Skip to main content

              ความฝัน ความหวัง ความกระหาย ความท้าทายนำพาให้หลายชีวิตที่ไม่รู้จักกันมาเดินเวียนมาพบกัน มาคุยกัน มาทำกิจกรรมร่วมกัน มาใช้ชีวิตด้วยกันต้องขอบคุณความอุตสาหะของตัวเอง กำลังใจของคนรอบข้าง และที่ลืมไม่ได้คือ การเปิดโอกาสให้กับสาวตาดำๆ ตัวกลมๆ แถมตัวก็ยังดำ ได้เดินตามหาฝัน ต้องขอบคุณโครงการบัณฑิตอาสาของ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อย่างสูงที่เปิดโอกาสให้เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน

       ชุมชนที่ข้าพเจ้าได้มาอยู่นับเป็นชุมชนที่ล้อมรอบด้วยป่ายาง และต้นหญ้าริมทาง  บางเส้นทางก็พบเจอ บ่อกุ้ง บางเส้นทางก็พบเจอกับพี่น้องที่กำลังนั่งลอกจาก และตากจากเป็นทางถอดยาว หากได้สัมผัสจุดเริ่มของถนนจะเห็น ใบจากที่ตากอยู่ริมถนนเป็นสีเหลืองถอดยาวเข้าไปในหมู่บ้าน และยิ่งหากใบจากนั้น ถูกแสงจากพระอาทิตย์ที่ขึ้นเลียภูเขาอยู่ก็จะยิ่งเห็นเป็นใบจากที่เหลืองทองรายเรียงกันเป็นแถว นับเป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งที่ได้สัมผัส จากคนนอกพื้นที่ ที่ไม่เห็นได้สัมผัสกับภาพลักษณะนี้

       ย้อนเวลาเมื่อ 7 เดือนก่อน เป็นเวลาที่ทรมาน หดหู่ วังเวง เหงา หนาวใจเสียเต็มอก เพราะแรกมาอยู่นั้น ได้เข้ามาอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง  มีสองชั้นภายในตัวบ้านก็เหมือนบ้านทั่วไปมีบันไดไม้ มีห้องน้ำ โดยระบบปิดห้องน้ำนี้ อาจจะต้องใช้ก้อนหินเล็กๆมาปิดประตูไว้ เพื่อให้รู้ว่ามีคนใช้บริการอยู่ข้างใน ส่วนข้างบนของตัวบ้าน ก็นับเป็นภาพที่สามารถสันนิษฐานได้ว่า น่าจะยังไม่มีคนมาใช้บริการเป็นเวลานาน แต่สิ่งที่เป็นไฮไลต์ของบ้านหลังนี้คือ บริเวณบ้านจะล้อมรอบด้วย ต้นพืช ผัก ผลไม้ และด้านหลังของตัวบ้านก็เต็มไปด้วยต้นยาง หลายสิบกว่าต้น ซึ้งเพียงพอที่จะบังลมไม่ให้กระทบตัวบ้านมากจนเกินไป  ยามตกกลางคืนก็ได้มีเพื่อนในบ้านที่คอยส่งเสียงไม่ให้เหงา แต่กลับกลัวแทน คือ เสียงของจิ้งหรีด ตุ๊กแก และ เสียงสุนัขเห่า หอน ในยามกลางคืน ถือได้ว่าเป็นวิถีชีวิตที่ฉันเองก็ไม่เคยได้สัมผัส “แต่ขอเหอะเสียงตุ๊กแก เสียงหมา พอเถอะไม่เอาแล้ว” ได้แต่วิงวอนในใจไม่กล้าที่จะเปิดประตูไล่ ไม่กล้าแม้จะขยับขาในขณะที่นอน ยอมรับครึ่งเดือนแรกที่มาอยู่ ต้องนอนจมน้ำตาเกือบทุกคืน ช่วงนั้นคนรอบข้างฉัน ไม่ได้อยู่เป็นสุขกันสักคนเพราะต้องโทรหากันตลอด ด้วยอาการที่เหงา  ซึ่งบางครั้งก็แอบเขินตัวเอง เวลาจะคุยโทรศัพท์ทั้งที จะต้องออกไปคุยนอกบ้านประมาณ 5-7 ก้าว เพราะในตัวบ้านจะไม่มีคลื่นโทรศัพท์ นับเป็นความท้าทายอีกรูปแบบได้มีโอกาสที่ได้สัมผัสแต่ยอมรับน้ำใจชาวบ้านในพื้นที่นี้มาก ตกเย็นๆ ก็จะมีเด็กๆ มาพูดคุย ครูพี่เลี้ยงก็จะเก็บผัก ผลไม้มาให้ อีกทั้งน้ำใจคนข้างบ้านที่คอยแวะเวียนตลอดมาทักทายส่งยิ้ม จนถึงตอนนี้ฉันเองก็สนิทสนมกับพวกเขามากแล้ว ผ่านการพูดคุย การโบกมือ การทักทาย การหยอกล้อ การซื้อขนมมากินด้วยกัน ตรงนี้แหละ ที่เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าศาสนาไม่เป็นอุปสรรค์ในการทำความรู้จักและไม่เป็นอุปสรรคที่จะสนิทอย่างเพื่อน ญาติ พี่น้อง ฯลฯ

