Skip to main content

หมายเหตุ: บทความนี้ถอดมาจากคำบรรยายของ ‘โนอาห์ ซาลาเมห์’ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการความขัดแย้งและการปรองดอง (CCRR) จากงานประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพในสถานการณ์สากล: กรณีฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ศรีลังกา และปาเลสไตน์ ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2556 (คลิกดูรายละเอียด) คำบรรยายดังกล่าวเป็นบทหนึ่งในหนังสือชื่อ ‘บทเรียนสันติภาพ: เรียนรู้กระบวนการสันติภาพในประสบการณ์ความขัดแย้งร่วมสมัย’ ในฉบับภาษาไทย หรือ ‘Experiences of Peacebuilding: Learning the Peace Processes in Contemporary Conflicts’ ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างจัดพิมพ์โดยโครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊กส์และมีกำหนดจะเผยแพร่เร็วๆ นี้ในงานประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยการสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 21-22 สิงหาคมนี้

บทเรียนจากกรณีปาเลสไตน์ในมุมมองของ ‘โนอาห์ ซาลาเมห์’ ผู้ที่เป็นทั้งนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการชาวปาเลสไตน์ ซึ่งทุกวันนี้ยังคงมีสถานะเป็นผู้อพยพลี้ภัย ถ้อยแถลงดังกล่าวเป็นหนึ่งในบทเรียนที่มีมุมมองเชิงเปรียบเทียบกับกรณีอื่นๆ อีก 8 กรณี ซึ่งจะบรรจุอยู่ในหนังสือดังกล่าว ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นที่กาซ่าในขณะนี้และการพยายามแสวงหาหนทางในการเดินหน้ากระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้/ปาตานี กองบรรณาธิการเห็นว่าประสบการณ์และข้อเสนอแนะของโนอาห์น่าสนใจยิ่ง

 
 
 
 
 
 

 

 

 

 
 
 
 
 
 
 
โนอาห์ ซาลาเมห์
ศูนย์การจัดการความขัดแย้งและการปรองดอง (CCRR)

 

ก่อนอื่นผมขอกล่าวว่า สำหรับผมแล้ว ปาเลสไตน์ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องที่ต้องศึกษา หากแต่มันคือชีวิตของผม มันคือมูลเหตุของผม และผมเป็นสุขเสมอที่ได้พูดเรื่องปาเลสไตน์ ประการที่สอง เมื่อพูดถึงสันติภาพ ตัวผมเองเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพคนหนึ่ง ผมไม่ใช่นักการเมือง แม้ว่าผมจะศึกษาด้านรัฐศาสตร์และประสบการณ์ทั้งหมดที่ผมมีก็เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่สิ่งแรกที่เกี่ยวกับตัวผมคือ ผมเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ผมเชื่อมั่นในสันติภาพ และคิดว่าไม่มีหนทางอื่นใดสำหรับมนุษยชาตินอกเหนือไปจากการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ผมจะขอพูดถึงปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นมากกว่าแค่ประเด็นทางการเมือง มันเป็นเรื่องที่สะเทือนอารมณ์ ผมเป็นผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และผมจะยังคงเป็นผู้ลี้ภัยต่อไป ไม่ว่าผมจะไปอาศัยอยู่ในปราสาทหรือราชวังใด เพราะผู้ลี้ภัยต่อสู้เพื่อความมุ่งหมายอย่างหนึ่ง พวกเขาคือคนที่สูญเสียผืนแผ่นดินของพวกเขาไป และปัญหาของพวกเขาจะไม่มีวันแก้ไขได้จนกว่าคนเหล่านี้จะได้คืนกลับไปยังหมู่บ้านของตนเอง เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้ว ปาเลสไตน์เป็นเรื่องที่สะเทือนใจอย่างมาก

แต่หากจะพูดถึงปาเลสไตน์ ณ ตอนนี้ ผมจะพูดถึงกระบวนการสันติภาพในกรณีปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นกระบวนการสันติภาพที่ยาวนานที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นหนึ่งในความขัดแย้งที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอีกด้วย และอีกประเด็นหนึ่งซึ่งเราจะเสวนากันในครั้งนี้ก็คือการเปรียบเทียบความแตกต่างและความเหมือนกันระหว่างแต่ละกรณีศึกษา

