“ความรุนแรง คืออาวุธของคนอ่อนแอ”
-มหาตมะ คานธี-
ผู้เขียน อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
ความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังของทุกสภาพพื้นที่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเกิดจากอะไรก็ตามแต่ ทางออกของมันมีอยู่ไม่กี่ทาง นั่นก็คือ การถอดบทเรียนในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยแว่นขยายแห่งการฉายภาพความทับซ้อนอย่างคมชัด อาจผ่านประสบการณ์ในพื้นที่ หรือ การทำวิจัยอย่างหนักไม่ว่าเชิงปริมาณหรือคุณภาพ หรือ การเข้าถึงสังคมที่เป็นไปใต้ปรากฏการณ์ของงานลักษณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา นับเป็นความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนลำดับต้น ๆ เพราะเบ้าหลอมแห่งการถอดบทเรียนเหล่านี้ จะออกมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้และเรียนรู้จังหวะก้าวของความรุนแรงได้อย่างลุ่มลึก
หนึ่งในนั้นคือ การทำงานของคนที่ต้องอาศัยพื้นที่นอกบ้านในนามวัฒนธรรมใหม่หรือสังคมแบบใหม่เพื่อศึกษาและเข้าถึง พวกเขา ต้องใช้เวลาอย่างยาวนานและสืบต่อเป็นรุ่นต่อรุ่นเพื่อได้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยบางอย่างในการเข้าถึงวิถีสังคมที่เป็นไป จึงเป็นไปไม่ได้เลยในสังคมที่มีแต่ความรุนแรงหรือ ความต่างทางด้านอัตลักษณ์จะหนีห่างจากการทำงานของนักบูรพาคดี เพราะพวกเขาถือเป็นความสำเร็จของสังคมตะวันตกในการเรียนสังคมอื่น ในนามของ “คนนอก” ได้อย่างลุ่มลึกและตรงประเด็น แม้หลายคนอาจจะไม่ชอบไม่ว่าด้วยกรอบของศาสนา ค่านิยม ความเชื่อ หรือหลักคำสอน แต่กระนั้น บางสิ่งจากคนที่เรารู้จักกันว่า ฝรั่งหรือชาวตะวันตกก็ยังมีสิ่งที่ดีให้เราได้เรียนรู้จากการทำงานของพวกเขา
ไม่แปลกที่ชาวตะวันตกหรือ “พวกฝรั่ง”ได้รับการยกย่องอย่างออกนอกหน้าให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านสาขาต่าง ๆ ในโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเมือง สังคมและวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง เบเนอร์ดิก แอนเดอร์สัน (BENEDIC ANDERSON) หรือที่เรารู้จักกันในนามอาจารย์เบน หรือสตีเฟน โคเฮน (STEPHEN COHEN) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเมืองเอเชียใต้ หรือ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการวิพากษ์นโยบายของอเมริกาอย่าง นอม ชอมสกี้ (NOAM CHOMSKY)
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งจากสูตรของการทำงานแบบตะวันตกโดยมุ่งเน้น ๓ เสาหลัก นั่นก็คือ
๑. กระบวนการสร้างนักวิจัย ด้วยการลงเก็บข้อมูลในแต่ละพื้นที่ที่พวกเขามีความสนใจ ทั้งข้อมูลจากสื่อสิ่งพิมพ์ หรือลงภาคสนามอย่างที่ ชาวตะวันตกได้ทำกันมาก ก่อนที่พวกเขาจะมายึดครองชาวมุสลิม พวกเขาได้เริ่มด้วยการเรียนภาษานั้น ๆ ด้วยการมีสถาบันต่าง ๆ เพื่อรองรับแนวคิดนี้ผ่านการผลักดันเป็นนโยบายแห่งชาติ แล้วพวกเขาทำการแปลเอกสารทั้งหมดที่พวกเขาพอจะหาได้ออกมาเป็นภาษาของตัวเอง
