รุสตั้ม หวันสู
ณ เมืองอาลิก้าร์ ประเทศอินเดีย
ในภาพทับซ้อนของอินเดียในฐานะมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจ ที่มีขนาดเศรษฐกิจ (GDP) ใหญ่เป็นลำดับสิบของโลกและมีอำนาจซื้อมาก (PPP) เป็นลำดับสามของโลก คือภาพประทับของอินเดียในเรื่องความสกปรก กองขยะ น้ำเสีย และขอทาน ไม่ใช่แต่เพียงคนต่างชาติที่เห็นปัญหานี้ แม้แต่คนอินเดียต่างก็รู้สึกอับอายไม่น้อยและตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้เป็นอย่างดี และหวังว่าสักวันหนึ่งอินเดียจะต้องสะอาด ท่านผู้นำของอินเดียก็ไม่ได้นิ่งดูดาย รีบเข้ามาแก้ไขปัญหา ก่อนที่อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่ "สกปรก" ในโลกอย่างสมบูรณ์
[source: sbioak.org]
มหาตมะ คานธี มหาบุรุษผู้นำเอกราชคืนสู่ดินแดนภารตะได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องนี้ดี คานธีกล่าวว่าสิ่งที่อินเดียจะต้องปลดปล่อยนั้นมีสองประการคือ ปลดปล่อยอินเดียจากการเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ และ ปลดปล่อยอินเดียจากความสกปรก การปฏิวัติทางสังคมในเรื่องความสะอาดของคานธีนั้นเริ่มตั้งแต่ปีค.ศ. 1915 เมื่อคานธีเดินทางกลับจากร่วมต่อสู้กับปัญหาสิทธิมนุษยชนของคนผิวคล้ำในประเทศแอฟริกาใต้ ท่านได้เข้าร่วม "สมาคมผู้รับใช้อินเดีย"(Servants of India Society) ณ เมืองปูเณ ซึ่งนอกจากวัตถุประสงค์เพื่อปลดปล่อยอินเดียจากอังกฤษแล้ว ยังมีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมอินเดียอีกด้วย คานธีได้เข้าเป็นอาสาสมัครโดยท่านรับอาสาล้างห้องน้ำในเขตชุมชนในทุกๆเช้า สิ่งที่คานธีต้องการสอนนั้นไม่ใช่เพียงการชำระล้างความสกปรกของสังคมแต่เป็นการชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ปราศจากอัตตาแห่งชนชั้นอีกด้วย
ในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดของ มหาตะมะ คานธี ในวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ได้ถือฤกษ์งามยามดีนี้ ออกแคมเปญเพื่อทำความสะอาดอินเดียครั้งใหญ่ที่ชื่อว่า SWACHH BHARAT ABHIYAN(โครงการทำความสะอาดอินเดีย) โดยมีเป้าหมายที่จะทำให้อินเดียสะอาดภายใน 5 ปี หรือปีค.ศ.2019 ซึ่งจะเป็นปีฉลองคล้ายวันเกิด 150 ปีของคานธี อย่างไรก็ตามภาพของนายโมดีและคณะรัฐมนตรีที่ต่างออกมาจับไม้กวาดกวาดขยะเพื่อประชาสัมพันธ์แคมเปญก็ได้รับคำวิจารณ์อย่างหนาหูว่า "Mission Impossible" หรือ "ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้"
[source: Indiatoday]
โครงการ SWACHH BHARAT จะดำเนินทั่วอินเดียทั้งในเขตเมืองและชนบท ปัญหาใหญ่ในเรื่องสุขอนามัยของคนอินเดียคือเรื่องสุขอนามัยเรื่องการขับถ่าย หรือการขับถ่ายในที่สาธารณะหรือที่โล่งแจ้ง ที่เป็นสาเหตุของโรคระบาดต่างๆ ภายใต้เป้าหมายที่จะทำให้ทุกครัวเรือนของชาวอินเดียต้องมีห้องน้ำภายใน 5 ปี รัฐบาลต้องสร้างห้องน้ำกว่า 111 ล้านหน่วยภายในระยะเวลา 5 ปี หรือ 17.7 ล้านหน่วยต่อปี (แน่นอนว่าต้องทำลายสถิตสร้างห้องน้ำ 12.4 ล้านหน่วยในปี 2009-2010) หรือเท่ากับว่าในแต่ละวันรัฐบาลต้องเร่งสร้างห้องน้ำกว่า 66,575 หน่วยเช่นเดียวกับห้องน้ำสาธารณะอีกกว่า 2.5 แสนหน่วย เพื่อให้ทันกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยรัฐบาลจะอุดหนุนเงินงบประมาณเพิ่มเติมในการสร้างห้องน้ำในครัวเรือนจาก 10,000 รูปีเป็น 15,000 รูปีต่อหน่วย ในโรงเรียนจาก 35,000 รูปี เป็น 54,000 รูปี และสำหรับห้องน้ำชุมชนจาก 200,000 รูปีเป็น 600,000 รูปี
ภายใต้แคมเปญปัดกวาดอินเดียครั้งใหญ่นี้ รัฐบาลจะไม่ออกใบอนุญาตสร้างโรงเรียน วิทยาลัย สถานีขนส่งรถประจำทาง เว้นแต่จะมีการสร้างห้องน้ำที่เพียงพอ โครงการSWACHH BHARATมีแผนดำเนินการเป็นระยะเวลา 5 ปี ด้วยงบประมาณมหาศาลถึงปีละ 6 แสนล้านรูปีหรือราว 3 แสนล้านบาท
[source: nbt.india]
ปัญหาเรื่องความสะอาดของอินเดีย
ปัญหาใหญ่ในเรื่องความสกปรกของอินเดียมีสามประเด็นคือ ปัญหาเรื่องขยะ แม่น้ำลำคลองเน่าเสีย และสุขอนามัยเรื่องการขับถ่ายของประชาชน
1)ปัญหาเรื่องขยะ
ปัจจุบันมีเมืองของอินเดียติดอันดับเมืองที่สกปรกที่สุดในโลกถึง 13 เมืองจาก 20เมืองทั่วโลก ปัญหาเรื่องการจัดการขยะคือปัญหาใหญ่โดยมีเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรเกินหนึ่งแสนคนเพียง 12 เมือง จาก 497 เมือง ที่มีระบบจัดการขยะที่เพียงพอ มีตัวเลขรายงานว่า พื้นที่เขตเมืองของอินเดีย ได้สร้างขยะปริมาณมหาศาลกว่า 68.8 ล้านตันต่อปี ในแต่ละวันคนอินเดียทิ้งขยะพลาสติกกว่า 6,000 ตัน คาดการณ์ว่าภายในปีค.ศ. 2047 อินเดียจะต้องการพื้นที่ที่มีขนาดเท่ากรุงนิวเดลี หรือ 1,400 ตารางกิโลเมตร เพื่อกักเก็บและจัดการขยะส่วนเรื่องผลกระทบจากปัญหาขยะของอินเดียนั้นพบว่าในแต่ละปีมีประชาชนกว่า 20,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อโรคในกองขยะที่มีหนูและสุนัขจรจัดเป็นพาหะนำโรค
2)ปัญหาการเน่าเสียของแม่น้ำลำคลอง
น้ำเสียกว่าร้อยละ 78 ถูกทิ้งลงแม่น้ำลำคลองโดยไม่ได้ผ่านการบำบัด นอกจากนั้นแหล่งน้ำยังเป็นบ่อขยะลำดับต้นๆของอินเดีย จนทำให้แม่น้ำหลายสายตกอยู่ในสภาพวิกฤติที่ยากจะกอบกู้
[source: sundaytimes.lk]
3)ปัญหาเรื่องสุขอนามัยเรื่องการขับถ่ายของประชาชน
หนึ่งในปัญหาที่แปลกที่สุดของอินเดียที่ไม่หาได้จากที่อื่นในโลกคือ ปัญหาพฤติกรรมการขับถ่ายในที่โล่งแจ้ง ตัวเลขจำนวนห้องน้ำในชนบทของอินเดียนั้นนั้นน่าตกใจยิ่งคือ สองในสามของบ้านเรือนในชนบทไม่มีห้องน้ำ ปัจจุบันประชากรอินเดียกว่าครึ่งหรือ 600 ล้านคนนั้นขับถ่ายในที่โล่งแจ้ง คิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรโลกที่มีพฤติกรรมขับถ่ายแบบเดียวกัน และห้องน้ำในชนบทเพียงร้อยละ 12 ที่มีระบบท่อน้ำประปาเชื่อมต่อ ผลสำรวจในปีค.ศ. 2011 รายงานว่าครัวเรือนในอินเดียมีสัดส่วนจำนวนเครื่องรับโทรทัศน์(ทีวี) และโทรศัพท์มือถือ ต่อครัวเรือนมากกว่าจำนวนห้องน้ำ
ภาพที่เราจะเห็นอย่างชินตา หากเรานั่งรถไฟในอินเดียคือ ภาพการปลดทุกข์ของผู้คนในชนบทริมทางรถไฟและในนา การปลดทุกข์ในที่โล่งแจ้งเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขอนามัยอีกหลายประการเช่น ปัญหาโรคติดต่อทางทางเดินอาหารเช่นโรคท้องร่วง ภูมิคุ้มกันโรคต่ำ ปัญหาสุขภาวะจิต ภาวะทุพโภชนาการเนื่องจากระบบการดูดซึมอาหารของร่างกายทำงานน้อยลง ทำให้อินเดียมีประชากรในวัยเด็กที่ประสบภาวะการเจริญเติบโตหยุดชะงักหรือล่าช้า หรือแคระแกร็น (stunting) คิดเป็นอัตราส่วนหนึ่งในสามของเด็กที่มีอาการเดียวกันนี้ทั่วโลก ผลการศึกษาพบว่าการขับถ่ายในที่โล่งแจ้งเป็นสาเหตุหลักคิดเป็นร้อยละ 50-66 ของสาเหตุการเกิดภาวะแคระแกร็น ธนาคารโลกคาดว่าในแต่ละปี อินเดียต้องเสียงบประมาณไปในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจากการขับถ่ายในที่โล่งแจ้งคิดเป็นร้อยละ 6.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
[source: http://westhavenww.co.uk/]
สาเหตุของปัญหา
ปัญหาความสะอาดในอินเดียเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกมานาน แม้จะมีการรณรงค์มาตั้งแต่ปลายยุคอาณานิคมสมัยมหาตมะ คานธี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ยิ่งเมื่ออินเดียเปิดประเทศผ่านนโยบายเสรีนิยมทางเศรษฐกิจในปีค.ศ. 1991 ยิ่งทำให้ปัญหาความสะอาดสาหัสมากขึ้นจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดด้านอุตสาหกรรมการผลิตและพฤติกรรมบริโภคนิยมที่สร้างขยะก้อนโตที่สังคมไม่อาจจัดการได้
