Skip to main content

หมายเหตุ : ถอดความจากเวทีพูดคุยนานาชาติว่าด้วย 'กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทของอาเซียน PPP : Pa(t)tani Peace Process in ASEAN Context' ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555, ตีพิมพ์เป็น หนังสือโดยโครงการจัดพิมพ์ดีพบุ๊คส์เมื่อปี 2556 .

 

การหนุนเสริมสันติภาพจากคนนอก

มาโฮ นากายาม่า 
เจ้าหน้าที่โครงการมูลนิธิสันติภาพซาซากาว่า

ขอความสันติมีแด่ทุกท่าน สวัสดียามเย็นค่ะ ดิฉันไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกระบวนการสันติภาพหรือในประเด็นความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย เพราะฉะนั้นดิฉันคงไม่สามารถจะพูดลงไปในรายละเอียดของหัวข้อนี้ได้ แต่วันนี้ดิฉันอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ของดิฉันเองในการทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์กรระหว่างประเทศแห่งหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้ทุนทำงานต่อองค์กรในพื้นที่ชายแดนใต้

ดิฉันเดินทางมายังชายแดนใต้ที่ปัตตานีเป็นครั้งแรกในปี 2552 ความรู้สึกแรกคือการพบว่าระดับของความรุนแรงที่ค่อนข้างสูงและปัญหาที่ผู้คนกำลังเผชิญหน้าอยู่นั้นก็เป็นเรื่องที่จริงจังอย่างมาก ในขณะที่องค์กรระหว่างประเทศนั้นอาจจะยังไม่ได้ให้ความสนใจอย่างเพียงพอสำหรับปัญหานี้ การเพิ่มความสนใจในระดับระหว่างประเทศและการเข้ามามีส่วนร่วมของนานาชาติต่อปัญหานี้ในแง่ที่สร้างสรรค์จะนำมาซึ่งสันติภาพในภูมิภาคแห่งนี้ นั่นเป็นสมมติฐานของดิฉันในตอนแรก

ดิฉันเริ่มสำนึกถึงความยากลำบากและก็ข้อจำกัดขององค์กรจากต่างประเทศที่เข้ามาทำงานอยู่ที่นี่ทีละเล็กละน้อย ดิฉันคิดว่าผลประโยชน์ที่ถูกคาดหวังไว้จากการเพิ่มความสนใจในระดับนานาชาติที่มากขึ้นจะนำมาซึ่งทรัพยากรสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้นในการทำงานเพื่อสันติภาพของที่นี่ไปด้วย หรือในบางแง่ก็คือการเพิ่มความสนใจของประชาคมระหว่างประเทศมากขึ้นเพื่อที่จะทำงานในเชิงบวกในการติดตามสถานการณ์นั้นจะทำให้กองกำลังติดอาวุธของทั้งสองฝ่ายจำกัดการใช้ความรุนแรงของตนเอง นี่คือผลประโยชน์ในเชิงบวก

แต่ในทางกลับกัน ก็พบว่ามีความเสี่ยงและข้อจำกัดของผู้ให้ทุนสนับสนุนการทำงานจากต่างประเทศทั้ง 14 องค์กร ในการหยิบยกปัญหาความขัดแย้งที่ต่ำกว่าระดับชาติ (Sub-National Conflict) ซึ่งในที่นี้หมายถึงความขัดแย้งภายในประเทศ ยกตัวอย่างเช่นในขณะนี้เรากำลังทำวิจัยอยู่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นในอดีตให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ความขัดแย้งของเอเชีย อย่างเช่นในศรีลังกา ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้ทำแผนงานพัฒนาหลายแผนภายใต้โครงการสร้างสันติภาพระหว่างปี 2545-2546 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพวกเขาต้องการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล ซึ่งก็คือรัฐบาลที่นำโดยคนสิงหล ผลสุดท้ายก็คือโครงการก็จัดทำขึ้นในพื้นที่ซึ่งมีประชากรชาวสิงหลมีอิทธิพลอยู่ โดยไม่เคยได้ไปทำที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีประชากรชาวทมิฬครองอยู่เลย สิ่งที่เกิดขึ้นทำนองนี้นำไปสู่ปัญหาในหลายๆ พื้นที่

