Skip to main content

ยาสมิน ซัตตาร์

 

“(1) ไม่ว่ากลุ่มชนใดก็ตามซึ่งอาศัยอยู่ในเขตแดนของประเทศอินเดียหรือส่วนใดส่วนหนึ่งที่มีความต่างกันในด้านภาษา ตัวอักษร หรือวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่นั้นควรจะมีสิทธิ์ในการรักษาให้คงไว้เช่นเดิม (2) ไม่มีพลเมืองคนใดที่ควรจะถูกปฏิเสธการเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของรัฐหรือได้รับการช่วยเหลือจากงบประมาณของรัฐ บนฐานของการมองเพียงเรื่องศาสนา เชื้อชาติ วรรณะ ภาษา หรืออย่างใดอย่างหนึ่งทั้งหมด” [1]

            จากมาตราที่ 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งอินเดียข้างต้นนั้น ก็ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าพลเมืองทุกคนของอินเดียไม่ว่าจะมาจากกลุ่มทางสังคมใด หากเขาได้อาศัยอยู่ภายใต้อาณาเขตของดินแดนอินเดียนั้น สิทธิของเขาก็จะได้รับการปกป้อง มาตรานี้จึงส่งผลต่อชนกลุ่มน้อยในอินเดีย เนื่องจากเป็นการรับรองถึงสิทธิอันพึงมีของพวกเขาตราบเท่าที่พวกเขายังคงเป็นพลเมืองอินเดีย โดยปราศจากการแบ่งแยกเหยียดหยามใดๆ

            คณะกรรมการที่ปรึกษาในด้านสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองและชนกลุ่มน้อยภายใต้สภารัฐธรรมนูญได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเน้นดูแลในกลุ่มซึ่งจัดเป็นชนกลุ่มน้อยตามรัฐธรรมนูญอินเดีย ซึ่งประกอบด้วยชุมชนทางศาสนาบางกลุ่มที่แตกต่างและมีจำนวนน้อยกว่าชุมชนฮินดูซึ่งเป็นชนส่วนมากในประเทศอินเดีย ดังนั้นแล้ว ภายใต้ส่วนที่ 2c ของกฎบัตรชนกลุ่มน้อยของคณะกรรมาธิการแห่งชาติในปี 1992 ชนกลุ่มน้อยในอินเดียซึ่งประกอบด้วย มุสลิม ซิกข์ พุทธและโซโรแอสเตียน (ฟาร์ซิส)[2] ได้ถูกบัญญัติให้เป็นชุมชนกลุ่มน้อย ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญและได้รับสิทธิพิเศษด้วยเช่นกัน นอกจากนี้แล้ว รัฐอินเดียยังสนับสนุนรูปแบบของรัฐเซคิวลาร์ซึ่งไม่นำประเด็นทางศาสนาเข้ามาสู่ขอบเขตเรื่องการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับอินเดียเองนั้น รัฐเซคิวลาร์เป็นอีกหนทางหนึ่งในการสร้างความมั่นคง เนื่องจากจะไม่มีการให้ความสำคัญแก่ศาสนาใดเป็นพิเศษ และมองว่าจะเป็นการนำไปสู่ความเท่าเทียมกันในการปฏิบัติและดำเนินชีวิตต่อไป ความคิดในเรื่องของพหุวัฒนธรรมจึงเป็นที่เห็นได้ในบริบทของอินเดียเพื่อที่จะสนับสนุนชุมชนที่มีความเท่าเทียมและสงบสุขโดยปราศจากความพยายามในการสร้างชุมชมที่มีความเหมือนกันดังที่หลายๆประเทศในตะวันตกทำ อย่างไรก็ตามความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆในสังคมก็ยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง ชนกลุ่มใหญ่และชนกลุ่มน้อย เช่น ระหว่างฮินดูกับมุสลิม

            งานเขียนชิ้นนี้จึงพยายามที่จะวิเคราะห์บนฐานของบริบทและประสบการณ์ของสถานภาพของชนกลุ่มน้อยในอินเดีย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ถูกเรียกว่า “ชนกลุ่มน้อย” กลุ่มชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เรียกร้องอะไร เหตุใดความคิด พหุวัฒธรรม จึงกลายเป็นมีความสำคัญในการอธิบายตำแหน่งแห่งที่ของชนกลุ่มน้อยในรัฐชาติ และสิทธิต่อชนกลุ่มน้อยนั้นจะไปได้ไกลถึงจุดใด

 

ชนกลุ่มน้อยในอินเดีย

            ความตระหนักในการเป็นชนกลุ่มน้อยในอินเดียนั้นในเริ่มจากภายในชุมชนเมื่อกลุ่มชนได้เริ่มที่จะรู้สึกว่าว่าสมาชิกของกลุ่มชนนั้นเสียเปรียบในบริบทของรัฐชาติซึ่ง D.L. Sheth[3] ได้มองว่ามีการปฏิบัติการในลักษณะของการเป็นชนกลุ่มใหญ่เชิงวัฒนธรรมและความเป็นใหญ่เชิงการเมือง และจากนั้นการยอมรับจากกลุ่มชนภายนอกในความเป็นชนกลุ่มน้อยนั้นก็ปรากฏให้เห็นเช่นกัน ตัวอย่างเช่นในกรณีของอินเดียนั้น สำหรับมุสลิมในช่วงแรกนั้นไม่ได้มองว่าพวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยจนกระทั่งในช่วงของการแบ่งแยกประเทศในปี 1947 ซึ่งได้เป็นจุดเริ่มต้นที่เห็นได้ชัดในการตระหนักถึงจำนวนที่มีน้อยและความเสียเปรียบที่มุสลิมในอินเดียได้พบเจอเมื่ออยู่ภายใต้ดินแดนอินเดีย ดังนั้น ภายหลังจากที่ได้ตระหนักถึงสถานภาพที่เป็นผู้ด้อยโอกาส ความคิดในเรื่องของ “ชนกลุ่มน้อย” ก็ได้มีความเข้มแข็งขึ้นโดยการยอมรับจากขอบเขตสาธารณะอย่างรัฐชาติ ในอินเดีย รัฐธรรมนูญได้ให้คำจัดความความเป็นชนกลุ่มน้อย (ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วว่ากลุ่มใดบ้าง) อยู่บนฐานของการตระหนักว่าอินเดียนั้นเป็นรัฐชาติที่เป็นเอกราชและเป็นประชาธิปไตยซึ่งสามารถรักษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนาของชนกลุ่มน้อยเอาไว้ได้ โดยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของพลเมืองสำหรับพลเมืองทุกคน รวมทั้งมีการใช้ระบอบสหพันธรัฐเป็นวิธีในการกระจายอำนาจของรัฐซึ่งมีดินแดนที่อยู่บนฐานของเชื้อชาติ และการแบ่งแยกรัฐบนฐานของการใช้ภาษา เพราะฉะนั้นแล้ว หลักการเรื่องชนกลุ่มน้อยจึงมีขอบเขตอยู่ในเรื่องของชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและกลุ่มภาษาเฉพาะ        

            ศาสนาเป็นปัจจัยที่สำคัญเสมอในการสร้างอัตลักษณ์ส่วนบุคคลเช่นเดียวกับในช่วงเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญของอินเดีย ประเด็นนี้ก็เป็นประเด็นหลักที่พิจารณา ดังนั้น ชนกลุ่มน้อยจึงมีการระบุโดยอยู่บนฐานของศาสนา (ซึ่งได้ระบุไว้แล้ว) ภายหลังจากการประกาศอิสรภาพ  ก็มีความต้องการในการจัดการแบ่งเขตแดนของภูมิภาคและรัฐใหม่โดยอยู่บนฐานของภาษาที่พวกเขาใช้ ดังนั้น จึงได้สร้างเขตแดนภายในชุมชนที่แต่ละภาษาได้ใช้เป็นหลัก หรืออาจกล่าวได้ว่า คนที่อาศัยในพื้นที่เดียวกันและมีความเชื่อเดียวกันนั้นได้เริ่มที่จะระบุอัตลักษณ์ของตนตามภาษาที่พวกเขาใช้ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่พูดภาษาทามิล (Tamil) หรือ เตลาฆู (Telagu) ในมัดดราส (Madras) ได้มีการตระหนักในตัวพวกเขาเองในแง่ที่ เตลาฆู ได้กลายเป็นชนกลุ่มน้อย ในขณะที่ทามิลเป็นชนกลุ่มใหญ่ เช่นเดียวกัน ในรัฐปัญจาบ (Panjab) ผู้ที่พูดภาษาปัญจาบี (Panjabi) ก็ถือว่าเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่นั่น

