Skip to main content

หนังสือเรื่อง รำลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รัก การเปลี่ยนแปลง (ความทรงจำ) อันขื่นขมในวันวาน สู่การสร้างพลังในวันนี้ ผู้เขียนจำนวน 4 คน คือ Jose Luis de Oliviera, Natalia de Jesus Cesaltino, Lilik HS, Dodi Yunir. รวบรวมเรื่องเล่าจากครอบครัวบุคคลที่สูญหายและเหยื่อจากความรุนแรงในอาเจะห์และTimor- Leste จำนวน 92 คน

หลายสิบปีที่ผ่านมา Aceh และ Timor- Leste ในห้วงเวลาที่มีความขัดแย้ง ทั้งสองแห่งมีประสบการณ์ด้านความรุนแรงในระดับกว้างเหมือนกัน และที่เหมือนมากกว่านั้นคือทั้งสองพื้นที่ถูกกระทำจากตัวแสดงเดียวกัน มีความพยายามในการคลี่คลายความขัดแย้งโดยรัฐและภาคประชาสังคม โดยเฉพาะใน Timor- Leste ได้แต่งตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงและความสมานฉันท์ ในปี พ.ศ. 2543 ขณะที่กลุ่มภาคประชาสังคมใน Aceh ขับเคลื่อนเพื่อให้สังคมมีคณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์ ผลสุดท้ายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 สภาผู้แทนราษฎรอาเจะห์อนุญาตให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์ อย่างไรก็ตามผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในพื้นที่ความรุนแรงทั้งสองแห่งยังคงต้องเผชิญกับความเจ็บปวดและการเลือกปฏิบัติซึ่งการช่วยเหลือยังคงมีไม่ทั่วถึงนัก

หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือน เครื่องมือทำความเข้าใจครอบครัวที่สูญเสีย เป็นเสียงสะท้อนของความหวังจากครอบครัวที่สูญเสีย ไปยังสังคมวงกว้าง และยกระดับความพอใจของครอบครัวผู้สูญเสียผ่านการมองตนเองและสะท้อนสังคมความรุนแรงที่ผ่านมาในอดีต

Aceh อาเจะห์

เรื่องเล่าของ Fauziah Ibrahim โดยใช้ชื่อเรื่องนี้ว่า อย่าให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำอีกเลย Fauziah คือแม่ที่สูญเสียลูกชายอายุ 14 ปี จากเหตุการณ์ Simpang KKA[1] ในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 เป็นเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารกราดยิงไปยังกลุ่มประท้วงจนมีผู้ประท้วงเสียชีวิต จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการจับกุมผู้กระทำการในวันนั้นเลย Fauziah เล่าถึงความรู้สึกว่า ฉันรู้สึกเศร้ามากที่ต้องสูญเสียลูกชายไปในเหตุการณ์วันนั้น จนถึงวันนี้ฉันยังรู้สึกเจ็บปวด และยังไม่กล้าพอที่จะไปดูสถานที่เกิดเหตุ แม้ว่าสถานที่ตรงนั้นเคยเป็นสถานที่ๆ ฉันเคยค้าขายก็ตาม

ปัจจุบันฉันประกอบอาชีพประมงเพื่อเลี้ยงครอบครัว และมีส่วนร่วมในองค์กรภาคประชาสังคม เพราะคนในองค์กรเหล่านี้เคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์ของฉัน ในองค์กรมีหลายคนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบเหมือนฉัน และฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเห็นคนที่ยิงลูกชายฉันได้รับการลงโทษ และไม่อยากให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับใครอีกต่อไป มันเพียงพอแล้วสำหรับความเจ็บปวดที่ฉันต้องแบกรับเพราะมันหนักหนาสาหัสจนไม่อยากให้ใครมาแบกรับความสูญเสียแบบฉันอีก

