ยาสมิน ซัตตาร์
เมื่อกล่าวถึงเคิร์ด หลายคนอาจจะยังไม่รู้จัก เคิร์ดคือหนึ่งในชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดซึ่งปราศจากรัฐของตนเอง (the largest nation without state) ในปัจจุบันได้กระจายอยู่ในตุรกี อิรัก อิหร่าน ซีเรียและบางส่วนของอาร์มาเนีย
ภาพที่ 1 แผนที่แสดงพื้นที่การอาศัยอยู่ของชาวเคิร์ด
ภายใต้ระบบมิลเล็ต (millet) ในยุคสมัยออตโตมานทุกชาติพันธุ์สามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่เมื่อเกิดการแบ่งลากเส้นเขตแดนของรัฐชาติต่างๆ ภายหลังจากเรียกร้องเอกราชจากอาณานิคมตะวันตก เกิดรัฐต่างๆขึ้นมา หากแต่เคิร์ดที่คาดหวังว่าจะได้รับการสถาปนาเป็นรัฐอิสระกลับต้องถูกแบ่งพื้นที่รวมกับประเทศต่างๆ อย่างไรก็ดี ความหวังในการเกิดรัฐของตนเองขึ้นมา คือ “เคิร์ดดิสถาน” นั้นก็ยังคงอยู่ อย่างไรก็ตามเมื่อถูกรวมเข้าในประเทศต่างๆ รวมไปถึงในตุรกีเองนั้นวาทกรรมชาตินิยมได้เกิดขึ้นในยุคสร้างชาติทำให้ทุกสิ่งที่ไม่ใช่”เติร์ก”ถูกห้ามในพื้นที่สาธารณะ รวมไปถึงความเป็นเคิร์ดด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษาหรือการแสดงอัตลักษณ์ของความเป็นเคิร์ด กระทั่งเกิดกลุ่ม Kurdistan Workers Party (PKK) ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธขึ้นมา มีการต่อสู้ระหว่างกลุ่มพีเคเคและรัฐบาลตุรกี เกิดความรุนแรงทั้งผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญหายและนักโทษ กระทั่งจนถึงปี 2013 จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงถึงมากกว่า 40,000 คน ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามทางการเมืองในการตั้งพรรคการเมืองที่เน้นสนับสนุนเสียงของชาวเคิร์ดขึ้นมา
ความพยายามในการสร้างสันติภาพระหว่างเคิร์ดและเติร์กได้พยายามเรื่อยมา กระทั่งรัฐบาลพรรคยุติธรรมและพัฒนาหรือพรรคอัค (AK Party) ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศในปี 2003 มีความพยายามครั้งแรกที่เรียกว่า Oslo Process ในครั้งแรกซึ่งล้มเหลว และครั้งที่สอง เรียกว่า Imralı Process ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นไปในทางที่ดีเมื่อหัวหน้าพีเคเค คือ โอจาลัน ได้ออกมาระบุว่า “ถึงเวลาที่เสียงปืนต้องเงียบลงและหันมาใช้วิถีทางการเมืองแทน” กระบวนการที่จะมาถึงจุดนี้นั้น มีทั้งความพยายามในระดับบน ที่รัฐได้ส่งตัวแทนเจรจาลับกับตัวแทนรวมถึงหัวหน้ากลุ่มพีเคเคอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนเรเจบ ทายยิบ แอรโดอาน (Recep Tayyib Erdoğan) ซึ่งในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีของตุรกี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2014) ได้มีการร่วมพูดคุยกับหัวหน้ากลุ่มเคิร์ดในอิรัก และได้เชิญมายังเมือง Diyarbakır ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหลักของชาวเคิร์ดในตุรกี ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในส่วนระดับนโยบายที่เปิดพื้นที่ให้กับชาวเคิร์ดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา การสื่อสารสาธารณะ พื้นที่ทางการเมือง เป็นต้น ในระดับของภาคประชาสังคมก็มีการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยได้มากยิ่งขึ้น มีการรวมตัวของกลุ่มแม่ที่ลูกชายต้องสูญหายไป นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนทางวิชาการอย่างขันแข็ง และมีการถกเถียงถึงแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่สาธารณะได้อย่างเปิดเผยมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะมีเหตุการณ์รายวันเกิดขึ้นบ้างแต่ก็ไม่มีเหตุการณ์ที่หนักเช่นที่ผ่านมา[1]