            กลุ่มคนทั้งสองนี้อาศัยอยู่ภายใต้เขตแดนอินเดียซึ่งปกครองโดยการใช้แนวทางประชาธิปไตยซึ่งให้ความสำคัญกับ ชนกลุ่มใหญ่ เป็นอันดับแรก เช่น ผ่านการโหวตในทางการเมือง ดังนั้นแล้ว ด้วยความกลัวในการเสียผลประโยชน์ในขอบเขตสาธารณะและการไม่มีตัวตนในขอบเขตการเมือง พวกเขาจึงพยายามในการเรียกร้องเครื่องมือในการให้ความคุ้มครองเพื่อรักษาและปกป้องวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตของพวกเขาเองจากการถูกลบล้างหรือแยกออกไปโดยค่านิยมทางเสรีนิยมและระบบตลาดเสรี[4] เนื่องจากระบบเซคิวลาร์ซึ่งอินเดียใช้ในการปกครองตั้งแต่ภายหลังจากประกาศอิสรภาพ พื้นที่ที่ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาจะสามารถมีสิทธิเท่าเทียมในฐานะเป็นพลเมืองจึงยังมีอยู่ ดังนั้น แนวทางในการที่ชนกลุ่มน้อยเรียกร้องสิทธิพิเศษจากรัฐจึงมีด้วยเช่นกัน ในบริบทนี้ รัฐธรรมนูญอินเดียได้ให้สิทธิแก่ชนกลุ่มน้อย ประกอบด้วย การรักษาวัฒนธรรมและภาษา, การดูแลและจัดการสถาบันที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย, และการให้การศึกษาด้านศาสนาในสถาบันศึกษาชนกลุ่มน้อย[5] สิทธิของชนกลุ่มน้อยจึงคุ้มครองวัฒนธรรมของกลุ่มชุมชนและในขณะเดียวกันก็วางรัฐอยู่ในฐานะของสถาบันซึงเคารพวิถีชีวิตแห่งชุมชนและจะไม่รุกรานเข้ามาในขอบเขตส่วนบุคคล เช่น กฎหมายครอบครัว เราอาจกล่าวได้ว่าสิทธิของชนกลุ่มน้อย ท้ายสุดแล้วก็เป็นวิธีทางซึ่งมีเป้าหมายในการป้องกันอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยและทำให้แน่ใจว่าวัฒนธรรมของชนกลุ่มใหญ่จะไม่มาเป็นตัวกำหนดชนกลุ่มน้อย[6] วิธีการคิดลักษณะนี้จึงนำไปสู่การเกิดของหลักความคิดเรื่องพหุวัฒนธรรม ซึ่งสามารถเป็นการตั้งข้อถกเถียงซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิของชนกลุ่มน้อยในบริบทของสังคมที่มีความแตกต่างเช่นอินเดีย

 