เมื่อพิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาความสะอาดในอินเดียแล้วจะพบว่าสาเหตุที่แท้จริงก็คือ ระบบสาธารณูปโภคด้านความสะอาดที่ไม่เพียงพอและระบบการจัดการที่ล้มเหลว ค่านิยมและความเชื่อในสังคม
ในเรื่องของระบบสาธารณูปโภคด้านความสะอาดที่ไม่เพียงพอและระบบการจัดการที่ล้มเหลวนั้น หากใครได้มีโอกาสเดินทางมายังประเทศอินเดียจะพบว่า ถังขยะคือของหายากสิ่งหนึ่งในที่สาธารณะ หรือหากมีก็จะอยู่ในสภาพเอ่อล้นจนไม่อาจทิ้งเพิ่มได้ ปัญหาจากการขาดแคลนถังขยะและการจัดเก็บที่มีประสิทธิภาพนี้จะทำให้เราเห็นกองขยะตามหัวมุมถนน หากเป็นขยะแห้งยังพอทน แต่หากเป็นขยะเปียกแล้วละก็ แม้แต่ชาวอินเดียยังต้องเบือนหน้าหนีไปตามๆกัน (แต่ก็ยังคงทิ้งกันต่อไป)
หากจะบอกว่าเป็นเพราะปัญหาขาดแคลนถังขยะเสียทั้งหมดก็คงไม่ใช่ ยิ่งบอกว่าปัจจัยเรื่องการศึกษาและฐานะทางเศรษฐกิจคือสาเหตุหลักก็ยิ่งต้องปฏิเสธ ยกตัวอย่างจากถนนหน้าบ้านผู้เขียนในเมืองอาลีก้าร์ ที่ทอดผ่านด้วยระยะทางประมาณ 800 เมตร บ้านเรือนรายรอบถนนเส้นนี้คือบ้านของเหล่าอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักธุรกิจ แต่กลับปรากฏกองขยะข้างถนนเป็นจุดๆ (แม้ว่าจะมีปริมาณน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเขตอื่นๆที่ผู้คนมีฐานะทางเศรษฐกิจรองๆลงไป) ครั้งหนึ่งทางเทศบาลเคยเอาถังขยะขนาดใหญ่มากมาตั้งไว้แต่คนทิ้งก็ยังไม่ทิ้งขยะลงในถัง
หากเราได้แวะเวียนตามบ้านเรือนของคนอินเดีย เราอาจเจอภาพที่ต่างกันสุดขั้วเรื่องความสะอาดภายในบ้านกับนอกบ้าน ในบ้านเรือนของชาวอินเดียนั้นสะอาดมาก บ้านคนที่พอมีฐานะก็จะมีคนรับใช้กวาดบ้านเช้า-เย็น แต่ถามว่ากวาดไปไหนหรือเอาขยะไปทิ้งที่ไหน พวกเขากลับทิ้งเกลื่อนกลาดนอกบ้านตัวเอง หน้าที่ต่อไปเป็นของทางเทศบาลที่จะต้องมาจัดเก็บ ซึ่งหากมาทุกวันปัญหาเรื่องกองขยะคงทุเลาลงบ้าง แต่เจ้าหน้าที่เทศบาลมาเก็บกวาดขยะสองสามวันครั้ง ทำให้ใช้รถใช้ถนนนอกจากจะต้องคอยหลบรถ คนเดินเท้า วัวควายแล้ว ยังต้องคอยหลบกองขยะตามรายทางอยู่เรื่อยไป
[source: thehindu]
ตัวอย่างเรื่องความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างในรั้วและนอกรั้วบ้านนั้นบ่งบอกว่าสิ่งที่สังคมอินเดียขาดแคลนก็คือแนวคิดเรื่อง "พื้นที่สาธารณะ" (public sphere) ที่ทุกคนรู้สึกถึงความรับผิดชอบร่วมกัน คนอินเดียทั่วไปดำเนินชีวิตผูกติดกับองค์กรทางสังคมสามระดับคือ ครอบครัว ชุมชน และชั้นวรรณะชั้นใหญ่-ย่อย ซึ่งมีมากกว่า 10,000 ระดับชั้น วรรณะที่สังกัดและชุมชนที่อยู่อาศัยคือบรรทัดฐานในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในสังคม ดังนั้นความหลากหลายและแตกต่างอย่างเหลือล้นในสังคมอินเดียนั้น "สวนทาง" กับแนวคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นพื้นที่ร่วมกันของทุกคน ที่ทุกคนจะถือว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันที่จะทำให้สังคมที่ตนอาศัยอยู่นั้นสะอาดน่ามอง
ปัญหาเรื่องการไม่รักษาความสะอาดและพฤติกรรมทิ้งขยะไม่เป็นที่นี้สัมพันธ์โดยตรงกับความเชื่อเรื่องชนชั้นวรรณะในสังคม คนอินเดียส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูและเชื่อในระบบชนชั้นวรรณะซึ่งเป็นความเชื่อพื้นฐานที่หยั่งรากลึกที่สุดในสังคมอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องครอบครัว การแต่งงาน พิธีทางศาสนา หน้าที่การงาน การเข้าสังคม กระทั่งความสะอาด สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับระบบวรรณะอย่างลึกซึ้ง
