Skip to main content

สรุปการถกแถลงนราธิวาสว่าด้วยเศรษฐกิจชุมชน

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 08.30-16.00 น.

ณ โรงแรมตันหยง อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

ผู้นำชุมชน นักวิชาการ รวมทั้งผู้เข้าร่วมจากภาคประชาสังคมและภาครัฐ จำนวนประมาณ 90 คน ได้เข้าร่วมเวทีถกแถลงว่าด้วยเศรษฐกิจชุมชน และมีความเห็นว่า เศรษฐกิจชุมชนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งจะพัฒนาได้ดีหากมีการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐและชุมชน อย่างไรก็ดี บางโครงการ ภาครัฐอาจเป็นฝ่ายริเริ่มโดยรับฟังความต้องการของชุมชน บางโครงการชุมชนสามารถพึ่งกันเองโดยรัฐช่วยอำนวยความสะดวก ทั้งนี้ ต้องถือว่าชุมชนเป็นผู้มีสิทธิในวิถีชีวิต ในทรัพยากรธรรมชาติ และในการตัดสินใจตามจิตสำนึกและตามความต้องการร่วมกันของชุมชน

ในภาคเช้า หลังการทำความเข้าใจร่วมกันในกระบวนการถกแถลง (deliberation) แล้ว มะรอนิง สาแลมิง ได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยเกริ่นนำว่า “พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ได้รับเชิญให้มาเป็นองค์ปาฐก แต่เนื่องจากติดธุระสำคัญ จึงให้ผมมานำเสนอแทน อย่างไรก็ดี ได้ฝากข้อคิดให้ผมมาช่วยนำเสนอด้วย” ข้อคิดดังกล่าวสรุปได้ดังนี้

ปัญหาสำคัญของสังคมไทยคือความเหลื่อมล้ำ อย่างน้อย 4 ประการคือ ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิ ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ และความเหลื่อมล้ำทางศักดิ์ศรี สำหรับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) นอกจากความเหลื่อมล้ำทั้ง 4 ข้อแล้วยังมีความเหลื่อมล้ำเชิงความยุติธรรม ซึ่งนำไปสู่การใช้ความรุนแรงด้วย ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นไม่เพียงต้องสอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ แต่ต้องเชื่อมโยงกับบริบทนอกพื้นที่และเข้าใจความเป็นสากลด้วย บริบทในพื้นที่มี เช่น การพัฒนาต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเก็บดอกเบี้ยทุกชนิด มะรอนิงเสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจชุมชนควรเน้นการสร้างเครือข่าย มิติทางวัฒนธรรม และมิติการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สินค้าชุมชนอาจเน้นตลาดชายแดนไทย-มาเลเซีย และแบรนด์ฮาลาล

สราวุธ แสงประสิทธิ์ เสนอข้อคิดการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนโดยภาครัฐว่า เป้าหมายของรัฐคือ ทำอย่างไรให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด โดยน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีวิสัยทัศน์ว่าจะมีชุมชนเป็นชุมชนจัดการตนเอง ชุมชนสมานฉันท์ ชุมชนสวัสดิการ ชุมชนสันติสุข (ปลอดภัย) ส่งเสริมหมู่บ้านเชิงท่องเที่ยววัฒนธรรม เป็นต้น ในทางปฏิบัติ ภาครัฐมีโครงการ เช่น โครงการอาหารฮาลาล โครงการ OTOP โครงการเมล็ดพันธุ์ โครงการสุขภาวะปศุสัตว์ โครงการช่วยเหลือนาร้าง โดยจะทำเป็นตัวอย่าง อย่างน้อยอำเภอละ 1 จุด ในเรื่องเหล่านี้ ภาครัฐเน้นหลักการบูรณาการ และหลักการการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน

ซาการียา บิณยูซูฟ เสนอแผนภาพที่แสดงผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ประกอบด้วย ส่วนท้องถิ่น ส่วนท้องที่ ส่วนภูมิภาค มัสยิด องค์กรเอกชน สถานศึกษา ซาการียาเห็นว่าปัญหาที่ผ่านมาคือ ต่างคนต่างทำ จึงเสนอวิธีแก้คือผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวมาร่วมกันทำในรูปแบบของชูรอนำสันติ  ซึ่งมีมิติการมีส่วนร่วม การปรึกษาหารือ การใช้หลักศาสนา การสร้างกลไกขับเคลื่อนงาน การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนา การปรับเปลี่ยนความคิดระดับบุคคล และการสร้างความสมานฉันท์ทางสังคม (Social Cohesion) ตัวอย่างความสำเร็จได้แก่ โครงการพลังงานทดแทนที่ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้จริง และโครงการเตาประหยัดเชื้อเพลิงที่ มัสยิดดารุสสลาม (สากอ) อ.ศรีสาคร เป็นต้น