๒. กระบวนการสร้างพื้นที่สื่อสิ่งพิมพ์และนักเขียน งานที่ได้รับการศึกษานั้น ได้ผ่านขั้นตอนแรก นั่นก็คือ ศึกษารายละเอียดและสิ่งสำคัญต่าง ๆ ขณะเดียวกัน ไม้ต่อไปของแนวคิด คือ การเขียนออกมา เพื่อผลิตเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ ผ่านหนังสือพิมพ์รายวัน วารสาร จุลสาร งานวิจัย หนังสือเรียนตามหลักสูตรการสอน งานวรรณกรรม ข่าว บทวิเคราะห์ บทความ บทกวี หรือเรื่องสั้น
๓. กระบวนการถ่ายทอดความรู้และกล่อมเกลา ผ่านการสอนในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โรงเรียนที่พวกเขาได้มีอิทธิพลในการกำหนดหลักสูตรเพื่ออบรมเยาวชนของพวกเขาให้มีความรู้และความเข้าใจ โรงเรียนและสถาบันการศึกษากลายเป็นสิ่งที่ทรงอิทธิพลในการนำเสนอแนวคิดและหลักการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่เหมือนกัน
นักบูรพาคดี ตามความเข้าใจของคนส่วนมากมักไม่ค่อยกว้างและลงลึกในรายละเอียดของสักเท่าไหร่ ในมุมกลับกัน นักบูรพาคดีมีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและการขยับขยายวัฒนธรรม กระทั่ง การหยิบจับ การยึดครองของชาวตะวันตกบนแผนที่โลก ทั้งหมดเหล่านี้ได้ออกมาจากความสำเหนียกและการศึกษาเป็นแรมปีของนักบูรพาคดี ได้มีปรากฏรายละเอียด และพวกเขามักทำให้กระบวนการเหล่านี้ ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน สำหรับนักบูรพาคดี โดยเฉพาะหนังสือส่วนใหญ่มีมุมมองไม่ต่างกัน
นักบูรพาคดี คือ บุคคลสำคัญในการขับเคลื่อน ขยายและยกระดับการรุกคืบของชาติตะวันตกบนผืนแผ่นดินโลกตะวันออก ในหนังสือ Oxford Concise Dictionary Of Politics ได้กล่าวถึง นักบูรพาคดีและแนวคิดของนักบูรพาคดี ว่า “การอธิบายถึงลักษณะเฉพาะของโลกตะวันออกในสายตาของชาวตะวันที่เรียกตัวเองว่านักบูรพาคดี” (Iain Mc Lean and Alistair Mc Millan, 2009 ; 384. / John L. Esposito, 2003; 239.)
ส่วนแนวคิดของ นักบูรพาคดี เอดเวิร์ด ซาอิด (Edward Said) ได้กล่าวว่า “การศึกษาถึงงานประวัติศาสตร์วรรณกรรมและศิลปะในยุโรป ไม่เฉพาะเพียงแต่ยุโรปเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ส่วนอื่นที่ยุโรปได้เข้าไปควบคุม มี่สวนไปมั่งคั่งและยึดครอง วางรากลึกไปถึงการศึกษาเกี่ยวกับอารยะธรรม ภาษา แนวคิด บุคลิกขอชาวตะวันออกผ่านมุมมองของคำว่า ตะวันตก”
ดร.อุบัยดุลเลาะ ฟาฮาด (Dr.Obaidullah Fahad) อาจารย์ประจำภาควิชาอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยมุสลิมอาลีกัร ได้เขียนใน Islamic Policy and Orientalists ว่า “นักบูรพาคดี คือ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์อิสลาม วัฒนธรรม ระบบการสอนเกี่ยวกับอิสลามผ่านอัลกุรอ่านและอัลฮาดิษ ตลอดจนการเกิดขึ้นของอิสลามและการพัฒนาของอิสลามในพื้นต่าง ๆ ของโลกโดยการฉายภาพและมุ่งเน้นไปยัง การเมือง ศาสนาและระบบเศรษฐกิจของสังคมมุสลิมเป็นหลัก”( Obaidullah Fahad, p.11.)
