10 ตุลาคม ของทุกปีเป็นวันยุติโทษประหารชีวิตสากล (World Day against the Death Penalty) ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในประเด็นโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คือ สิทธิในการมีชีวิต อีกทั้งยังเป็นการทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ในปีนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้จัดฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง“At The Death House Door” ขึ้น เพื่อถ่ายทอดประเด็น "การใช้โทษประหารชีวิต" และ “กระบวนการยุติธรรม” โดยมีโตมร ศุขปรีชา นักแปลและนักเขียนมืออาชีพ และวิทยา ปานศรีงาม นักแสดงรางวัลบทนำยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เซียงไฮ้จากเรื่อง‘เพชฌฆาตคนสุดท้าย’ มาร่วมพูดคุยหลังจากจบภาพยนตร์ด้วย
ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เฆซุส มิเกล ซันส์ หัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวในพิธีเปิดว่า สหภาพยุโรป (อียู) ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการยกเลิกโทษประหารชีวิตซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศสมาชิกอียูไม่ได้ใช้โทษประหารชีวิตมาเป็นเวลา 17 ปีแล้ว และจนถึงปีพ.ศ. 2556 มากกว่าสองในสามของประเทศในโลกได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต นับว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่
อียูถือว่าโทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้ซึ่งมนุษยธรรม เรียกคืนไม่ได้ และไม่ได้ช่วยยับยั้งการก่ออาชญากรรม เราเชื่อว่าการยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการพัฒนาสิทธิมนุษยชน
“อียูทำงานร่วมกับประเทศไทย และอยากเห็นประเทศที่สวยงามอย่างประเทศไทยยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งหมด เราได้ให้คำแนะนำและสนับสนุนหน่วยงานด้านการยุติธรรมของไทยและร่วมมือกับภาคประชาสังคมในประเทศไทย อียูชื่นชมประเทศไทยที่ตัดสินใจยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับผู้กระทำความผิดที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในปีพ.ศ. 2555 ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในทิศทางที่ถูกต้อง”
ด้านนางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศที่ที่สองถึงสามเดือนที่ผ่านมานี้ สังคมไทยได้เผชิญกับเหตุการณ์ที่น่าเศร้าและสะเทือนอารมณ์ ความรู้สึกอย่างรุนแรงอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับคดีการกระทำความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้น มีความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวางเรียกร้องให้มีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตอย่างจริงจังต่อผู้กระทำความผิด ซึ่งแอมเนสตี้ขอยืนยันว่าได้ให้ความเคารพต่อทุกๆ ข้อคิดเห็นเหล่านั้นเสมอมาในฐานะที่เราต่างอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งความเป็นประชาธิปไตย
สิ่งที่แอมเนสตี้ ได้พยายามสื่อสารกับสาธารณะมาตลอดในประเด็นโทษประหารชีวิตคือ การสร้างระบบการป้องกันที่มีมาตรฐาน การลดความรุนแรงและอาชญากรรมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นมาอีกต่างหาก หาใช่เป็นการช่วยเหลือฆาตกรแต่อย่างใดตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ หรือพยายามโจมตีแนวทางการทำงานของแอมเนสตี้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การประหารชีวิตฆาตกรหนึ่งคน แล้วเชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะฆาตกรได้ตายไปแล้วนั้น แท้จริงปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมยังคงเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน หากเรายังไม่ได้ช่วยกันแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจริงๆ
“แอมเนสตี้ขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ให้ไว้ รวมทั้งในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่จะพิจารณายกเลิกโทษประหารชีวิต ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ที่สำคัญเป็นการเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนในสังคมทุกๆ คน อีกทั้งขอร่วมเป็นกำลังใจให้รัฐบาลในการหามาตรการป้องกันอาชญากรรมต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ และขอเรียกร้องให้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ในประเด็นสิทธิมนุษยชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สังคมไทยเกิดการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เคารพในศักดิ์ศรืความเป็นมนุษย์ต่อกันและกัน ซึ่งจะส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความสงบสุข และสันติอย่างแท้จริงต่อไป”
สำหรับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง At The Death House Door ที่ถูกเลือกมาฉายในวันครบรอบ 12 ปีของวันยุติโทษประหารชีวิตสากล ที่ประชาชนทั่วโลกร่วมมือกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิในการมีชีวิตอย่างเสมอภาคถ้วนหน้า เล่าถึงถึงชีวิตของ คาโรลล์ พิคเก็ตต์ ศาสนาจารย์ ผู้รับหน้าที่ “พูดคุย” กับนักโทษก่อนนำตัวเข้าสู่แดนประหาร ศาสนาจารย์หนุ่มจากรัฐเท็กซัสผู้สูญเสียเพื่อนในเหตุการณ์จี้ตัวประกันหน้าเรือนจำ นั่นคือจุดเปลี่ยนทั้งของตัวเขาและรัฐเท็กซัส ที่กลับมาใช้โทษประหารชีวิตอีกครั้ง จากความสะเทือนใจในครั้งนั้นทำให้เขากลายเป็นนักเทศน์ที่สนับสนุนโทษประหารชีวิต ก่อนมารับงานในเรือนจำประสบการณ์ 15 ปีกับนักโทษ 95 คน ที่เขามีหน้าที่พูดคุยเพื่อให้ทุกคนเตรียมใจยอมรับความตายที่กำลังคืบคลานเข้ามา เครื่องบันทึกเทปจำนวนมากถูกใช้บันทึกประวัติศาสตร์จากการพูดคุย การกระทำของเหล่านักโทษประหารที่เขามีโอกาสได้พบในช่วงวันสุดท้ายของชีวิต
แต่การมาถึงของ การ์ลอส เดอลูนา ชายหนุ่มเชื้อสายเม็กซิกันที่ถูกจับในข้อหาฆาตกรรมที่เขาไม่ได้ก่อ และมีนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Chicago Tribune สองคนที่พยายามช่วยเขาด้วยการเขียนบทความตีแผ่กระบวนการยุติธรรมอันบกพร่องที่ส่งให้เดอลูนาต้องขึ้นแท่นประหารและถูกประหารชีวิตในที่สุด เดอลูนา นักโทษประหารที่พิคเก็ตต์กล้ายืนยันว่าเด็กหนุ่มคนนี้บริสุทธิ์ และเราประหารผิดคน นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขาอีกครั้ง เพราะทำให้ศาสนจารย์ผู้นี้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการฆ่า มากกว่าแค่การทำงานในหน้าที่ เขาจึงตัดสินใจหันหลังให้กับงานนี้ และออกมาเป็นนักกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านโทษประหารชีวิตอย่างจริงจัง
นายโตมร สุขปรีชา นักเขียนและนักแปลหนังสือชื่อดังที่มาร่วมพูดคุยกล่าวถึงความรู้สึกส่วนตัวหลังจากชมภาพยนตร์ว่ามีส่วนที่สะเทือนใจหลายจุด แต่ที่รู้สึกมากๆ คือประโยคหนึ่งในหนังที่ “โทษประหารคือการฆ่าคนเพื่อพิสูจน์ว่าการฆ่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี” สิ่งที่มนุษย์กำลังทำกับโทษประหารก็คือ การสร้างความย้อนแย้งขึ้นมา ถ้าบอกว่าการฆ่าไม่ดีก็ไม่มีใครมีสิทธฆ่าใคร แม้ว่าจะเป็นในนามของ “รัฐ” ก็ตาม ซึ่งเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าโทษประหารชีวิตเป็นการกำจัดปัญหาหรือยิ่งสร้างปัญหาให้เพิ่มขึ้นกันแน่
อีกมุมหนึ่งที่โตมรตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจ คือ ฉากหนึ่งที่จอร์จ บุชอออกมาแสดงจุดยืนว่าสนับสนุนโทษประหารชีวิต เพื่อที่จะกำจัดคนเลวออกจากสังคม และเห็นว่าโทษประหารชีวิตจะช่วยทำให้สังคมดีขึ้นได้ ที่น่าประหลาดใจคือ บุชนับถือศาสนาคริสต์ที่สอนเรื่องความรัก และมีคำสอนสำคัญประการหนึ่งคือ “หน้าที่ในการพิพากษาตัดสินคนเป็นของพระเจ้าไม่ใช่ของมนุษย์” ดังนั้นมนุษย์ไม่มีหน้าที่ไปพิพากษาว่าใครควรตายหรือไม่ควรตาย ทุกศาสนาไม่สนับสนุนการฆ่า ถ้าเป็นพุทธศาสนาก็สอนเรื่องพรหมวิหาร 4 รวมทั้งการปล่อยวางและให้อภัย
“หน้าที่ในการพิพากษาเป็นเรื่องของพระเจ้าไม่ใช่ของมนุษย์ ไม่ใช่เรารู้สึกว่าใครเลว เราก็กำจัดเขาออกจากสังคม เพราะเชื่อว่าเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ในหนังเราจะเห็นว่า โทษประหารชีวิตเคยหายไปช่วงหนึ่งแล้วก็ถูกนำกลับมาใช้อีก เรื่องนี้เป็นเรื่องการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจในขณะนั้นที่จะบอกว่าควรจะใช้โทษนี้หรือไม่?"