เรื่องเล่าของ Abdurrahman ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2546 ประตูบ้านของพ่อถูกเปิดออกโดยเจ้าหน้าที่ทหาร พ่อของผมถูกจับกุมไปพร้อมๆ กับคนอีก 4 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิก GAM หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ พบศพของพ่อในกระสอบ ที่ทะเล Jeunib หลังจากการเสียชีวิตของพ่อ เจ้าหน้าที่ทหารท่านหนึ่งนำข้าวสารมาให้ครอบครัวของเราในวันครบรอบเจ็ดวันที่พ่อเสียชีวิต แต่ทางครอบครัวของเราปฏิเสธที่จะรับเพราะครอบครัวของเราเชื่ออย่างสนิทใจว่า เจ้าหน้าที่เป็นคนยิงพ่อของเรา

จวบจนวันนี้ครอบครัวของเรายังคงเจ็บปวด แม่ของผมไม่สามารถทำมาค้าขายที่ตลาด Kios lama ได้ เพราะแม่ยังรู้สึกอกสั่นขวัญแขวน เมื่อเห็นคนที่สวมชุดเจ้าหน้าที่ทหาร

เรื่องเล่าของ Tengku Saifuddin Ahmad ผมเคยถูกจับกุม โดยเจ้าหน้าที่รัฐในปี พ.ศ. 2541 และในปี พ.ศ. 2546 ผมถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิก GAM ระหว่างที่ถูกจับกุม ผมถูกซ้อมทรมานจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อถูกปล่อยตัวออกมาก็รักษาตัวจนหาย ตอนนี้ผมมีอาชีพเป็นช่างซ่อมวิทยุ

ผมคิดว่ามีความจำเป็นอย่างมากในการรวบรวมเรื่องเล่าของผู้ที่เป็นเหยื่อ การรวบรวมเรื่องเล่าของเหยื่อนั้นเพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ และทำให้ประวัติศาสตร์มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

เรื่องเล่าของ Yusnidar มีชื่อเรื่องว่า ฉันต้องการความยุติธรรมที่เที่ยงแท้ ในปี พ.ศ. 2546 สามีของฉันถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำตัวไปจนบัดนี้ยังไม่ได้รับข่าวคราวจากสามีเลย ตั้งแต่วันนั้นฉันต้องทำมาหากินเพื่อเลี้ยงลูกๆอีก 3 คน อาชีพอะไรก็แล้วแต่ที่ทำแล้วได้เงินฉันทำได้หมด เช่น รับซักรีดเสื้อผ้า รับจ้างทำสวน ทำขนมขาย แม้จะได้รับเงินช่วยเหลือแต่ก็เป็นจำนวนเงินเพียงน้อยนิดไม่เพียงพอกับความจำเป็นในชีวิต

ถึงวันนี้ฉันยังคงรู้สึกเกลียดเจ้าหน้าที่รัฐ และหวังว่าจะได้รับรู้ข่าวสารความเป็นอยู่ของสามี ฉันต้องการความยุติธรรม ฉันต้องการให้มีคณะกรรมการตรวจสอบและค้นหาความจริงผ่านคณะกรรมการ MOU Helsinki[2]

เรื่องเล่าของ Abdul Mutaleb การคลี่คลายความรุนแรงที่เกิดขึ้นต้องมีการลงโทษผู้กระทำผิด ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยการชดเชยด้วยเงินอย่างเดียว ครอบครัวเราปฏิเสธที่จะรับเงินชดเชยจากรัฐ สิ่งที่ครอบครัวเราต้องการคือรัฐ มอบโอกาสด้านการศึกษาให้กับเด็กๆที่อยู่ในครอบครัวที่เป็นเหยื่อจากความรุนแรง เงินจะมีค่าอะไรหากยังไม่ได้มีการแก้ไขปัญหา เพราะชีวิตมีค่ามากกว่าเงินที่ผู้นำชดเชยให้ประชาชนอย่างเรา

