Skip to main content

กลุ่มซูวารอปัตตานี 
http://voicepeace.org

อีกความเปลี่ยนแปลงใน  ‘ธารโต’ เมื่อความจำเป็นของปากท้องเป็นเรื่องสำคัญของชีวิต ชายแดนใต้จึงไม่ได้มีแค่มลายูมุสลิม ไทยพุทธ จีน หรือซาไกอย่างที่เคยรับรู้กันอีกต่อไป แต่ยังมี ‘ม้ง’ ผู้มาใหม่ที่พร้อมเอาชีวิตเป็นเดิมพันกับการนำปากท้องและความหวังดั้นด้นสู่ดินแดนปลายด้ามขวาน  

 

ดงหญ้า ป่ายางและกลิ่นคาวเลือดคล้ายเป็นตราประทับชีวิตของคน 3 จังหวัดไปแล้ว บรรยากาศที่ดูลี้ลับ น่ากลัวพอๆกับความมืดมิดที่ทำให้กลัวแม้แต่เสียงลมไหวจึงไม่น่าแปลกหากผู้มีทางเลือกจะอพยพโยกย้ายออกจากพื้นที่มากมาย ทว่า สำหรับผู้ที่แทบไม่เหลือทางเลือกอย่าง ‘ม้ง’ กลุ่มของ ‘ชินวัฒน์ แซ่ว้า’ วิกฤตินี้กลับเป็นโอกาสในการเข้ามาทำมาหากินเยียวยาภาระของปากท้องที่ตีบตันไปหมดแล้วในพื้นที่อื่น  

“มาหัดกรีดยางที่เบตง แต่ที่เบตงคนล้นแล้ว ต้องแบ่งกันอยู่ แบ่งกันใช้ ที่นี่ถึงรู้ว่าเสี่ยงแต่ก็มีบ้านเล็กๆให้อยู่”

ชินวัฒน์  พักมือจากงานเลื่อยไม้ไผ่เตรียมประกอบเป็นฝาบ้านมาคุยกับเรา เขาว่า กำลังดังแปลงศาลาเก่าหลังหนึ่งในหมู่บ้านซาไก ตระกูลศรีธารโต ที่ถูกทิ้งร้างให้เป็นที่อยู่ใหม่ของครอบครัว ถ้าเสร็จเมื่อไหร่จะไปรับภรรยาและลูกๆ 4 คน ที่อาศัยบ้านเพื่อนในสวนยางใกล้ๆมาอยู่ด้วยกัน 

“มากันประมาณ 8 ครอบครัว ก็ราวๆ 20 คน ” เขากล่าว พร้อมยอมรับว่า ที่นี่มีความสมบูรณ์สูง และการที่ลูกคนเล็กเกิดที่นี่เมื่อ 3 เดือนก่อนก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่อยากย้ายที่ทำกินอีก  

ชินวัฒน์  และเพื่อนๆเป็นชาวม้งที่มีบัตรประชาชนและสำมะโนครัว ในอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ตามกฎหมาย แต่การทำข้าวดอนกับข้าวโพดที่นั่นมีรายได้น้อยเกินกว่าจะพอเลี้ยงครอบครัว พอดีมีเพื่อนม้งบางคนมาได้งานรับจ้างกรีดยางที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จึงชักชวนกันมา เมื่อมากันมากๆ งานก็ไม่พอจึงย้ายมาที่ หมู่บ้านซาไก อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เพราะทราบว่าที่นี่มีงานให้ทำ  

“รู้ว่าที่นี่อันตราย เพื่อนที่เคยมาอยู่หมู่บ้านซาไกก็เคยเตือน ส่วนพ่อแม่เวลาโทรคุยกัน เขาก็เป็นห่วง บอกว่าย้ายมาอยู่ทำไม แม่บอกว่าถ้าอยู่ไม่ได้ให้กลับบ้านหรือย้ายไปทำงานที่อื่น”  

อย่างไรก็ตาม  เขายังคงขอดูเหตุการณ์ไปอีกสักระยะ ซึ่งถ้ามันรุนแรงขึ้นเขาอาจเลือกกลับบ้านหรือย้ายไปทำงานที่อื่นเหมือนกัน  

พื้นที่หมู่บ้านซาไก ถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงอันดับต้นๆของอำเภอธารโต ตั้งแต่มีเหตุการณ์ความไม่สงบมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 7 ราย มีทั้งคนไทยพุทธและมุสลิม ในจำนวนนั้นมี 2 รายที่ถูกฆ่าตัดคอในสวนยางอย่างโหดเหี้ยม ชาวบ้านที่นี่จึงค่อนข้างอยู่กันอย่างหวาดระแวง อีกทั้งถนนเข้ามาในหมู่บ้านที่ค่อนข้างเล็กและเงียบยิ่งทำให้ดูเหมือนตัดขาดจากพื้นที่ข้างนอก และแม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาตั้งหน่วยและมีด่านถี่ยิบ แต่ดูเหมือนไม่ได้ทำให้ความกังวลคลายไปจากคนในหมู่บ้านมากนัก สำหรับซาไก เจ้าของหมู่บ้านเดิมได้ย้ายออกไปอยู่ในมาเลเซียเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงศูนย์ข้อมูลทรุดโทรมล็อคกุญแจสนิท บางคนที่เคยปลูกยาง ทำสวนผลไม้ไว้ก็ทิ้งไปเลยไม่กล้ากลับมาที่นี่อีกหลังเหตุการณ์ไม่สงบประทุขึ้น  

