นวพล ลีนิน
“โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานเป็นคนดีมาแต่กำเนิด แต่สิ่งแวดล้อม (ดีหรือไม่ดี) ต่างๆทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงไป” เม่งจื๊อ กล่าวไว้อย่างนั้น
จำได้เลาๆจากหนังสือเล่มหนึ่งว่า เม้งจื้อเป็นนักปรัชญาชาวจีนยุคหลังขงจื้อไม่นานนัก รุ่นราวคราวหลานขงจื้อ บทคำกล่าวท่อนนี้ อาจเป็นหลักยืนยันในคำแก้ต่างของชีวิตผมเอง เมื่อล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน นั้นคือถึงช่วงวัยที่ผมจำเป็นต้องเรียบเรียงแนวคิดของตัวเองที่ผ่านมา ในขณะวัยกลางคนเพื่อคนรุ่นต่อไปอย่างน้อยๆถ้าจะมีลูกหลานที่ติดตามค้นคว้าในตัวตนคนธรรมดาคนหนึ่ง จึงจำเป็นต้องจัดการให้มันชัดเจนก่อนจากชีวิตจะหมดลง หากฟังดูห่อเหี่ยวจนหมดความน่าสนใจ แต่สิ่งไหนเลยจะน่าสนใจไปกว่าชีวิตของตัวเอง ผมว่ามันไม่มีอีกแล้วล่ะ
นึกย้อนไปสมัยมัธยมปลาย เมื่อสำเร็จชั้นมัธยมต้นจากโรงเรียนนราธิวาสบ้านเกิด จากห้องคิงของโรงเรียนประจำจังหวัดนราธิวาส ด้วยเกรดเฉลี่ยที่ไม่สวยนัก จนทุกวันนี้ผมยังนึกไม่ออกว่าจับพลัดจับผลูสอบเข้าโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยได้ ได้เรียนสายวิทย์คณิตเสียด้วย โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่มีชื่อระดับ TOP TEN ประเทศไทย ในสมัยนั้น(พ.ศ.2534) ในภาคใต้ 5 โรงเรียนแรกๆที่ครูและผู้ปกครองแถวบ้านผมมักนิยมชมชื่อเมื่อบุตรหลานเข้าเรียนคือ โรงเรียนสาธิต(มอ.ปัตตานี) โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย โรงเรียนมหาวชิราวุธ(สงขลา) โรงเรียนคณะราษฎร์บำรุง และโรงเรียนประจำจังหวัด หลายครั้งที่ความคิดมันขัดแย้งกันอยู่ในหัวสมองว่าผมพร้อมหรือไม่กับการเรียนสายวิทย์คณิตฯ ความคิดมันก็ยืนยันได้ว่าผมชอบสายวิทย์คณิตจริงเพราะชอบวิชาชีววิทยา แรงบันดาลใจที่โรแมนติกของรูปใบเฟรินส์รูปสัตว์ป่าและห่วงโซ่อาหารในหนังสือวิทยาศาสตร์ และด้วยแรงผลักดันจากทางบ้านผมจึงย้ายจากโรงเรียนประจำจังหวัดนราธิวาส ไปยังศูนย์กลางภาคใต้ตอนล่างหาดใหญ่สงขลา
อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกบันเจิดใจจากการสอบเข้าโรงเรียนดังอยู่กับผมได้ไม่นานนัก จากเด็กบ้านป่านาสวนต้องเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองใหญ่น้องๆจากกรุงเทพมหานคร หลายสิ่งหลายอย่างที่ผมต้อปรับตัว ความงดงามของเมืองหาดใหญ่จากแสงสีที่ผมได้ขึ้นไปยืนชม ณ จุดชมวิวบนเขาคอหงส์ สถานที่ท่องเที่ยวที่แปลกหูแปลกตาและผู้คนมากมาย หลายสิ่งที่จะยกมาอ้างว่านั้นทำผมเสียสมาธิ หรือมากกว่านั้นคือข้ออ้างที่ผมมีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่ไม่มากพอ หัวใจพองโตค่อยๆวูบลงเมื่อผลการเรียนเทอมแรกออกมา น่าจะเป็นฟิสิกส์ที่ผมติดศูนย์ในเทอมแรก การติดศูนย์เป็นเรื่องใหญ่พอสมควรที่ผมต้องอธิบายกับครอบครัว สำหรับคำอวดตนว่าผมตั้งใจจะสอบเข้าคณะแพทย์ให้ได้
“สงสัยสายตาจะสั้นนะพ่อ” และนั้นเป็นการเริ่มต้นใส่แว่นตาครั้งแรกในชีวิตของผม