ประเด็นแรก มีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเรา (ชาวปาเลสไตน์) แต่ผมไม่ชอบและไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับพวกคุณ นั่นคือกระบวนการสันติภาพที่กินเวลายาวนานมากๆ แต่กลับไร้ซึ่งสันติภาพ ผมอยากให้พวกคุณไตร่ตรอง ผมอยากจะให้พวกคุณตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสันติภาพและการพูดคุยระหว่างกันก่อนที่จะสายเกินไปเหมือนที่เรากำลังเป็นอยู่ในปาเลสไตน์ในขณะนี้ ที่จริงแล้ว นี่คือคำแนะนำข้อแรกสำหรับพวกคุณ ในฐานะหุ้นส่วนด้านสันติภาพ หากความขัดแย้งดำเนินต่อไป เราจะมีผู้เจ็บปวดเพิ่มขึ้นทั้งสองฝ่าย ผู้คนที่บาดเจ็บล้มตายก็เพิ่มขึ้น ความโหดร้ายรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมถึงสิ่งอื่นๆ อีกมากมายที่จะเกิดขึ้นในระหว่างความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นแล้ว เราจะปล่อยให้กระบวนการสันติภาพดำเนินต่อไปอย่างยืดเยื้อยาวนานด้วยเหตุใด ทำไมเราจึงไม่พูดคุยกันถึงประเด็นที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การเจรจาระหว่างแต่ละฝ่ายให้มีความต่อเนื่อง จนกระทั่งบรรลุถึงสันติภาพได้ ผมคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพวกคุณที่อยู่ในพื้นที่แห่งนี้

ระหว่างที่ผมเดินทางมายังปัตตานีเพื่อเข้าร่วมเวทีแห่งนี้ สิ่งแรกที่ผ่านเข้ามาในความคิดผมคือ “ทำไมถึงต้องมีด่านตรวจเหล่านี้?” “ทำไมถึงต้องมีทหารอยู่บนท้องถนนอย่างนี้?” มันเป็นภาพที่ดูป่าเถื่อน เพราะนี่คือสิ่งที่เหมือนกันระหว่างปาเลสไตน์และชายแดนใต้ของประเทศไทย พวกคุณใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เราก็มีชีวิตอยู่ใต้กฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน เราก็มีทหารประจำการอยู่ตามท้องถนน พวกเราก็มีด่านตรวจ...ทำไม? อีกนานแค่ไหนที่เราต้องใช้ชีวิตในสถานการณ์เช่นนี้? อีกนานแค่ไหนที่เราจะต้องเห็นภาพทหารพร้อมอาวุธปืนเดินไปเดินมาบนท้องถนน?

หากพูดอย่างตรงไปตรงมา ผมรู้สึกเศร้าและสะเทือนใจอย่างมาก ทำไมเราถึงต้องมีสภาพเช่นนี้? ปัญหาคืออะไร? เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน เราต่างมองหาสันติภาพ ผมเป็นมุสลิม แต่ผมก็ศึกษาศาสนาคริสต์ และตอนนี้ผมก็พอจะรู้เรื่องพุทธและฮินดูบ้างแล้ว ผมไม่เคยอ่านคัมภีร์ศาสนาใดเลยที่บอกว่า “จงฆ่าและเกลียดชัง” แล้วทำไมเราถึงฆ่ากัน?

หลักศาสนาพุทธข้อแรกๆ บอกว่า “อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิต” และศาสนาอิสลามบอกว่า “อย่าฆ่า อย่าเกลียดชัง จงสร้างสันติภาพ” คำเอ่ยแรกของอิสลามคือ “อัสลามุอาลัยกุม” (ขอความสันติจงประสบกับท่าน) ซึ่งหมายความว่าฉันมาอย่างสันติ เมื่อผมพูด “อัสลามุอาลัยกุม” ผมก็จะได้รับคำตอบกลับจากพวกคุณว่า “วาอาลัยกุมมุสลาม” (และขอให้ท่านจงประสบกับความสันติด้วยเช่นกัน) ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? เพราะสิ่งแรกที่อิสลามเอ่ยถึงคือการบอกว่า “ข้าพเจ้ามาด้วยสันติ” นี่คือสิ่งที่อิสลามพูดถึง และชาวคริสต์ก็พูดเช่นกันว่า “อย่าฆ่า อย่าเกลียดชัง” ถ้าอย่างนั้นปัญหาคืออะไร? ใครที่ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งนี้? มีคนบางกลุ่มที่ลงทุนลงแรงและร่ำรวยขึ้นมาจากความขัดแย้ง และกลุ่มคนเหล่านั้นมีส่วนได้ส่วนเสียหากความขัดแย้งจะดำเนินต่อไป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนกัน นี่คือเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นปาเลสไตน์ ประเทศไทย หรือที่ไหนก็ตาม ศรีลังกา เนปาล รวมถึงที่ต่างๆ บนโลกนี้ คนบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์บนความขัดแย้ง นั่นจึงเป็นเหตุผลที่พวกเขาอยากให้ความขัดแย้งเหล่านี้ดำเนินต่อไป และสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็เป็นผลจากปัจจัยดังกล่าวที่ว่ามา ส่งผลให้กระบวนการสันติภาพของเรากินเวลายาวนาน ยาวนานมากๆ

