Skip to main content

อิสมาอีล  บินอะหมัด

มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

จากกรณีที่นายทวีศักดิ์  ปิ   ผู้สื่อข่าวจากสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน นักกิจกรรมภาคประชาสังคมที่รณรงค์การสร้างสันติภาพโดยวิถีทางสันติไม่ใช้ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าร้องขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจากการที่ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวนที่อ้างว่ามาจากฝ่ายสืบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี  ขอเข้าทำการตรวจค้นที่พักอาศัยและขอตรวจ-เก็บสารพันธุกรรม โดยอ้างอำนาจในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๕๗ จนก่อให้เกิดการวิพากษ์ในสังคมนักกิจกรรมภาคประชาสังคมและในสังคมสื่อออนไลน์ว่า เป็นการใช้อำนาจในการเข้าข่มขู่ คุกคาม และองค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมและขอให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง และขอให้คืนหนังสือให้ความยินยอมในการตรวจ-เก็บสารพันธุกรรมที่นายทวีศักดิ์ ปิ ได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อผู้กำกับการตำรวจภูธรเมืองปัตตานีนั้น

ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว มีประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจสองประการคือ

ประการแรก  การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวนอ้างการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกโดยมิได้มีเจ้าหน้าที่ทหารร่วมในการปฏบัติหน้าที่ทำการด้วย และมิได้มีหลักฐานแสดงการได้รับมอบหมายอย่างใดๆจากเจ้าหน้าที่ทหารให้มีอำนาจในการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกในการดำเนินการดังกล่าวได้ จึงมีปัญหาในทางปฏิบัติว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประการที่สอง  การอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึกขอทำการตรวจ-เก็บสารพันธุกรรม โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีความรู้ความสามารถทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ไม่มีระบบการจัดเก็บฐานข้อมูลที่เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งอาจนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ว่าในชั้นสืบสวน สอบสวน หรือชั้นศาล จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่ถูกเก็บสารพันธุกรรมได้อย่างไร นอกจากนี้ การอ้างกฎอัยการศึกซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษใช้บังคับกับผู้ต้องสงสัย เพื่อขอเก็บสารพันธุกรรม โดยไม่มีระเบียบหรือกฎหมายรองรับ   และไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ที่ถูกตรวจเก็บสารพันธุกรรมนั้น เจ้าหน้าที่กระทำได้หรือไม่หรือรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่

บทความนี้มุ่งประสงค์ที่จะเสนอความเห็นทางข้อกฎหมายของผู้เขียนในประเด็นที่สองเท่านั้น  ทั้งนี้เพราะเหตุการณ์ที่ทางเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้ดำเนินการตรวจ-เก็บสารพันธุกรรมจากประชาชนชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยอ้างอำนาจตามกฎหมายพิเศษ  และให้ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือยินยอมนั้น  ได้เกิดการร้องเรียนหลายครั้ง หลายคราต่อองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนว่า  เป็นการละเมิดในสิทธิขั้นพื้นฐานในชีวิต ร่างกาย  ตลอดจนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนหรือไม่

เรามาดูว่า  มีกฎหมายใดที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ใดในการตรวจ-เก็บสารพันธุกรรมได้

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลักษณะ  ๒  การสอบสวน  หมวดที่  ๑   การสอบสวนสามัญ

มาตรา ๑๓๑ บัญญัติว่า  “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆอันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา“

และมาตรา ๑๓๑/๑  บัญญัติว่า  “ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามมาตรา  ๑๓๑  ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล  วัตถุหรือเอกสารใดๆ  โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้

ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี  หากการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่งจำเป็นต้องจัดเก็บตัวอย่างเลือด  เนื้อเยื่อ  ผิวหนัง  เส้นผมหรือขน  น้ำลาย  ปัสสาวะ  อุจจาระ  สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรมหรือส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ต้องหา  ผู้เสียหาย  หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง  ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจดังกล่าวได้  แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้  ทั้งจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น  และผู้ต้องหา  ผู้เสียหาย  และบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องให้ความยินยอม  หากผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายไม่ยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร  ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามผลการตรวจพิสูจน์ที่หากได้ตรวจพิสูจน์แล้วจะเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายนั้นแล้วแต่กรณี

ค่าใช้จ่ายให้การตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้  ให้สั่งจ่ายจากงบประมาณตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม  หรือสำนักงานอัยการสูงสุด  แล้วแต่กรณี  กำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง  “

ตามบทบัญญัติกฎหมายที่อ้างมาสองมาตรานั้น  จึงเห็นได้ว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มีเพียงมาตรา  ๑๓๑/๑  เพียงมาตราเดียวที่บัญญัติถึงวิธีการในการตรวจ-เก็บและพิสูจน์สารพันธุกรรมไว้  จึงเห็นได้ว่า