ด้านนายวิทยา ปานศรีงาม นักแสดงเจ้าบทบาทกล่าวถึงสิ่งที่ประทับใจจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของศาสนจารย์จากคนที่เคยเห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต มาเป็นคนที่ต่อต้านและรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหาร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติได้ รวมถึงเครื่องบันทึกเทปทั้ง 95 ตลับของศาสนจารย์ ซึ่งเปรียบเสมือนกับวิญญาณหรือสัญลักษณ์ของคนคนนั้น ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้บริสุทธิ์หรือผู้กระทำผิดจริงก็ตาม ซึ่งหากมองกลับมาที่สังคมไทย ในระบบราชทัณฑ์ที่จับคนไปขังไว้แล้วพอครบกำหนดก็ปล่อยออกมาเท่านั้น ไม่ได้มีการบำบัดหรือฟื้นฟูคุณภาพชีวิตหรือจิตใจของนักโทษให้ดีขึ้นเพื่อให้เขาออกมาใช้ชีวิตที่ดีได้ในสังคมภายนอก อย่างที่ศาสนจารย์เชื่อว่า ดนตรีและการร้องเพลงประสานเสียงในโบสถ์ที่เรือนจำเป็นการบำบัดให้คนมีจิตใจดีขึ้น
นอกจากนั้นในฐานะที่ได้แสดงภาพยนตร์เรื่อง “เพชฌฆาตคนสุดท้าย” ซึ่งรับบทเป็นเพชฌฆาตถ่ายทอดเรื่องราวของคุณเชาวเรศน์ จารุบุณย์ นายวิทยาบอกว่าถ้าเป็นไปได้ ไม่อยากเห็นภาพประหารชีวิต เพราะไม่ได้ช่วยให้ปัญหายาเสพติด การฆ่าข่มขืน การฆาตกรรม ฯลฯ น้อยลงหรือหมดไปจากสังคมไทย สิ่งที่ต้องแก้ไขคือระบบของสังคมที่บกพร่อง ดังนั้นจึงต้องสร้างระบบ โดยเฉพาะคนให้มีคุณภาพและคุณธรรม และสร้างระบบบำบัดฟื้นฟูนักโทษ สุดท้ายคือ อยากเป็นตัวแทนคุณเชาวเรศน์ในการเป็นเพชฌฆาตคนสุดท้ายจริงๆ
“เมื่อพูดถึงโทษประหารชีวิตรู้สึกเหมือนตอนเรากำลังขับรถ แล้วเกิดเห็นไฟแดงกระพริบขึ้น นั่นเป็นสัญญาณเตือนทำให้เรารู้ว่ารถของเรามันกำลังมีปัญหาอะไรซักอย่าง แต่สิ่งที่เราทำคือแค่ไปตัดหลอดไฟไม่ให้กระพริบ แทนที่จะไปหาสาเหตุว่าทำไมไฟถึงกระพริบการลงโทษประหารชีวิตคือการตัดปัญหา ไม่ใช่การแก้ปัญหาให้ถูกทางที่ต้องย้อนไปหาสาเหตุที่แท้จริงว่าอะไรนำพาให้คนคนหนึ่งต้องกลายเป็นนักโทษ เราต้องปลูกฝังเรื่องการศึกษา อีกทั้งเรื่องศาสนาและคุณธรรม โดยเฉพาะคุณธรรมของผู้ที่มีอำนาจใช้กฎหมายด้วย”
จากรายงาน “สถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ในปี 2556” (Death Sentences and Executions in 2013)ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ปัจจุบันมี 140 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของ ประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว
สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ (การที่ยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตเป็นระยะเวลา 10 ปี) ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่