แต่เหตุการณ์ที่ดำเนินมาดูเหมือนว่าเป็นกระบวนการที่มีความหวังกลับต้องชะงัก เมื่อล่าสุดได้เกิดการขยายอิทธิพลของกลุ่มไอซิส (ISIS) ซึ่งประกาศก่อตั้งรัฐอิสลามฝ่ายเดียวในอิรักและซีเรีย ได้เข้ายึดครองเมือง โคบานี (Kobani หรือ Ayn-al Arab) ซึ่งเป็นเมืองในซีเรียที่อยู่ติดชายแดนตุรกีและมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวเคิร์ด การเข้ามาของไอซิสส่งผลให้เกิดการปะทะและสูญเสียของประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก จึงเกิดการเรียกร้องจากชาวเคิร์ดที่อยู่ในตุรกีเรียกร้องให้รัฐบาลตุรกีแสดงบทบาทเพื่อช่วยเหลือกลุ่มปกป้องประชาชนซีเรียเคิร์ด (Syrian Kurdish People’s Protections Units (YPG)) โดยเฉพาะกลุ่มพีเคเคที่ออกมาประกาศว่าหากตุรกีไม่ปฏิบัติการใดๆเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวเคิร์ดแล้ว กระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินอยู่นั้นจะสิ้นสุดลงทันที ขณะเดียวกันก็มีการประท้วงของชาวเคิร์ดในตุรกีที่มองว่าการไม่ดำเนินการช่วยเหลือเคิร์ดในโคบานี เท่ากับว่าสนับสนุนกลุ่มไอซิส กระทั่งเกิดการลุกลามกลายเป็นการประท้วงในเมืองหลักๆของชาวเคิร์ดจนต้องประกาศเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์ ที่มีประชาชนอย่างน้อย 30 คนเสียชีวิต
ภาพที่ 2 แผนที่แสดงเมืองโคบานี[2]
อย่างไรก็ดี สำหรับรัฐบาลตุรกี แม้ว่าจะมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่กลุ่มคนที่กระทบจากสงครามในการขยายพื้นที่ยึดครองของไอซิส (ซึ่งทำให้บางส่วนมองว่าเป็นการให้การสนับสนุนไปโดยปริยาย ทั้งๆที่เป็นพื้นฐานสากลในการเกิดสงครามที่จำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรม)ตุรกีเองจำเป็นต้องแก้ไขสถานการณ์ตรงนี้ หากแต่การขอความช่วยเหลือในด้านอาวุธที่จะให้แก่กองกำลังชาวเคิร์ดในตุรกี แน่นอนว่าในแง่ความมั่นคงของรัฐแล้วก็ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีกลุ่มพีเคเคที่เป็นชาวเคิร์ดอยู่ในตุรกีเองด้วยเช่นกัน การมอบอาวุธให้ย่อมหมายถึงความเสี่ยงในการที่จะเกิดความเข้มแข็งของกองกำลังชาวเคิร์ดมากขึ้น ตลอดจนงบประมาณที่จะต้องใช้กับการทำสงครามนั้นมีจำนวนที่สูง จนอาจเกิดแรงต้านจากฝ่ายอื่นๆในประเทศด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันตุรกีเองก็ยังเผชิญกับการทำสงครามในประเทศของบัชชารในซีเรีย หากช่วยเหลือในกรณีนี้ เฉกเช่นเดียวกันก็ต้องเข้าสู่การทำสงครามกับซีเรียด้วยเช่นกัน อีกประการหนึ่ง ขณะนี้หลากประเทศที่นำโดยสหรัฐอเมริกามีการร่วมมือกันเพื่อหยุดปฏิบัติการของกลุ่มไอซิสอยู่แล้ว มีการตั้งคำถามว่าการที่ตุรกียังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เป็นเพราะการตกลงร่วมกันตรงนี้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์ของการเน้นแนวทางอิสลามของรัฐบาลชุดนี้ ก็ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ตุรกีจะให้การสนับสนุน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเพียงข้อสงสัยที่เกิดขึ้น ไม่อาจหาข้อสรุปใดๆ ได้ แง่หนึ่งแล้วการก้าวล้ำเข้าไปปฏิบัติการนอกอาณาเขตของรัฐหนึ่งๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะกระทำได้โดยง่ายให้ไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ยึดกรอบของดินแดนและความเป็นพลเมืองของรัฐหนึ่งๆ มากกว่าการเป็นชนชาติเดียวกัน
ประธานาธิบดีได้ระบุ ว่า “ตุรกีไม่เข้าข้างฝ่ายใดในความขัดแย้งที่เกิดขึ้นรอบๆประเทศและไม่ได้ต่อต้านหรือเข้าข้างกลุ่มชนชาติใดเป็นพิเศษ แนวทางแก้ไขปัญหาที่ยุติธรรมจำเป็นต้องเกิดขึ้นกับซีเรียและอิรัก” และเสริมว่ากังวลและยังระลึกถึงกระบวนการสันติภาพที่กำลังดำเนินไป หากแต่ “กระบวนการแก้ปัญหาไม่ได้อนุญาตให้เกิดการปฏิบัติการที่ไม่ชอบธรรมและผิดกฎหมาย” [3]
หลังจากนี้ สิ่งที่น่าติดตามต่อไป คือ การโต้ตอบและจัดการปัญหาของตุรกีต่อประเด็นเคิร์ดในประเทศ รวมไปถึงต่อกลุ่มไอซิสและเหตุการณ์ในซีเรีย เพราะทั้งสามล้วนแล้วแต่จะกระทบต่อความมั่นคงของตุรกีต่อไปในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน
เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เห็นว่ากระบวนการสันติภาพนั้นมีความเปราะบาง การชะงักของกระบวนการสันติภาพอาจมีได้หลายปัจจัย จึงจำเป็นต้องใช้เวลาและโอกาสที่เหมาะสมที่จะเกิดข้อตกลงระหว่างคู่ขัดแย้งได้
[1] ข้อมูลสรุปจากการงานนำเสนอเรื่อง The Lesson Learned from an Ongoing Turkish-Kurdish Peace Process โดยยาสมิน ซัตตาร์ ในการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง การสื่อสาร ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ: ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย