จากการทบทวนกระบวนการสันติภาพในจชต.โดยไล่เรียงภาคีหลักของความขัดแย้งและเป้าหมายของพวกเขา รวมทั้งภาคีสำคัญอื่นๆ และแนวทางแปลงเปลี่ยนความขัดแย้ง แนวทาง 4 ค ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการสันติภาพในมุมกว้างไปแล้ว ในบทความชิ้นนี้จะกล่าวถึงกระบวนการสันติภาพที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งยังมีความเปราะบางอยู่พอสมควร โดยจะนำเสนอแนวทางในการประคับประคองกระบวนการสันติภาพ ข้อเสนอเรื่องการพูดคุยที่ขยายวงเต็มพื้นที่ และชี้ให้เห็นปัจจัยที่จะช่วยเสริมความสำเร็จให้กับกระบวนการสันติภาพ
การประคับประคองกระบวนการสันติภาพ
บีอาร์เอ็นได้มีข้อเสนอในรูปของแถลงการณ์ผ่านยูทูบ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2556 ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมทางการ โดยข้อเสนอมีอยู่ 5 ข้อ สรุปได้ดังนี้
- ให้มาเลเซียเป็นคนกลาง มิใช่เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก
- ให้เป็นการพูดคุยระหว่างชาวปาตานีที่นำโดยบีอาร์เอ็นกับผู้ยึดครองฝ่ายสยาม
- ให้มีตัวแทนของอาเซียน OIC และองค์กรเอกชนเป็นผู้สังเกตการณ์การพูดคุย
- ให้ปล่อยผู้ถูกคุมขังคดีความมั่นคงทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมด
- ให้ยอมรับว่าบีอาร์เอ็นเป็นขบวนการปลดปล่อยชาวปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน
ขอเสนอว่าข้อเสนอทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นประเด็นการพูดคุย ทำความเข้าใจ มิใช่เงื่อนไขที่จะรับหรือไม่รับในทันที หากข้อใดหรือส่วนใดปฏิบัติได้ก็ให้นำไปปฏิบัติ หากข้อใดยังมีความขัดข้องหรือความเห็นแย้งก็ให้พูดคุยทำความเข้าใจกันต่อไปก่อน
ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2556 ตัวแทนรัฐบาลมาเลเซียได้มีแถลงการณ์ว่า หน่วยงานความมั่นคงของไทยและบีอาร์เอ็น ได้มีความตกลงและเห็นพ้องต้องกันในหลักการ ระหว่างการพูดคุยเพื่อสันติภาพ ครั้งที่ 4 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2556 ซึ่งได้บรรลุความเข้าใจร่วมกันในการทำงานให้เดือนรอมฎอนปราศจากความรุนแรง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความเข้าใจร่วมกันนี้ได้นำไปสู่การปฏิบัติมากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็น่าจะเพียงพอที่จะเห็นความเป็นไปได้ที่การพูดคุยจะมีความคืบหน้าสืบไป
เพื่อเป็นการสนับสนุนการพูดคุยครั้งนี้ ขอเสนอให้พิจารณากลวิธีการพูดคุย/เจรจา ซึ่งโดยทั่วไปอาจแบ่งเป็นแบบแข็งกร้าวกับแบบนุ่มนวล การเจรจาแบบแข็งกร้าวมักมุ่งให้ผลการเจรจาออกมาใกล้เคียงกับจุดยืนของเราให้มากที่สุด คล้ายกับว่ายึดเป้าหมายเป็นหลักมากกว่าวิธีการบรรลุเป้าหมาย หากจะใช้กลวิธีที่แข็งกร้าวหรือทำให้ภาคีความขัดแย้งมีความสับสนหรือสำคัญผิดบ้างก็ไม่เป็นไร หากช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้ก็พอ มีตัวอย่างของกลวิธีที่อาจมีการใช้ในการเจรจาทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจจัดอยู่ในข่ายนี้เช่น1
- ยกข้อเสนอให้สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
- กดดันสุดขีด
- มีลูกหลอกว่าเรื่องนี้สำคัญ เพียงเพื่อแลกกับการโอนอ่อนของอีกฝ่ายในเรื่องที่สำคัญจริง
- ตั้งหลายด่าน โดยอ้างว่ามีระดับการตัดสินใจหลายระดับ แล้วในแต่ละระดับจะมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติม
- ขีดเส้นตาย
- แบ่งบทพระเอก / ผู้ร้าย ในทีมเดียวกัน
- ให้ข้อมูลอย่างท่วมท้นโดยหวังให้งง
เรย์มอนด์ ซาเนอร์ได้สรุปเทคนิคการเจรจาไว้ในหัวเรื่องว่า ‘แนวหลังศัตรู’ ดังนี้2 ไม่มีนายพลหรือผู้บัญชาการคนใดจะโจมตีข้าศึกตัวฉกาจซึ่ง ๆ หน้า อย่างเบาอาจเรียกได้ว่าเป็นความโง่เขลา และอาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย เป้าหมายที่ดีกว่ามากคือการโจมตีด้านข้างที่ขาดการป้องกัน ทางลำเลียงเสบียงของศัตรูนั้นค่อนข้างเปราะบางเช่นกัน หากเราสามารถเข้าถึงจุดนั้นด้วยกองกำลังของเรา ในด้านการทหาร ภารกิจนี้บรรลุผลได้ด้วยขีปนาวุธพิสัยใกล้หรือการใช้พลร่ม ในระยะยาว สงครามจิตวิทยาโดยการโปรยใบปลิวเหนือพื้นที่พลเรือน หรือการใช้วิทยุกระจายเสียงนั้น ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลเป็นอย่างยิ่ง บนโต๊ะเจรจา การทำงานเทียบเคียงกันคือการปฏิบัติการแนวหลัง ไม่ว่าจะโจมตีกองหนุนของอีกฝ่าย หรือทำให้ฝ่ายตรงข้ามของศัตรูแข็งแกร่งขึ้นมา
ในเชิงเปรียบต่าง โจฮัน กาลตุง1 ได้เสนอให้ใช้กลวิธีการเจรจาแบบนุ่มนวล โดยใช้การสานเสวนาเป็นหลัก ไม่ใช่การโต้แย้งเพื่อเอาชนะกันในโต๊ะเจรจา ประหนึ่งว่าการเจรจาเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธในอีกรูปแบบหนึ่ง จริงอยู่ การเจรจาย่อมดีกว่าการใช้อาวุธ แต่การเจรจาเพื่อหาทางตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของภาคีความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายย่อมดีเพื่อน สำหรับกาลตุงแล้ว การสานเสวนามิใช่เพียงแต่การฟังอย่างตั้งใจเท่านั้น หากหมายถึงการตั้งคำถามที่สำคัญแล้วช่วยกันตอบด้วย แต่รูปแบบคำถามก็สำคัญ แทนที่จะถามว่าเราขัดแย้งกันเรื่องอะไร เราอาจจะถามว่าอนาคตของ จชต. จะเป็นอย่างไร หรือถามว่าปาตานีที่น่าอยู่จะเป็นอย่างไร เป็นไปได้ไหมที่การพูดคุยสันติภาพจะปรับเปลี่ยนจากความพยายามโน้มน้าวมาเป็นการเพิ่มพูนปัญญาร่วมกัน จากการโต้เถียงเป็นการสานเสวนา จากประโยคที่แสดงความโกรธขึ้งเป็นประโยคคำถาม จากประโยคบ่งบอกเป็นประโยคสงสัย วิธีการจัดกลุ่มการสานเสวนาก็สำคัญ ระหว่างจุดสุดโต่งของ การสานเสวนาระหว่างคนกลางกับภาคีทีละฝ่าย กับ การเจรจาแบบแข็งกร้าวแบบเต็มคณะเพื่อให้ได้ชัยชนะ เราน่าจะใช้การสานเสวนาระหว่างภาคีโดยตรงเพื่อพัฒนาความคิด ใช้ทั้งการสานเสวนาเป็นคู่ ๆ และการสานเสวนาเป็นกลุ่มด้วย ซึ่งใกล้เคียงกับการสัมมนาดี ๆ ที่มีทั้งการแบ่งกลุ่มย่อย 2-5 คน และการประชุมรวม
ในเรื่องภาษาที่ใช้ก็สำคัญ นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส2 เสนอบทเรียน 10 ประการจากการศึกษากระบวนการสันติภาพทั่วโลก เขาสรุปบทเรียนประการแรกว่าเป็น ‘เรื่องของภาษา’ เขาเตือนว่าอย่าติดอยู่กับ
ภาษาของความมั่นคง ไม่เน้นย้ำถึงภัยคุกคามด้านความมั่นคง ปัญหาการก่อการร้าย หากแสวงหาถ้อยคำใหม่ในการแก้ไขปัญหา เน้นสาระหลักของปัญหาทางการเมือง
การพูดคุยที่ขยายวงเต็มพื้นที่
การสานเสวนาสันติภาพตามข้อตกลง 28 กุมภา นั้น เป็นกระบวนการที่เป็นทางการ ซึ่งในศัพท์ของการแก้ไขความขัดแย้งจะเรียกว่า ‘หนทางที่หนึ่ง’ (track one) แต่เพื่อขยายวงการพูดคุย เพิ่มการมีส่วนร่วม เพิ่มความรู้สึกเป็นเจ้าของกระบวนการอย่างกว้างขวาง เพิ่มโอกาสความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลง และเพิ่มโอกาสการนำข้อตกลงไปปฏิบัติใช้อย่างยั่งยืน จึงมีการเสนอโมเดลการพูดคุยที่มี ‘หลายหนทาง’ (multi track)3 กล่าวคือมี ‘หนทางที่สอง’ สำหรับการสานเสวนาระหว่างผู้นำในระดับกลาง หรือระหว่างภาคประชาสังคม ส่วน ‘หนทางที่สาม’ ได้แก่การสานเสวนาระหว่างผู้นำชุมชน สังเกตได้ว่าหนทางที่หนึ่ง มักเป็นการประลองว่าใครจะมีอำนาจเหนือ ส่วนอีกสองหนทางจะเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากกว่า
ตัวอย่างของการใช้หนทางที่สองได้แก่
- แผนที่เดินทางสู่สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้’ เมษายน 2556-เมษายน 2558 ที่สำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า จัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอต่อเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ4
- เครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้มีการจัดประชุมเมื่อวันที่ 4 และ 8 มิถุนายน 2556 เพื่อจัดทำ ‘แผนที่เดินทางสันติภาพโดยภาคประชาสังคมชายแดนใต้/ปาตานี’5
- สภาประชาสังคมชายแดนใต้ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 10 เรื่อง: เสนอแนวปฏิบัติต่อคู่พูดคุยสันติภาพระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยกับผู้แทนกลุ่ม B.R.N. ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 25566
