Skip to main content

รุ่งรวี  เฉลิมศรีภิญโญรัช

ในช่วงหลายๆ เดือนที่ผ่านมา  ภาคประชาสังคมในภาคใต้ได้ร่วมกันออกรณรงค์เรื่อง “อย่าล้ำเส้นมนุษยธรรม”  ท่ามกลางการโจมตีของพลเรือนในชายแดนภาคใต้ที่พุ่งสูงขึ้น หลังการพูดคุยสันติภาพหยุดชะงักลงไป   เหยื่อหลายคนในนั้นเป็น เด็ก ผู้หญิง และ พระ    เสียงที่ส่งออกไป   ดูเสมือนจะไม่มีใครตอบรับ  ขบวนการไม่เคยออกมายืนยันว่ากลุ่มของตนนั้นเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆ ที่เกิดขึ้น 

เมื่อเร็วๆ นี้มีบทความที่น่าสนใจหนึ่งชิ้นที่ชื่อว่า  Patani Perkenalkan IHL (แนะนำให้ชาวปาตานีรู้จักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ)  เขียนโดย Pos Patani (Patani Overseas Society)  เผยแพร่ในบล็อกบนหน้าเว็บไซต์ Deep South Watch  (http://www.deepsouthwatch.org/node/6031) ผู้เขียนได้รับการบอกกล่าวจากแหล่งข่าวในขบวนการว่าบทความนี้เขียนขึ้นโดย Pak Bakhtiar (นามแฝง) แกนนำระดับสูงของกลุ่ม BRN   ผู้เขียนได้อ่านบทแปลภาษาอังกฤษแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นว่านี่เป็นเอกสารชิ้นสำคัญเกี่ยวกับการปกป้องพลเรือนที่ควรจะต้องมาบอกเล่าให้กับผู้สนใจได้ทราบ

ในกรอบของกฎหมายมหาชนระหว่างประเทศนั้น  มีกฎหมายสาขาหนึ่งที่ใช้บังคับในสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธ  ทั้งที่เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐ (International Armed Conflict) และความขัดแย้งภายในอาณาเขตของรัฐ (Non-International Armed Conflict)  ซึ่งเรียกกันว่า International Humanitarian Law (IHL)     กล่าวโดยย่อๆ IHL นั้นเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่ขัดแย้งกัน   และรัฐกับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ  (non-state armed group)   โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดผลกระทบของความขัดแย้งด้วยอาวุธต่อพลเรือนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนั้น   IHL เป็นกฎหมายที่คำนึงถึงความจำเป็นในทางการทหารและทางมนุษยธรรมควบคู่กัน   ซึ่งกฎเกณฑ์ด้านการปกป้องสิทธิมนุษยชนในสภาวการณ์เช่นนี้นับว่าต่ำกว่ากฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่บังคับใช้ในสถานการณ์ปกติ

บทความของ Pak Bakhtiar  ชิ้นนี้ระบุว่านักรบเพื่อปลดปล่อยปาตานีได้รับหลักปฏิบัติและจริยธรรมที่ระบุไว้ใน IHL  เขาได้อ้างถึงคำพูดของนักรบที่ไม่เปิดเผยนามซึ่งกล่าวว่า  “มันเป็นการยากที่พวกเราจะรณรงค์เพื่อบังคับใช้ IHL  อย่างเปิดเผย   ในสภาวะที่พวกเราเคลื่อนไหวภายใต้การปกครองของอาณานิคมสยามที่ดำเนินแนวทางกีดกันทางเชื้อชาติอย่างเข้มข้น  แต่ว่าด้วยความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบต่อประชาชน  เราพร้อมที่จะดำเนินการในสามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาเจนีวา คือ 1)  แกนนำของกลุ่มติดอาวุธของชาวปาตานีกำลังสอนหลัก IHL ให้กับผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของพวกเขา  2) กองกำลังติดอาวุธของชาวปาตานีได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติตามกฎกติกาที่ระบุไว้ใน IHL ในการปฏิบัติการของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง และสาม นักรบชาวปาตานีจะปฏิบัติตามหลักการใน IHL และมาตราที่ 1  ย่อหน้าที่ 1 และ 2  ในพิธีสารเพิ่มเติม  1977 อย่างเป็นขั้นเป็นตอน”   

สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภาคใต้นั้นเข้าข่ายสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยอาวุธภายในอาณาเขตของรัฐ     กฎเกณฑ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในลักษณะนี้อยู่ในมาตรา 3 ของอนุสัญญาเจนีวาทั้ง 4 ฉบับซึ่งทุกประเทศทั่วโลกได้ลงสัตยาบันไว้  มาตรา 3 (Common Article 3) ระบุว่า

มาตรา 3 ในกรณีที่ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธไม่ใช่ความขัดแย้งระดับนานาชาติ หากแต่เกิดขึ้นภายในอาณาเขตของรัฐภาคี อย่างน้อยที่สุด ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งมีพันธะผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานดังต่อไปนี้

(1)     บุคคลใดที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง รวมถึงสมาชิกของกองกำลังที่วางอาวุธ และสมาชิกของกองกำลังที่เจ็บป่วย, บาดเจ็บ, ถูกคุมขัง หรือเหตุอื่นๆ ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว ศาสนาหรือความเชื่อ เพศ กำเนิดหรือความมั่งมี หรือเกณฑ์อื่นที่ใกล้เคียงกัน

จนถึงที่สุดแล้ว การกระทำต่อไปนี้ถือเป็นการกระทำต้องห้าม ไม่ว่าจะเป็นในเวลาหรือสถานที่ใด ต่อบุคคลที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในข้างต้น (a) การใช้ความรุนแรงต่อชีวิตและบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฆาตกรรมทุกชนิด การทำให้พิการ การปฏิบัติที่โหดร้าย และการทรมาน (b) การจับเป็นตัวประกัน (c) การประทุษร้ายต่อศักดิ์ศรีของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติที่ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือการทำให้อับอาย (d) การลงโทษจำคุกและประหารชีวิตโดยไม่ผ่านการพิพากษาของศาล ซึ่งรับรองอำนาจในการพิจารณาคดีและจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากอารยชน

(2) ผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยต้องได้รับการดูแลรักษา  (คำแปลมาตรา 3 มาจากบทความ  พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ “ว่าด้วยกฎหมายมนุษยธรมระหว่างประเทศ และสถานการณ์ชายแดนใต้”, ประชาไท, 22 กุมภาพันธ์ 2556)

ยังมีรายละเอียดอีกมากมายใน IHL ที่ไม่สามารถอภิปรายได้อย่างครบถ้วนในที่นี้   แต่สาระสำคัญหลักที่ได้ระบุไว้ในมาตรา 3 คือ การใช้ความรุนแรงต่อชีวิตของผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งนั้นเป็นการละเมิด IHL   การที่ผู้นำระดับสูงของฝ่ายขบวนการออกมาประกาศว่าขบวนการกำลังดำเนินการเพื่อบังคับใช้ IHL ในหมู่สมาชิกของตนจึงนับเป็นพัฒนาการก้าวสำคัญ   ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการปกป้องพลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งด้วยอาวุธ   ปัญหาต่อไปคือ การตัดสินว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งหรือไม่นั้น ใช้หลักเกณฑ์อะไร  หลายครั้งที่ฝ่ายขบวนการอธิบายว่าการสังหารพลเรือนบางคนเป็นเพราะบุคคลนั้นกระทำตัวเป็นสายลับให้กับฝ่ายรัฐ   ปัญหานี้เป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป  แต่เด็ก ผู้หญิง และพระที่ถูกสังหารในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา   น่าเชื่อได้ว่าพวกเขาส่วนใหญ่หรือทั้งหมดไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างรัฐสยามกับนักรบปาตานี    และพวกเขาควรได้รับการปกป้อง  

คำกล่าวของแกนนำ BRN ที่อ้างอิงคำพูดของนักรบปาตานีในพื้นที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้หรือไม่   เป็นสิ่งที่ต้องจับตาดู  

 

หมายเหตุ : บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 22 สิงหาคม 2557   ดูต้นฉบับได้ที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1408720120