อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวงหรือที่หลายคนเรียกอาเยาะมะบ้าง แบมะบ้าง ไม่ได้เป็นแค่นักคิด นักเขียนหรือนักสันติวิธีเท่านั้น ท่านยังเป็นนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นักนิเวศวิทยา นักสื่อสารมวลชน นักปกครองท้องถิ่น ฯลฯ ที่สำคัญท่านเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมรุ่นใหม่ในกระแสเรียกร้องอัตลักษณ์มลายูปาตานี ท่านได้สร้างคุณูปการไว้อย่างใหญ่หลวงในการปูทางสู่การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐกับผู้มีความคิดต่าง การเสียสละ ความจริงใจและความรับผิดชอบของท่านทำให้ทุกฝ่ายเกรงใจและยอมเดินเข้าสู่ประตูกระบวนการสันติภาพ วันนี้อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวงในฐานะไม้หนึ่งจากพวกเราไปแล้วด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในวัย 64 ปีที่สวีเดนเมื่อ 20 กันยายน ตรงจุดนี้ มีคำถามที่ต้องการคำตอบอย่างเฉียบพลันจากสังคมมุสลิมไทยว่า ใครจะรับหน้าที่นี้แทนท่าน ?
ศึกษาจากงานเขียนของอัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง เราจะพบว่ามันไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินเลยถ้าเราจะยกย่องให้ท่านเป็นปราชญ์ เป็นกูรูคนสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ อีกทั้งไม่มีใครกล้าปฏิเสธความเป็นนักคิด นักเขียน นักสันติวิธีของท่าน ในบทความ รากเหง้าไฟใต้ ท่านเคยสรุปไว้ว่า ....รากเหง้าสังคมมุสลิมภาคใต้มีวิถีที่เรียบง่ายตามศาสนากำหนด ต้องการสันติภาพ ปรารถนาความปลอดภัย ใฝ่หาความสงบสุขและการมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีในการใช้ชีวิตแบบมุสลิมร่วมในสังคมไทย หาใช่เป็นอย่างที่บางคนคิดอยากจะให้เป็นไป ..... อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวงย้ำในบทความนี้ว่า มุสลิมไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่ต้องการอยู่ร่วมกับชนทุกกลุ่มในสังคมไทยอย่างเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ดังนั้น สิ่งที่ท่านเสนอเราอาจพูดได้ว่าเป็นฉันทามติของมุสลิมในประเทศไทย นอกจากนี้ท่านยังเสนอทัศนะในเรื่องเดียวกันนี้ในบทความ บันทึกเส้นทางสันติวิถีของมุสลิมในประเทศไทย ว่า ....
ดังนั้นการออกกฎหมายหรือระเบียบใดๆ ก็ตามอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผลักดันงานการเมืองและการเคลื่อนของภาคประชาชนที่ยึดแนวทางสันติวิธีและการมองพื้นฐานการเคลื่อนไหวที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพัฒนาเรื่องกระบวนยุติธรรมและความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีการดำรงตนตามอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมตามสิทธิและหน้าที่ที่พึงมีพึงได้จากรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการแปลกแยก แบ่งแยก ไม่รักชาติ ต้องการแบ่งแยกดินแดนแล้วไซร้ หายนะและความเลวร้ายต่างๆจะเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้น ....
อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวงจบคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นน้องรศ. เสาวนีย์ จิตต์หมวดในสถาบันการศึกษาเดียวกัน ท่านศึกษาต่อที่ประเทศฟิลิปปินส์ ได้ Dip. In Rural Social Development จากมหาวิทยาลัย Xavier เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีนานเกือบ 30 ปี ท่านทำงานด้านสื่อสารมวลชน อนุรักษ์ธรรมชาติ สหกรณ์ชุมชน ศึกษาประวัติศาสตร์ปาตานีและเป็นหัวหอกสำคัญในการเคลื่อนไหวการเมืองภาคประชาชนปาตานีจนได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติในปี 2548 หลังการปล้นปืนที่ค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาสพร้อมกับรศ. เสาวนีย์ จิตต์หมวด หลังจากนั้นท่านก็เดินหน้าเข้าสู่งานสันติวิธีเต็มตัว โดยร่วมงานกับสำนักธรรมาภิบาลและสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า ท่านทุ่มเทเวลาให้กับการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เขียนบทความ ร่วมงานวิชาการและเดินทางพบปะฝ่ายต่างๆเพื่อกรุยทางเข้าสู่กระบวนการพูดคุยสันติภาพ
ความมีน้ำใจของท่านเป็นสิ่งที่ผมและครอบครัวประทับใจมากที่สุด เมื่อสองปีก่อนครอบครัวผมมีการสูญเสีย ท่านยังอุตส่าห์เจียดเวลามาเยี่ยมปลอบใจพวกเราถึงที่บ้าน ผมเพิ่งพาลูกสาวคนโต นัจญมี อู่งามสิน ไปเยี่ยมท่านเมื่อ 21-22 สิงหาคมที่มอ.ปัตตานี ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ การสื่อสาร ความขัดแย้ง และกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเซียและจังหวัดชายแดนใต้ของไทย วันที่ 23 สิงหาคม เรามีโอกาสไปทัวร์วัฒนธรรมด้วยกันที่มัสยิดกรือเซะ มัสยิดอาโห มัสยิตาโละมาเนาะ ฯ ก่อนที่นัจญมีจะเดินทางกลับกทม.ฯในตอนเย็นของวันที่ 23 สิงหาคม ท่านบอกกับลูกสาวผมว่า แล้วมาเที่ยวอีกนะลูกสาว คำพูดนี้ครอบครัวเราไม่อาจลืมได้ แต่ก็ไม่อาจทำได้ เพราะท่านจากพวกเราไป
หลังจากนั้นไม่นาน ในงานประชุมที่มอ.ปัตตานีครั้งนี้ ผมยังได้รับความกรุณาจากท่านอีกสองเรื่อง อันดับแรกผมมีเวทีเสวนาของ K4DS ในวันที่ 21 สิงหาคม เรื่องการจัดการความรู้เพื่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้ แต่ขาดวิทยากรแบบกระทันหัน ผมจึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจาก รศ. เสาวนีย์ จิตต์หมวดและ อ.อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวงโดยมีโอกาสบอกล่วงหน้าเพียงหนึ่งวัน ด้วยความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า ท่านทั้งสองไม่ปฏิเสธ เท่าที่รู้ อ.อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง ต้องวิ่งหาข้อมูลและเอกสารอ้างอิงจากอาจารย์หลายท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกูเป็ง นักประวัติศาสตร์ปาตานีอาวุโสเพื่อมาใช้ในการเสวนา อีกเรื่องหนึ่งคือ ผมนำหนังสือมาขายในงานนี้ด้วย แต่โต๊ะมีไม่พอ ท่านก็อุตส่าห์ขอยืมจากเพื่อนและขนใส่รถมาให้ผมสองตัวและต้องรีบขับรถกลับบ้านไปดูแลลูกเล็กๆสามคนที่ท่านทิ้งไว่้ จบงานท่านก็ยังขนโต๊ะใส่รถกลับไปส่งให้อีก น้องๆที่ร่วมงานกันถามผมว่า บังหมานทำได้ยังไง ทำไมอ.อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง ถึงใจดีช่วยเพวกเราถึงขนาดนี้ทั้งๆที่ท่านก็ไม่ค่อยจะว่าง ถ้าไม่มีรศ. เสาวนีย์ จิตต์หมวดและอ. อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง งานเวทีเสวนาคงจืดน่าดู ผมก็ตอบสั้นๆเพียง ว่า อ. อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง เป็นคนมีน้ำใจ ใครขอให้ช่วยอะไรไม่เคยปฏิเสธ
อ. อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง เป็นบุรุษแห่งสันติภาพปาตานี ท่านจากไปสู่ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าอย่างสงบ ท่านฝากภารกิจสันติภาพไว้ให้คนรุ่นหลังสืบทอด ท่านฝากภรรยาและลูกเล็กๆสามคนไว้ให้สังคมเอื้ออาทร ขอวิงวอนพระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานความศานติแด่วิญญาณของท่าน ขอเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวของท่านที่ต้องฝ่าฟันวันคืนอันปวดร้าว ขอเป็นกำลังใจให้แก่ผู้อยู่ข้างหลังรวมทั้งตัวผมด้วยให้ช่วยกันผลักดันงานสันติภาพของอ. อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวงให้ไปถึงหลักชัย อินชาอัลลอฮฺ
ก่อนเดินทางไปสวีเดน อ. อัฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง โทรมาคุยกับผมในวันที่ 15 กันยายนและนัดหมายว่าเราจะพบกันที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 22 กันยายนเพื่อพูดคุยกันเรื่องงานสันติภาพก่อนที่ท่านจะเดินทางต่อไปอินโดนีเซียในวันที่ 23 กันยายน แต่ท่านไม่มาตามนัด ท่านเดินทางล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 20 กันยายนไปรอพบพวกเราที่อีกฟากหนึ่งของชีวิต ที่ซึ่งทุกคนเมื่อถึงเวลาจะต้องตามไป