระเบิดและโจมตีทางการทหารในสนามรบ

แม้จะมีทัศนคติต่างๆ ต่อท่าทีดังกล่าวของบีอาร์เอ็น อย่างน้อย นิทานเรื่องนี้ก็บอกให้เรารู้ว่า สันติภาพทำให้คนเปลี่ยนจากการใช้ปืนใช้ระเบิดมาใช้เอกสารและสื่อออนไลน์ได้เหมือนกัน และดูเหมือนตัวแสดงหลักในสนามความขัดแย้งก็ติดกับดักในวาทกรรมสันติภาพไปแล้ว

แต่เรื่องที่ยากและท้าทายที่สุดนี้กลับกลายเป็นกุญแจไขคำตอบสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพ ในบรรดาบทสนทนาเรื่องสันติภาพทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนั้น ขัอเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็นกลายเป็นจุดสุดยอดของแถลงการณ์และวาทกรรมทางการเมืองซึ่งมีสิ่งทึ่ซ่อนเร้นอยู่ภายในคือ "แผนที่เดินทาง (Roadmap)" อันนำไปสู่สันติภาพชายใตั/ปาตานี

ข้อเสนอดังกล่าวสะท้อนแก่นแกนหรือสาระสำคัญในวาทกรรมการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีทั้งที่ระดับรากเหง้าปัญหาในประเด็นอัตลักษณ์ และความสมดุลในการปกครองและปัญหาในระดับของปรากฎการณ์ คือการลดและยุติการใช้ความรุนแรงอย่างไม่มีอคติและ “เปิดพื้นที่” การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ปรากฎเป็นหมุดหมายสำคัญจาก "เอกสาร 38 หน้า" ของบีอาร์เอ็นที่ส่งมายัง รัฐบาลไทยในเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 น่าประหลาดใจที่เอกสาร 38 หน้านี้ กลายเป็นบทสนทนาตอบกลับของบีอาร์เอ็นต่อโจทย์ที่ตั้งไว้เป็นอย่างดีและชัดเจนที่สุดเท่าที่รัฐไทยได้เคยทำไว้ใน "นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี พ.ศ. 2555-2557"

เมื่อถึงตรงนี้ บทสนทนาสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานีได้มีพลังแห่งชีวิตจริงๆ แล้ว และมีการกล่าวซ้ำตอบโต้กันด้วยบทสนทนาชุดเดียวกันในท่ามกลางความขัดแย้ง ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรัง รวมทั้งความสับสนอลหม่านต่างๆ นานา

เนื้อหาของเอกสาร 38 หน้าแสดงรายละเอียดข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นโดยในแต่ละข้อมีการ อธิบายสาเหตุทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ การเมืองและกฎหมายโดยอ้างอิงมาตราต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเตรียมความคิดในการสร้างสันติภาพของ บีอาร์เอ็นและกลุ่มอื่นๆ อีกด้านหนึ่งข้อเสนอดังกล่าวยังระบุ "ข้อเสนอแลกเปลี่ยน" ในรูปแบบของ การหยุดยิง หรือหยุดการก่อความเหตุรุนแรงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

การที่ขบวนการแยกดินแดนที่ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธมากว่า 50 ปี กล้าพูดในที่สาธารณะและมีเอกสารเป็นตัวบทยอมรับว่าตัวเองไม่ใช่ผู้แยกดินแดนและประกาศว่าการต่อสู้เพื่อสิทธิของชนกลุ่มน้อยอยู่ ในกรอบรัฐธรรมนูญรวมทั้งยอมรับอำนาจสูงสุดของรัฐบาลกลางไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดง่ายๆ นี่ก็น่าจะเป็นผลจากการปรับตัวการมีปฎิสัมพันธ์ และยอมรับต่ออิทธิพลของบทสนทนาในสนามสันติภาพ จากหลายฝ่ายที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ประเด็นหลักในบทสนทนา (themes) ของถ้อยแถลงและบทพูดในกระบวนการสันติภาพได้ถูกทำให้ "นูนเด่น" ขึ้นในท่ามกลางความสับสนและการต่อสู้ ย้อนแย้งกัน

