Skip to main content

เผยแพร่วันที่ 19 ธันวาคม  2557

ผู้เสียหายและญาติยื่่นข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายทรมานและคนหายต่อปลัดกท.ยุติฯ 19 ธค. 2557

            เมื่อวันที่ 19  ธันวาคม  พ.ศ. 2557   มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้จัดทำข้อเสนอแนะต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  กรณีกระทรวงยุติธรรมได้ริเริ่มให้มีการร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... ที่มีการนำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีที่ประเทศไทยพึงนำมาแก้ไขกฎหมายในประเทศให้สอดคล้อง  โดยเฉพาะการบัญญัติให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงทั้งสองประการคือการทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญาและมีบทลงโทษที่เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำความผิด โดยทางกระทรวงฯจะจัดให้มีการพิจารณาร่างฯอีกครั้ง ในวันที่ 22 ธันวาคมนี้

             ข้อเสนอแนะดังกล่าวมาจากเวทีเสวนาเพื่อพิจารณาร่าง พรบ.ฉบับดังกล่าวจากการระดมความเห็นเมื่อวันที่ 1-2ธันวาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมทีเคพาเลสโดยมีผู้สนใจเข้าร่วมเสวนาจากตัวแทนมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กลุ่มด้วยใจ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนชาวลาหู่  เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี กลุ่มญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหายและตัวแทนจากองค์กรของรัฐหลายหน่วยงานเข้าร่วมรับฟังและเสนอแนะด้วย  สรุปข้อเสนอแนะได้จัดเสนอทำเป็นเอกสารจำนวน 7 หน้านำเสนอต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมและอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพร่างกฎหมายฉบับนี้สมบูรณ์และสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยสรุปได้ดังนี้คือ

1.      การทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายมักเกิดกับประชากรบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสในสังคม กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มที่ขัดแย้งหรือเห็นต่างกับเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มประชากรที่อยู่ภายใต้นโยบายพิเศษบางอย่างของรัฐ เช่น การปราบปรามยาเสพติด การปราบปรามการก่อการร้าย หรือการปราบปรามผู้มีอิทธิพล เป็นต้น

2.      การสืบสวนสอบสวนคดีทรมานหรือการบังคับสูญหายมักไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงความยุติธรรม เนื่องจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการและรับผิดชอบไม่เป็นอิสระ เป็นกลาง และอาจไม่สนใจที่จะทำคดีหรือสืบสวนสอบสวนโดยทันที  และอาจ อาจถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจหรือผู้มีอิทธิพลจึงเห็นว่าในการแต่งตั้งบุคคลกรที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนจำเป็นต้องเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญซึ่งผ่านการฝึกอบรมและการทำงานเป็นมืออาชีพเพื่อให้เกิดความเป็นอิสระและได้รับความไว้วางใจจากผู้เสียหายและญาติ

3.      การตรวจรักษาผู้บาดเจ็บจากการทรมานนั้นต้องการผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และนักจิตวิทยาที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นการเฉพาะ ร่างกฎหมายฉบับนี้ควรจะมีการกำหนดการชดเชยเยียวยา รวมถึงค่าชดใช้และการฟื้นฟูเยียวยาทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการฝึกอบรมการใช้คู่มือการสืบสวนและการบันทึกการกระทำทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีอย่างมีประสิทธิภาพ (พิธีสารอิสตันบูล) สำหรับบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกคน รวมทั้งบุคลากรการแพทย์

4.      ในร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องให้ความมั่นใจว่ากรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายต้องได้รับการสืบสวนสอบสวนโดยทันที เป็นกลางและมีประสิทธิภาพโดยต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษโดแม้ไม่พบตัวหรือไม่พบชิ้นส่วนศพก็ตาม และต้องตระหนักว่าสิทธิในการรับทราบความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้

5.       ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังขาดแนวทางการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพและต้องกำหนดอย่างชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่คุ้มครองพยานต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันหรือใกล้ชิดกับหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาว่าทำการทรมานหรือบังคับให้สูญหาย เพื่อให้ความมั่นใจว่าผู้กระทำผิดจะไม่มีอิทธิพลต่อกลไกการคุ้มครองพยาน

6.      ร่างกฎหมายฯ ยังคงเปิดช่องให้ไม่เปิดเผยข้อมูลต่อญาติและบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้เกิดการทรมาน การบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือการคุมตัวในสถานที่ไม่เปิดเผยกรณีอาจก่อให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนคดีอาญา ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวอาจจะยังเป็นช่องว่างหรือข้อยกเว้นที่เป็นอุปสรรคต่อการห้ามทรมานและห้ามไม่ให้มีการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเด็ดขาดตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงควรที่จะพิจารณาแก้ไข

7.      การทรมานอย่างเป็นระบบและการบังคับบุคคลสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity) ตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่อาจมีการละเว้นโทษ หรือนิรโทษกรรมได้แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน

8.      การเสริมความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายให้กับผู้เสียหายและเหยื่อซึ่งถ้าหากร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ระบุถึงหลักเกณฑ์ให้สามารถร้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมเพื่อการร้องเรียนต่อศาลด้วยเป็นการเฉพาะก็จะช่วยทำให้ผู้เสียหายและญาติเข้าถึงความยุติธรรมได้ทั่วถึงมากขึ้น   

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม  นางอังคณา นีละไพจิตร  โทร  084-7280350

--