นุกูล รัตนดากุล มองว่าเศรษฐกิจชุมชนคือการจัดการตนเอง ศาสนากับเศรษฐกิจชุมชนย่อมเกื้อกูลกัน เชื่อมโยงกัน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การปลูกป่าพรุก็เชื่อมกับเศรษฐกิจชุมชน หลักการสำคัญของเศรษฐกิจชุมชนได้แก่ หลักการพอเพียง การมีวิถีชีวิตตามหลักคิดทางศาสนา หลักการสิทธิมนุษยชน หลักอำนาจของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดผล ชุมชนต้องประยุกต์หลักการดังกล่าว สร้างสำนึกร่วมกัน รวมพลังแบบ C2 คือรวมความเป็นชุมชน (Community) กับความร่วมมือ (Cooperation) และประชาชนต้องทวงสิทธิ์คืนมาโดยสันติวิธี

ที่ประชุมได้ถกแถลงเรื่องเศรษฐกิจชุมชนอย่างกว้างขวาง และมีข้อเสนอดังนี้

  • เยาวชนอำเภอแว้งเสนอให้แก้ไขปัญหาการว่างงานโดยเร่งด่วน เพราะจะช่วยแก้ปัญหาอื่น ๆ ได้ด้วย โดยชุมชนต้องคิดริเริ่มและเสนอโครงการแก่ภาครัฐ เช่น กระทรวง พม. และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้น ชุมชนและภาครัฐช่วยกันบริหารจัดการโครงการ ตัวอย่างโครงการได้แก่ การเลี้ยงไก่เนื้อที่จะให้ผลผลิตเร็ว

  • ชุมชนอำเภอระแงะมีข้อเสนอว่า อยากให้ภาครัฐช่วยประกันสินค้าการเกษตร เช่นลองกองซีโป ช่วยสนับสนุนวิทยากรสาขาต่าง ๆ เช่นในการบรรจุภัณฑ์ ในส่วนของชุมชนนั้น ควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีให้ดีขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างแบรนด์การค้า เช่นลองกองซีโป การแปรรูปสินค้าการเกษตร เช่นลองกองกวนหรืออบแห้ง อย่างจริงจัง การริเริ่มการผลิตสินค้าใหม่ ๆ โดยไม่ต้องทำตามเพื่อน และการที่ชุมชนสนับสนุนสินค้าที่ชุมชนผลิตขึ้นเอง

  • เนื่องจากชุมชนเจาะไอร้องปลูกข่า แต่มีปัญหาการตลาด จึงอยากให้รัฐหรือชุมชนอื่นให้ความช่วยเหลือด้วย

  • ในการศึกษาเศรษฐกิจชุมชน มีประเด็นที่ควรศึกษา เช่น เรื่องครัวชุมชน การเก็บรักษาสินค้า (stockist)  

  • การหาตลาดสำหรับสินค้าที่ชุมชนผลิตนั้นมีความสำคัญมาก ทั้งตลาดภายในและภายนอก ในการผลิตควรศึกษาการตลาดไปด้วย โดยเริ่มจากเล็กไปหาใหญ่ ต้องพยายามหาหุ้นส่วนการค้า เช่น กับมาเลเซียให้ได้ ต้องศึกษาการนำสินค้าผ่านด่านให้ดี ซึ่งเรื่องนี้รัฐต้องช่วยเจรจา โดยชุมชนต้องช่วยกันให้ข้อมูล การแปรรูปสินค้าเป็นเรื่องที่ชุมชนต้องทำเอง โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุนความรู้ และทำอย่างจริงใจ

  • การพัฒนาการขายสินค้าชุมชนแบบออนไลน์ และผ่านวิทยุชุมชน

  • ชุมชนควรตั้งองค์กรระดับตำบลเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน

  • รัฐควรส่งเสริมความรู้ทั้งการผลิตและการตลาด ส่งเสริมการตั้งโรงงานชุมชน

  • รัฐควรพิจารณาให้หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเศรษฐกิจชุมชน เช่น สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมการพัฒนาชุมชน และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้ทำงานประสานงานกัน

  • เพื่อสร้างบรรยากาศการลงทุนและการไปมาหาสู่กันระหว่างประเทศ รัฐควรพิจารณายกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึก และพิจารณาผ่อนปรนการออกวีซ่า เป็นต้น  

  • ความเห็นส่งท้ายคือการพัฒนาที่ดี ควรให้ความสำคัญแก่การพัฒนาจิตใจ