กล่าวในอีกแง่หนึ่ง สิ่งที่เรียกว่า "สภาพแวดล้อม" ที่เอื้อต่อการตัดสินใจเลือกหนทางสันติของทุกฝ่ายได้แสดงผลออกมาให้เห็น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ไม่ควรมองข้ามความเป็นจริงที่ว่าสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยสันติภาพและการยอมรับการพูดคุยกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเรื่อง "หลักการ เป้าหมายและรูปแบบการกระจายอำนาจที่เหมาะสม" รวมทั้งการยอมรับการพูดคุยหาทางออกจากความขัดแย้งและก่อสร้างสันติภาพกับผู้มีความเห็นต่างในกรอบของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นสัญญะแสดงการปรับตัวในวาทกรรมของทางฝ่ายรัฐเองด้วย เรื่องนี้เป็นหมุดหมายสำคัญของพัฒนาการสู่การแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องประนีประนอมและปรับตัวยอมรับกัน เพื่อให้วาทกรรมสันติภาพเดินหน้าไปได้ท่ามกลางการเรียนรู้และปรับตัวซึ่งกันและกัน 

ในที่สุดแล้ว บทสนทนาสันติภาพควรเป็นบทสนทนาที่เป็นข้ออ้างเหตุผลอันมีความน่าเชื่อถือยอมรับกันได้จากทุกฝ่ายซึ่งในบทสนทนานี้เราสามารถวิพากษ์โต้แย้งกันได้

"เส้นทางกระบวนการสันติภาพปาตานี" ก้าวมาถึงจุดปัจจุบันที่มีความพยายามในการสานต่อกระบวนการสันติภาพด้วยการสร้างความริเริ่มใหม่ซึ่งเป็นสัญญานบวก แต่ในการนี้ได้มีความพยายามที่จะใช้ถ้อยคำใหม่ว่า "การพูดคุยสันติสุข" ดูเหมือนฝ่ายที่คุมอำนาจรัฐในปัจจุบันตั้งใจจะใส่คำใหม่ เข้ามาในวงศ์ศัพท์เดิมที่มีอยู่แล้วในเวทีและดูเหมือนจะเป็น "กระบวนการตั้งชื่อ" ใหม่เพื่อใส่ความหมายใหม่เข้ามาในบทสนทนาที่มีฐานค่อนข้างมั่นคงอยู่แล้วในความสัมพันธ์เดิม ตัวแสดงและสนามเดิม เรื่องจึงกลายเป็นการต่อสู้ทางวาทกรรมเรื่องการตั้งชื่อ

แต่ที่น่าสนใจก็คือ การสอดใส่แนวคิดเรื่อง "การสร้างสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยให้ ประชาชนในพื้นที่" แทนที่แนวคิดเรื่องการสร้าง "สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกต่อความขัดแย้ง และให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของ ผู้เกี่ยวขัองและผู้มีส่วนได้เสีย …."

เราต้องยอมรับความจริงที่ว่า ผู้ตั้งชื่อคือผู้สถาปนาและมีอำนาจครอบงำ แต่ความจริงอีกตัวหนึ่งที่ ละเอียดอ่อนยิ่งกว่าก็คือในสนามแห่งวาทกรรมที่มีเดิมพันด้วยความรุนแรงอันยืดเยื้อนั้น การกระจายตัวของบทสนทนา ปฎิบัติการในการสื่อสาร การสื่อความหมายในพื้นที่และสนามได้เปิดความสัมพันธ์ของสัญญะไปแล้ว ซึ่งทำให้อำนาจไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในสนามแห่งนี้อำนาจถูกทำให้กระจายไปทั่วแล้ว

อันที่จริงในสนามวาทกรรมแห่งอำนาจนั้นอำนาจก็กระจายตัวโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว

การเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนความหมายจะตามมาด้วยเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจ ลองอ่านปูมประวัติและบันทึกประวัติศาสตร์ของเส้นทางสันติภาพชายแดนใต้อีกทีและเราก็จะรู้ว่าอะไรจะเกิด ขึ้นในสนามวาทกรรมแห่งนี้ หากไร้ซึ่ง "สันติภาพ" ที่มีความหมายจริงๆ กับทุกฝ่ายตามคำนิยามที่มีความเข้าใจร่วมกันอยู่แล้ว