Skip to main content

หมายเหตุ: การพบปะระหว่างสองนายกรัฐมนตรีไทย-มาเลเซียเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมาได้นำมาสู่ก้าวสำคัญของกระบวนการสันติภาพในระดับบนไปอีกขั้น หลังจากหยุดชะงักมาเป็นเวลานาน ในแง่กระบวนการแล้ว การยอมรับบทบาทใน “การทำงานร่วมกัน” ของทั้งสองประเทศและการเปิดตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทยอาจจะสำคัญก็จริง แต่นัยสำคัญที่ควรต้องบันทึกเอาไว้ในที่นี้คือ “หลักการพื้นฐานสามข้อ” ที่นายกรัฐมนตรีนาจิบยืนยันว่าเห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่าย นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยรอบใหม่ แม้ว่าความท้าทายของกระบวนการสันติภาพจะยังคงดำรงอยู่ รวมไปถึง “คำถาม” จากฝ่ายที่เห็นแตกต่างอีกไม่น้อย กองบรรณาธิการเห็นว่าเนื้อหาการให้สัมภาษณ์ของนาจิบว่าด้วยเรื่องหลักการสามข้อกับผู้สื่อข่าวมาเลเซียชิ้นนี้ ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของเบอร์นามา (Bernama) ซึ่งเป็นสำนักข่าวแห่งชาติ น่าจะสะท้อนหมุดหมายสำคัญต่อกระบวนการต่อจากนี้ จึงขอแปลความและนำมาเผยแพร่ที่นี้อีกครั้ง

ที่มา: Thailand Recognises Malaysia's Role In Southern Thailand Peace Process – Najib

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประเทศไทยยอมรับบทบาทของมาเลเซียในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้

            ปุตราจายา 1 ธ.ค. (Bernama) – รัฐบาลไทยยอมรับบทบาทของมาเลเซียในกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ และสัญญาจะสนับสนุนอย่างจริงจังต่อกระบวนการนี้ ดาโต๊ะซรีนาจิบ ตน ราซะก์ นายกฯ มาเลเซียกล่าวในวันจันทร์

            ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวมาเลเซีย ภายหลังรับประทานอาหารเพื่อเป็นเกียรติให้กับการมาเยือนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีศรีเปอร์ดานา เขากล่าวว่า มาเลเซียและไทยยังเห็นชอบในหลักการพื้นฐานสามประการเกี่ยวกับความพยายามสร้างสันติภาพ

            นาจิบบอกว่า หลักการทั้งสามเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่ปลอดความรุนแรง, ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งจะต้องมีตัวแทนเข้าร่วมในการพูดคุยสันติภาพ และคู่กรณีทุกฝ่ายในภาคใต้ของประเทศไทยจะต้องเห็นพ้องต่อการจัดทำข้อเรียกร้องอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลไทย

            “ตามหลักการทั้งสาม มาเลเซียจะดำเนินการต่อไป (ตามกระบวนการสันติภาพ) และรัฐบาลไทยประกาศอย่างจริงจังว่า มาเลเซียเป็นประเทศเดียวที่ไทยจะร่วมงานด้วยในกระบวนการสันติภาพครั้งนี้” เขากล่าว

            พลเอกประยุทธ์อยู่ระหว่างการเยือนประเทศมาเลเซียอย่างเป็นทางการเป็นเวลาหนึ่งวัน ก่อนหน้านี้ นาจิบและพลเอกประยุทธ์มีการประชุมสองต่อสอง ตามมาด้วยการประชุมของตัวแทนทั้งสองฝ่ายที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรีที่อาคารเปอร์ดานา ปุตรา

            นาจิบอธิบายในรายละเอียดของหลักการทั้งสามข้อว่า ประการแรก จะต้องมีช่วงเวลาที่ปลอดจากความรุนแรงและการเคารพต่อกฎหมาย

            ถ้าคู่กรณีในภาคใต้เคารพกฎหมาย ทุกฝ่ายก็ไม่ต้องกลัวสิ่งใด เขากล่าว พร้อมกับเสริมว่าพลเอกประยุทธ์กล่าวว่าทางกองทัพอาจลดกองกำลังในภาคใต้ลง หากมีช่วงที่ปลอดความรุนแรงดังกล่าว

            “ประการที่สอง เราเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่คู่กรณีทุกฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่จะต้องมีตัวแทนเข้าร่วมในกระบวนการสันติภาพ” เขากล่าวพร้อมกับเสริมว่ามาเลเซียและไทยจะพยายามพูดคุยกับคู่กรณีทุกฝ่ายในภาคใต้ ไม่ใช่แค่เพียงหนึ่งหรือสองกลุ่ม

            ประการที่สาม จะมีการรวบรวมข้อเรียกร้องทั้งหมด และจัดทำเป็นข้อเรียกร้องที่เป็นเอกภาพ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง คู่กรณีทุกฝ่ายต้องเห็นชอบต่อข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอที่ต้องการส่งมอบให้กับรัฐบาลไทย เขากล่าวเสริม

            “(ข้อเรียกร้องที่เป็นเอกภาพ) จะเป็นพื้นฐานเพื่อให้มีการเจรจาในสาระสำคัญกับรัฐบาลไทย”

            นาจิบบอกว่ามาเลเซียและไทยจะฟื้นฟูกระบวนการสันติภาพ และเริ่มต้นความพยายามครั้งใหม่ตามหลักการทั้งสาม

            เมื่อถามถึงกรอบเวลาของกระบวนการสันติภาพ เขาบอกว่าเป็นเรื่องยากที่จะระบุถึงกรอบเวลาสำหรับกระบวนการนี้

            “เมื่อเรานั่งลงและพูดคุยในประเด็นที่ซับซ้อน มันเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่สิ่งสำคัญคือเราจะพยายามกระตุ้นกระบวนการนี้โดยอาศัยหลักการทั้งสาม” เขากล่าวเสริม

            เกี่ยวกับกรณีที่ผู้ก่อการร้ายใช้หนังสือผ่านแดนเพื่อเข้าสู่ประเทศทั้งสอง นาจิบบอกว่ารัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในทั้งสองประเทศได้รับมอบหมายให้หาทางแก้ปัญหานี้แล้ว

            “มาเลเซียและไทยเห็นชอบในการเพิ่มความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหากลุ่มสุดโต่งและปฏิบัติการที่มีการใช้กำลัง” เขากล่าว

            เกี่ยวกับปัญหาคนสองสัญชาติ นาจิบบอกว่ามาเลเซียและไทยเห็นชอบที่จะแก้ปัญหาที่เรื้อรังมานานดังกล่าวเช่นกัน

            “ที่ผ่านมายังไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้มากนัก ผมได้แสดงความต้องการและความปรารถนา (ของมาเลเซีย) ที่จะทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว” เขากล่าว

            นาจิบให้ความเห็นว่าการพูดคุยกับพลเอกประยุทธ์เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และครอบคลุมหลายประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบทวิภาคี

            “เราทั้งสองฝ่ายเห็นชอบว่าสถานะความสัมพันธ์แบบทวิภาคีของเรายังเข้มแข็งมาก แต่เราคงต้องหาทางเพิ่มความร่วมมือให้มากยิ่งขึ้น” เขากล่าว