หลักความคิดเรื่อง พหุวัฒนธรรมและสิทธิพิเศษสำหรับชนกลุ่มน้อย

            “พหุวัฒนธรรมได้เริ่มด้วยความเข้าใจว่าคนเรานั้นมีอัตลักษณ์ที่หลากหลายและมีความเชื่อที่ทับซ้อนกันอยู่ อัตลักษณ์ของบุคคลในฐานะเป็นพลเมืองนั้นเป็นเพียงหนึ่งในอัตลักษณ์หลายๆอย่างที่มี และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น การมีอยู่ของอัตลักษณ์ของชุมชนอื่นนั้นไม่ได้อ่อนกำลังหรือเป็นภัยต่ออัตลักษณ์ของบุคคลในฐานะที่เป็นพลเมืองได้ นอกจากนั้น บุคคลก็นำเอาอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรมไปสู่ขอบเขตสาธารณะอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นแล้ว จึงมีความจำเป็นในการพิจารณาบุคคลในฐานะที่เป็นสมาชิกของรัฐเช่นเดียวกับการเป็นสมาชิกของชุมชนทางวัฒนธรรม”[7]

            จากคำอธิบายข้างต้น เราสามารถเห็นได้ว่า พหุวัฒนธรรม นั้นพยายามที่จะสนับสนุนความเท่าเทียมของพลเมืองทั้งหมด โดยเฉพาะสำหรับชนกลุ่มน้อย พหุวัฒนธรรมมองชุมชนบนฐานของ “ความเป็นพลเมืองที่มีความแตกต่าง” ซึ่งบุคคลนั้นถือได้ว่าเป็นสมาชิกของทั้งสังคมการเมืองและวัฒนธรรม ฐานความคิดของความเป็นพลเมืองที่มีความแตกต่างนี้ จึงทำให้สิทธิพิเศษต่อชนกลุ่มน้อยนั้นได้ให้โดยตรงแก่บุคคลหรือชุมชม ซึ่งเป็นสิทธิที่จะทำให้ชนกลุ่มน้อยรักษาความเป็นตัวพวกเขาและต่อต้านแรงกดดันจากการผสมกลมกลืนที่มาจากทั้งรัฐและชุมชน[8]

            Gurpreet Mahajan[9] ได้อธิบายว่า พหุวัฒนธรรมนั้นจะมุ่งในสามกรณีสำคัญของสิทธิพิเศษ ซึ่งชนกลุ่มน้อยได้ร้องขอจกรัฐชาติบนฐานของกรอบความคิดเรื่องความเป็นพลเมืองที่มีความแตกต่าง กรณีแรก สามารถออกมาในรูปแบบของ “สิทธิทางวัฒนธรรม” ซึ่งประกอบไปด้วย การยกเว้น ที่ชนกลุ่มน้อยได้เรียกร้องโอกาสในการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมของกลุ่มต่อไป ตัวอย่างเช่น ในกรณีของการแต่งกาย วิถีการกิน หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว สิทธิในรูปแบบนี้ยังสามารถอยู่ในรูปแบบของการช่วยเหลือจากรัฐซึ่งชนกลุ่มน้อยนั้นมีความพยายามในการหาความช่วยเหลือจากรัฐในการสนับสนุนวัฒนธรรมและให้พื้นที่สาธารณะแก่พวกเขา ตัวอย่างการช่วยเหลือแบบนี้ก็คือการให้ความช่วยเหลือด้านงบประมาณ ในกรณีนี้ยังรวมไปถึงวิถีของการการรับรอง ซึ่งเป็นแนวทางในการรักษาวัฒนธรรมในแบบที่ควบคู่ไปกับระบบกฏหมายที่บุคคลสามารถเลือกที่จะใช้กฎหมายบางข้อตามกฎหมายจองรัฐหรือชุมชนนั้นๆ เช่น ในอินเดีย กฎหมายส่วนบุคคลอย่างกฎหมายครอบครัวก็เป็นที่ยอมรับในการใช่ตามรูปแบบของแต่ละชุมชนเอง หากคุณเป็นมุสลิม คุณก็สามารถที่จะใช้กฎหมายอิสลามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนบุคคล อย่างเรื่องการแต่งงาน การหย่า หรือมรดกได้