        หลายครั้งยอมรับว่า ถอดใจจะกลับบ้าน ไม่เอาแล้วกับบรรยากาศแบบนี้ แต่หลายครั้งที่ท้อ คนแรกที่ต้องการได้ยินเสียงคือ เสียงของผู้เป็นแม่เป็นทั้งแรงบันดาลใจ กำลังใจที่ดีที่สุด จริงอย่างที่เขาว่า   “ไม่มียาใดสำคัญเท่ากับกำลังใจที่จะสามารถต่อลมหายใจให้คนเราได้ดำเนินชีวิตอย่างมีความหมาย”

จากบ้านหลังแรก สู่บ้านหลังที่สอง

       เมื่อบรรยากาศที่หวั่นว่าจะกลายเป็นคนขี้ระแวง ขี้กลัวมากไปกว่านี้ก็ได้ปรึกษากับครูพี่เลี้ยงในพื้นที่ได้ทำเรื่องย้ายบ้านพักอาศัยโดยไปอาศัยในพื้นที่ที่มีมุสลิมด้วยกัน แต่ก็ยังทำงานในพื้นที่ พี่น้องไทยพุทธเหมือนเดิมทุกอย่าง   แต่จุดพลิกผันอยู่ที่การเปลี่ยนบ้านพัก ซึ่งการย้ายครั้งนี้มีเหตุการณ์ที่ประทับใจหลายอย่าง แต่ก่อนอื่นที่เข้าไปอยู่กับ พ่อ แม่ อุปถัมภ์ก็ไม่ได้รู้จักสนิทสนมมาก่อน แต่ก็ได้สร้างความสนิทสนมตั้งแต่วันที่ต้องไปใช้ชีวิตร่วมชายคาเดียวกัน ซึ่งสภาพแวดล้อมก็มีมัสยิด โรงเรียน และใบจากที่ตากเรียงกันเป็นแถวริมถนน ในใจคิดก่อนว่า ฉันคงจะอยู่ได้มั้ง ไม่มีปัญหา ไม่ต้องนอนคนเดียวแล้ว เอาละ ลองสักตั้ง ต้องอยู่ให้ได้ สังคมในชุมชนนี้ช่วงเย็นๆเกือบจะค่ำจะมีเด็กๆเข้าไปเรียนหนังสือและละหมาดที่สุเหร่าในหมู่บ้าน เป็นภาพที่ทำให้เรายิ้มออก เพราะใกล้เคียงกับที่บ้านเกิด แม้จะไม่เหมือนทุกสิ่งอย่าง แต่ก็ยังมีจุดๆหนึ่งที่เหมือนกับสังคมที่บ้าน  คำแรกที่คิดในหัวขณะนั้นคือ คำว่า "ครู" ใช่ ครู เราอยากเป็นครูเลยปรึกษากับ แม่อุปถัมภ์ว่า ปกติใครเป็นครูสอน หนังสือที่สุเหร่าตอนเย็นๆ “ เธอก็จะตอบว่า โตะอีหม่าม(ผู้นำศาสนา)เป็นคนสอนและเธอก็ถามขึ้นมาว่า ทำไม จะสอนหรอ”   ด้วยความที่สนใจและต้องการที่จะทำแบบนี้อยู่แล้วก็เลย ตอบไปไม่รีรอ ว่า “ ค่ะ” เลยตัดสินใจเข้าไปพูดคุยกับ โตะอีหม่าม ซึ่งฉันจะเรียกเขาว่า ปะ(หมายถึง พ่อ) ขั้นแรกก็แนะนำตัวเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไร ในพื้นที่ ผ่านไปเกือบครึ่งชั่วโมง ถึงเข้าเรื่องที่ต้องการพูดคุย

 ฉัน = ปะ คือว่าหนูเห็นเด็กๆไปเรียนที่สุเหร่าอะค่ะ ใครเป็นคนสอนอะค่ะ

 ปะ= ปะเอง  ทำไมหรอ

ฉัน= คือว่า หนูเองมาที่นี่ก็ต้องการที่จะเรียนรู้ทุกอย่าง หนูยอมรับว่าหนูไม่เก่ง หนูต้องการหาประสบการณ์ หากหนูจะเข้าไปสอนได้ใหมค่ะ

ปะ =( ยิ้มมุมปาก พอจะเห็นฟันเผลอออกมาทักทายด้วย) ได้ซิ นั้นเย็นนี้ไปน่ะ

ฉัน = ค่ะ (หัวใจเต้นแรง ด้วยใจที่อยากจะเป็นครูสุดฤทธิ์ สุดเดช ก็ทำให้เกิดอาการหายใจไม่ทั่วท้อง )

