แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้รัฐไทยแสดงความสนับสนุนต่อข้อเรียกร้องขององค์การสหประชาชาติในการยุติการประหารชีวิต
กลางเดือนพฤศจิกายนนี้ นักการทูตจากทั่วโลกจะมีโอกาสอีกครั้งหนึ่งในการลงมติที่กรุงนิวยอร์ก ในประเด็นที่ยังคงส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากในระดับโลก กล่าวคือข้อตกลงเพื่อยุติการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราว เป็นที่ยอมรับมานานว่าโทษประหารเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน และเป็นการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ถึงอย่างนั้นยังคงมีการประหารชีวิตบุคคลหลายพันคนทั่วโลกในทุกๆ ปี ซึ่งมักเป็นผลมาจากการไต่สวนคดีที่ไม่เป็นธรรม หรือมีการละเมิดหลักเกณฑ์คุ้มครองสิทธิในเบื้องต้น ทั้งๆ ที่รัฐให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์ที่จะคุ้มครองสิทธิเหล่านี้
เป็นครั้งที่ห้าที่ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน คณะกรรมการที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) ซึ่งเป็นโครงสร้างการตัดสินใจหลักขององค์การสหประชาชาติ และมักเรียกว่าเป็น “รัฐสภาโลก” จะลงคะแนนเสียงในเบื้องต้นต่อร่างมติให้มีข้อตกลงเพื่อยุติการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราว โดยถือว่าเป็นขั้นตอนแรกของเส้นทางในระดับโลกที่นำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต ถ้าที่ประชุมมีลงคะแนนเสียงรับรองร่างมติดังกล่าว ก็จะมีการไปเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในวาระรวมในช่วงเดือนธันวาคมเพื่อลงคะแนนเสียงเป็นขั้นสุดท้าย
แม้ว่ามติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติจะไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย แต่มีความสำคัญ และการลงคะแนนเสียงในเดือนพฤศจิกายนถือเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับพวกเราที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและอีกหลายคนที่ร่วมกันรณรงค์เพื่อยุติโทษประหารชีวิตทั่วโลก ในทางปฏิบัติแล้ว มติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติถือเป็นเสียงของประชาคมนานาชาติ และจะช่วยเพิ่มน้ำหนักและความชอบธรรมทางศีลธรรมอย่างมากให้กับการต่อสู้เพื่อยุติการประหารชีวิต ดังที่เราเห็นว่าในหลายประเทศได้ใช้โอกาสที่มีการลงมติเช่นนี้เพื่อเสนอกระบวนการปฏิรูปกฎหมาย และสนับสนุนให้มีการอภิปรายถกเถียงเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต แม้ในบริบทที่การอภิปรายเรื่องเหล่านี้ไม่สามารถทำได้เลยใน ไม่กี่ปีก่อน
มติทั้งสี่ครั้งที่ผ่านมาได้รับคะแนนเสียงค่อนข้างท่วมท้น และมีจำนวนประเทศที่ออกเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นทุกครั้ง ในปี 2555 รัฐภาคีสหประชาชาติ 111 แห่งลงคะแนนเสียงให้ความเห็นชอบ คัดค้าน 41 แห่ง และงดออกเสียง 34 แห่ง
ในบริบทเช่นนี้ จุดยืนของประเทศไทยนับว่ามีความสับสน แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่มีการประหารชีวิตบุคคลตั้งแต่ปี 2552 แต่จนถึงปัจจุบัน ตัวแทนประเทศไทยได้ออกเสียงคัดค้านมติดังกล่าว หรือไม่ก็งดออกเสียง ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ ทั้งประเทศที่ยกเลิกโทษประหารในทางกฎหมายไปแล้ว และประเทศที่ยังมีกฎหมายให้ประหารชีวิตแต่ไม่เคยประหารชีวิตใคร ล้วนแต่สนับสนุนมตินี้ เหตุใดเราจึงล้าหลังกว่าประเทศอื่น? เหตุใดเราจึงไม่แสดงให้โลกเห็นว่าการปฏิบัติเกี่ยวกับโทษประหารของเราเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง และเสนอให้มีการชะลอการประหารชีวิตไปเลย
ประเทศไทยอยู่ในสถานะพิเศษที่อาจมีอิทธิพลต่อคะแนนเสียงในเดือนพฤศจิกายน ในฐานะประเทศที่พิจารณาประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างจริงจังในช่วงสองปีที่ผ่านมา ถ้าเราลงคะแนนเสียงสนับสนุนข้อตกลงชั่วคราวในระดับโลก ย่อมจะมีอิทธิพลต่อประเทศอื่นอย่างแน่นอน