“เจ้าของสวนยางไม่กล้าไปกรีดยาง แต่ที่เราต้องกล้าไปเพราะไม่มีเส้นทางที่จะเลือกได้ก็ต้องไป” ชินวัฒน์ กล่าว เมื่อเราถามถึงที่อื่นในภาคใต้ เขาว่าคงจะยาก เพราะไม่มีใครจะแนะนำอาชีพให้ จึงเลือกที่เสี่ยงทำกินที่นี่  

“เราไม่รู้จักเขา เขาไม่รู้จักเรา เราแค่คนหาเช้ากินค่ำก็ทำมาหากินไปตามอัธยาศัย” เขาอธิบายวิธีที่ทำให้ความกลัวลดน้อยลง “ผมย้ายสำมะโนครัวมาเลย คิดว่าถ้าไม่มีปัญหาความรุนแรงก็อยากปักหลักอยู่ที่นี่”  

สำหรับค่าแรงจากการรับจ้างกรีดยาง ชินวัฒน์ได้รับเหมือนพื้นที่อื่นๆในภาคใต้ คือ จะแบ่งรายได้คนละครึ่งกับเจ้าของสวนยาง เขาาถ้าฝนไม่ตก รายได้ดีที่สุดตกประมาณวันละ 400 – 500 บาท แต่เฉลี่ยแล้วอยู่ที่วันละ 200 บาท ส่วนช่วงนี้ฝนตกก็ไม่ได้กรีดยางเลย ลำบากหน่อยแต่ยังพออยู่ได้ 

“อาหารการกินก็ออกไปซื้อหรือหาในป่าบ้าง แต่ไม่ค่อยได้ออกไปข้างนอก ถ้าไปก็ต้องไปเป็นกลุ่ม 4-5 คน” ชินวัฒน์บอก และว่าเขาและเพื่อนๆก็ไม่ได้ประมาทต่อสถานการณ์ อย่างน้อยต้องจัดเวรยามดูแลกันและกัน และใช้วิธีออกไปกรีดยางตอนกลางวัน คือ หลังจาก 6.00 น. ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การมาใหม่ของพวกเขายังเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่แปลกสำหรับพื้นที่ 8 เดือนมานี้พวกเขาไม่ได้คุยกับชาวบ้านในพื้นที่ที่อยู่นอกหมู่บ้านซาไกเลย จะคุยก็กับชาวบ้านที่ปลูกบ้านใกล้ๆกันไม่กี่หลังเท่านั้น  

“ก็เหงา เพราะเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องก็อยู่ที่เชียงรายหมด ที่นี่จะไปไหนก็ลำบาก แต่เหงาก็ต้องอดทน”

ที่ใช้ปลอบประโลมใจกันบ้างก็มี40 ดีกรีนิดๆหน่อยๆ ระหว่างเพื่อนฝูงที่มองตาก็รับรู้หัวอกกันและกัน  

เขายังบอกว่าความเชื่อของเขาต่างจากคนที่นี่ พวกเขาไม่นับถือศาสนาไม่ว่าจะพุทธหรืออิสลาม แต่นับถือบรรพบุรุษ เมื่อลูกที่เกิดที่นี่เขาจึงเชิญ ‘คนเจ้า’ ของชาวม้งที่อยู่ในเบตงมาทำพิธีให้ เพราะตามความเชื่อ ลูกจะต้องมีชื่อของเผ่านอกเหนือจากชื่อตามบัตรประชาชน 

ในฐานะพลเมืองไทยคนหนึ่ง เราถามทิ้งท้ายว่า อยากฝากอะไรไปถึงภาครัฐบ้าง

“ทุกคนอยากมีที่ทำกินสักแปลงจึงคิดมาปักหลักที่นี่ ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐแบ่งให้ ที่นี่หรือไหนก็ได้” 

ชีวิตของชาวม้งอพยพกลุ่มนี้อาจเป็นบทเริ่มต้นปรากฏการณ์ใหม่ในพื้นที่ 3 จงหวัดชายแดนใต้ อย่างไรก็ตาม มันยังคงสะท้อนความจริงของผู้ยากไร้ที่ว่า ที่ดินทำกินและเรื่องปากท้องเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเสมอ แม้ว่าพวกเขาจะต้องเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงก็ตามที.