Skip to main content

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นการสรุปประเด็นบรรยายของอาจารย์จอห์น มิคสิค (John N. Miksic) อาจารย์ประจำภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ซึ่งจัดขึ้นโดยโครงการจัดตั้งสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเรียบเรียงโดย ดร.ไฟซ็อล หะยีอาวัง

คำว่า “กาลาห์” (Kalah) อาจเป็นปริศนาในความหมายและที่มาของมัน แต่นักประวัติศาสตร์กลับพบคำนี้ในนวนิยายชื่อดังของอาหรับเรื่อง “การผจญภัยของซินแบด” “Sindibadul Bahri” “The Seven Voyages of Sinbad” ที่นำเสนอเรื่องราวบันทึกการเดินทางทางทะเลสู่ดินแดนอันไกลโพ้น อันที่จริงแล้ว “การผจญภัยของซินแบด” เป็นภาคหนึ่งของนวนิยายเรื่อง “อาหรับราตรี” (The Arabian Night) ที่แต่งขึ้นในสมัยของผู้ปกครองอิสลาม (Khalifah) ผู้เรืองนามชื่อว่า “ฮารูน อัล-รอชีด”แห่งอาณาจักร “อาบาซียะห์” (‘Abbasiyyah)

ในเรื่องการผจญภัยของซินแบดได้บันทึกว่า “เราได้กางใบแล่นเรือด้วยสายลมที่สงบภายใต้อำนาจแห่งองค์อภิบาลที่นำเรามาถึงเกาะแห่งหนึ่งชื่อว่า “Al-Salahitah” “Selat”  (Strait) [ช่องแคบมะละกา] ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า ไม้จันทน์ (Sandalwood) และเมื่อกัปตันแวะทอดสมอที่นี่ ก็ได้พบเห็นความอุดมสมบูรณ์ของมัน ที่เต็มไปด้วยสารพันสัตว์และพืชพันธุ์ ณ มหาสมุทรอินเดียแห่งนี้เราได้พบเห็นฝูงปลาหลากชนิดซึ่งนับไม่ถ้วน และมีปลาชนิดหนึ่งที่ใหญ่มาก มันออกลูกและให้นมลูกคล้ายมนุษย์ หากแต่มันมีเกราะกำบังตัวมันเหมือนกระดอง เราเรียกมันว่า (Dugong)” จากนั้นเราก็ได้แล่นเรือต่อจากเกาะหนึ่งไปยังอีกเกาะหนึ่ง จากหน้าน้ำหนึ่งไปอีกหน้าน้ำหนึ่ง จนมาถึงเกาะหนึ่งชื่อว่า “กาลาห์” ใกล้กับแผ่นดินอินเดีย ที่นี่ปกครองโดยกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ เจริญรุ่งเรือง ผลิตการบูรและหวายที่ดีเยี่ยม นอกจากนี้ยังมีแร่ดีบุกอีกด้วย”

ในบันทึกของจีนได้เขียนว่า “ลังกาสุกะ” คืออาณาจักรเก่าแก่ของ “กาลาห์” นับตั้งแต่ปี ค.ศ.515 เมื่อกษัตริย์ บาดัตตา (Bhadatta) ส่งทูตไปยังจีน และในปีต่อๆ มาคือ ปี ค.ศ. 523, 531 และ 568 ลังกาสุกะได้ส่งทูตจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ และในปี ค.ศ.608 ยังคงมีทูตจากลังกาสุกะถูกส่งไปยังจีนอีกหลายครั้ง เช่นเดียวกันที่ปรากฏในคำอธิบายของ ยิจิง “Yijing”เกี่ยวกับดินแดนเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17

ดินแดน “กาลาห์” แห่งนี้ยังเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญระหว่างจีนและเปอร์เซียอีกด้วย เพราะมันคือจุดนับพบที่สำคัญระหว่างการเดินทาง ท่าเรือสำคัญๆ แห่งลังกาสุกะจึงเป็นจุดแวะเพื่อขนถ่ายสินค้าจากจีนและเปอร์เซีย

ในมิติของนักโบราณคดี หลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือการบ่งบอกเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ ดินแดนลังกาสุกะแห่งนี้ สินค้าประเภทถ้วยชาม เครื่องปั้นดินเผ่า เซรามิก ภาชนะทองคำ เครื่องเงินและทองแดงที่ฝังหลายครามอันสง่างามของวัฒนธรรมอาหรับ จีน อินเดียและมลายูที่พบอยู่ทั่วไปตั้งแต่นครศรีธรรมราชจนถึงรัฐเกดาห์ของมาเลเซีย รูปปั้นจากชวาและตีมอร์ แม้กระทั่งสถาปัตยกรรมในรูปแบบของสถูปและเจดีย์ที่ปรากฏอยู่อย่างเด่นตระหง่านที่อินโดนีเซียและภาคใต้ของไทยนั้น ย่อมหมายถึงการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายจากดินแดนแห่งอารยธรรมโลกในอดีตไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย และเปอร์เซีย

ซากกระเบื้อง เซรามิกของภาชนะเครื่องใช้สอยที่จมอยู่ใต้ก้นทะเลลึกบริเวณหินดำในช่องแคบมะละกา หรือที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วแผ่นดินกาลาห์แห่งนี้ เสมือนว่ามันได้ถูกกู้ขึ้นมาโดยนักโบราณคดีให้กลับฟื้นคืนชีพ เพื่อบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตของดินแดนลังกาสุกะแห่งนี้ และเป็นสักขีพยานให้กับการกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในโลกปัจจุบัน เพื่อต้อนรับการมาเยือนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกครั้งบนแผ่นดินสมุทรรัฐแห่งนี้นั่นเอง