๑ . ผู้มีอำนาจให้ทำการตรวจ-เก็บและพิสูจน์สารพันธุกรรมได้  คือพนักงานสอบสวนเท่านั้น (คือเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตร)    ซึ่งหมายความว่า  จะต้องมีการกระทำความผิดทางอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าสามปีเกิดขึ้นไป   และได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว

๒ . มีผู้ใดบ้างที่พนักงานสอบสวนให้ทำการตรวจ-เก็บพิสูจน์สารพันธุกรรม  ตามกฎหมายมาตรานี้  ซึ่งมีเพียงสามประเภทเท่านั้น  คือ   ผู้ต้องหา    ผู้เสียหาย   และบุคคลที่เกี่ยวข้อง   ดังนั้น  ผู้ต้องสงสัยตามกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  และประชาชนโดยทั่วๆ  จึงไม่เข้าข้อบังคับตามมาตรานี้

๓ . ใครที่จะเป็นผู้ตรวจ-เก็บพิสูจน์สารพันธุกรรม มาตรานี้กำหนดให้  แพทย์  หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจดังกล่าวได้

๔ . กฎหมายมาตรานี้ยังกำหนดอีกว่า การตรวจ-เก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมให้กระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควร  โดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้  และจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออนามัย  และ

๕ . ประเด็นข้อสุดท้ายที่จะกล่าวในบทความนี้คือ  แม้ว่ากฎหมายมาตรานี้จะให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนในการขอให้ทำการตรวจ-เก็บ พิสูจน์ สารพันธุกรรม   ได้  แต่มิใช่เป็นอำนาจอันเด็ดขาดของพนักงานสอบสวน  กฎหมายมาตรานี้บัญญัติให้การดำเนินการดังกล่าวจะต้องได้รับความยินยอมจาก ผู้ต้องหา  ผู้เสียหาย  หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งหากบุคคลดังกล่าวไม่ยินยอม  การดำเนินการขอตรวจ-เก็บ พิสูจน์สารพันธุกรรม   ก็มิอาจที่จะกระทำได้  ส่วนผลของการไม่ยินยอมกฎหมายให้สันนิษฐานเป็นอย่างไรนั้น  รวมทั้งการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรานี้  จะไม่ขอกล่าวในบทความนี้         

สรุป    บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  ๑๓๑/๑  เมื่อนำมาปรับกับข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดขึ้นกับนายทวีศักดิ์   ปิ  ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุมีเดียสลาตันแล้ว  ไม่อยู่ในบังคับที่เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจตามมาตรานี้ได้เลย   ทั้งนี้เพราะ นายทวีศักดิ์  ปิ  ยังไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหา  ผู้เสียหาย  หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเลย  และเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวนที่ขอดำเนินการตรวจ-เก็บสารพันธุกรรม  ก็มิได้รับมอบหมายจากพนักงานสอบสวน  อีกทั้งผู้ที่จะทำการตรวจ-เก็บสารพันธุกรรมต้องเป็น  แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในการขอตรวจ-เก็บสารพันธุกรรมของประชาชน   หรือผู้ต้องสงสัยในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ก็คือ  การที่เจ้าหน้าที่ให้ลงลายมือยินยอมในเอกสารให้ทำการตรวจ-เก็บได้  ซึ่งเอกสารให้ความยินยอมจะใช้ได้หรือไม่  จะได้กล่าวต่อไปในบทความนี้

แต่ในเมื่อข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับนายทวีศักดิ์  ปิ   เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวนได้อ้างอำนาจตามกฎหมายพิเศษ  คืออำนาจตามกฎอัยการศึก   บทความนี้จึงขอเสนอความเห็นทางกฎหมายต่อการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษที่บังคับใช้อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ๒ ฉบับคือ  พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.๒๔๕๗  และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  พ.ศ.  ๒๕๔๘    ว่าตามบทบัญญัติของกฎหมายพิเศษทั้งสองฉบับ  ได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ในการขอตรวจ-เก็บ สารพันธุกรรมของผู้ต้องสงสัยหรือประชาชนทั่วไปได้หรือไม่

กฎหมายพิเศษฉบับแรกที่ขอกล่าวในบทความนี้คือพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.  ๒๔๕๗ ได้บัญญัติให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการใช้อำนาจตามกฎหมายนี้ตาม มาตรา ๘   บัญญัติว่า  “เมื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกในตำบลใด,  เมืองใด, มณฑลใด,   เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจเต็มที่จะตรวจค้น, ที่จะเกณฑ์, ที่จะห้าม, ที่จะยึด, ที่จะเข้าอาศัย, ที่จะทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่, และที่จะขับไล่”

ดังนั้น  เมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ณ  ที่ใดแล้ว  อำนาจเต็มของเจ้าหน้าที่ทหารในการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกมีเพียง  ๗  ประการ คือ  การตรวจค้น, การเกณฑ์, การห้าม, การยึด, การเข้าอาศัย, การทำลายหรือเปลี่ยนแปลงสถานที่,  และ การขับไล่  เท่านั้น  ไม่มีบทบัญญัติใดที่จะให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารในการตรวจ–เก็บสารพันธุกรรม

