Skip to main content

 กลุ่มซูวารอ ปัตตานี
http://voicepeace.org/

สถานการณ์ความไม่สงบ ในพื้นที่ ยังคงวนเวียนในอ่างใบเดียวขณะที่เหตุความรุนแรงก็ยังเกิดขึ้นทุกวัน จากเหตุการณ์ปล้นปืนจำนวน 413 กระบอก  ที่ค่ายปิเล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อค่ำคืนวันที่ 4 ม.ค.2547 ถึงวันนี้ ก็ครบ 6 ปี ของเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่เมื่อตรวจสอบไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ปรากฏว่า สามารถตรวจยึดอาวุธที่หายไปมาได้เพียง อาวุธ M16 จำนวน 56 กระบอก ปืนพกสั้น 11 มม. จำนวน 8 กระบอก นับว่าการติดตามอาวุธคืนมาได้ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ขณะจำนวนผู้เสียชีวิตในเหตุความรุนแรงตลอดระยะเวลา 6 ปีมีมากกว่า 3,000 คน ผู้บาดเจ็บและได้รับผลกระทบอีกจำนวนมาก จึงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า เราจะหาทางออกจากวังวนแห่งความรุนแรงนี้อย่างไร  

 

วันที่ 4 มกราคมนอกจากตรงกับวันปล้นปืนดังกล่าวแล้ว ยังตรงกับวันประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งขบวนการและสถาปนาธรรมนูญของขบวนการ PULO เก่าเมื่อปี 2511 อีกด้วย แม้กองกำลังเจ้าหน้าที่ได้พยายามป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นในห้วงนี้คนร้ายก็ยังสามารถก่อเหตุขึ้นมาจนได้ ที่จ.นราธิวาส เกิดเหตุระเบิด 2 จุด เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ 4 บนถนนสายเจาะไอร้อง-ไอร์ปาแย บ้านเจาะไอร้อง ม.1 ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง ขณะรถหุ้มเกราะของทหารชุดร้อย ร.15134 ฉก.นราธิวาส 31 กำลังลาดตระเวนตรวจความเรียบร้อย นอกจากนี้ ผู้ก่อเหตุยังยิงซ้ำด้วยอาวุธปืนเอ็ม 16 และอาก้า แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ส่วนจุดที่ 2 คนร้ายวางระเบิดในพื้นที่ ม.1 ต.บางขุนทอง อ.ตากใบ ชาวบ้านบาดเจ็บเล็กน้อย 2 ราย ส่วนที่ จ.ปัตตานี คนร้ายยิงชาวบ้านเสียชีวิต 1 ราย บนถนนสายตะลุโบะ-คลองมานิง ม.7 ต.ตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี

ดูเหมือนความรุนแรงในห้วงวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมาไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่าวันธรรมดา กลับเป็น ‘เหตุปกติ’ ที่พบเจอกันอยู่ทุกวัน แต่ความปกติที่ว่า ไม่อาจเป็นข้ออ้างในการไม่พยายามแสวงหาทางออก

นายอับดุลอาซิซ ตาเดร์อิน อุปนายกหัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชน ยมท. มองว่า  ปัญหาในพื้นที่ แม้จะผ่านมานานแค่ไหนก็ยังวนเวียนอยู่ที่เดิม เหตุการณ์ก็ยังไม่ทุเลาลง ความรุนแรงยังมีอยู่ เหตุรายวันก็ยังเกิดขึ้นทุกวัน ถ้านับจำนวนก็จะมองว่า เหตุการณ์ขึ้น แต่ความรุนแรงก็ยังมีอยู่

“ทางออกของปัญหานั้นผมคิดว่ารัฐต้องหาเครื่องมือใหม่ๆมาใช้บ้าง เช่นการเจรจา หรือการปรับความยุติธรรมให้รัดกุมมากขึ้น หรือยก ‘นครปัตตานี’มาพูดคุยให้ชัดเจน เพราะนครปัตตานี คืออีกหนึ่งเครื่องมือที่จะนำมาแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ แม้ยังไม่แน่ใจว่าการแก้ปัญหาจะดีหรือไม่ดี คิดว่าน่าจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ดีกว่าทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ รัฐบาลต้องมีการเจรจา หรือจัดตั้งเขตปกครองพิเศษตรงนี้ ปัญหาถึงจะจบลงได้” นายอับดุลอาซิซแสดงความเห็น 

