ซอลาหุดดีน กริยา
การพิมพ์ญาวีย์ในปัจจุบันนั้นสะดวกกว่าแต่ก่อนมาก ในระบบปฏิบัติการ Windows เช่น ในโปรแกรมพิมพ์เอกสารที่คนนิยมใช้กันมาก คือ Microsoft Windows นั้้นไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไร เนื่องจากมีผู้ทำการพัฒนาระบบการพิมพ์ที่รองรับภาษามลายูตัวเขียนญาวีย์ แม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่ก็สามารถใช้งานได้ในระดับหนึ่ง ทั้งในงานระดับปัจเจก หรือเพื่อธุรกิจ อันนี้ดูจากระบบการพิมพ์ที่คนในสามจังหวัดชายแดนใต้นิยมใช้กันมาก
ส่วนระบบปฏิบัติการ apple นั้น หากเป็นสี่ห้าปีที่แล้ว นับว่ายุ่งยากมากหากจะจัดการเอกสารที่เป็นภาษามลายูตัวเขียนญาวีย์ จากประสบการณ์ที่เคยใช้เครื่องแม็คในการทำงานเพื่อจัดพิมพ์หนังสือ หนทางเดียวที่จะทำได้คือ พิมพ์-ตรวจทาน ให้เรียบร้อยใน microsoft word ในเครื่องพีซี จากนั้นค่อยส่งเป็นไฟล์ pdf หรือ ปรินท์ออกมาแล้วสแกนให้เป็นภาพอีกที จากนั้นค่อยเอาไปวางเลย์เอาต์ในเครื่องแม็ค ในกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวไว้ ถือว่าเป็นการจัดการพิมพ์ที่ไม่สมประกอบ ดังนั้นในการจัดทำหนังสือมลายูตัวเขียนญาวีย์ ดูคล้ายจะไม่มีการพัฒนาสักเท่าไรในรอบหลายสิบปี (ยังไม่พูดถึงกระบวนการทางบรรณาธิการอีก)
เนื่องจากเป็นผู้ใช้ทั้งภาษาไทยและภาษามลายูในงาน ทำให้เห็นความแตกต่างระว่างความสะดวกในการนำมาใช้ ภาษาอื่นๆ มีการพัฒนาระบบการพิมพ์ที่สอดรับกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ระบบการพิมพ์ญาวีย์ไม่ค่อยกระเตื้องสักเท่าไร โชคดีที่มีคนพัฒนาหน่อยหนึ่ง ซึ่งผมได้นำมาใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งต้องขอขอบคุณผู้ออกแบบฟอนต์ญาวีย์ชุด Suhaimee (ขอพระองค์อัลลอฮ์ทรงตอบแทน) แล้วก็มีฟอนต์อื่นๆ อีกที่ผลิตออกมาในยุคนั้น เช่น Adenan และอื่นๆอีก
จากการใช้ฟอนต์ในชุดนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ เนื่องจากผู้ออกแบบใช้วิธีแทนที่อักขระภาษาอาหรับเดิม ด้วยอักขระญาวีย์ เช่น แทนที่ غ ด้วย ڠ , แทนที่ ئ ด้วย ڬ หรือแทนที่ خ ด้วย چ เป็นต้น
สำหรับอุปสรรคที่ได้จากฟอนต์นี้ อย่างแรกคือ ไฟล์เอกสารที่เราเปิดใช้นั้นต้องใช้สองฟอนต์เป็นอย่างน้อย เพราะตัวอักขระที่มีอยู่ในฟอนต์นั้นมีไม่ครบ เนื่องจากถูกแทนที่กันดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เช่น หากจะพิมพ์คำที่มีตัว غ กับตัว ڠ นั้นจะต้องใช้คนละฟอนต์กัน ดังนั้นหากจะพิมพ์ดั่งประโยคนี้ ’منجادي اورڠ يڠ باڽق استغفار’ จะต้องใช้สองฟอนต์ประกอบกัน คือฟอนต์อาหรับปกติชุดหนึ่ง และฟอนต์ญาวีย์อีกชุดหนึ่ง
อุปสรรคที่สอง เมื่อโอนไปอีกเครื่องหนึ่ง ที่ไม่มีหรือใช้ฟอนต์ญาวีย์คนละฟอนต์กัน เช่นเครื่องคอมพิวเตอร์ต้นทางใช้ฟอนต์ Suhaimee แต่เครื่องปลายทางใช้ฟอนต์ Adenan จะมีผลให้เนื้อหาเอกสารผิดเพี้ยนไปจากเจตนาเดิมของผู้พิมพ์ จากตัวอย่างประโยคข้างบน เมื่อเอาไปเปิดในอีกเครื่องที่ไม่มีฟอนต์เดียวกันกับไฟล์ต้นฉบับ ประโยคที่จะแสดงผลบนหน้าจอจะกลายเป็น ’منجادي اورئ يئ باثق استغفار’ ซึ่งนับว่าผิดไปจากเดิมไปมาก
อุปสรรคที่สาม หากจะใช้วิธีการเปลี่ยนฟอนต์โดยใช้คำสั่ง select all (เลือกทั้งหมด) เพื่อจะเปลี่ยนฟอนต์ทีเดียวเหมือนกับการพิมพ์ภาษาอื่นๆ นั้นทำไม่ได้เลย อันเนื่องจากปัญหาที่กล่าวไว้ข้างบน เพราะในเนื้อหานั้นมีสองฟอนต์อยู่คละเคล้ากัน ดังนั้นการคิดที่จะเปลี่ยนฟอนต์ในภายหลังจึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากๆ
อุปสรรคต่อมา เนื่องจากระบบการพิมพ์ญาวีย์ดังกล่าวยังไม่ได้เป็นมาตรฐาน ทำให้บางคนไม่รู้วิธีการใช้ฟอนต์ญาวีย์ดังกล่าว ดังนั้นการพิมพ์ญาวีย์ในพื้นที่นี้จึงเป็นเรื่องสไตล์ของแต่ละคนไป เมื่อต้องมีการแบ่งปันข้อมูลกัน ก็จะเกิดปัญหา บางคนก็รู้วิธีแก้ แต่บางคนก็แก้ไม่เป็น ที่นี้ก็เกิดปัญหายุ่งยากตามมา เช่น เมื่อต้องการส่งไฟล์ไปให้โรงพิมพ์ หากโรงพิมพ์นั้นไม่มีพนักงานที่ชำนาญ ก็จะทำให้งานสำเร็จชิ้นนั้นผิดพลาดไป ซึ่งมีให้เห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน
สรุปก็คือ ระบบการพิมพ์ญาวีย์ที่มีอยู่ในบ้านเรา นับว่าเป็นเรื่องจุกจิกที่มีปัญหามากมาย ทั้งนี้เพราะไม่มีคนมาพัฒนาระบบการพิมพ์ญาวีย์ให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอยู่เสมอ หากเราให้ความสำคัญกับมัน เราก็มีทางออกสำหรับอุปสรรคเหล่านี้อย่างง่ายดาย เพราะเราก็อาศัยในโลกยุคใหม่ ที่ความรู้มีอยู่มากมายในอากาศ เพียงแต่เรา(ค้น)คว้าความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ให้เป็น
และที่สำคัญคือการสนับสนุนของผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศรวมถึงในสังคมบ้านเรา หากบุคคลเหล่านี้ไม่ให้การสนับสนุนและเล็งเห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ มันจะส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อภาษามลายูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ภาษามลายูตัวเขียนญาวีย์เป็นจำนวนมาก
เพราะเรื่องของภาษาไม่ใช่แค่การเขียนให้ถูกหลักไวยกรณ์หรือพูดอ่านให้ถูกหลัก แต่การพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีอันเกี่ยวกับภาษาก็เป็นสิ่งจำเป็นเหมือนกัน...ครับ