นักบูรพาคดีได้มีการพูดถึงโดยนักวิชาการและนักคิดทั่วไปอย่างกว้างขวางในศตวรรษที่ ๑๙ และช่วงต้นๆ ของศตวรรษที่ ๒๐ แนวคิดของนักบูรพาคดีนั้นคือ การศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงและความเป็นไปของโลกตะวันออก ผ่านประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี และความเป็นบุคลิกเฉพาะของชาวตะวันออก หากจะสรุปแบบลงตัวและตรงประเด็น นั่นก็คือ การศึกษาของชาวตะวันในการนำเสนอแนวคิดเสมือนอิสลามด้วยการอ้างอิงจากประวัติศาสตร์ ฮาดิษ อัลกุรอ่าน (แต่ไม่ได้เป็นในแบบดังกล่าว) หรือจะกล่าวอีกนัยยะหนึ่งนั่นก็คือ ชาวตะวันตกศึกษาอิสลามและกำหนดในแบบที่พวกเขาอยากให้เป็นผ่านการถ่ายทอดใต้มุมมองของพวกเขา
การศึกษาโลกตะวันออก หรือ เน้นหนักเฉพาะอิสลามนั้นได้เกี่ยวโยงไปถึง หลักคำสอนของอิสลาม ศาสนา สังคมมุสลิม วัฒนธรรมอิสลาม การดำรงชีวิต ความเชื่อในพระเจ้า ผ่านการเกิดขึ้นใหม่ของอารยะธรรมตะวันตกที่เพิ่งจะรุ่งเรื่องอีกครั้งในศตวรรษที่ ๑๖ ของยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ที่เราต่างรับรู้กัน
๑. การเกิดขึ้นของการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในยุโรปทำให้อารยะธรรมอิสลามเริ่มถดถอยและถูกแทนที่ผ่านการเข้ามาควบคุมของชาวยุโรป ทำให้โลกมุสลิมกลายเป็นเมืองขึ้นของชาวตะวันตก ไม่ว่าประเทศอินเดีย,ปากีสถาน อัฟกานิสถาน, แอฟริกา, อิยิปต์, ซีเรีย, มาเลเซีย, อินโดนีเซียหรือประเทศอื่น ๆ
๒. การฟื้นคืนของยุโรปนั้นเป็นช่วงขาลงของโลกมุสลิมผ่านความขัดแย้งที่เกิดขึ้น หลังจากที่ยุโรปได้หดหายไปเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยี อาวุธทางปัญญา วิชาการ และงานเขียน กระนั้น ยุคเรเนสซองได้หวนคืนมา ท่ามกลางความงุนงงของยุคสมัย ในห้วงยามที่โลกกำลังเป็นไป ประการแรกคือ มุสลิมกำลังเมามันในการพัฒนาและการทดลองของนักวิทยาศาสตร์มุสลิม และพวกเขาได้นำเสนอแนวคิดใหม่ อุดมการณ์แบบใหม่ ปรัชญาแบบใหม่ ประการที่สอง หนังสือทุกเล่ม นักเขียนทุกคน และงานเขียนทั่วไป ได้เกิดจากนักคิดมุสลิมไม่ว่าจะเป็นศาสตร์เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ฟิสิกห์ เคมี วิทยาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และ ดาราศาสตร์ แต่ด้วยความพยายามของนักบูรพาคดี พวกเขาได้ทำการแปลเอกสารต่าง ๆ หนังสือ ด้วยการเรียนรู้ภาษาแบบใหม่ นั่นก็คือ ชาวตะวันตกเรียนรู้ภาษาอาหรับ เปอร์เซีย ตุรกีและอุรดู เพราะภาษาเหล่านี้ได้รวบรวมแนวความคิดเกี่ยวกับมุสลิมไว้อย่างมากมาย หนังสือทั้งหมดที่ชาวมุสลิมได้เขียนขึ้นมา ได้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนของชาวยุโรป ได้เกิดการค้นคว้า การทดลอง และการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมาอีกรอบผ่านแนวคิดของนักวิชาการตะวันตกเหล่านั้นเพื่อเรียนรู้ความเป็นไปของโลกตะวันออกเกี่ยวกับ การเมือง สังคมและความเป็นไปของโลกมุสลิม
นักบูรพาคดีได้ศึกษาอิสลามผ่านวิชาการแขนงต่าง ๆ ดังนี้ คือ