สำหรับดิฉันเอง เมื่อกลับมาจากการเยือนชายแดนใต้ก็ได้ทำข้อเสนอเกี่ยวกับการทำงานในภูมิภาคนี้ หัวหน้าของดิฉันก็ตั้งคำถามมากมายว่าคุณจะรับมืออย่างไรหากว่ารัฐบาลไทยจะพูดบางสิ่งบางอย่าง ทำนองว่าเราจะให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบหรือ? นั่นดูเหมือนจะเป็นปัญหาซึ่งนำไปสู่เป็นความยากลำบากและความกังวลใจของหัวหน้าดิฉัน เมื่อครั้งที่ดิฉันบอกว่าต้องการทำงานในชายแดนใต้

เราจะสามารถที่จะเอาชนะปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร? เพราะเราเองก็ไม่ใช่องค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพใดหรือการเจรจาสันติภาพใดๆ ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ได้นำเอาแนวความคิดหรือมีวาระมาจากข้างนอกเลย ในทางตรงกันข้าม เรากลับทำงานร่วมกับหุ้นส่วนของเราที่นี่ เช่น Deep South Watch แล้วก็ฟังว่าพวกเขาต้องการทำอะไรบ้าง เราสนับสนุนกระบวนการ เพื่อให้พวกเขากำหนดวาระของกิจกรรมเหล่านั้นขึ้นมาเอง เพราะฉะนั้นเราไม่ได้นำแนวคิดหรือชุดของทางออกใดๆ ต่อปัญหาความขัดแย้ง แต่เราจะสนับสนุนการริเริ่มทำงานจากผู้คนในพื้นที่หรือองค์กรในท้องถิ่นที่ทำงานเพื่อสันติภาพ

แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งเรียกได้ว่ามีความสำคัญอย่างมาก คือในแง่ของแผนงานที่เราสนับสนุนนั้น แผนงานส่วนใหญ่ดึงการมีส่วนร่วมจากปัจเจกชนที่อยู่ในกรุงเทพฯ เหมือนโครงการสื่อสารของ Deep South Watch ซึ่งเราไม่ได้สนับสนุนเฉพาะแต่คนมลายูมุสลิม แต่เราทำงานร่วมกันกับนักสื่อสารจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับดิฉันในการที่จะได้รับอนุมัติจากหัวหน้า เพราะหากกิจกรรมของโครงการดำเนินการโดยชาวมลายูมุสลิมเพียงกลุ่มเดียว หัวหน้าของดิฉันก็อาจจะเกิดความกังวลใจอีกครั้งหนึ่งว่าดิฉันจะไปทำงานเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเปล่า? แล้วอาจจะก่อให้เกิดปัญหากับรัฐบาลไทยหรือไม่?

ดิฉันหวังว่าเพื่อนของเราในชายแดนใต้คงเข้าใจในประเด็นนี้ ตลอดจนความยากลำบากในการทำงานขององค์กรต่างประเทศภายใต้บริบทเช่นนี้ ดิฉันอยากจะแนะนำคุณให้แสวงหาหุ้นส่วนการทำงานจากส่วนอื่นๆ ของประเทศไทย เพราะจะทำให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับแหล่งทุนจากต่างประเทศที่จะสนับสนุนการทำกิจกรรมของพวกคุณ

ต่อไปนี้คือคำแนะนำด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนสำหรับองค์กรประชาสังคมในปาตานีหรือชายแดนใต้ ประการแรก คือ ดิฉันต้องยอมรับว่ารู้สึกประหลาดใจอย่างมากต่อพัฒนาการในปัจจุบัน ซึ่งทำโดย Deep South Watch และเพื่อนสื่อมวลชน ทั้งที่มีการจัดงานเวทีสาธารณะ จัดนิทรรศการ จัดงานวันสื่อทางเลือก ตลอดจนจัดตั้งโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ รวมไปถึงการเสริมสร้างการเคลื่อนไหวหรือที่ขยายพื้นที่สาธารณะในการถกเถียงประเด็นที่มีความอ่อนไหวอย่างการปกครองตนเอง ซึ่งเคยเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เมื่อราวสามปีก่อน ดิฉันยังรู้สึกประหลาดใจอย่างยิ่งต่อพัฒนาการในปัจจุบันของภาคประชาสังคมในชายแดนใต้ ที่ตอนนี้ก็มีสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ดิฉันรู้สึกนับถือและขอชื่นชมงานของพวกคุณอย่างมากค่ะ