ถ้าเป็นที่ปาเลสไตน์ เมื่อคุณคุยกับคนที่นั่นและพูดถึงกระบวนการสันติภาพ พวกเขาจะบอกเลยว่า “ขอเถอะ เราไม่อยากฟังเรื่องนี้ มันน่าเบื่อ” ตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 เป็นต้นมา เรื่องของพวกเราเป็นหนึ่งในหัวข้อการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติทุกๆ ปี และตอนนี้ผมก็นึกขึ้นได้ว่าตัวแทนประเทศต่างๆ จะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน (พ.ศ.2556)  และประเด็นปาเลสไตน์ก็ยังคงเป็นหัวข้อหนึ่งในการประชุมเสมอ ส่วนข้อวินิจฉัยของที่ประชุมที่มีต่อประเด็นปาเลสไตน์แต่ละปีก็จะมีอยู่ราวๆ 2 หรือ 3 หรือ 4 หรือ 5 ข้อ และมันทำให้ผมรู้จักชื่อของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาแทบทุกคนที่เข้าร่วมการประชุม รวมไปถึงผู้นำยุโรป ทั้งประธานาธิบดีและคณะรัฐมนตรีที่มาเยือนปาเลสไตน์และอิสราเอลทุกๆ ปี พวกเขาล้วนแต่พูดถึงกระบวนการสันติภาพด้วยกันทั้งนั้น

เราได้เข้าร่วมการประชุมหลายครั้งหลายหน ทั้งที่แคมป์เดวิด (สหรัฐอเมริกา) และกรุงออสโล (นอรเวย์) และมีข้อตกลงร่วมกันมากมาย แต่เรายังไม่เคยได้มาซึ่งสันติภาพ เรามีกระบวนการสันติภาพ และกระบวนการสันติภาพนี้ก็จะยังดำเนินต่อไป พวกคุณรู้หรือไม่ว่าในขณะที่ผมกำลังนั่งอยู่ตรงนี้ เป็นเวลาเดียวกับที่คณะผู้แทนประเทศต่างๆ กำลังหารือกันเรื่องปาเลสไตน์และอิสราเอลอยู่ในวงประชุมที่ไกลออกไปอีกซีกโลกหนึ่ง พวกเขาประชุมกันอยู่ แต่ประชุมเพื่อสันติภาพใช่หรือไม่? ไม่ใช่เลย พวกเขาประชุมกันเพื่อให้กระบวนการสันติภาพยืดเยื้อออกไป

ผมไม่ต้องการกระบวนการสันติภาพ ถ้าคุณต้องการมัน ถ้าคุณต้องการกระบวนการสันติภาพ คุณก็จะมีชีวิตเหมือนพวกเรา นั่นคือการที่ 60 ปีผ่านไปแต่ก็ยังต้องพูดคุยกันเรื่องกระบวนการสันติภาพกันต่อ แต่ไม่หรอก ผมไม่ต้องการให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับพวกคุณ พูดตามตรง คุณต้องยืนหยัดขึ้นเพื่อจะบอกว่าเราต้องการสันติภาพ ขณะที่กองทัพไม่ต้องการสันติภาพ คนที่มีปืนไม่ต้องการสันติภาพ คุณรู้หรือไม่ว่าใครกันที่ต้องการสันติภาพ - พวกคุณนั่นเอง !

การมีสันติภาพเป็นประโยชน์ต่อพวกคุณ ในฐานะประชาชน สันติภาพจะต้องมาจากล่างสู่บน ประชาชนต้องก้าวเดินไปด้วยกัน เพื่อพบปะคนอื่นๆ เพื่อพูดคุย เพื่อสนทนา เพื่อสร้างสันติภาพ คุณไม่อาจสร้างสันติภาพด้วยกองทัพ คุณไม่มีวันสร้างสันติภาพได้ด้วยสงคราม นั่นคือคำสองคำที่ความหมายขัดแย้งกันอย่างมาก: สันติภาพและกองทัพ, สันติภาพและสงคราม สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเดินร่วมทางกันได้ ทำไม่ได้ คุณจะจับคำสองคำที่ขัดแย้งกันมารวมกันได้อย่างไร ถ้าคุณต้องการสันติภาพ คุณต้องพึ่งพานักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ผู้เชื่อมั่นในสันติภาพ ผู้ทำงานเพื่อสันติภาพ สันติภาพที่มาจากประชาชน นั่นแหละคือสันติภาพ