       เริ่มแรกชาวบ้านที่นี่จะไม่รู้จักฉันเท่าไร ยอมรับว่าไม่ได้ลงพื้นที่นี้อย่างเจาะลึก ด้วยความที่ต้องรับผิดชอบอีกพื้นที่หนึ่ง ก็ได้ทำความรู้จักผ่านร้านน้ำชาตอนเช้า ร้านก๋วยเตี้ยวตอนเย็น หัวสะพานที่เขาขายหอยปะ เลยถือโอกาสชมวิวทะเล ชีวิตชาวเลยามเย็น ไปพร้อมๆกัน เพียงแค่นั้นจริงๆ แต่สิ่งที่ได้กลับมากกว่านั้นคือ คำว่า ครู โตะครู ชาวบ้านบางส่วนที่นี่เรียกว่า ครู โตะครู ยอมรับน้ำตาซึมในดวงตา เพราะเราทำไปทั้งหมดไม่ใช่ต้องการให้ชาวบ้านเรียกคำนั้น เพราะในใจคิดมาตลอดว่า คำว่าครูนั้นสูงทรงอย่างมาก แต่เรากลับได้คำนั้น ก็นับเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมากต่อตัวเอง ต่อใจ และต่อครอบครัวเป็นอย่างมาก สิ่งที่ได้สอนเด็กๆที่นี่เริ่มตั้งแต่ การเอาอาบน้ำละหมาด  การละหมาด การอ่านดุอา และ การสอนภาษามลายู และเผลอๆวันไหนที่เกิดบ้าขึ้นมาก็สอนเพลงสนทนาการเป็นภาษามลายู ให้กับเด็กๆ เขาเกิดอาการ งง หัวเราะ ตามกันไป  แต่ก็เลยตามเลย พวกเขาสามารถร้องเพลงมลายูได้ แม้จะเพี้ยนๆก็ตาม        “เด็กถือเป็นไม้อ่อนที่ดัดง่าย” แต่การดัดในที่นี้ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ด้วยใจที่หงุดหงิดทำไมถึงดื้อ และไม่ทำตามกฎที่ตั้งร่วมกัน ก็มีบ้างที่ต้องใช้ไม้เรียวในการสอน และวิธีการต่างๆในการสอน  มีครั้งหนึ่งเคยใช้ ประโยคเตือนใจ แบบ สนุกๆ คือ จะให้พวกเขาชี้เพื่อน คนไหนที่ไม่ใส่ผ้าคลุมให้บอกว่า "นั้นแน่ ไม่ใส่ผ้าคลุม ระวังจะโดนงูชกหัวนะ" สนุกๆกันไป และวันไหนที่พวกเขารู้สึกว่า พวกเขาทำผิด พวกเขาก็จะอ่านดุอา ด้วยเสียงที่ดัง หรือ ร้องเพลงที่เราสอน จนเราต้องเผลอยิ้มออกมา

       ซึ่งระยะเวลาที่ได้ทำงานควบคู่ในการเป็นบัณฑิตที่พัฒนาตัวเอง ,พัฒนาชุมชน และ ได้รับอีกหน้าที่คือ ครูสอน ที่สุเหร่าตอนกลางคืน ก็ได้เกิดเรียนรู้มากมายจริงๆ จากที่ไม่เคยถือจอบ ก็ได้จับจอบ จากไม่เคยลงเรือไปหาหอย ก็ได้ไปลิ้มรส จากที่ไม่เคยลอกใบจาก ก็ได้มีโอกาสลอกแม้จะทำไม่เป็นแต่ก็ทำ การเปลี่ยนทัศนคติจากพี่น้องต่างศาสนิกก็มีทัศนคติที่ดีขึ้น ตรงนี้แหละ ที่ฉันคิดว่า หลายอย่างเหลือเกินที่ได้จากการทำงานตรงนี้ อีกทั้งได้เรียนรู้จิตอาสาของชาวบ้านที่ไม่หวังผลประโยชน์มาเกี่ยวข้องเป็นอย่างไร  และต่อแต่นี้ไป เหลือเวลาอีก ไม่กี่เดือนกับการทำงานลักษณะนี้ ในชุมชนแห่งนี้ ยอมรับว่า ผูกพัน บางครั้งแอบดีใจกับตัวเองว่า ฉันก็เป็นเด็กปัตตานี คนหนึ่ง หวังที่จะหาอะไรมากมายเพื่อเป็นประสบการณ์แต่สิ่งที่ได้คือ ความภูมิใจที่เกิดเป็นคนปัตตานีแล้วไปสร้างความดีจนเขามองว่า คนปัตตานีใจดี ไม่ใจร้ายกันทุกคน แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว "พื้นที่ที่ดิฉันมาประจำเป็นพื้นที่ที่ขึ้นชื่อ เรื่อง พะยูนค่ะ  สองศาสนาในหมู่บ้านเดียวกัน"