ระบบวรรณะในศาสนาฮินดู เป็นการแบ่งคนเป็นสี่จำพวกด้วยฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อแบ่งหน้าที่ทางสังคม มีสิทธิหน้าที่ในวรรณะตนต่างกันมาแต่กำเนิดได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และ ศูทร และพวกนอกวรรณะทั้ง 4 เรียกว่าวรรณะจัณฑาล (Dalit) ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ต่างวรรณะกันถือเป็นพวกจัณฑาลซึ่งจะถูกรังเกียจและเหยียดหยามไม่มีคนในวรรณะอื่นคบหาสมาคมด้วย ไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวคนในวรรณะอื่นๆได้ ดังนั้นชื่อเรียกวรรณะนี้อีกอย่างหนึ่งคือ กลุ่มที่แตะต้องไม่ได้ (untouchable) คนวรรณะจัณฑาลคือคนที่เผชิญการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) และกดขี่มากที่สุดในสังคม
อาชีพของคนในวรรณะจัณฑาลคือช่างซ่อมรองเท้าแรงงาน คนกวาดขยะ คนล้างส้วม เป็นต้น ปัจจุบันมีคนอินเดียในกลุ่มวรรณะจัณฑาลกว่า 200 ล้านคน ภายในวรรณะจัณฑาลเองก็มีการแบ่งย่อยเป็นกลุ่มวรรณะย่อยอีกหลากหลายกลุ่ม กลุ่มที่ถือว่าต่ำที่สุดคือกลุ่มที่มีอาชีพล้างส้วม เอาซากสัตว์ไปทิ้ง เก็บกวาดอุจจาระ กลุ่มนี้มีจำนวนรวมกันประมาณ 1 ล้านคน รายได้ของกลุ่มนี้ต่ำมาก บางครั้งทำงานโดยไม่ได้เงินแต่แลกปัจจัยยังชีพ ทำให้พวกเขาส่วนมากเป็นคนยากจนและไร้การศึกษา
[source: Sagar Kaul / Barcroft Media]
ดังนั้นเมื่อหน้าที่เรื่องการความสะอาดและใช้แรงงานนั้นผูกติดและผลักให้กับชนชั้นวรรณะล่างแล้ว ทำให้คนวรรณะอื่นๆขาดแรงจูงใจในการรักษาความสะอาดให้แก่พื้นที่สาธารณะ และความหมายของพื้นที่สาธารณะเองก็ถูกกัดกร่อนด้วยความแตกต่างและหลากหลายของคนในสังคมเดียวกันที่ไม่อาจถือว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันที่จะทำให้สังคมนั้นสะอาดน่าอยู่ได้
ปัญหาใหญ่ที่สุดของภารกิจเก็บกวาดอินเดียSWACHH BHARATของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี คือปัญหาสุขอนามัยของการขับถ่าย หรือการขับถ่ายในที่โล่งแจ้งของประชาชน ปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับปัญหาระบบสาธารณูปโภคที่ไม่เพียงพอ ระบบการจัดการที่ล้มเหลว ค่านิยมและความเชื่อ
สถาบันวิจัย Compassionate Economics กรุงนิวเดลีได้ลงพื้นที่สำรวจค่านิยมและทัศนคติเรื่องความสะอาดของคนอินเดียในชนบท โดยเน้นเรื่องสุขอนามัยของการขับถ่าย ผลการรายงานที่น่าตกใจระบุว่าพฤติกรรมการขับถ่ายในที่โล่งแจ้งนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาความยากจน ปัญหาการขาดเงินอุดหนุนจากทางภาครัฐเพื่อสร้างห้องน้ำ ปัญหาขาดแคลนห้องน้ำหรือปัญหาการขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องของ "ค่านิยมในสังคม"
ผลการสำรวจพบว่าความยากจนหรือรายได้ต่อหัวประชากรหรือ จีดีพี นั้นแทบไม่มีความสัมพันธ์กับปัญหานี้เลย ประเทศที่ยากจนกว่าอินเดียมีปัญหาเรื่องการขับถ่ายในที่โล่งแจ้งน้อยมาก เช่นอัฟกานิสถานมีประชากรเพียงร้อยละ 15 ที่ขับถ่ายที่โล่งแจ้ง ในคองโกมีร้อยละ 8 บังคลาเทศและบุรุนดีร้อยละ 3 ในศรีลังการ้อยละ 1 เป็นต้น นอกจากนั้นผลการสำรวจยังพบว่าชาวมุสลิมในอินเดียมีแนวโน้มขับถ่ายในห้องน้ำมากกว่าชาวฮินดูแม้จะมีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าชาวฮินดูโดยเฉลี่ยก็ตาม