อย่างไรก็ตาม ดิฉันคิดว่าความพยายามเช่นนี้ควรต้องมีการทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดตั้งตนเองให้ดียิ่งขึ้นท่ามกลางประชาชนปาตานี ดิฉันพบเจอกิจกรรมและการทำงานที่น่าสนใจต่างๆ มากมาย แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่พบว่าพวกเขาไม่มีทักษะในการบริหารจัดการที่ดีเพียงพอ อย่างเช่น การทำบัญชี การเขียนข้อเสนอโครงการ ตลอดจนการจัดวาระกิจกรรมต่างๆ ทำให้ขาดโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างประเทศ หรือบางคนบอกว่ายังขาดความรู้ในการจัดตั้งคนงาน ชาวประมง ชาวนา และสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ พวกคุณยังมีกลุ่มต่างๆ จำนวนมาก ทั้งกลุ่มเอ็นจีโอกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยมากมาย แต่พวกคุณไม่มีองค์กรร่มที่ครอบคลุมการทำงานเพื่อให้ขับเคลื่อนกลุ่มเล็กๆ เหล่านี้

ยกตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเราส่งนักกิจกรรมเยาวชนจากปาตานีหรือชายแดนใต้ให้เดินทางไปอาเจะห์เพื่อไปเรียนรู้การพัฒนาการทำงานขององค์กรประชาสังคมในระหว่างความขัดแย้ง และหลังจากที่กลับมา พวกเขาก็ตระหนักว่ากลุ่มเยาวชนนั้นไม่มีเวทีหรือพื้นที่กลางในการทำงานร่วมกัน ดังนั้น พวกเขาประสบความสำเร็จในการจัดตั้งเวทีกลางดังกล่าวที่เรียกว่า BAS (หรือ Berisan Solidaritas) ในการขับเคลื่อนกลุ่มที่ทำงานเยาวชนทั้งหมด ลักษณะองค์กรร่มเช่นนี้นี่เองที่ดิฉันคิดว่าพวกคุณควรต้องทำงานกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คุณอาจต้องขยายการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ คุณจำเป็นจะต้องมีการแปลเนื้อหางานที่พวกคุณทำอยู่

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ดังที่ ดร.แม็คคาร์โก ได้อภิปรายไปแล้ว ซึ่งดิฉันตระหนักว่าการกระจายอำนาจนั้นเป็นประเด็นที่สำคัญมากเมื่อต้องคิดเกี่ยวกับทางออกจากความขัดแย้ง ดังนั้น องค์กรประชาสังคมในชายแดนใต้จำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตรที่เป็นองค์กรหรือผู้คนนอกพื้นที่ชายแดนใต้หรือในส่วนอื่นๆ ของประเทศไทยซึ่งทำงานในประเด็นที่ใกล้เคียงกันในเรื่องการกระจายอำนาจ นี่เป็นข้อแนะนำของดิฉันค่ะ

ข้อแนะนำอีกประการหนึ่งนั้นก็เป็นอย่างที่ นูรคอลิซ จาก LBH กล่าวไว้ คือมีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันในพื้นที่ความขัดแย้งในอินโดนีเซีย พวกคุณอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนมลายูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือโลกมลายู พวกคุณควรต้องตระหนักรู้ถึงตำแหน่งและจุดแข็งที่ว่านี้ และทำงานเครือข่ายกับโลกมลายูเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย ดิฉันคิดว่าปอเนาะและโรงเรียนสอนศาสนานั้นมีเครือข่ายมากมาย แต่สำหรับองค์กรประชาสังคมนั้นจนทุกวันนี้ยังไม่มีเครือข่ายที่แข็งแกร่งซึ่งเชื่อมต่อกับองค์กรในมาเลเซียและอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เราควรพยายามสร้างมันให้ได้ นี่คือประเด็นทั้งหมดของดิฉันในวันนี้ค่ะ ขอบคุณค่ะ 

 

 

(** ภาพเมื่อครั้งร่วมประชุมเพื่อวางยุทธศาสตร์สื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ ปี 2552 **)