พวกเราไม่ต้องการกระบวนการสันติภาพ แต่กระบวนการสันติภาพจะยังดำเนินต่อไปในมาเลเซีย ต่อจากนั้นอาจเป็นอินโดนีเซีย และบางทีอาจถึงคราวที่สหประชาชาติจะเข้ามามีส่วนร่วม ใครจะรู้? เมื่อใครสักคนพูดว่า “ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องภายในประเทศ” ประเด็นปาเลสไตน์ถือเป็นเรื่องระหว่างประเทศ และทุกๆ ความขัดแย้งเริ่มต้นจากการเป็นประเด็นภายในประเทศ จนกระทั่งบางคนยื่นจมูกเข้ามายุ่ง และหลังจากนั้นก็จะมีประเทศอื่นๆ ตามมาเกี่ยวข้องด้วย และความขัดแย้งก็จะไม่ใช่แค่เรื่องของคุณอีกต่อไป ไม่ใช่มูลเหตุของคุณ ไม่ใช่กรณีของคุณ ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยทั้งหมด พวกคุณต้องการแบบนั้นหรือ? ผมไม่ทราบ แต่สำหรับผม ผมไม่อยากให้มันเป็นเช่นนั้น ผมรู้สึกเจ็บปวด

ผมเกิดเมื่อปี ค.ศ.1952 ผมเป็นผู้ลี้ภัยโดยกำเนิด และผมก็ยังคงเป็นผู้ลี้ภัยเรื่อยมา และไม่เคยมีวันไหนเลยที่ชีวิตผมจะพบเจอกับสันติภาพ ซึ่งหมายถึงอิสรภาพของปาเลสไตน์ ความฝันหนึ่งของผมคือการขอให้ได้มีชีวิตอยู่ แม้เพียงวันสุดท้ายก่อนตาย เพื่อให้ได้เห็นปาเลสไตน์ที่เป็นอิสระ ผมจะทำเช่นนั้นได้หรือ? ด้วยกระบวนการที่เป็นอยู่ ด้วยกระบวนการสันติภาพเช่นนี้ ผมไม่มีวันจะได้เห็นมันเกิดขึ้น ผมไม่มีวันได้รับสิ่งนั้น เพราะผมต้องการสันติภาพ ผมไม่ได้ต้องการกระบวนการสันติภาพ และผมไม่ทราบว่าทำไมพวกเขาถึงเรียกมันว่ากระบวนการสันติภาพ เพราะมันเป็นเพียงแค่กระบวนการ หาใช่สันติภาพไม่ กระบวนการเหล่านั้นไม่ได้แก้ไขอะไรเลย ไม่แม้แต่จะพิสูจน์ว่ามีเป้าหมายที่จะนำไปสู่สันติภาพ

มันก็คือกระบวนการชนิดหนึ่ง และบางครั้งก็ถูกเรียกว่าข้อตกลงสันติภาพ ผมขอปฏิเสธว่ามันไม่จริง อาจจะใช่ที่เป็นเพียงกระบวนการหนึ่ง แต่ไม่ใช่ข้อตกลงสันติภาพอย่างแน่นอน เพราะถ้านี่คือเช่นนั้นจริง ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีองค์ประกอบของสันติภาพอยู่บ้าง องค์ประกอบของสันติภาพในที่นี้ต้องมีความยุติธรรม, การยุติความรุนแรง, สิทธิที่เท่าเทียมกัน และการเคารพในสิทธิมนุษยชน พวกเขาต้องหยุดใช้กฎหมายเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งพวกเราต้องทนใช้ชีวิตอยู่ภายใต้มัน พวกคุณรู้จักกฎหมายฉุกเฉินของพวกเราหรือเปล่า? แต่บางทีผมอาจไม่รู้จัก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของพวกคุณว่าเป็นอย่างไร ส่วนกฎหมายฉุกเฉินของพวกเราเป็นกฎหมายของอังกฤษที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1945 หรือตั้งแต่ช่วงที่ยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 โน้น ผมอยากใช้ชีวิตโดยปราศจากกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ ผมอยากมีชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง กระบวนการสันติภาพนี้จะไม่มีวันนำไปสู่สันติภาพ เพราะมันเป็นเพียงการเจรจาต่อรองและการไกล่เกลี่ยผ่านตัวกลางระหว่างกลุ่มคน ซึ่งไม่มีวันที่จะกลายมาเป็นเรื่องที่ทำกันจริงๆ ก็เท่านั้นเอง