นอกจากนั้น ปัญหาการขาดเงินอุดหนุนจากทางภาครัฐเพื่อสร้างห้องน้ำยังไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง ที่ผ่านมาก็ใช่ว่าทางภาครัฐไม่เคยแก้ปัญหารัฐบาลอินเดียได้อุดหนุนงบประมาณเพื่อสร้างห้องน้ำในครัวเรือนและที่สาธารณะมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1999 โดยโครงการล่าสุดของรัฐบาลชุดก่อนที่นำโดยพรรคคองเกรสภายใต้ชื่อแคมเปญ"Nirmal Bharat"ได้อุดหนุนงบประมาณสร้างห้องน้ำในแต่ละครัวเรือนกว่า 10,000 รูปี ต่อครัวเรือน อย่างไรก็ตามคุณภาพเรื่องการก่อสร้างและการออกแบบห้องน้ำก็ยังเป็นปัญหาอยู่โดยพบว่าร้อยละ 43 ของห้องน้ำที่สร้างโดยรัฐบาลอยู่ในสถานะ "สูญหาย" หรือ "ใช้การไม่ได้" จากปัญหาทุจริตในการก่อสร้าง นอกจากนั้นขนาดของถังเก็บสิ่งปฏิกูลยังมีขนาดเล็กกว่ามาตรฐานนานาชาติอีกด้วย ผลการสำรวจพบอีกว่า ประชากรกว่าครึ่งที่มีห้องน้ำที่รัฐบาลได้สร้างไว้ให้ในบ้านยังคงมีพฤติกรรมขับถ่ายในที่โล่งแจ้งต่อไป
อีกทั้งพบว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำสัมพันธ์กับพฤติกรรมการขับถ่ายในที่โล่งแจ้งน้อยมาก โดยพบว่าพื้นที่กว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ชนบทของอินเดียนั้นไม่มีปัญหาเรื่องการเข้าถึงน้ำ (แม้จะมีห้องน้ำที่เชื่อมต่อระบบประปาเพียงร้อยละ 12 ก็ตาม) เมื่อเทียบกับพื้นที่ในทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกาพบว่ามีประชากรเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เข้าถึงแหล่งน้ำแต่มีตัวเลขประชากรที่ขับถ่ายในที่โล่งแจ้งน้อยมากเมื่อเทียบกับอินเดีย ดังนั้นปัญหาการขับถ่ายที่โล่งแจ้งนี้ไม่ใช่ปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาแต่อย่างใด แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในอินเดีย เราจะอธิบายข้อยกเว้นนี้ได้อย่างไร
คำตอบที่เรียบง่ายและชัดเจนของคำถามข้างต้นก็คือด้วยค่านิยมและความเชื่อเพราะพวกเขาต้องการขับถ่ายในที่โล่งแจ้ง และเป็นพฤติกรรมที่สังคมรับได้ ผลสำรวจได้ระบุเหตุผลรองรับของค่านิยมนี้หลายประการเช่น
- ชาวบ้านมองการขับถ่ายในที่โล่งแจ้งว่าเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรงและชีวิตที่สมบูรณ์ ดังนั้นชาวบ้านจึงมองห้องน้ำว่าเป็นที่ของคนอ่อนแอ สตรี และคนสูงอายุ
- การแย่งกันออกไปขับถ่ายนอกบ้านนั้นมีความหมายถึงความขยันที่จะต้องตื่นเช้าไปจับจองบริเวณในการทำธุระท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ก่อนที่จะเต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลจากผู้มาก่อน
- หลายคนคิดว่าการมีห้องน้ำภายในบริเวณบ้านคือการสร้าง"มลพิษ"ภายในบ้าน การสะสมสิ่งปฏิกูลภายในบ่อเกรอะในบ้านนั้นถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าขยะแขยงและไม่อาจรับได้
- การขับถ่ายในที่โล่งแจ้งได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาและสังคมยอมรับไปเสียแล้ว
- การชำระล้างสิ่งปฏิกูลถูกโยงเข้ากับหน้าที่ของชนชั้นทางสังคม ที่ชนชั้นบนไม่อาจกระทำได้เนื่องจากเป็นหน้าที่ตามความเชื่อของชนชั้นล่างสุดที่เรียกว่า วรรณะจัณฑาลหรือ Dalits ดังนั้นการขนย้ายสิ่งปฏิกูลเมื่อบ่อปฏิกูลเต็มนั้นจึงเป็นเรื่องที่ผู้มีห้องน้ำในครอบครองต้องกังวลเป็นที่สุดโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ระบบการดูดสิ่งปฏิกูลจากบ่อยังไม่ทั่วถึงและไม่ทันการยังต้องอาศัยแรงงานคนของวรรณะจัณฑาลมาจัดการกับสิ่งปฏิกูลเพื่อแลกค่าแรงบนความศรัทธา
[source: drishtikona]
ผลรายงานได้สรุปว่า การทุ่มเงินสร้างห้องน้ำทั่วประเทศนั้นคือการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด การสร้างห้องน้ำเพิ่มไม่อาจหยุดยั้งพฤติกรรมขับถ่ายในที่โล่งแจ้งได้ ชาวบ้านส่วนมากที่มีห้องน้ำที่รัฐบาลสร้างให้กลับไม่ใช้ห้องน้ำ เนื่องด้วยต้องการขับถ่ายนอกบริเวณบ้านและไม่ต้องการใช้ส้วมเพราะกลัวว่าส้วมจะเต็ม หลายๆบ้านส้วมมีไว้เฉพาะรับแขกเท่านั้น
