ข้อมูลจาก deep Number ในเว็บไซต์ http://www.deepsouthwatch.org ตอกย้ำว่าขณะนี้เรากำลังอยู่ในปีที่ 10 ของความรุนแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังที่ชายแดนใต้/ปาตานี หากนับตั้งแต่การปะทุขึ้นของเหตุรุนแรงต่อเนื่องในต้นปี 2547 เป็นต้นมา และ 206,094 ล้านบาท คือ จำนวนงบประมาณของรัฐโดยประมาณที่ใช้เพื่อ "แก้ปัญหาและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ในระหว่าง 10 ปีที่ผ่านมา (ที่มา: สำนักงบประมาณ) ขณะเดียวกัน 2554-2557 คือ ห้วงเวลาแห่งการขับเคลื่อนการเชื่อมโยงและพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็นรูปธรรมและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ของโครงการ Knowledge for Deep South หรือ K4DS ของเราที่ทุกท่านคุ้นเคยกัน
ท่ามกลางสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีพลวัตและการเปลี่ยนแปลงของรายละเอียดข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังที่พยามยามคลี่คลายปมเหตุแห่งความสงสัยอันเป็นชนวนหรือต้นตอของปมปัญหาที่ยากจะหาทางออกหรือกำหนดจุดจบ แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร สิ่งหนึ่งที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา คือ ความมุ่งมั่นทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ของทีมงานโครงการ K4DS ทุกคน ในความพยายามที่จะรวบรวม เชื่อมโยง และจัดระบบของข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้เข้าไว้ด้วยกันอย่างเป็นหมวดหมู่ เพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดความรู้และบูรณาการใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ และพยายามนำเสนอองค์ความรู้ที่เกิดจากการทำงานของโครงการสู่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบัน (สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2557) สามารถส่งมอบองค์ความรู้ผ่านระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์ จำแนกตามประเภทของฐานข้อมูล คือ งานวิจัยเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ (Research publication) จำนวน 419 รายการ วิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Thesis) จำนวน 712 รายการ งานวิชาการ โครงการ และนวัตกรรมด้านสุขภาพ เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Project) จำนวน 506 รายการ บรรณนิทัศน์หนังสือเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (Bibliography) จำนวน 1,261 รายการ และข่าวเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ (News) จำนวน 148,110 รายการ รวมทั้งได้จัดกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนทางเทคนิควิชาการให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ในการนำข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ภารกิจย่อมมีห้วงเวลาเป็นกรอบกำหนด ซึ่งโครงการ K4DS เองก็มีกำหนดสิ้นสุดสัญญาการดำเนินงานโครงการกับแหล่งทุน ณ สิ้นปี 2557 ช่วงเวลาที่เหลือจากนี้ทีมงานโครงการต้องเร่งดำเนินการและสะสางภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ก่อนถึงเวลาที่ต้องส่งไม้ต่อและฝากความหวังการสานงานต่อเนื่องให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมาของโครงการฯ สามารถสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ด้วยความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากทุกเครือข่ายที่ทำงานร่วมกัน ทีมงานโครงการขอขอบคุณภาคีเครือข่ายและกัลยาณมิตรที่ร่วมกับขับเคลื่อนงานและให้การสนับสนุนโครงการในรูปแบบต่างๆ อย่างเข้มแข็งเสมอมา....อย่างไรก็ดี "อนาคต และ ทิศทาง ระบบฐานข้อมูลชายแดนใต้"รวมทั้งอนาคตและทิศทางของสถานการณ์และปัญหาในพื้นที่ ผู้อ่านทุกท่านและคนไทยทุกคนมีส่วนร่วมกำหนดและนำพาให้เป็นไป....สนใจรายละเอียดโครงการ แสดงความคิดเห็น หรือสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ ติดต่อโดยตรงได้ที่ 0 7445 1168, 08 4844 1299, 08 7394 3889 หรือ อีเมล์ [email protected]