ในทุกกระบวนการสันติภาพ ผู้เป็นคนกลางไกล่เกลี่ยจะต้องเป็นกลาง ในกรณีของปาเลสไตน์ เรามีฝ่ายอิสราเอลซึ่งมีกองทัพที่เข้มแข็ง ในขณะที่กองทัพของฝ่ายปาเลสไตน์นั้นอ่อนแอ ชาวปาเลสไตน์ดำรงชีวิตอยู่อยู่ภายใต้การยึดครอง ซึ่งไม่มีความสมมาตรใดๆ เลยระหว่างสองฝ่าย ยิ่งเป็นเรื่องโชคร้ายเพิ่มขึ้นอีก เมื่ออิสราเอลในสายตาของชาวโลกคือผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (ฮอลอคลอสต์ ซึ่งหมายถึงการหมู่หรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีชาวยิวเสียชีวิตไปราว 6 ล้านคนระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง) ชาวอิสราเอลคือเหยื่อ และยังคงเป็นเหยื่ออยู่อย่างต่อเนื่อง แม้พวกเขาจะกลายสภาพเป็นฝ่ายที่ยึดครองผู้อื่นไปแล้วในตอนนี้ แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นเหยื่อ พวกเขาไม่ใช่ผู้ยึดครอง พวกเขาใช้ความเป็นเหยื่อในทางที่ผิด และสิ่งที่แย่กว่านั้นคือยุโรปก็รู้สึกผิดต่อชาวยิว จึงไม่อาจกำหนดองค์ประกอบเชิงบวกใดๆ ลงไปในแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ พวกเขาไม่อาจวางตัวเป็นกลาง ไม่แม้แต่จะคงความเป็นวัตถุวิสัยไร้อคติไว้ได้ สหรัฐอเมริกาเองก็ยังถูกยึดครองด้วยชาวยิว บางทีอาจรวมถึงในสภาคองเกรสด้วย

เป็นเรื่องที่หนักข้อยิ่งไปอีก เมื่อนายเนทันยาฮู (เบนจามิน เนทันยาฮู) นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าได้มอบดินแดนแห่งนี้ให้แก่ชาวยิว และวันสิ้นโลกจะไม่มาถึงจนกว่าดินแดนแห่งนี้ทั้งหมดจะถูกทำให้กลายเป็นรัฐยิว ซึ่งปกครองโดยชาวยิว แต่หากเป็นเช่นนี้แล้วเราจะสร้างสันติภาพหรือข้อตกลงให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีความสมดุลระหว่างสองฝ่าย? และโชคร้ายที่สหรัฐฯ แสดงบทบาทราวกับเป็นตำรวจในกรณีของปาเลสไตน์ และนี่คือกระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นกับเรา เป็นกระบวนการที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 จนถึงปัจจุบัน

ในกรณีของพวกคุณ ผมไม่รู้แน่ชัด ผมรู้แต่เพียงว่ามีความขัดแย้ง ซึ่งบางคนบอกว่ามันคือความรุนแรงที่เริ่มขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ผมคิดว่าความขัดแย้งเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว เมื่อใดที่ทุกคนไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน สิ่งนั้นเองคือความขัดแย้ง นั่นคือความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และขณะนี้ก็คือห้วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายได้ตระหนักรู้ว่าไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากการพูดคุยกัน การประนีประนอม การหาแนวทางอันสันติเพื่อการอยู่ร่วมกัน กระบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องที่ง่ายมาก ง่ายมากๆ เราล้วนเป็นมนุษย์ เราทุกคนล้วนเท่าเทียม เราจะต้องเคารพในสิทธิมนุษยชน เราจะต้องมีสิทธิแบบเดียวกัน มีโอกาสเช่นเดียวกันสำหรับทุกคน สิ่งเหล่านี้ยากเย็นหรือไม่? สิ่งเหล่านี้ล้วนมีอยู่ในทุกศาสนา ทุกกฎหมาย ทุกแนวคิด ทั้งมาร์กซิสม์, อัตถิภาวะนิยม, อิสลาม, คริสต์, พุทธ, ฮินดู ทุกหลักปรัชญาล้วนเอ่ยถึงสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องหันหน้ามาพูดคุยกันในกระบวนการเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นอย่างที่ผมได้พูดไปแล้ว คือคุณจะต้องเจ็บปวดและสูญเสียเพิ่มขึ้น จะมีประชาชนตายเพิ่มขึ้น  คุณต้องการแบบไหน ผมไม่รู้ แต่ผมเป็นชาวปาเลสไตน์คนหนึ่ง และอย่างที่ผมบอกไป ใช่ ผมกำลังพูดคุยกันอยู่

ผมศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ผมศึกษาเรื่องสันติภาพ และอีกหลายต่อหลายครั้งผมได้สนทนากับผู้คน ผมจบปริญญาเอกด้านสันติภาพศึกษา และเป็นเพราะว่าผมอาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ ทำให้ผู้คนและเด็กๆ ในปาเลสไตน์มักถามผมว่าสันติภาพคืออะไร? และผมไม่อาจอธิบายได้ คุณทราบหรือไม่ว่าเพราะอะไร? เพราะผมไม่เคยมีชีวิตท่ามกลางสันติภาพ ในเชิงปฏิบัติแล้ว ผมยังมีความขัดแย้งอยู่ภายในตัวเอง ภายในจิตใจของผมเอง ผมอยากจะนำมันออกมา ผมต้องการสร้างสันติภาพภายในตัวผม แต่ทำอย่างไร? ผมไม่รู้ เมื่อครู่มีผู้เอ่ยแนะนำตัวผมให้คุณฟัง เขาบอกว่าผมเคยถูกขังในคุกอิสราเอลอยู่นาน 15 ปี เป็นเพราะผมต่อสู้เพื่อขบวนการต่อต้านของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งก็คือ ‘องค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์’ (Palestine Liberation Organization: PLO) และผมก็เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ผมทำงานเพื่อสันติภาพ ผมต่อสู้เพื่อสันติภาพ

แต่คุณรู้หรือไม่ว่า แม้แต่ในขณะที่ผมต่อสู้ร่วมกับขบวนการต่อต้านฯ เป้าหมายของผมคือสิ่งเดียวกัน ผมต้องการอิสรภาพ ผมต้องการสิทธิที่เท่าเทียมกัน ผมต้องการให้คนเคารพสิทธิในความเป็นมนุษย์ของผม ผมไม่ได้เปลี่ยนแปลงเป้าหมาย ผมแค่เปลี่ยนเครื่องมือที่ใช้ เพราะผมได้ค้นพบว่าการไปสู่เป้าหมายที่สง่างามจะต้องใช้แนวทางที่สง่างามเช่นกัน เครื่องมือที่ใช้จะต้องสง่างามเช่นเดียวกับเป้าหมาย หากคุณต้องการมุ่งสู่สันติภาพและบรรลุให้ถึงสันติภาพ คุณต้องใช้แนวทางสันติวิธีเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อมั่นในการไม่ใช้ความรุนแรง และผมกำลังคิดถึงความเหมือนกันอีกประการของปาเลสไตน์และชายแดนใต้ ทั้งสองฝ่ายมีขบวนการเคลื่อนไหวโดยไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งแม้จะเกิดขึ้นได้ไม่นาน แต่ก็กำลังเติบโตและมีพลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมุ่งมั่นทำงานเพื่อให้อิสรภาพเกิดขึ้นแก่พวกเขา

ผมหวังว่าทั้งในดินแดนปาเลสไตน์และที่แห่งนี้ ผู้คนซึ่งยึดมั่นแนวทางที่ไม่ใช้ความรุนแรงและคำนึงถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ รวมถึงผู้ที่ยึดหลักศีลธรรม จะทวีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น การไม่ใช้ความรุนแรงเป็นพลังอย่างหนึ่ง เป็นพลังที่คุณสามารถนำพาไปสู่ผู้คนที่แวดล้อมคุณได้ และหากคุณสามารถเป็นผู้นำกลุ่มคนได้ นั่นคือพลังที่ยิ่งใหญ่ และมันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง อย่าไปเชื่อคนที่คิดว่ามีแต่ความรุนแรงเท่านั้นที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ มันไม่จริง ความรุนแรงจะทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มขึ้น จะมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเพิ่มมากขึ้น

การไม่ใช้ความรุนแรงจะนำมาซึ่งความเข้าใจสันติภาพ ยิ่งกว่านั้นแนวทางการไม่ใช้ความรุนแรงจะต้องดำเนินไปในเวลาเดียวกันกับที่มีการสนทนาภายในชุมชน การสนทนาระหว่างชาวมุสลิมและชาวพุทธ หาใช่แค่บทสนทนาในหมู่ชาวมุสลิมหรือชาวพุทธเพียงอย่างเดียว พวกเขาต้องการอะไร? ทุกฝ่ายต่างต้องการอะไร? พวกเขาจะทำอย่างไร? พวกเขาจะเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร? พวกเขาจะสื่อสารไปยังอีกฝ่ายอย่างไร? การสนทนามิใช่แค่การพูดคุยกันระหว่างสองฝ่าย การสนทนายังรวมถึงการพูดคุยระหว่างตัวคุณและจิตใจของคุณ ระหว่างคุณและพวกพ้องของคุณ ระหว่างคุณและคนกลุ่มอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากคุณ

ผมคิดว่าปัจจัยเหล่านี้คือความเหมือนกันของปาเลสไตน์และชายแดนใต้ และผมหวังว่าการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพจะยิ่งเข้มแข็งขึ้นและเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น วิธีการที่ใช้ในการเคลื่อนไหวมีการศึกษาเรียนรู้ รวมถึงทักษะและคุณค่าที่เชื่อมโยงกับชุมชนเพิ่มขึ้น เพราะการไม่ใช้ความรุนแรงคือเรื่องที่ดีและเป็นภาพสะท้อนของชุมชน ตลอดจนพฤติกรรมและความสัมพันธ์ภายในชุมชน สิ่งเหล่านี้มิได้นำไปสู่สันติภาพเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

เมื่อเราพูดถึงการสร้างสันติภาพ มันไม่ใช่แค่การมีข้อตกลงสันติภาพร่วมกันระหว่างคู่ขัดแย้ง 2 ฝ่าย แต่มันคือกระบวนการสร้างสันติภาพขึ้นภายในชุมชน ซึ่งรวมถึงทุกๆ ฝ่าย และนั่นคือสิ่งที่การไม่ใช้ความรุนแรงกำลังผลักก่อให้เกิดขึ้น ขณะที่การใช้ความรุนแรงไม่ได้ทำสิ่งนี้ แม้ว่าความรุนแรงอาจส่งผลให้ฝ่ายต่างๆ มุ่งสู่โต๊ะเจรจาได้ และนำไปสู่ข้อตกลงทางการเมือง แต่ผมขอบอกว่า คุณไม่มีทางการันตีได้เลยว่าข้อตกลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะมีความเป็นธรรมหรือสะท้อนความต้องการของชุมชนได้จริง

ในทางกลับกัน การไม่ใช้ความรุนแรงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม มันคือการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน ทั้งในส่วนของปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในตัวพวกเขาเอง และหากคุณเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ คุณก็คือผู้นำการเปลี่ยนแปลง คุณจะเปลี่ยนแปลงชุมชน และนี่คือสิ่งที่เรียกว่าการไม่ใช้ความรุนแรง นี่คือสันติภาพ และที่จริงแล้วพวกคุณโชคดีกว่าพวกเรา เพราะพวกคุณตระหนักถึงการไม่ใช้ความรุนแรงได้เร็วกว่าชาวปาเลสไตน์ที่จับอาวุธต่อสู้มานานกว่า 40 ปี จึงเพิ่งจะเริ่มคิดถึงแนวทางการไม่ใช้ความรุนแรง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระดับการศึกษาของคนในยุคนั้นถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับปัจจุบัน และการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ก็ไม่ได้เป็นเหมือนเช่นทุกวันนี้

แล้วอะไรเล่าที่ช่วยขับเคลื่อนแนวทางการไม่ใช้ความรุนแรง? คุณมี ‘สื่อ’ อยู่กับคุณ ทั้งสื่อต่างประเทศ สื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งช่วยให้คุณสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนเพื่ออธิบายตัวตนของพวกคุณ มีกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง และสามารถอธิบายเหตุผลของพวกคุณไปสู่โลกกว้างได้ สิ่งเหล่านี้ช่วยคุณได้มากกว่าการใช้แต่อาวุธปืน และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่าพวกคุณยังโชคดีกว่ามากเมื่อเทียบกับกรณีของปาเลสไตน์    