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขเป็นลำดับแรกนอกเหนือจากการเร่งสร้างห้องน้ำก็คือ ความเชื่อและทัศนคติเรื่องความสะอาดและการใช้ห้องน้ำของชาวบ้าน ให้ห้องน้ำเป็นห้องน้ำสำหรับทุกคนในบ้าน แม้ทุกบ้านจะมีห้องน้ำที่รัฐบาลสร้างให้ แต่มุมมองของชาวบ้านเรื่องการขับถ่ายยังคงเป็นแบบเดิม ห้องน้ำก็จะเป็นแค่อนุสาวรีย์คอนกรีตที่ชาวบ้านไม่ต้องการใช้มัน
ทางออกของปัญหา
อริสโตเติ้ลนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของกรีกได้กล่าวไว้ว่า"มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Human being is social animal)"เพราะมนุษย์มีการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นหมู่มิได้ใช้ชีวิตอยู่เพียงคนเดียวตามลำพังมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกันตลอดเวลาล้วนต้องพึงพาอาศัยซึ่งกันและกันและแต่ละชีวิตต่างก็ต้องการที่จะเสริมสร้างความสุขความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับตนเองอยู่เสมอสังคมจึงเป็นแหล่งรวมศูนย์ทางความคิดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมาเพื่อแสวงหาคำตอบทุกๆอย่างให้กับตนเองและด้วยการอยู่รวมกันเป็นสังคมนี่เองที่ทำให้ต้องมีกฎระเบียบมาควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม กฏดังกล่าวสืบทอดกันผ่านสำนึก ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา ค่านิยม บรรทัดฐานในสังคม และกฎหมาย
ปัญหาความสะอาดเป็นปัญหาของทุกสังคมในทุกประเทศ แต่ละสังคมต่างมีรูปแบบในการจัดการกับเรื่องความสะอาดในสังคมที่อาจมีรูปแบบแตกต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่สังคมที่คำนึงเรื่องความสะอาดพึงมีร่วมกันคือ ความตระหนัก (awareness) ในปัญหา และจิตสำนึก (consciousness) ร่วมกันในการรักษาความสะอาดทั้งในพื้นที่ส่วนบุคคลและสาธารณะ เมื่อมีความตระหนักก็จะคำถึงว่าอะไรคือปัญหา เมื่อมีจิตสำนึกก็จะทำให้ไม่กลับไปสร้างปัญหานั้นๆอีก
การสร้างค่านิยมให้เกิดความตระหนักและจิตสำนึกร่วมกันต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากรัฐและภาคประชาสังคมผ่านทางรูปแบบการปลูกฝังต่างๆ โดยเฉพาะการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก เช่นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติแบ่งหน้าที่การทำความสะอาดโดยไม่แบ่งแยกชนชั้นวรรณะในโรงเรียน การที่ผู้ใหญ่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็ก ผ่านรูปแบบการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ และกิจกรรมรณรงค์ในสังคม เป็นต้น ค่านิยมดังกล่าวย่อมมีความหมายและแข็งแรงกว่าการแค่ออกกฎหมายมาลงโทษโดยที่สังคมยังขาดความตระหนักเรื่องความสะอาด
แม้ปัญหาความสะอาดในอินเดียเป็นปัญหาในระดับโครงสร้างที่ซับซ้อนด้วยมิติทางด้านความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม ฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา กระทั่งนโยบายของภาครัฐ อย่างไรก็ตามบทสรุปอย่างเรียบง่ายที่สุดของปัญหาความสะอาดในอินเดียก็คือ "การขาดความตระหนักและจิตสำนึกร่วมกัน" ในเรื่องความสะอาดนั่นเอง หลายภาคส่วนในสังคมอินเดียต่างรับรู้ปัญหาข้อนี้ดีและริเริ่มกันรวมกลุ่มกันออกมาลงมือทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะและประชาสัมพันธ์กิจกรรมผ่านสื่อสาธารณะ โดยไม่ต้องรอการริเริ่มจากทางภาครัฐ
[source: bangalore.citizenmatters.in]