และตามบทบัญญัติของกฎหมายพิเศษฉบับที่สอง  คือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  พ.ศ.  ๒๕๔๘   ก็เช่นเดียวกัน  ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดที่จะให้เจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดฉบับนี้  มีอำนาจในการตรวจ-เก็บ สารพันธุกรรมแต่อย่างใด

แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการตรวจ-เก็บสารพันธุกรรมของผู้ต้องสงสัยหรือของประชาชนทั่วไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้  เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ถูกตรวจ-เก็บสารพันธุกรรมลงลายมือชื่อในเอกสารการให้ความยินยอมเพื่อใช้อ้างว่าผู้ถูกตรวจ-เก็บได้ให้ความยินยอมไว้แล้วประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่าหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าวเจ้าหน้าที่สามารถนำมาอ้างได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ผู้เขียนใคร่ขอให้ทบทวนกรณีที่เกิดขึ้นกรณีหนึ่งในช่วงต้นๆของเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  กรณีที่ประชาชนจำนวนสามร้อยกว่าคนที่ถูกควบคุมตัวตามกฎอัยการศึกและพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว  ได้นำเขาเหล่านั้นไปเข้าโครงการฝึกอาชีพในค่ายทหารที่จังหวัดชุมพร  สุราษฎร์ธานี  และจังหวัดระนอง  เป็นเวลา  ๓  เดือน  โดยให้ประชาชนเหล่านั้นลงลายมือชื่อในหนังสือยินยอมเข้าโครงการดังกล่าว  ต่อมามูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม  ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนที่เป็นเครือข่ายกันได้รับการร้องความช่วยเหลือจากญาติของผู้เข้าโครงการดังกล่าว  จึงได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลทั้งสามจังหวัดอ้างว่า เป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  ๙๐  ให้เจ้าหน้าที่ทำการปล่อยตัวโดยพลัน        ในการไต่สวนคำร้อง ทางเจ้าหน้าที่ได้นำเสนอพยานหลักฐานเป็นเอกสารในการให้ความยินยอมของประชาชนเหล่านั้นต่อศาลว่าเป็นความสมัครใจของคนเหล่านั้น  ศาลทั้งสามจังหวัดได้ทำการพิจารณาและคำสั่งให้ปล่อยตัวประชาชนทั้งหมดจากโครงการดังกล่าวทันที  โดยถือว่าเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบ  และเอกสารที่ให้ประชาชนลงลายมือชื่อให้ความยินยอมไม่อาจที่จะรับฟังได้ เพราะเป็นการลงลายมือชื่อที่อยู่สภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้  จึงเป็นการลงลายมือชื่อโดยไม่สมัครใจ

ดังนั้น  ต่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ได้ให้ผู้ถูกตรวจ-เก็บสารพันธุกรรมลงลายมือชื่อในเอกสารให้ความยินยอม  หากการลงลายมือชื่อดังกล่าวเป็นเพราะ  ถูกกดดัน  ข่มขู่  บีบบังคับ  หรืออยู่ในสภาวะที่ไม่อาจขัดขืนได้  ก็มิอาจที่จะรับได้เช่นเดียวกัน

บทความนี้เป็นการนำเสนอในประเด็นของข้อกฎหมายในการตรวจ-เก็บสารพันธุกรรมต่อผู้ต้องสงสัย หรือประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยเจ้าหน้าที่มักที่จะอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ  เพื่อที่จะนำเสนอให้ทั้งทางเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและประชาชนโดยทั่วได้รับรู้ถึงตัวบทกฎหมายที่ได้ให้อำนาจในเรื่องนี้ไว้อย่างไร  อีกทั้งยังถือว่าประเด็นการตรวจ-เก็บสารพันธุกรรมเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่งต่อการละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค  ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช  ๒๕๕๗  มาตรา  ๔  ได้บัญญัติรับรองไว้  ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการไปโดยขาดองค์ความรู้ของการใช้อำนาจตามกฎหมายก็อาจจะเป็นการเสี่ยงต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ  และที่สำคัญก็จะเกิดความไม่ไว้วางใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ว่าไม่ได้คำนึงถึงหลักนิติธรรม  อันจะเป็นช่องว่างที่จะทำให้ความร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนที่จะหาหนทางร่วมกันในการแสวงหาความสงบ และ  สันติภาพ ให้เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งความขัดแย้งนี้เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

และสำหรับประชาชนโดยทั่วไปก็จะได้ทราบถึงขอบเขตของการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษของเจ้าหน้าที่  เพื่อจะเป็นเครื่องมือในการปกป้องสิทธิ  เสรีภาพ ในชีวิต  ร่างกาย  และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่ใครผู้ใดก็จะละเมิดมิได้.