จะเห็นได้ว่าบทสะท้อนจากเรื่องเล่าที่ผ่านการสูญเสียของทุกครอบครัวในอาเจะห์ยังคงต้องการการคลี่คลายทางด้านจิตใจและให้คุณค่ากับชีวิตที่สูญเสียไป นี่คือโจทย์ของผู้นำที่ต้องนำพาผู้สูญเสียเดินออกจากความรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง

TIMOR - LESTE Timor- Leste

เรื่องเล่าของ Alcina dos Santas มีชื่อเรื่องว่า มือซ้ายเป็นสิทธิ์ของอินโดนีเซีย ในขณะที่มือขวาคือสิทธิของคนTimor- Leste  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ฉันถูกจับกุมและถูกบังคับให้รับใช้ทหารจนฉันตั้งท้องและมีลูกกับทหารจำนวน 3 คน ฉันต้องเสียสละคุณค่าในตัวเอง เพื่อความอยู่รอดของชีวิต พวกผู้หญิงในTimor- Leste คิดเสมอว่าแม้ว่าเราจะอยู่ที่ไหน มือซ้ายเป็นสิทธิ์ของอินโดนีเซีย ในขณะที่มือขวาคือสิทธิของคนTimor- Leste  และมือซ้ายของเราที่เป็นสิทธิ์ของคนติมอร์ ยังคงต่อสู้เพื่ออิสรภาพ นี่คือความคิดของฉัน

 เมื่อฉันได้ออกมาจากคุกฉันประกอบอาชีพค้าขาย เพื่อเลี้ยงดูลูกๆ 3 คน แม้จะได้รับเงินช่วยเหลือมาแต่ก็ไม่เพียงพอกับชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องเล่าของ Ancelme Viera da Costa ผมถูกจับกุมเพราะเข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวในTimor- Leste  ผมเป็นสมาชิกที่เคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยTimor- Leste จากอินโดนีเซียจวบจนTimor- Leste ได้รับเอกราช เมื่อสงครามยุติลงตอนนี้ผมมีอาชีพทำสวนเพื่อประทังชีวิต บางครั้งเมื่อไม่มีอาหาร ผมต้องไปขอข้าวสาร และข้าวโพดจากโบสถ์

ผมไม่ค่อยคาดหวังหลังจากที่ติมอร์ได้รับเอกราชเพราะผมไม่ค่อยมีความรู้ หลังได้รับเอกราชผมมีเงินไม่เพียงพอต่อการยังชีพ แต่ผมก็ต้องยอมรับ เพราะตอนที่ผมเข้าร่วมกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยTimor- Leste  เราไม่ได้ทำข้อตกลงหรือวางหลักประกันเกี่ยวกับชีวิตหลังจากได้รับเอกราชเลย และไม่รู้ว่าผู้นำจะใส่ใจความทุกข์ยากของผมอยู่อีกหรือไม่

เรื่องเล่าของ Camila Dias มีชื่อเรื่องว่า  แม้ว่าเราจะได้รับเอกราชแล้วก็ตาม แต่ชีวิตความเป็นอยู่ของเราไม่ต่างไปจากเดิม ฉันประสบกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ ฉันและพี่สาวถูกบังคับให้เป็นภรรยาเจ้าหน้าที่รัฐอินโดนีเซียแต่โชคดีที่หลบหนีมาได้ หลังจากที่ได้รับเอกราช ชีวิตของฉันและครอบครัวยังคงลำบากเหมือนเดิม ยามไม่มีอาหาร เราจะประทังชีวิตโดยการกินมะละกอทีละลูกจนหมดต้น ฉันเคยเลี้ยงแพะแต่ก็ถูกขโมยไปจนหมด

