Skip to main content

 

อัฮหมัดสมบูรณ์ที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่เรียกว่า แบม๊ะ หรือไม่ก็อาเย๊าะ (พ่อ) จบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เข้าศึกษาปี 2513) รับราชการที่ มอ.ปัตตานี ตำแหน่งก่อนการลาออกเพื่อเป็นนักวิชาการอิสระ คือ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ สำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง

ตลอดเวลาใน มอ. สามารถกล่าวได้ว่าท่านทุ่มเทให้กับงาน ทำด้วยใจเพื่อช่วยเหลือประชาชน พื้นที่การทำงานมิใช่เฉพาะแต่ในสามจังหวัดขายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ขยายขึ้นมาถึงภาคใต้ตอนบนและเป็นงานในหลายด้าน ทั้งการเมือง สังคม วัฒนธรรม ศาสนา เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการสื่อสารทั้งวิทยุและโทรทัศน์ ดังนั้น ห้องทำงานของท่านจึงมีแขกอยู่ตลอดเวลา ทั้งประชาชน เพื่อนฝูง และคณาจารย์ และห้องนี้ก็เป็นที่บ่มเพาะนักกิจกรรมที่ขึ้นมามีบทบาทหลังเกิดสถานการณ์ความรุนแรงหลายท่านที่ได้รับรางวัลด้านต่างๆมากมาย ซึ่งทำให้อัฮหมัดแอบภูมิใจที่น้องๆประสบความสำเร็จ

ในปี 2548 อัฮหมัดสมบูรณ์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ที่มีอดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน และอัฮหมัดได้เป็นคนแรกที่นำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ปาตานีให้คณะกรรมการได้เรียนรู้ ซึ่งเป็นการนำเสนอที่ลุ่มลึกน่าสนใจ

เมื่อมาเป็น กอส. เขาก็ทุ่มเทกับงาน และเมื่อ กอส.จบ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า (อดีตเลขาฯกอส.) ได้เปิดหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข (4ส.) ที่สถาบันพระปกเกล้า อัฮหมัดก็เข้าเป็นนักศึกษารุ่นที่ 1 และได้มีข้อเสนอในการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลักๆ 3 ข้อ คือ Peace Talk, Peace Net และ Peace Communication ซึ่งเป็นสิ่งที่อัฮหมัดทำอย่างต่อเนื่องหลังจากจบการศึกษา และเมื่อเปิดหลักสูตรวุฒิบัตร การเสริมสร้างสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการหลักสูตร ซึ่งจบไปแล้ว 2 รุ่น

กล่าวได้ว่าอัฮหมัดสมบูรณ์ทำงานพูดคุยเพื่อสันติภาพมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ปล้นปืน จากที่ยังไม่มีกอส. ยังไม่มีหลักสูตรสี่สอ จนกระทั่งเมื่องานนี้เป็นข้อเสนอประการแรกของหลักสูตรสี่สอ รุ่น 1 อัฮหมัดก็ได้ทำงานมากขึ้น มีความหวังมากขึ้น แต่สุขภาพแย่ลงตามวัย (64 ปี) แม้เขาจะเป็นคนดูแลสุขภาพก็ตาม

อัฮหมัดจบชีวิตลงในขณะปฏิบัติหน้าที่ แม้จะบอกว่าเหนื่อย แต่ก็ออกเดินทางไปด้วยความหวังที่สูงส่งในวันที่ 15 กันยายน โดยก่อนเดินทางก็ได้โทรศัพท์คุยและขอให้ช่วยทำงาน โดยเขามองอนาคตในด้านต่างๆ ควรจะทำอะไร ขับเคลื่อนต่อกันอย่างไร ขณะอยู่สวีเดนก็ส่งข่าวให้ทราบ “กลับถึง 22 อยากคุยกัน และจะต้องไปประชุมต่อที่อินโดนีเซียเช้า 23” แต่สุดท้ายก็ไม่มีโอกาส

ในการพาอัฮหมัดสมบูรณ์เดินทางกลับมาตุภูมิจากสวีเดนถึงไทยไปยังปูยุด และการทำพิธีทางศาสนกิจตามหลักการอิสลามทั้งในสวีเดนและในวันนี้ เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากหลายองค์กรไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศ สถานทูตไทยในสวีเดน บริษัทการบินไทย สถาบันพระปกเกล้า ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆในพื้นที่ และหลากหลายผู้คนรวมถึงพี่น้องในสวีเดน ที่พยายามทำอย่างดีที่สุดในการประสานงานกับทางครอบครัวและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ด้วยเพราะทุกคนรักและภาคภูมิใจในการทำงานเพื่อสันติภาพของอาจารย์ นักวิชาการอิสระด้านสันติวิธีที่ชื่ออัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง

 

เรียบเรียงโดย อ.เสาวนีย์ จิตต์หมวด – อดีต กอส./กรรมการอำนวยการหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข สถาบันพระปกเกล้า