ดังเช่นกลุ่มกลุ่มอาสาสมัครในเมืองใหญ่ทางภาคใต้อย่างเมืองบังกะลอร์ ผ่านแคมเปญของกลุ่มคือ "หยุดพูด แค่เพียงลงมือทำ" (No talk, just work) พวกเขารวมตัวกันบนท้องถนนจับไม้กวาด จับแปรงขัดพื้น ถือถังขยะ ลงมือทำความสะอาดอย่างจริงจัง พร้อมกันติดป้ายรณรงค์รักษาความสะอาด แม้โครงการรณรงค์นี้จะเป็นที่สนใจของสาธารณะและสื่อมวลชน แต่ก็มีผู้คนอีกมากที่ไม่ให้ความสนใจเท่าใดนัก แต่พวกเขาสามารถจุดกระแสสร้างจิตสำนึกร่วมกันเรื่องความสะอาดให้กับกลุ่มอาสาสมัครอีกหลายๆเมืองในอินเดียเช่น ลูเธียนา กานปูร์ ไฮเดอราบาด ปูเน คุรเคาน์ ออกมาจับไม้กวาดทำความสะอาดบ้านเมืองของตน
[source: CNN-IBN]
เมื่อต้นปีนี้ นักกิจกรรมสังคมในกรุงเดลีรวมตัวกันภายใต้ชื่อกลุ่ม "KaamAadmi Party" (กลุ่มคนลงมือทำ) รวมตัวกันทำความสะอาดย่านที่อยู่อาศัยในเขตวะสันต์กุนจ์ กิจกรรมของพวกเขาได้รับความสนใจผ่านสื่อหนังสือพิมพ์พอสมควร ชื่อของกลุ่มนี้ตั้งใจตั้งขึ้นให้คล้ายคลึงกับชื่อพรรคการเมืองน้องใหม่มาแรงของกรุงเดลีซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นรูปไม้กวาดคือพรรค "AamAadmiPary" (พรรคคนธรรมดา) เพื่อต้องการเสียดสีนักการเมืองที่ดีแต่พูด พวกเขากล่าวว่าเป็นเรื่องง่ายที่เหล่านักการเมืองจะระบุนโยบายที่จะทำลงในกระดาษ แต่กลับล้มเหลวในการนำมาปฏิบัติ กลุ่มอาสาสมัครจึงรวมตัวกันปฏิบัติให้สังคมเห็น โดยหวังว่าสิ่งเล็กๆที่พวกเขาทำจะสร้างความตระหนักให้แก่สังคมในภาพกว้างได้
ตลอดระเวลาเกือบสามสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียหลายสมัยได้ออกนโยบายรณรงค์เรื่องความสะอาดทั้งหมดสามครั้งคือ 1)แผนงานปีค.ศ. 1986-99 สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี ของพรรคคองเกรส ได้ออกนโยบายทำความสะอาดอินเดียโดยแบ่งเป็นสองแผนงานคือ การทำความสะอาดแม่น้ำคงคา (GAP) และ การรณรงค์เรื่องความสะอาดในชนบท (CRSP) 2)แผนงานปีค.ศ. 1999-2012 สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอตาลพิหารีวัชปายีของพรรคบีเจพี ได้ริเริ่มโครงการ "ความสะอาดอย่างแท้จริง"(TTC) ผลงานที่เด่นชัดคือการสร้างห้องน้ำในชนบท 3)แผนงานปีค.ศ. 2012-22 สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีมันโมฮันซิงห์จากพรรคคองเกรสได้ออกแคมเปญ "อินเดียบริสุทธิ์" (Nirmal Bharat Abhiyan) ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการหยิบนโยบายพรรคบีเจพีมาปัดฝุ่นใหม่
[source: archive.india.gov.in]
แม้ที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียหลายสมัยได้ริเริ่มโครงการรณรงค์รักษาความสะอาดครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จเลยสักครั้ง เนื่องด้วยขาดความจริงจังจากทางภาครัฐ การไม่เข้าใจปัญหาทำให้ การแก้ปัญหาไม่ตรงจุด การไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การสร้างห้องน้ำที่ล่าช้าโดยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 ในรอบสิบปีที่ผ่านมา และหากจะสร้างให้ครอบคลุมด้วยแผนงานแบบเดิมจะต้องใช้เวลาอีกกว่า 70 ปี กว่าที่ทุกครัวเรือนจะมีห้องน้ำครบ
การรณรงค์ครั้งใหม่ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีนั้นก็อาจกลายเป็นเพียงหนึ่งโครงการสวยหรูที่รอวันถูกลืม หากรัฐบาลขาดความจริงจังในการปฏิบัติ สิ่งที่โมดีต้องเร่งสร้างไม่ใช่ห้องน้ำแต่คือ "ความตระหนักในปัญหาและจิตสำนึกสาธารณะในเรื่องความสะอาด" ให้ความสะอาดไม่ใช่เป็นเรื่องเพียงในบ้านแต่รวมถึงนอกรั้วบ้าน ให้ผู้คนตระหนักว่าการรักษาความสะอาดบ้านเมืองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตดังเช่นการทำความสะอาดร่างกาย และเป็นหน้าที่ของทุกคนไม่ใช่แต่เพียงชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง เพราะทุกคนต่างอยู่ในสังคมที่อาศัยร่วมกัน สูดอากาศร่วมกัน นอกจากนั้นก็ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ของผู้คนที่มีหน้าที่ทำความสะอาดแต่เดิมให้พวกเขารู้สึกมีเกียรติและศักดิศรีตามที่กฎหมายรับรองอย่างแท้จริง