ฉันยังคงต้องทำงานตรากตรำเพื่อเลี้ยงชีพเพราะสามีมีสุขภาพไม่แข็งแรง สามีของฉันกระดูกซี่โครงหัก กระดูกที่ขาหัก เพราะถูกเจ้าหน้าที่เตะ ฉันอยากพาสามีไปหาหมอ พยายามส่งหนังสือไปยังหน่วยงานราชการแต่ไม่ได้รับการตอบกลับมา ดังนั้นชีวิตของฉันหลังจากได้รับเอกราชก็ลำบากเหมือนก่อนได้รับเอกราช

 เรื่องเล่าของ Simplicio Romola มีชื่อเรื่องว่า คุณประโยชน์ หรือ คุณูปการของเอกราชในTimor- Leste มีไม่ทั่วถึง สำหรับคนที่ต่อสู้เพื่อเอกราชในTimor- Leste  เมื่อก่อนผมรับผิดชอบอยู่ใน Komandan Falintil ในหน่วยที่ 63 และผมเคยถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซีย หลังจากที่ติมอร์ได้รับเอกราชผมจึงมีหน้าที่ให้คำปรึกษากับครอบครัวที่สูญหายในปี พ.ศ. 2542

ปัจจุบันผมรู้สึกว่าชีวิตของผมหลังได้รับเอกราช ชีวิตผมไม่ได้ดีขึ้นเลย ผมไม่พอใจที่ลูกๆของผมยังคงไม่มีงานทำ ผมยังไม่มีบ้านที่ดีอยู่ ทั้งๆที่ผมก็ร่วมต่อสู้เพื่อปลดปล่อยเอกราชจากอินโดนีเซีย

เรื่องเล่าของ Antonio do Rego ผมลำบากเพราะไม่ได้รับการเหลียวแล เมื่อก่อนผมเคยถูกทรมาน เพราะเป็นทหารของ Falintil หลังจากได้รับเอกราชแล้ว ชีวิตของผมยากลำบาก ผมอาศัยอยู่ในกระท่อมกับลูกเล็กๆอีก 7 คน ผมเสียใจมากที่ชีวิตผมลำบากและไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้นำ

ผมอยากสื่อสารถึงผู้นำTimor- Leste ว่าควรใส่ใจครอบครัวที่เป็นเหยื่อจากการเสียสละเพื่อเอกราชของTimor- Leste  หลังจากได้รับเอกราชไม่ได้แปลว่าเราต้องได้ทั้งหมดในสิ่งที่เราอยากได้ แต่สำหรับผมอยากให้ผู้นำคนใหม่ใส่ใจความเป็นอยู่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ โดยการให้ที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวที่เป็นเหยื่อ

 เรื่องเล่าของ Abilio Tilman Batista ในฐานะที่ผมเป็นพลเมืองTimor- Leste  ผมมีความรู้สึก เศร้า

และเจ็บปวด กับการได้รับเอกราชในครั้งนี้ เมื่อก่อนผมเป็นคนกระตือรือร้นในการขับเคลื่อนเอกราชอย่างลับๆในTimor- Leste  และผมคือคนที่โบกธงเมื่อTimor- Leste ได้รับเอกราชจากอินโดนีเซียในปี พ.ศ. 2542

หลังจากที่Timor- Leste ได้รับเอกราช ผมมีอาชีพเป็นครูที่ Suai ตั้งแต่ได้รับเอกราชผมรู้สึกเศร้าเสียใจที่เหล่าทหารที่กระทำทารุณยังคงอยู่ในตำแหน่งที่สูง และยังคงลอยนวล ผมในฐานะผู้กอบกู้และต่อสู้เพื่อเอกราชผมได้เพียงแต่ชื่นชมกับเอกราชและความเป็นพลเมืองTimor- Leste ที่ได้มา แต่ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้นำของTimor- Leste จะออกกฎหมายเฉพาะแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ และหาอาชีพให้กับครอบครัวที่เป็นเหยื่อจากการต่อสู้เพื่อเอกราชของTimor- Leste  