เหตุผลที่ทำให้มีเสียงสนับสนุนมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะข้อเท็จจริงสะท้อนให้เห็นว่าโลกกำลังถอยห่างออกจากการใช้โทษประหารชีวิต ในปี 2488 ซึ่งมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ มีเพียงแปดประเทศที่ยกเลิกกฎหมายให้ประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาใด ๆ แต่ในทุกวันนี้ รัฐภาคีสหประชาชาติ 140 จาก 193 แห่งยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางนิตินัยหรือพฤตินัย เมื่อปีที่แล้ว มีรัฐภาคีเพียง 20 แห่งที่ประหารชีวิตบุคคล
มีประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้นทั่วโลกที่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีเหตุผลที่ดีที่จะสนับสนุนให้มีกฎหมายกำหนดโทษประหารชีวิตต่อไป
เราอาจคิดว่าโทษประหารชีวิตเป็นทางออกของปัญหาอาชญากรรมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศที่มีปัญหาอาชญากรรมรุนแรงสูง แต่อันที่จริงไม่มีหลักฐานใดที่สนับสนุนว่า โทษประหารชีวิตมีส่วนช่วยในการป้องปรามไม่ให้คนก่ออาชญากรรม เป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันได้จากผลการศึกษาหลายชิ้นในหลายภูมิภาค แน่นอนเราควรคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายจากอาชญากรรม และต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่การต่อต้านโทษประหารชีวิตไม่ใช่เป็นการแสดงความอ่อนแอต่ออาชญากรรม แต่เป็นการหาทางแก้ไขอาชญากรรมที่รากเหง้า และพยายามทำงานอย่างจริงจังเพื่อช่วยให้สังคมของเราปลอดภัยขึ้นอย่างแท้จริง พร้อมกับส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อสิทธิของคนทุกคน ที่สำคัญแทนที่จะช่วยแก้ปัญหาอาชญากรรม โทษประหารชีวิตกลับยิ่งสนับสนุนวงจรความรุนแรง
เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ว่า มนุษย์ย่อมสามารถตัดสินผิดพลาดได้เสมอ ทำให้เกิดความเสี่ยงว่าอาจมีการประหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ และไม่สามารถนำชีวิตกลับคืนมาได้ จำนวนนักโทษมากมายที่ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ยังเป็นข้อเตือนใจสำคัญว่าเราไม่ควรอนุญาตให้รัฐพรากชีวิตใคร ยกตัวอย่างกรณีของนายฮากามาดะ อิวาโตะ (Hakamada Iwao) ซึ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อต้นปี 2557 ระหว่างรอการไต่สวนคดีใหม่ หลังจากตกเป็นนักโทษประหารมากว่า 40 ปี เขาถูกศาลตัดสินลงโทษในข้อหาฆ่าคนตาย โดยเป็นผลมาจากการไต่สวนคดีที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งต้องใช้เวลาถึงสี่ทศวรรษกว่าระบบยุติธรรมในญี่ปุ่นจะยอมรับความจริงข้อนี้
รัฐบาลบางประเทศยังคงอ้างความสนับสนุนจากประชาชนที่มีต่อโทษประหารชีวิต เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการประหารชีวิต แต่ในความจริงแรงสนับสนุนที่ว่ามีเพียงเบาบางทั่วโลก และเหตุผลที่สนับสนุนก็ยังเป็นการมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า โทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐบาลจึงควรสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการยกเลิกโทษประหารชีวิต ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิที่จะมีชีวิตรอด
สำหรับประเทศไทย แผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่สามสำหรับปีพ.ศ. 2557-2561 กำหนดรวมถึงการยกเลิกโทษประหารชีวิตไว้ด้วย ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ประเทศไทยจะมีโอกาสเลือกทางเลือกที่ถูกต้องเพื่อสิทธิมนุษยชน และเดินหน้าอีกขั้นหนึ่งเพื่อไปสู่เป้าหมายสุดท้ายที่ทำให้โลกปลอดจากโทษประหารชีวิต เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลลงคะแนนเสียงสนับสนุนร่างมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเกี่ยวกับข้อตกลงชั่วคราวเพื่อยุติการใช้โทษประหารชีวิต