สรุป
ปัญหาเรื่องความสะอาดคือหนึ่งในปัญหาหลักที่คอยฉุดรั้งความเจริญและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ประเภทของปัญหาความสะอาดในอินเดียแบ่งออกเป็นสามเรื่องใหญ่ๆคือการทิ้งขยะ การเน่าเสียของแม่น้ำลำคลอง และการขับถ่ายในที่สาธารณะหรือโล่งแจ้ง แต่สาเหตุร่วมกันที่สำคัญที่สุดของปัญหาไม่ใช่เรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา หรือการขาดแคลนห้องน้ำ หรือ ปัญหาระบบสาธารณูปโภคด้านความสะอาดที่ไม่เพียงพอและระบบการจัดการที่ล้มเหลว แต่คือ การขาดความตระหนักในปัญหา พฤติกรรมที่ดำเนินสืบต่อกันมา และขาดจิตสำนึกร่วมกันในการรักษาความสะอาดทั้งในพื้นที่ส่วนบุคคลและสาธารณะ
นอกจากนั้นกรอบความคิดเรื่องชนชั้นวรรณะได้ผลักเอาหน้าที่ความรับผิดชอบเรื่องการทำความสะอาดให้แก่ชนชั้นล่างในสังคมทำให้คนวรรณะอื่นๆขาดแรงจูงใจในการรักษาความสะอาดให้แก่พื้นที่สาธารณะ และทำให้พื้นที่สาธารณะไม่ใช่พื้นที่หวงแหนร่วมกันของคนในสังคมอย่างแท้จริง เนื่องด้วยไม่เห็นความจำเป็นในการที่ทุกคนจะต้องรักษาความสะอาดร่วมกัน
แคมเปญ SWACHH BHARAT เพื่อปฏิวัติเรื่องความสะอาดของอินเดีย โดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีนั้น นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี การลงมือถือไม้กวาดทำความสะอาดในที่สาธารณะของบุคคลที่เป็นผู้นำประเทศ เป็นการส่งสื่อไปถึงประชาชนว่าทุกคนก็สามารถลงมือทำความสะอาดบ้านเมืองนี้ได้โดยไม่เสียเกียรติภูมิและไม่เกี่ยวกับชนชั้นวรรณะแต่ประการใด แต่หวังว่าวันนี้คงถึงเวลาแล้วที่คนอินเดียจะตระหนักถึงปัญหาความสะอาดที่บั่นทอนการพัฒนาชาติบ้านเมืองและทรัพยากรบุคคลและทำลายภาพลักษณ์ของอินเดียในระดับนานาชาติ
โครงการนี้คงไม่อาจเสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลา 5 ปีตามที่นายกฯโมดีตั้งเป้าไว้เพราะเป็นปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อนในมิติของปัญหา แต่หากวันนี้ชาวอินเดียและได้เริ่มต้นอย่างจริงจังและรัฐบาลก็ดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่อง ก็คงไม่นานเกินไปที่จะได้เห็นบ้านเมืองอินเดียสะอาดตาสมดั่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่ของโลก
อ้างอิง
"Who are Dalits?". (http://navsarjan.org/navsarjan/dalits/whoaredalits) navsarjan.org.Retrieved 13, 2014.
AkhileshPillalamarri(October 4, 2014). "Why India Is Dirty and How to Clean It". (http://thediplomat.com/2014/10/why-india-is-dirty-and-how-to-clean-it/) TheDiplomat.com. Retrieved October 14, 2014.
AmulyaGopalakrishnan (October 13, 2014). "Can Modi Deliver A Clean India?". India Today, 23-31.
Diane Coffey and Dean Spears (October 13, 2014). "To End Open Defecation Make Indians Want To". India Today, pp. 32-33.
UttamSenggupta, R.K. Misra, and MinuIttyipe (October 13, 2014). "Dump Struck: Cleaning India Can't Be A Superficial Thing. Can Modi Choke Off Our Industry Of Filth". Outlook, pp. 38-46.
M J Akbar (October 12, 2014). "Terrorism In India Can Be Defeated By Toilets, And Not Just Guns". Time of India, p. 20.
Santosh Mehrotra (October 6, 2014). "Human Rights In The Toilet". Time of India, p.12.
VandanaAnand (August 16, 2014). "KaamAadmi Party aims for a garbage free Delhi"(http://ibnlive.in.com/news/kaam-aadmi-party-aims-for-a-garbage-free-delh...) Ibnlive.in.com. Retrieved October 14, 2014.