เรื่องเล่าของ Baaltazar Soares Amaral มีชื่อเรื่องว่า ประชาธิปไตยต้องมีให้กับทุกคน รวมถึงผู้เป็นเหยื่อด้วย ผมมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเอกราชของTimor- Leste  หลังจากTimor- Leste ได้รับเอกราช ผมเฝ้ามองสังคมที่ยังคงยากจน ผู้คนยังคงไม่เข้าถึงกฎหมาย กลุ่มคนที่ร่ำรวยยังคงร่ำรวย กลุ่มคนที่ยากจนก็ยังคงยากจนเหมือนเดิม ผมจึงหวังให้มีกฎหมายที่เข้มแข็งและยุติธรรมแก่ทุกคน และยอมรับสิทธิของครอบครัวที่เป็นเหยื่อ

ประชาธิปไตยควรเป็นของทุกคนรวมทั้งครอบครัวที่เป็นเหยื่อ ประชาธิปไตยไม่ใช่เพื่อคนที่มีอำนาจ ผู้นำไม่ควรลืมคำมั่นสัญญา เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ Craras และเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 1975 เพราะมีผู้คนจำนวนมากที่ต้องเสียสละชีวิตเพื่อเอกราชของTimor- Leste

บทสรุปของประเทศTimor- Leste ที่หลุดพ้นจากประเทศอินโดนีเซีย แต่ไม่อาจหลุดพ้นจากความยากจน การกดขี่ และยังคงโหยหาซึ่งความยุติธรรม ประชาธิปไตย และการดูแลเอาใจใส่จากผู้นำ เมื่อได้รับรู้เรื่องราวของชนชาวอาเจะห์และชาวTimor- Leste แล้ว ลองมองย้อนดูปัญหาในภาคใต้ของไทยที่ยังคงดำเนินอยู่ท่ามกลางความรุนแรง ในฐานะที่เราต่างอยู่ในพื้นที่ความรุนแรงร่วมกันเราจะเดินไปอย่างไรหลังภาวะยุติการใช้ความรุนแรงทางตรงต่อกัน โจทย์นี้คือสิ่งที่เราทุกคนต้องพูดคุยร่วมกันเพื่อวางฐานรากของสังคม เพราะการพูดคุยครั้งใหม่ในห้วงช่วงรัฐบาลประยุทธ จันทร์โอชา กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในอีกไม่ช้า

 

บรรณานุกรม

Jose Luis de Oliviera, et al.  (2014).   Mengingat Yang Tercinta : Mungubah Kenangan Pahit Masa Lalu Menjadi Muara Kekuatan Masa Kini. International Development Research Center (IDRC)

 Yusuf Al-Qardhawi Al-Asyi.   (2014).   MoU Helsinki Menurut Konvensi Wina 1969 http://aceh.tribunnews.com/2014/08/16/mou-helsinki-menurut-konvensi-wina-1969  (สืบค้นเมื่อ 29 ธันวาคม 2557)

 


[1] Simpang KKA หรือที่รู้จักกันในนาม Insiden Dewantara วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ในขณะที่กองกำลังทหารอินโดนีเซียเปิดไฟเขียวในการสลายฝูงชนที่ไปประท้วงการการการทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่กดขี่ข่มเหงประชาชนในวันที่ 30 เมษายน ที่ Cot Murong เหตุการณ์นี้ยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวอาเจะห์จนถึงปัจจุบัน และในทุกปีจะมีการจัดงานเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการจับกุมและการพิจารณาคดีสำหรับผู้กระทำความผิดในกรณีดังกล่าว

[2] Memorandum of Understanding (MoU) Helsinki.หรือที่รู้จักกันในนาม บันทึกความเข้าใจในเฮลซิงกิ กระบวนการนี้ได้รับการเตรียมการตั้งแต่ปี 2000 ในช่วงสมัยของประธานาธิบดี Abdurrahman Wahid  กระบวนการเจรจาต่อรองอำนาจ (Soft Power)อำนวยความสะดวกโดย Henry Dunant Centre (HDC)