ผมคิดว่ามีความเหมือนและความต่างหลายประการในความขัดแย้งเหล่านี้ ความเหมือนกันระหว่างพวกคุณและพวกเราคือการที่กองทัพมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ ในปาเลสไตน์ก็มีกองทัพอิสราเอล ถ้าหากกองทัพมีคำแนะนำถึงรัฐบาล รัฐบาลไม่อาจพูดคำว่าไม่ เพราะกองทัพนั้นศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครพูดคำว่า ‘ไม่’ กับกองทัพ ไม่มี และไม่มีสักคนที่จะกล้าวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ แม้แต่สื่อก็ไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์กองทัพ และผมคิดว่าพวกคุณก็เหมือนกัน แม้ว่าผมจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศไทย แต่ผมพูดได้ว่าผมมองเห็นมัน กองทัพมีอำนาจมากมาย และนี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่แต่ละฝ่ายต้องขับเคลื่อน ซึ่งก็คือการกันไม่ให้กองทัพเข้ามาอยู่ในความขัดแย้ง จะต้องทำให้บทบาทของพลเรือนเพิ่มขึ้น จะต้องเพิ่มบทบาทของนักการเมืองมากขึ้นในการตัดสินใจ ไม่ใช่แค่เพียงกองทัพ เพราะกองทัพมีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะหากว่าพวกเขาไม่มีภารกิจต้องทำ พวกเขาก็จะบอกว่าถ้าอย่างนั้นจะให้เราทำอะไร ไม่อย่างนั้นพวกเราก็ไร้ประโยชน์ ด้วยเหตุนี้กองทัพจึงต้องพูดอย่างนั้น มันเป็นภาระหน้าที่ของกองทัพ และพวกเราจะต้องทำให้กองทัพทั่วโลกเรียนรู้ว่างานของพวกเขาไม่ได้ผล งานของพวกเขาคือการปกป้องเมื่อถึงคราวจำเป็น และมันควรจะเป็นการหลีกเลี่ยงสงคราม ป้องกันการเกิดสงคราม และป้องกันไม่ให้เกิดความเจ็บปวดสูญเสียขึ้นกับประชาชนต่างหาก

ผมมองเห็นความเจ็บปวดบนท้องถนน ผมมองเห็นได้จากใบหน้าของผู้คน ผมสามารถอ่านจากถ้อยคำที่พวกเขาไม่ได้พูดมันออกมา ผมอ่านมันออก ผมได้ยิน ผมได้ยินถ้อยคำที่คุณไม่ได้เอ่ย ผมบอกคุณได้เลยว่าผมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้ง เพราะผมใช้ชีวิตทั้งชีวิตอยู่ในความขัดแย้ง ไม่ใช่เพราะผมมีปริญญาเอก ไม่ใช่! ความรู้สึกมันรุนแรงขึ้นเมื่อผมเกิดมาในความขัดแย้ง ผมอาศัยอยู่ในความขัดแย้ง ผมจึงมองเห็นถ้อยคำที่คุณไม่ได้พูด ผมได้ยินมัน ผมรู้สึกสะเทือนใจทุกครั้งที่พูดคุยประเด็นนี้ เพราะนี่คือมนุษย์ พวกเราล้วนเป็นมนุษย์ และพวกเราต้องการมีชีวิตที่มีสันติภาพ เพราะอย่างนั้นผมจึงไม่ได้มาที่นี่เพื่อปราศรัยเชิงวิชาการหรือเชิงศาสตร์ใดๆ นี่คือการประชุมเพื่อสันติภาพ และผมหวังว่าสันติภาพจะเป็นเป้าหมายสำหรับพวกเราทุกคนที่ต้องการสันติภาพ และต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสันติภาพ เพื่อสนับสนุนให้พวกเขามีความกล้าหาญในตัวเองและพูดมันออกมา บอกเล่าเรื่องราวและแสดงความต้องการของพวกเขา

ผมรู้ว่ากองทัพมีปืน แต่พวกคุณเข้มแข็งกว่าพวกเขา หากปราศจากปืน ทหารเหล่านี้หรือกองทัพเหล่านี้ก็ไม่อาจทำอะไรได้ ส่วนพวกคุณไม่มีอะไรสักอย่าง แต่พวกคุณยังทำอะไรได้มากมาย ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ไม่ว่าจะคุณเป็นผู้เชื่อมั่นในสันติภาพ ไม่ว่าคุณจะมีคุณค่า จริยธรรม หรือคุณธรรม พวกคุณเป็นอะไรได้มากกว่านั้น

ท้ายที่สุด ผมอยากจะบอกพวกคุณว่าผมมีความสุข มีความสุขมากที่ได้คุยกับพวกคุณ ไม่ใช่ในฐานะนักวิชาการ ผมคุยกับพวกคุณในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เป็นผู้อาศัยและใช้ชีวิตท่ามกลางความขัดแย้ง ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ผมร้องไห้ทุกครั้งที่ผมพูดถึงเรื่องนี้ ในบางวัฒนธรรมผู้ชายจะไม่ร้องไห้ แต่สำหรับพวกเราแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราต้องร้องไห้ได้ เราต้องรู้สึกสะเทือนใจเป็น เราโศกเศร้าและเราเจ็บปวดเช่นเดียวกับคนอื่นๆ อย่าทำให้กระบวนการสันติภาพของพวกคุณยาวนานเหมือนกระบวนการสันติภาพปาเลสไตน์

นี่คือคำแนะนำของผม “จงสร้างสันติภาพ, ไม่ใช่กระบวนการสันติภาพ”