ที่ตลาดหาดใหญ่มีสินค้าที่หลากหลายมาก ผมมักไปเดินเล่นในช่วงวันหยุดถ้าหากไม่กลับไปบ้านที่นราธิวาส ผมซื้อรูปภาพมาภาพหนึ่งเป็นรูปโปสเตอร์ขาวดำของชายหัวโล้นห่มขาวถือไม้เท้า ในภาคที่ชวนให้ผมนึกถึงบรรพบุรุษ นึกถึงพวกพระสมัยก่อนๆ กับบรรยากาศฉากหลังที่เป็นสวนหมากที่รู้สึกคุ้นเคย “มหาตมะคานที” คนขายโปสเตอร์บอก ผมซื้อโปสเตอร์คานทีมาติดที่ห้อง
ที่หอพักเพื่อนร่วมห้องของผมชื่ออู๋เป็นเพื่อนที่มาจากโรงเรียนนราธิวาส อู๋สอบได้ห้องคิงของโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย เขาเป็นกัลยามิตรคนหนึ่งที่คอยตักเตือนผมในตอนนั้น ตอนนี้ฮู๋เป็นอาจารย์แพทย์ไปแล้ว ระหว่างผมกับอู๋มันเป็นอะไรที่อธิบายได้ถึง กฎแห่งการกระทำได้ อู๋อ่านหนังสือตั้งแต่หัวค่ำยันตีสาม สาระที่จะอธิบายคือ ในขณะที่เพื่อนอู๋อ่านหนังสือผมไปหามุมเล่นกีต้าร์ ผมฟังเพลงจากรายการของนักจัดรายการชื่อ ภิญโญ รุ่งสมัย(หรืออย่างไรผมจำไม่ได้) เป็นรายการเพลงเพื่อชีวิต ในเดือนพฤษภาคมปี 2535 ผมเรียนอยู่ชั้น ม.5 เพื่อนคนหนึ่งชื่อก้องเกียร์ติชวนไปนั่งฟังการปราศรัยที่สถานีรถไฟหาดใหญ่ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เมื่อมวลชนจำนวนมากออกมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการณ์ เรารู้ว่ามีการยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุม เหตุการณ์ในครั้งนั้นผมมาทราบทีหลังว่ามีคนจากจังหวัดนราธิวาสที่ไปเรียนที่ม.รามคำแหงเสียชีวิต
ฝ่ายแนะแนวของโรงเรียนมักเชิญรุ่นพี่จากมหาวิทยาลัยต่างๆมาแนะแนว รุ่นพี่ คณะแพทย์หรือวิศวะของโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยที่จาก จุฬา ,มอ.หาดใหญ่ หรือมหาวิทยาลัยดังๆ มักมาแนะแนวรุ่นน้องทุกๆปี ตอนเข้ามาในโรงเรียนนี้ครั้งแรก ผมเห็นแผ่นปูนจำลองขนาดเท่ากระดงที่ทำเป็นรูปเหรียญเงินคณิตศาสตร์โอลิมปิกจากเยอรมัน พร้อมชื่อรุ่นพี่คนหนึ่งที่ มันเป็นความภาคภูมิใจของผมมากที่ได้เรียนร่วมกับเด็กหัวกะทิของประเทศ และผมหยามเยาะมีรุ่นพี่จากม.รามคำแหงที่ยังอุตส่าห์มาแนะแนว
“ จะมาทำไม ...“ยังไงๆ รามคำแหง กูไม่เรียนเด็ดขาด” ผมบอกกับเพื่อนอย่างขี้เกียจเข้าไปฟังการแนะแนว แม้ในท้ายที่สุดผมก็ต้องมาเรียนที่ ม.รามคำแหง และรักในความเป็นรามคำแหงมาก แต่ยืนยันได้ว่าผมเลือกคณะแพทย์จุฬาเป็นอันดับแรกในการสอบเอ็นทรานท์
หอของเราอยู่ห่างจากโรงเรียนไม่มาก เดินกันเรื่อยๆไม่ถึงห้านาทีก็ถึงโรงเรียน เพลงเพื่อชีวิตเพลงหนึ่งของพงเทพ กระโดนชำนาญ ชื่อเพลง “วันเวลา” เป็นเพลงที่ผมชอบร้องในตอนเย็นระหว่างเดินจากโรงเรียนไปหอพัก ช่วงเย็นเราพอมีเวลาร้องเพลง แต่ตอนเช้าเราต้องวิ่ง และบางครั้งต้องปีนรั้วเข้าไปยืนหน้าเสาธง เนื่องจาก อาจารย์ฝ่ายปกครองดักอยู่หน้าประตู ...ครั้งหนึ่งผมเคยปีนรั้วขณะที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเห็น เป็นฝรั่งร้องโอ้ ! ถ้าไม่มากไปกว่านั้นแกน่าจะถ่ายรูปเอาไว้ด้วยตอนที่ผมกระโดดลงพื้นพร้อมกอดกระเป๋านักเรียนไว้แน่น เพลงวันเวลานั้นก้องโหย เหมือนเสียงไก่ป่าที่ขันดังมาจากราวไพรในยามเช้ามืด จนผมต้องค้นหาที่มาของเพลง เพราะมันทำให้ผมร้องเพลงนี้เสมอๆในยามครึ้มใจ และนั้นเป็นสาเหตุให้ผมพบหนังสือทางการเมืองหลายเล่มในห้องสมุด
