ความแตกต่างที่ยังงดงาม จากมุมมองของเด็กหญิงความสุข
“ไม่ใช่ความแปลก ที่เรามีวิถี ที่แตกต่าง ไม่ใช่ความแปลก ที่เรามีศาสนา ที่แตกต่าง
ไม่ใช่ความแปลก ที่เรามีวัฒนธรรม ที่แตกต่าง แต่ช่างน่าแปลก ที่บางคนไม่เคารพ ในความแตกต่างที่เรามี
และยังนำความแตกต่าง มาสร้างความแตกแยก และประโยชน์เพื่อตนเอง
เราจึงต้องหยัดยืน อย่างมั่นใจ และเคารพในความแตกต่าง ระหว่างเพื่อนมนุษย์
เราต้องกล้าหาญ ในความถูกต้อง และปาดคราบน้ำตารอยเดิมออกไป และเราจะร่วมสร้าง เส้นทางใหม่แห่งความหวัง ที่ชื่อว่า กระบวนการสันติภาพ”
พื้นที่อันเป็นวิถีวัฒนธรรมเป็นพื้นที่ปกติของสังคม และพื้นที่ของวิถีในการดำเนินชีวิตภายใต้วัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็เป็นเรื่องปกติเฉกเช่นเดียวกัน ซึ่งหลายคนอาจเรียกว่า "พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม"
จากอดีตสามสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เคยเป็นเมืองที่มีความเจริญทางการค้าและเป็นเมืองท่าที่มีชื่อเสียง มีพ่อค้าจากซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออกจำนวนมากเข้ามาเป็นเวลาช้านาน ส่งผลทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างกลุ่มชนพื้นเมืองและกลุ่มชนภายนอก บริเวณนี้จึงมีความหลากหลายทั้งทางด้านชาติพันธุ์และวัฒนธรรมแบ่งออกได้เป็น วัฒนธรรมศาสนาพุทธ วัฒนธรรมศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู วัฒนธรรมอิสลาม และวัฒนธรรมจีน
ในปัจจุบัน ยังมีการผสมผสาน 3 วัฒนธรรม 2 ศาสนาหลัก คือ ศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม ในแต่ละวัฒนธรรมจะมีการแสดงความเป็นอัตลักษณ์ของตนเองออกมาอย่างชัดเจนตามรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพและการทำมาหากิน ที่อยู่อาศัย การแต่งกาย อาหารการกิน ขนบธรรมเนียมประเพณีและพิธีกรรม ศิลปะการแสดง การละเล่นพื้นบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่น
ระยะหลังที่ผ่านมา มุมมองเดิมในการอยู่ร่วมกันถูกบิดเบือนไป การปะทะกันทั้งทางความคิดและกำลัง กำลังดำเนินเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เคยมีบทบาทสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนพุทธกับมุสลิม ให้เริ่มจะเลื่อนหายไป ดังนั้น คงถึงเวลาที่เราอาจต้องเปิดรับที่จะเรียนรู้อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจอีกครั้ง เปิดพื้นที่กลางร่วมกันเพื่อสร้างสันติภาพและความสุขให้กลับมาในพื้นที่พหุวัฒนธรรมปาตานี
อ้างอิง:
1. ประสิทธิ์ รัตนมณี และคณะ (2550). วัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส). ผลงานวิจัยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี.
2. ภาพจากอินเตอร์เน็ต