ฝ่ายสิทธิมนุษยชน ยมท.แสดงความเชื่อมั่นว่าความรุนแรงที่ยังมีอยู่เกิดจากการตอบโต้จากสมาชิกกลุ่มที่ต้องสูญเสียเพื่อนสมาชิกไป ทั้งจากการถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญหรือกดดันและจับกุมไปได้ ส่วนเรื่องที่มีกระแสข่าวมาว่า เหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นช่วงหลังนี้ เป็นเพราะมีแนวร่วมที่พึ่งฝึกมาใหม่ได้เข้ามาในพื้นที่นั้น ตนเชื่อว่าแนวร่วมมีอยู่ทุกพื้นที่เต็มไปหมด ไม่จำเป็นต้องรอแนวร่วมจากข้างนอกมาก่อเหตุ

“แนวร่วมจากต่างถิ่นเริ่มเข้ามา ตั้งแต่ ปี 2547 และการเพิ่มจำนวนแนวร่วมก็เกิดจากมาตรการของรัฐ เพราะเครื่องมือบางอย่างของรัฐ เช่นความยุติธรรม บางครั้งเป็นการผลักคนเข้าไปเป็นแนวร่วมโดยไม่มีทางเลือกนั้น เป็นการถูกบังคับโดยสถานการณ์”

อุปนายกหัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชน ยมท. กล่าวต่อว่า การที่ฝ่ายรัฐประกาศว่า ช่วงหลังมีประชาชนออกมาให้ความร่วมมือมากขึ้นนั้น อยากให้เข้าใจว่า แต่ละครั้งที่รัฐจับคนร้ายไปสืบสวนและให้ซัดทอดต่อ หรือการที่รัฐเอาชาวบ้านมาเดินขบวน ตนมั่นใจว่า ชาวบ้านที่มาด้วยความจริงใจกับรัฐไม่ถึงครึ่ง ที่เหลือก็เป็นได้แค่ภาพลวงเท่านั้น เพราะความจริงคือ ตอนนี้ชาวบ้านหวาดกลัวทั้งรัฐและฝ่ายตรงข้าม เขาต้องอยู่อย่างหวาดระแวง ภาพที่เห็นอาจต่างจากสิ่งที่เราคิดอยู่ก็ได้

“รัฐควรเปลี่ยนเครื่องมือใหม่ๆบ้าง โดยเฉพาะประเด็นนครปัตตานี ควรนำขึ้นมาพูดคุยบนโต๊ะ  อยากให้รัฐมองตรงนี้บ้าง และคิดอยู่ตลอด 6 ปีว่า ที่ผ่านเครื่องมือที่รัฐใช้ยังเดิมๆทำไมรัฐจึงไม่ยอมเปิดทางใหม่เลย ทั้งที่นโยบายที่ใช้แก้ปัญหาพื้นที่นี้ไม่ได้ ส่วนตัวบุคคลที่จะลงมา ก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่ก็เชื่อว่าจุดนี้ไม่สำคัญเท่ากับว่า ตอนนี้ยังมองอนาคตไม่ออก ว่าจะเดินไปสู่ทิศไหน ประชาชนยิ่งแย่กว่านี้ เพราะเขาต้องโดนทั้งสองฝ่าย เปรียบเหมือนลูกแตงโมอยู่ใกล้ทุเรียน เขากลัวทั้งสองฝ่าย เจ้าหน้าที่ก็กลัวผู้ก่อการก็กลัว สิ่งเดียวคือ เขาอยากฟังว่า รัฐยอมเปลี่ยนเครื่องมือตัวใหม่มาเล่นบ้างหรือไม่ รัฐกล้าพอหรือไม่” อุปนายกหัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชน ยมท. กล่าวทิ้งท้าย