หลังจากตัดแว่นแล้ว ผมยังติดศูนย์อีกหลายตัว ถึงตอนนั้นผมทำใจได้แล้วว่าพ่อแม่จะว่าอย่างไร “มันยากจริงๆครับ” บ้างครั้งตอนผมยังอยากย้อนว่า “พ่อลองมาเรียนเองไหมครับ” แต่วัฒนธรรมในครอบครัวไม่เอื้อให้ผมพูดอย่างนั้น และผมเองก็ถูกอบรมขัดเกลาเรื่องนี้มามากพอสมควร อย่างไรก็ดีภาพมหาตมะคานที ปฏิทินในหลวง รูปพระโพธิสัตว์ที่สวนโมกข์ ที่แปะอยู่ข้างโต๊ะอ่านหนังสือ กำลังอยู่ระหว่างทำความเข้าใจสิ่งที่อิทธิพลต่อแนวคิดของตนเอง
มันไม่ได้หมายความว่าเราโง่หรือฉลาด สำหรับสังคมไทยโอกาสทางการศึกษาหมายถึงโอกาสทางเครือข่ายมิตรภาพด้วย หากมี คนเป็นครูบาอาจารย์บางคนอาจถูกโกงค่าแชร์โดยช่างเสริมสวย(ที่เป็นนายหน้าค้าบริการ) หรือตำรวจทหารบางคนอาจต้องเก็บส่วยไปให้ภริยาเจ้านายใช้ในบ่อนการพนัน(เจ้ามือเป็นพ่อค้ายาเสพติด)เป็นต้น นั้นเป็นปัญหาด้านลบเพียงส่วนหนึ่ง หากความสำคัญของการศึกษาในระบบยังมีอยู่มากกว่า สังคมเครือข่ายมิตรภาพในแวดวงการศึกษาที่เราสัมผัสคือโอกาสของการเรียนรู้เรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคม การศึกษาในระบบยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาสังคม แม้การศึกษาในระบบจะตกเป็นจำเลยสำคัญสำหรับว่า ระบบการศึกษาได้ผลิตข้าราชกาหรือนักการเมืองบางส่วนที่ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม หรือการศึกษาหมาหางด้วนดังที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ การศึกษาที่ขาดแคลนด้านการพัฒนาสติปัญญาที่ตื่นรู้ต่อเพื่อนมนุษย์ อย่างไรก็ตาม นั้นมิได้หมายความว่าการศึกษาในระบบจะลดความสำคัญลง กลับมีความจำเป็นที่จะนำบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาทบทวน แล้วก็ทำให้มันเหมาะสมกับบริบทโดยรวมมากขึ้น
ความตื่นตาตื่นใจในการเข้ามาเรียนในเมืองใหญ่อย่างหาดใหญ่ทำผมแกว่งทางความคิดอยู่มาก ผมโตมาในจังหวัดชายแดน จากความเป็นคนสยามพุทธที่ผู้พันอยู่ในสังคมที่คนมลายูมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ ตั้งแต่โรงเรียนประถมที่บ้านตลิ่งสูง สุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส จากสังคมที่มีความสมถะเรียบง่ายไม่เร่งรีบมาสู่สังคมแข่งขันทางการศึกษา สังคมแห่งโอกาสการเปิดกว้าง ซึ่งผมมองว่าหาดใหญ่เป็นเมืองใหญ่ในระดับอาเซียนมาตั้งแต่ยุคนั้น หรือหากศึกษาลึกลงไปเมืองสงขลามีความเป็นหัวเมืองสากลมาตั้งแต่อดีต กลุ่มนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่มีเครือข่ายอยู่ในมาเลเซียและสิงค์โปร เป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลต่อระบบการค้ามาจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าเด็กชายไทยๆตัวดำๆคนหนึ่งต้องปรับตัวเป็นอย่างมากในสภาวะการเรียนหนังสือในที่ใหม่ ที่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย หากผมจะเปรียบเทียบง่ายๆ ตอนนั้นผมเปรียบเหมือนลูกหลานชาวสวนยางพารา(สังคมเกษตรกรรม) ที่มีโอกาสได้มาเรียนในโรงเรียนของลูกหลานเถ้าแก่ค้ายาง(สังคมธุรกิจและอุตสาหกรรม) และเราต้องปรับตัวมากๆจากความวอกแวกภายใน สีสันต์บรรยากาศที่มีความโรแมนติกของกลุ่มเพื่อนๆในห้องเรียน เพื่อนๆทั้งเพื่อนหญิงที่ดูสวยงามน่ารักชวนมอง กับเพื่อนชายที่ผมมองว่าพวกเขาทันสมัย มีอะไรใหม่ๆประเภทเครื่องเล่นเทป รถมอเตอร์ไซค์ ชอปเป้อร หรือสถานที่เที่ยวในยามค่ำคืน ความมีรสนิยมที่เด็กบ้านๆอย่างผมต้องหลีกทางให้
หนังสือบางเล่มนำภัยร้ายต่อการเรียนในระบบแต่ก็เปิดประตูสู่โลกกว้างได้อย่างอัศจรรย์ นั้นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมต้องปลีกตัวเองเข้าห้องสมุด ผมหาหนังสืออ่านโดยสมอ้างว่าอ่านหนังสือเรียน แต่มันดันไปเจอหนังสือเล่มหนาปึกเล่มหนึ่ง หน้าปกสีแดงมีรูปภาพขาวดำ เป็นรูปชายที่ถูกตัดลูกกระเดือก ผู้หญิงในชุดทหารสีมอมๆมีหมวกแก็ปกำลังยืนคุมชาวนา ชื่อหนังสือ “กัมพูชากับเดรัจฉานทางการเมือง” นั้นเป็นหนังสือการเมืองเล่มแรกๆที่ผมเข้ามาอ่านมันจนจบ เป็นหนังสือที่พูดถึงที่มาของการยึดกรุงพนมเปญโดยกองทัพเขมรแดง จากกลุ่มอำนาจทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศที่เข้ามาครอบงำกัมพูชา ชาวเขมรที่ตกเป็นเหยื่อของโครงสร้างอำนาจทางการเมือง และแน่นอนว่าหนังสือเล่มนี้ชวนให้ผมหยิบอ่านมากกว่า คณิต ฟิสิกส์ เคมี และแม้กระทั่งชีววิทยาอันเป็นวิชาที่รัก หนังสือเล่มดังกล่าวเป็นตัวเหนี่ยวนำให้ผมสนใจปัญหาโครงสร้าง การหนีเข้าป่าของกลุ่มนักศึกษา และนั้นคือที่มาของเพลง “วันเวลา”ของพงเทพที่ผมชอบร้องชอบฟัง
การศึกษาในระบบยังเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทรงอำนาจในสังคมไทย จากที่ประสบการณ์ที่ผมเคยทำงานเป็นพนักงานตำแหน่งครูการศึกษานอกโรงเรียน แม้ระบบเงินใต้โต๊ะจะยังมีอยู่ แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าระบบการศึกษาจะปิดทางตันสำหรับครอบครัวยากจน หากใครสักคนตั้งใจจริงเขาจะสามารถกระโดดข้ามระบบทุจริตที่ครอบข่ายอยู่ในระบบการสอบต่างๆ ตั้งแต่สถาบันการศึกษาระดับต่างๆ จนกระทั่งไปถึงการสอบเข้าทำงานรับราชการ
หากนับโรงเรียนชั้นนำของประเทศในมุมมองของผมสมัยนั้น ผมจะนึกถึงโรงเรียนเตรียมอุดม ข้ามเลยไปจากนั้นคือ โรงเรียนเตรียมทหารและนายร้อยจปร.ถือเป็นโรงเรียนอันดับหนึ่งที่คัดเด็กหัวกะทิที่มีทั้งผลการเรียนผลสอบที่พร้อมบวกกับร่างกายที่แข็งแรง พวกเราฟังเรื่องราวเท่ห์หลายเรื่องจากรุ่นพี่เตรียมทหาร เป็นต้นว่ายืนรอรถเมล์แล้วสาวกรี๊ด โรงงเรียนเตรียมทหารเป็นโรงเรียนหนึ่งที่แม้จะสร้างผู้นำที่มิได้มาตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยสากล แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านั้นคือโรงเรียนผู้นำ ผู้นำของประเทศ หากลองนับนายกที่จบจากโรงเรียนนี้ และโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยได้ส่งนักเรียนจำนวนไม่น้อยเข้าสู่โรงเรียนเตรียมทหารและนายร้อยจปร. หนึ่งในนั้นคือ พล.