"อนาคต และ ทิศทาง ระบบฐานข้อมูลชายแดนใต้"
หลังจากที่โครงการ K4DS ได้ดำเนินงานมาเกือบ 4 ปี ก็ก้าวเดินมาถึงช่วงสุดท้ายของโครงการตามอายุสัญญาที่ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุน สหภาพยุโรป (EU) และ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (CSCD) ในช่วงท้ายของการทำงานนี้โครงการได้จัดประชุมระดมสมอง ครั้งที่ 2/2557 เมื่อวันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม 2557 เพื่อรายงานผลการดำเนินงานและร่วมกำหนดทิศทางในการดำเนินงานในระยะต่อไป ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคส่วน/บุคคลต่างๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเด็นการจัดการความรู้เชิงบูรณาการเพื่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ "อนาคต และ ทิศทาง ระบบฐานข้อมูลชายแดนใต้" หลังสิ้นสุดสัญญาโครงการ และต่อมาได้มีการประชุมหารือต่อเนื่องร่วมกับสำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือความเป็นไปได้และแนวทางในการนำระบบฐานข้อมูล K4DS เชื่อมโยงสู่ระบบฐานข้อมูลของสำนักทรัพยากรการเรียนรู้ฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันในการสำรองข้อมูลและเตรียมความพร้อมสู่การย้ายระบบฐานข้อมูล K4DS สู่การเป็นส่วนหนึ่งของระบบฐานข้อมูลสำนักทรัพยากรการเรียนรู้ฯ โดยจะได้หารือในรายละเอียดและดำเนินการต่อไป นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสานต่อการทำงานที่จะทำให้ผู้ใช้ได้ติดตามอย่างต่อเนื่องในอนาคต
K4DS เปิดประตูความรู้ชายแดนใต้
ภาพอนาคตจังหวัดชายแดนใต้, ชาญชัย ชัยสุขโกศล, 2554
หนังสือเล่มนี้แนะนำตัวเองไว้ว่า "การวิเคราะห์ตรรกะวิธีคิดของฝ่ายขบวนการฯ และการสร้างภาพอนาคตที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้ หวังให้ผู้อ่านสามารถก้าวข้ามความรู้สึกท้อแท้ เบื่อหน่าย สับสน ไปสู่สภาวะที่สามารถมองเห็นได้ว่าตนอยู่ในส่วนใดของความขัดแย้งนี้ รับรู้ถึงบทบาทและสิ่งที่ตนเองสามารถกระทำได้เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยมีสำนึกรู้ว่าตนเชื่อมต่อกับความพยายามของภาคส่วนอื่นๆ อย่างไรในเชิงยุทธศาสตร์และภาพใหญ่ของการขับเคลื่อนสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้" ...สามารถติดตามอ่านหนังสือเรื่องนี้ได้ที่ http://k4ds.psu.ac.th/k4ds_search/showDetail.php?id=203
เลือกอนาคต : บทสังเคราะห์การพิจารณาทางเลือกเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในเวทีนโยบายสาธารณะ "ชายแดนใต้จัดการตนเอง", รอมฎอน ปันจอร์: ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW), 2556
เอกสารรายงานสังเคราะห์ให้เห็นภาพรวมของกระบวนการการขับเคลื่อนเวทีนโยบายสาธารณะ "ชายแดนใต้จัดการตนเอง" ที่ขับเคลื่อนมาตั้งแต่กลางปี 2555 เป็นต้นมา จำนวน 200 เวที ในแง่มุมต่างๆ ที่อาจจะเป็นบันทึกประวัติศาสตร์อีกชิ้นหนึ่งที่สะท้อนความพยายามของภาคพลเมืองและชุมชนท้องถิ่นในการแก้ปัญหาไฟใต้โดยไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามลำพัง แต่พยายามดึงเสียงของประชาชนให้ปรากฏขึ้นมาอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเห็นต่อ "อนาคต" ที่ผูกพันกับชีวิตของพวกเขาโดยตรง ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งประเด็นถกเถียงและให้เหตุผลรองรับเกี่ยวกับทางเลือกของการจัดรูปแบบการบริหารปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบต่างๆ และเพ่งพิจารณาไปยังเหตุผลที่พวกเขาสนับสนุนและคัดค้านแต่ละทางเลือก ในตอนท้ายจะเป็นการประมวลให้เห็นข้อเสนอแนะต่อกลุ่มพลังต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://k4ds.psu.ac.th/k4ds_search/showDetail.php?id=1423