- จุฬาราชมนตรีได้มีหนังสือลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 ถึงเลขาธิการ ศอ.บต. เพื่อนำส่งข้อเสนอแนะของจุฬาราชมนตรี พ.ศ. 2556 ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติของส่วนราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเดือนรอมฎอน
- อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลคนหนึ่ง และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันออกถ้อยแถลงเรื่อง การสานเสวนาสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 25567
ปัจจัยที่จะช่วยเสริมความสำเร็จ
หนทางที่สองเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่ประสงค์จะประคับประคองการะบวนการสันติภาพ อย่างไรก็ดี รัฐบาลเมื่อปี พ.ศ. 2548 ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 104/2548 แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ขึ้น เพื่อเสนอแนะการสร้างความสมานฉันท์และสันติภาพในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กอส. มีลักษณะกึ่งทางการ และทำงานอย่างเป็นอิสระต่อฝ่ายบริหาร จึงมีบางคนเรียกการทำงานของ กอส. ว่าเป็น ‘หนทางที่หนึ่งครึ่ง’
เมื่อกระบวนการสันติภาพตามข้อตกลง 28 กุมภา ได้เริ่มต้นแล้ว มีเหตุผลพอสมควรที่จะระดมทุกสรรพกำลัง ที่จะช่วยให้กระบวนการนี้ประสบความสำเร็จ จึงขอเสนอให้มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษาและสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ’ ในลักษณะเดียวกับ กอส. เพื่อสานต่อจากงานของ กอส.ตลอดจนศึกษาและเสนอแนะแนวทางการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
กระบวนการสันติภาพจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการยอมรับของสังคม ดังนั้น งานที่จะต้องทำควบคู่ไปกับกระบวนการสันติภาพคืองานสื่อสารกับสังคม ซึ่งขอเสนอเป็นโมเด็ลดังนี้
สรุป
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อแสดงความเห็นในเชิงสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ และเพื่อเชิญชวนในมีการตรองร่วมกันว่า ทำอย่างไรจึงจะช่วยกันให้กระบวนการสันติภาพมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ เดิมพันของความสำเร็จหรือความล้มเหลวนั้น หมายชีวิตอีกหลายชีวิตที่จะอยู่รอดปลอดภัยหรือดับสูญไป เดิมพันนี้สูงเกินกว่าที่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของการสานเสวนาที่เป็นทางการเท่านั้น ทุกภาคส่วนต่างก็มีความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ และหวังว่าจะมีบทความ ข้อถกแถลง ข้อไตร่ตรองในเชิงวิชาการ และการสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ในที่ต่าง ๆ มาเสริมเติมเต็มให้แก่ความพยายามในทำนองนี้ มากขึ้นอีกเรื่อย ๆ เพื่อช่วยให้สันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ค่อย ๆ เป็นจริงมากขึ้นตามลำดับ
คลิกอ่านตอนแรก, ตอนสอง, และตอนสาม
------------------------------------------------------------------------------
1 Saner, Raymond. 1997: The Expert Negotiator, Haag: Klower Law International p. 145 quoted by Johan 2Galtung 2004. Ibid pp. 171-172
3 Galtung, Johan 2004: ibid pp. 177-179
4นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส 2556: พื้นที่กลางสร้างสันติภาพจาก ‘คนใน’ ภายใต้บริบทของกระบวนการสันติภาพปาตานี บทความใน กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทอาเซียน รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการ. ปัตตานี: ดีพบุ๊คส์ หน้า 27-28
5 http://www.slideshare.net/tarayasri/ss-208457
6 http://www.deepsouthwatch.org/node/4352
7 http://www.deepsouthwatch.org/node/4441
8 http://www.deepsouthwatch.org/node/4434