เอกวิมล วงศ์วาณิชซึ่งเป็นรุ่นพี่โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยในระดับที่เก่าแก่มากๆ ที่พูดถึงพลเอกวิมลเพราะเป็นนายทหารที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำกองทัพต่อ หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ภาพพจน์ทหารในสายตาประชาชนนั้นเสื่อมเสียลงมาก ด้วยคำกล่าวที่ว่า “ทหารฆ่าประชาชน” สปิริตทหารในตัวรุ่นพี่โรงเรียนเก่าของผม พิสูจน์ชัดเจนในความหนักแน่นปฏิบัติหน้าที่จนเกษียรอายุราชการ และความเป็นคู่แข่งระหว่างหาดใหญ่วิทยาลัยกับโรงเรียนประจำจังหวัดสงขลาคือโรงเรียนมหาวชิราวุธซึ่งเป็นโรงเรียนสายทหารโดยตรง สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้คือการอุปถัมภ์โดยมูลนิธิของรัฐบุรุษประธานองคมนตรี พล.เอกเปรม นั้นเป็นเครื่องยึดโยงสายสัมพันธ์แนวคิดของผุ้คนที่ผ่านสถาบันการศึกษาเหล่านี้
เมื่อต้นปีนี้เอง(2557) ในยุครัฐบาลทหารจากการยึดอำนาจโดย คสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ผมตัดสินใจสมัครเรียนต่อปริญญาโทในช่วงที่การเมืองเข้าสู่ขัดวิกฤต มวลชนแยกเป็น 2 ขั้ว เหตุการณ์บานปลายจนกองทัพได้โอกาสเข้ามายึดอำนาจอีกครั้ง นั้นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโททางรัฐศาสตร์ ผมต้องการวิธีคิดวิเคราะห์ทางการเมืองที่เป็นระบบขึ้นมากกว่าเดิม ในระหว่างเรียนผมได้รู้จักนายทหารยศพันตรีคนหนึ่ง ในวันแรกที่มาเข้าเรียนแกเดินมานั่งมาถามว่าที่นั่งว่างไหม ผมตอบว่าว่าง คุยไปคุยมาปรากฏว่าเป็นชาวสงขลาจบมหาวชิราวุธ อายุอ่อนกว่าผมปีหนึ่งในช่วงเรียนก็พูดคุยกันหลายเรื่อง และสิ่งที่ผมพบคือความเป็นระเบียบเรียบร้อย จังหวะจะโคนในการพูดคุยที่เรียบเรียงเป็นอย่างดี แม้เราจะคุยกันในภาษาใต้ ผมจะเรียกแกว่าผู้พัน แม้ผมพยายามบอกว่าเรารุ่นเดียวกันผู้พันเขาก็ยังเรียกผมว่าพี่ดอง ซึ่งผมเองด้วยเจียมเนื้อเจียมตัวว่าเราในฐานะพลเรือน แม้จะมียศจากนักศึกษาวิชาทหารอยู่บ้าง(ว่าที่สิบโท พลปืนเล็ก ก.) แม้ผมจะพยายามโน้มๆแกมาทางสายสิทธิมนุษยชน ค่อยๆแทรกความคิดความเสมอภาคของพลเมือง ประมาณว่าพลเรือนกับทหารมีบทบาทหน้าที่ต่างกัน แต่ก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน และที่เล่ามาให้ฟังนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ภูมิทำเลของจังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดหนึ่งที่เรียกว่าสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่นั้นมีสถาบันระดับอุดมศึกษาจำนวนมาก และเป็นโอกาสให้พลเมืองมีสิทธิเข้าถึงกลุ่มนำของประเทศ
ความสำคัญของการศึกษาในระบบยังมีอยู่มากกว่าที่เราจะปฏิเสธว่ามันอ่อนด้อยเกินไป และเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อแนวความคิดของคนคนหนึ่งได้ ผมรู้สึกเสียดายต่อเด็กรุ่นหลังหลายคนที่มีโอกาสทางด้านการศึกษามากกว่าคนในอดีต จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามการศึกษาในระบบมิได้สอนว่าคนจะโง่หรือฉลาดโดยเนื้อหาวิชาการ แต่มันสอนการอยู่ร่วมกันในสังคมจำลองสมมติในรั้วและห้องสี่เหลี่ยมที่ไม่กว้างเท่าไหร่นัก...ก็ตาม