Skip to main content

Original link CLICK HERE

อ้างกฎหมายรัฐธรรมนูญฟ้องเจ้าหน้าที่ซ้อม แต่ศาลระบุไม่มีรัฐธรรมนูญแล้วให้ยกคำร้อง ทนายยอมรับดับความหวังหนทางในการต่อสู้จริง แต่ยืนยันจะหาทางอื่นเดินหน้าต่อไป 

นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดยะลากล่าวถึงคดีที่นักกฎหมายของศูนย์เป็นตัวแทนให้กับนส.รอฮีม๊ะ อูเซ็ง ร้องต่อศาลปัตตานีขอให้พิจารณาคดีน้องชายของตนคือนายฮาซัน อูเซ็งว่าถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมในระหว่างที่นำตัวไปสอบปากคำภายใต้กฎหมายพรก.บริหารราชการภายใต้
สถานการณ์ฉุกเฉิน คำร้องของนส.รอฮีม๊ะร้องขอต่อศาลให้ระงับการซักถามน้องชายของตนตลอดจนขอให้มีการเยียวยา พร้อมอ้างพยานสองปาก คือนายฮาซันและพี่สาว รวมทั้งหนังสือรับรองแพทย์และภาพถ่ายของนายฮาซัน 

ตามเอกสารแจ้งข่าวของศูนย์ทนายความมุสลิมระบุว่า นส.รอฮีน๊ะผู้ร้องอาศัยสิทธิตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 32 เป็นพื้นฐานในการยื่นคำร้อง มาตราดังกล่าวระบุว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและไม่ถูกทำร้าย นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีประชาชนอาศัยความตามกฎหมายรัฐธรรมนูญในการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่รัฐว่าละเมิดสิทธิ ทนายความระบุก่อนหน้านี้ผู้เสียหายหลายรายมักใช้วิธีไปร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ เมื่อมีการสอบสวนของหน่วยงานเหล่านั้นแล้วจึงจะนำผลที่ได้ไปอ้างอิงฟ้องร้องเรียกค่าชดเชยต่อไป แต่หนนี้เป็นการต่อสู้ด้วยกระบวนการทางกฎหมายที่อาศัยความตามรัฐธรรมนูญเข้ายื่นฟ้องโดยตรงทั้งนี้เพื่อแสวงหาบรรทัดฐานใหม่ในการต่อสู้คดีในทำนองนี้

อย่างไรก็ตามเมื่อวานนี้ศาลปัตตานีอ่านคำตัดสินให้ยกคำร้องของนส.รอฮีน๊ะโดยอ้างเหตุผลของผู้คัดค้าน คือตัวแทนของเจ้าหน้าที่ที่ถูกยื่นคำร้องว่า เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้วตามประกาศของคสช. จึงไม่อาจนำมาอ้างได้อีกต่อไป

นายอาดิลันกล่าวว่า ทนายความจะยื่นอุทธรณ์กรณีนี้ต่อไป เนื่องจากนส.รอฮีม๊ะและนายฮาซันยังยืนยันจะต่อสู้ผลักดันกรณีของตนเองต่อ รวมทั้งอาจหาทางดำเนินการในรูปแบบอื่นๆ เช่นร้องเรียน หรือแม้แต่อาจฟ้องร้องต่อศาลอื่น "ญาติเขาบอกผมว่า ยิ่งฟังคำพิพากษาแล้วยิ่งรู้สึกฮึกเหิมว่าจะต้องต่อสู้เรียกร้องให้ได้ เขาเชื่อมั่นว่าเขาจะต้องสู้ได้"