๑. ประวัติศาสตร์อิสลาม (Islamic History); ประวัติศาสตร์ของศาสดาอิสลาม ตั้งแต่ศาสดาองค์แรกจนกระทั่งศาสดาองค์สุดท้าย พื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศาสดาแต่ละองค์ และโบราณสถานสำคัญที่ส่งผลต่อการเฟื่องฟูของสังคมมุสลิมและการขยายตัวของศาสนาอิสลามบนแผนที่โลก รวมถึงประเทศมุสลิมทั้งหมดที่ได้วางกรากกันอยู่ทั่วโลก กระทั่งพื้นที่มุสลิมชนกลุ่มน้อยและมุสลิมกระแสหลักของประเทศนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น อาหรับ อิหร่าน ตุรกี แอฟริกา อินเดีย จีน อินโดนีเซีย
๒. วัฒนธรรมอิสลาม (Islamic Culture); นับเป็นวิชาสำคัญที่นักบูรพาคดีทำความเข้าใจถึงความหมายที่ชัดเจนของวัฒนธรรมอิสลาม กระทั่งการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมดังกล่าว ศึกษาวัฒนธรรมมุสลิมทั่วโลกมีความแตกต่างกันผ่านมิติของหลักการศาสนาเช่น มัซฮับ แนวคิด หรือ วิถีปฏิบัติ นักบูรพาคดี ศึกษาถึงชาติพันธุ์ ภาษา การดำรงอยู่ในแต่ละวัน ภาษา การสนทนา ระบบสังคม พิธีการและการเฉลิงฉลองในเทศกาลต่าง ๆ นักบูรพาคดีได้ลงลึกรายละเอียดไปถึง ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ สีผิว กลุ่ม สังคม ในมุมของ ความเป็น เปอร์เซีย จีน อินเดีย อาหรับ ตุรกี มาเลเซีย กระทั่ง ดนตรี ศิลปะ สถาปัตยกรรมและงานวรรณกรรม ทั้งหมดเหล่านี้คือสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ใต้นิยามคำว่า วัฒนธรรมศึกษา
๓. ศาสนศึกษาและวิชาการอิสลาม (Theology And Islamic Sciences) ; การศึกษาเกี่ยวกับวิชาศาสนาและวิชาการอิสลาม นับ เป็นวิชาแขนงที่สำคัญที่นักบูรพาคดีพยายามถอดรหัสและหาคำตอบเพื่อรับรู้เกี่ยวกับอิสลาม หลักคำสอนและความเป็นจริง ประเด็นที่สำคัญสำหรับนักบูรพาคดีที่มุ่งเน้นเป็นพิเศษ นั่นก็คือ การศึกษาเกี่ยวกับอิสลามผ่าน “อิสลามศึกษา” ที่เน้นรากแห่งอิสลามผ่านความรู้ ข้อมูลข่าวสารและวิชาการอิสลาม อย่างแรกคือ ศาสตร์เกี่ยวกับอิสลามและหลักการอิสลาม อย่างที่สอง การศึกษาอิสลามในภาพกว้าง รวมถึง นิติศาสตร์อิสลาม วิทยาการอิสลาม ประชากรอิสลาม ประเทศมุสลิม ประวัติศาสตร์อิสลาม อารยะธรรมอิสลาม วรรณกรรมอิสลาม ภาษาของโลกมุสลิม และมุ่งเน้นในวิชาการศาสนาอิสลามที่เกี่ยวกับ การอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน (Tafsir Al-Quran) หลักการอรรถาธิบายอัลฮาดิษ (Ilmul-Hadith),ศาสนบัญญัติ (Figh) ภาษาอาหรับ (Arabic Language) วรรณกรรม (Literature) พวกเขาพยายามมุ่งเน้นไปยังรากเหง้าและวิถีแห่งมุสลิมใต้แนวคิดของซูฟี ปรัชญาอิสลาม ประวัติศาสตร์ปรัชญาอิสลาม นักปรัชญาอิสลาม และระบบการศึกษาของอิสลาม
๔. สังคมศาสตร์ (Social Sciences); การศึกษาแขนงนี้รวมไปถึงเศรษฐศาสตร์และการบัญชีอิสลาม สังคมศาสตร์อิสลาม สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาอิสลาม พวกเขาได้ศึกษาผ่านนักคิดมุสลิม นักเขียน นักเคลื่อนไหวและนักฟื้นฟู ทั้งหมดที่มีส่วนต่อการขยับขยายและการย่นย่อของอารยะธรรมอิสลาม
(อ่านต่อตอนที่ ๒)
อ่านเพิ่มเติม
Iain Mc Lean and Alistair Mc Millan, Oxford Concise Dictionary Of Politics, New York; Oxford University Press, 2009.
John l. Esposito, The Oxford Dictionary of Islam, New York; Oxford University Press, 2003.
Obaidullah Fahad, Islamic Policy and Orientalists, Institute of Islamic Studies ; Aligarh Muslim University.