สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 20
วันพุธที่ 22 ตุลาคม 2557
โรงแรมอิมพิเรียล นราธิวาส
ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคดำรงไทย นักการเมืองท้องถิ่น อดีต ส.ว. และ ส.ส. ผู้นำภาคประชาสังคม และนักวิชาการ เจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล
เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ประชุมพบว่ามีเหตุการณ์ความรุนแรงใน จชต. ในช่วงเดือน พฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม และกันยายน 2557 ตามลำดับ ดังนี้ เหตุการณ์ความรุนแรง 45, 60, 40, 36 ครั้ง (ข้อมูลจาก กอ.รมน.) และ 56 ครั้ง (ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้) มีผู้เสียชีวิต 21, 34, 26, 15 คน (ข้อมูลจาก กอ.รมน.) และ 22 คน (ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้) แสดงให้เห็นว่า โดยทั่วไปความรุนแรงมีแนวโน้มลดลง ในเรื่องนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะความรุนแรงอันเนื่องมาแต่เหตุอื่น นอกเหนือจากเหตุทางการเมือง เช่น ยาเสพติด และความขัดแย้งระหว่างผู้นำในท้องถิ่น ได้ลดลงในช่วงนี้ ที่ประชุมมีข้อพิจารณาและข้อเสนอแนะซึ่งสรุปได้ดังนี้
1) การลดความรุนแรงต้องพิจารณาหลายมิติ รวมทั้งมิติทางศาสนา ทางการศึกษา (เช่น การศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาด้านธุรกิจและการมีงานทำ) ทางภาษา (เช่น การใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นภาษาทำงาน) ทางวัฒนธรรม และทางเศรษฐกิจ (เช่นการได้รับผลประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่อยู่ใกล้ จชต. ให้มากขึ้น) เป็นต้น
2) จากการให้สัมภาษณ์ของโฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้าเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ที่ว่า แม่ทัพภาค 4 ต้องการให้เหตุรุนแรงในปี 2558 ลดลง 50% มีข้อสังเกตจากที่ประชุมว่า เป้าหมายนี้เกรงว่าจะไม่บรรลุผล หากไม่มีมาตรการที่ชัดเจนรองรับ อีกทั้งในแง่มุมหนึ่ง เรื่องนี้อาจเป็นการท้าทายให้มีความไม่สงบเพิ่มขึ้นหรือไม่ อีกประการหนึ่ง ควรให้ความสำคัญแก่พื้นที่เสี่ยงต่อความรุนแรง (สีแดง) ว่าจะลดความรุนแรงได้มากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันก็มีการประเมินว่าการลดความรุนแรงมีผลต่อการพัฒนาในด้านอื่น ๆ หรือไม่ ทั้งนี้ โดยเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่มีความสงบ (สีเขียว) ด้วย
3) ตามที่ฝ่ายความมั่นคงได้เสนอทุ่งยางแดงโมเดลที่เกิดจากรับฟังปัญหาในพื้นที่ โดยมียุทธศาสตร์ 3 ประการคือ 1) ทำให้พื้นที่ปราศจากอิทธิพลของผู้ก่อความไม่สงบ 2) เอาชนะจิตใจประชาชน และ 3) มีโครงการพัฒนาหมู่บ้านตามความต้องการของประชาชน และมีมาตรการ 6 ข้อ คือ 1) จัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว และเพิ่มการปฏิบัติในตอนกลางคืนมากขึ้น 2) จัดตั้งศูนย์สื่อสารระดับตำบล 3) รักษาความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง 4) ฝ่ายความมั่นคงคอยเสริมกำลังประชาชนในพื้นที่ล่อแหลม 5) การตรวจค้นต้องไม่เหวี่ยงแห 6) ไม่เกิดเหตุซ้ำรอย ที่ประชุมมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังนี้
(ก) รัฐพยายามดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรักษาความปลอดภัยมากขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐน่าจะศึกษาจาก “หนองแรตโมเดล” ที่เกิดจากการริเริ่มของประชาชน ทุ่งยางแดงโมเดลควรกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่มีความรักและหวงแหนในทรัพย์สินสาธารณะ และให้เป็นผู้ดำเนินงานหลักในการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ของตน
(ข) รัฐไม่ควรมีมาตรการที่ใช้เงินเป็นหลัก เช่นต้องระมัดระวังในการลงทุนซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิโทรทัศน์วงจรปิด และอุปกรณ์สื่อสารราคาแพง ฯลฯ เพราะที่ผ่านมา การทุ่มเงินงบประมาณ จะเสี่ยงต่อการมีนักล่างบประมาณเข้ามาแทรกแซงและทำให้เกิดผลเสียแก่การดำเนินงาน
(ค) ที่ผ่านมา ศอ.บต. เคยสนับสนุนให้มวลชนสร้างเกราะป้องกันตนเอง โดยลดการพึ่งพิงกองกำลังที่อาจมีการปฏิบัติการแบบเหวี่ยงแหได้ ทุ่งยางแดงโมเดลควรเป็นการต่อยอดจากการดำเนินงานดังกล่าว
4) จากการให้สัมภาษณ์ของ โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ที่อ้างถึงข้างต้น มีรายงานข่าวจากสถาบันข่าวอิสราว่า “จากจุดนี้ก็เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งเมื่อฝ่ายก่อเหตุรุนแรงไม่สามารถคุมพื้นที่ได้ ก่อเหตุร้ายได้ยากขึ้น ก็จะไม่สามารถใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องต่อรองได้เหมือนเก่า การพูดคุยจะประสบผลมากกว่าเดิม” มีการตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายรัฐในปัจจุบันอาจจะพยายามลดความสำคัญของการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งมีตัวแทนฝ่ายมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก และเน้นในเรื่องการหาข้อตกลงทางการเมืองร่วมกัน และหันมาให้ความสำคัญแก่การพูดคุยสันติสุข โดยเน้นการพูดคุยกันเองในพื้นที่ และการเชิญชวนผู้นำของขบวนการฯ และผู้มีความรู้ความสามารถที่ไปที่อยู่ในมาเลเซีย ให้กลับคืนสู่เหย้า และอาจมาร่วมในการเจรจา อย่างไรก็ดี ที่ประชุมเห็นว่าการพูดคุยทางการเมืองน่าจะเป็นหลักสำคัญของข้อตกลงที่จะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืน และควรมีความพยายามมองเป้าหมายของการพูดคุยให้ชัดเจนร่วมกันด้วย
5) ขณะที่การพูดคุยอย่างเป็นทางการ (TRACK1) จะอยู่ในลักษณะที่ชะลอตัวหรือไม่ก็ตาม ก็ควรมีการพูดคุยที่เป็นกึ่งทางการ (TRACK2) เพื่อสร้างความไว้วางใจอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมการสู่การพูดคุยที่เป็นทางการ ส่วนการพูดคุยของผู้นำในพื้นที่ (TRACK3) ก็ควรต้องเพิ่มความเอาจริงเอาจัง โดยรัฐให้การสนับสนุนแต่ไม่แทรกแซง ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้าและระยะยาว โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนนั่นเอง