Skip to main content
ฟารีดา ปันจอร์
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)
 

วันที่  24 กันยายน 2557  สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ได้เชิญ ชาเดีย มัรฮาบัน นักเคลื่อนไหวสตรี จากอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานของผู้หญิงอาเจะห์ในกระบวนการสร้างสันติภาพ

ชาเดีย มัรฮาบัน (Shadia  Marhaban) ผู้หญิงที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาสันติภาพของอาเจะห์ เธอทำงานกับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ (Non-state armed group) เพื่อที่จะเข้าใจว่า คนที่ถือปืนจะรู้สึกอย่างไรเมื่อต้องเป็นคนฆ่า ต้องตายเพื่ออุดมการณ์ ครอบครัวและคนรอบข้างของเขาจะรู้สึกอย่างไร และพวกเขาจะต้องต่อสู้ภายในจิตใจของตัวเองอย่างไร  การทำงานของกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงเหล่านี้คือ จุดตั้งต้นของเธอในการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ เพื่อทำงานด้านสันติภาพ โดยเน้นไปที่อดีตกลุ่มผู้หญิงที่เป็นนักรบ  (Women ex-combatant)  

เริ่มต้น ชาเดีย กล่าวว่า เมื่อพูดถึงความหมายของสันติภาพ ตัวอย่างของอาเจะห์ กลุ่มขบวนการ GAM (Gerakan  Aceh  Merdeka)  แต่เดิมพวกเขามีความเข้าใจต่อการสร้างสันติภาพว่าสันติภาพคือ การประกาศเอกราช (Independence) แต่ในความเป็นจริงแล้ว สันติภาพมีความหมายมากกว่า “เอกราช” มีคำถามตามมาหลังจากความรุนแรงได้ยุติลง   ได้แก่คำถามต่อสังคมหลังความขัดแย้งหลังว่า ผู้คนในสังคมอาเจะห์จะอยู่ด้วยกันอย่างไรต่อจากนี้  หรือ คนอาเจะห์จะอยู่ร่วมกันคนอินโดนีเซียอย่างไร เป็นต้น

ชาเดีย กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยของมูลนิธิเอเชีย หรือ Asia Foundation ที่ยืนยันว่าภูมิภาคเอเชียไม่ได้มีแต่ความสงบสันติอย่างที่ผู้คนเข้าใจกัน แต่ความขัดแย้งต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไป เพียงแต่ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปรายหรือ ถกเถียงและแก้ปัญหาร่วมกันให้มากขึ้น  ปัญหาต่างๆ ได้แก่ ปัญหา ชาติพันธุ์ –ศาสนา ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ความรุนแรงทางศาสนา ส่วนประเด็นความรุนแรงกับผู้หญิงแทบจะไม่ได้ถูกนำเสนอ หรือว่าถูกพูดถึงเลย

แม้ว่าอาเจะห์จะประสบความสำเร็จในเรื่องของการเจรจาสันติภาพ ระหว่างกลุ่มขบวนการ GAM และ รัฐบาลอินโดนีเซีย ด้วยเจตจำนงทางการเมืองและความมุ่งมั่นของผู้นำทั้งสองฝ่ายเพื่อยุติความขัดแย้ง โดยใช้แนวทางสันติวิธี  แต่หลังจากความขัดแย้งสงบลง ผู้หญิงในสังคมอาเจะห์เกิดการตั้งคำถามว่า ผู้หญิงที่ใช้ความรุนแรงและผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง จากการกระทำของกลุ่มขบวนการ GAM และและกองกำลังทหารอินโดนีเซีย (Tentara Nasional Indonesia-TNI) จะมีบทบาทอะไรใน กระบวนการสันติภาพและในโครงสร้างสังคมหลังความขัดแย้งรุนแรงที่ถูกกำหนดจากข้างบน ชาเดียอธิบายว่า ผู้หญิงต้องการสันติภาพเหมือนผู้ชาย แต่หลังความขัดแย้งผู้หญิงจะอยู่ในสภาวะที่มีความซับซ้อนเนื่องจากถูกตีตราจากสังคมได้ง่าย  ยิ่งทำให้สถานะของผู้หญิงยิ่งไม่ได้ถูกให้ความสำคัญแม้ว่าขัดแย้งจะสิ้นสุดลง หลายคนเป็นผู้ถืออาวุธมาก่อน หลายคนถูกตีตราเพราะว่าเคยถูกข่มขืนและถูกกระทำในรูปแบบต่างๆ

ดังนั้นผู้หญิงต้องการแง่มุมการทำงานเพื่อสันติภาพในด้านที่แตกต่างออกไป งานของชาเดีย คือ การพยายามผลักกันการใช้หลักสากลบางประการ  เพื่อที่จะทำให้ผู้หญิงที่ใช้เคยใช้ความรุนแรงและถูกกระทำ รู้จักสิทธิของตนเอง นั่นคือ การปรับใช้  R1325 (UN Security Council Resolution 1325) ในพื้นที่ความขัดแย้งของอาเจะห์ หลังความขัดแย้ง ว่าด้วยเรื่องของความปลอดภัยของผู้หญิงในภาวะของสงคราม และการให้ความสำคัญของผู้หญิงในการสร้างสันติภาพและความมั่งคงในฐานะเป็นตัวแสดงหลักหลังความขัดแย้ง  นอกจากนี้ก็ยังมีกติกาประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสตรี เช่น  อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination against Women  CEDAW) อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของชาเดีย เธอมองว่าการนำกติกาสากลมาใช้ต้องสามารถสื่อสารและสามารถเข้าไปอยู่ในความเข้าใจของคนในท้องถิ่นให้ได้ 

ชาเดียเห็นว่านอกจากผู้หญิง จะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะตัวแสดงหลักในสังคมหลังความขัดแย้งผ่านช่องทางที่สามารถให้อำนาจผู้หญิงให้พูดคุยหรือการกกเถียงได้แล้ว ในระดับของการทำงานที่จะการเปลี่ยนคนที่ใช้ความรุนแรงมาสู่สันติวิธี อาจต้องมีวิธีการใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไป ผู้หญิงสามารถใช้งานเขียนในรูปแบบต่างๆ  เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว หรือใช้ศิลปะเช่น ภาพวาดหรือบทกวี  เพื่อสื่อสารมิติของความรักและความอดทนอดกลั้นต่อการใช้ความรุนแรง โดยส่วนตัวแล้ว ชาเดียชอบเขียนบทกวี เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกและเจตจำนงทางการเมืองของเธอ

นอกจากนี้ ชาเดียมีความเห็นว่า การต่อสู้ของอาเจะห์เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองตนเอง มาจากแรงขับดันของชาวอาเจะห์ ที่เกิดขึ้นจากความภูมิใจในอัตลักษณ์ และประวัติศาสตร์ของอาจะห์ มากกว่า แรงขับดับดัน ในด้านศาสนาอิสลาม ศาสนาอิสลามเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการถูกนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อที่จะนำไปสู่เป้าหมายเท่านั้น   เธอกล่าวว่า ผู้หญิงอาเจะห์หลังสังคมความขัดแย้งจำเป็นต้องศึกษาศาสนาอิสลามให้มากขึ้น ค้นหาแง่มุมของศาสนาอิสลามที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิง ภายใต้สังคมประชาธิปไตยแบบอินโดนีเซียในยุคปัจจุบัน  ชาเดียมีส่วนสำคัญในก่อร่างและผลักดันสภาอูลามาสตรี เพื่อสร้างพื้นที่ทางสังคมและการเมืองให้กับผู้หญิงอาเจะห์ในสังคมหลังความขัดแย้ง