            กรณีที่สอง คือ “วิถีของสิทธิในการปกครองตนเอง” ก็สามารถเรียกร้องสิทธิในการปกครองตัวพวกเขาเองในบริเวณซึ่งชนกลุ่มน้อยในระดับชาติได้กลายมาเป็นชนกลุ่มใหญ่ในภูมิภาคหรือพื้นที่ของพวกเขาเอง ในอินเดีย การเรียกร้องเช่นนี้ได้ให้แก่รัฐจัมมูและแคชมีร (Jammu and Kashmir) ผ่านมาตรา 370 ของรัฐธรรมนูญซึ่งอนุญาตให้พวกเขาได้ปกครองตนเองยกเว้นบางเรื่อง เช่น เรื่องระหว่างประเทศ, ความมั่นคง และการติดต่อสื่อสาร ที่จำเป็นต้องมีการแทรกแซงจากรัฐ และมาตราที่ 317A และ G ก็เป็นข้อกำหนดพิเศษสำหรับพื้นที่ นากาแลนด์ (Nagaland) และ มิโซรั่ม (Mizoram) อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ก็ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐชาติเนื่องจากอาจจะเป็นเรื่องง่ายที่รัฐที่ปกครองตนเองนั้นจะเกิดความไม่ซื่อสัตย์ต่อรัฐชาติและนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างบริเวณนั้นกับรัฐ ซึ่งเราสามารถเห็นได้จากหลายๆที่ในโลก เช่น ในอาเจะห์ของอินโดนีเซีย

            กรณีที่สาม “การให้สิทธิการแสดงออกพิเศษ” ซึ่งเป็นการเพิ่มการปรากฎในพื้นที่สาธารณะของชุมชนซึ่งสมาชิกมีความรู้สึกว่าพวกเขานั้นไม่ได้มีบทบาทเพียงพอและเป็นผู้ด้อยโอกาสในสถาบันของรัฐ ในเรื่องเศรษฐกิจ และในเรื่องวัฒนธรรม เช่น ในอินเดียสิทธิในแบบนี้จะให้กับชนเผ่าและกลุ่มวรรณะที่ได้กำหนดไว้ (Schedule Tribes and Schedule Castes) ในรูปแบบของการให้ที่นั่งสำรองในส่วนของกฎหมาย บริการของรัฐ และสถาบันการศึกษา

            ดังนั้นแล้ว จึงมีหลากหลายหนทางในการแสดงออกถึงสิทธิพิเศษสำหรับชนกลุ่มน้อยทั้งสำหรับส่วนบุคคลและชุมชนโดยรวม ในการเรียกร้องแต่ละกรณีของชนกลุ่มน้อยนั้นต้องพิจารณาถึงบริบทของแต่ละกลุ่มในการตัดสินใจว่ารูปแบบของสิทธิพิเศษไหนที่เหมาะสม ในอินเดีย วิธีการรับมือกับสิทธิพิเศษนั้นได้ระบุในรัฐธรรมนูญบางส่วนแล้วและสำหรับกรณีพิเศษอื่นๆนั้นก็จะพิจารณาเป็นกรณีๆไป นอกจากนั้นแล้วในปี 2006 กระทรวงการจัดการเรื่องชนกลุ่มน้อย (Ministry of Minority Affairs) ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลจัดการกับเรื่องที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยโดยเฉพาะ

 

สรุป

            กล่าวโดยสรุปแล้ว ชนกลุ่มน้อยในอินเดียเป็นกลุ่มที่ระบุโดยอยู่บนฐานของชุมชนทางศาสนาและภาษาที่มีความต่างจากชนกลุ่มใหญ่ซึ่งคือชุมชนชาวฮินดูเป็นสำคัญ ชนกลุ่มน้อยได้มีการเรียกร้องสิทธิในฐานะพลเมืองเพื่อรักษาการปฏิบัติตามวัฒนธรรมตลอดจนสถานภาพในพื้นที่ทางการเมืองของพวกเขาซึ่งได้มีการให้ผ่านการระบุในรัฐธรรมนูญเอง เช่น ผ่านสถาบันการศึกษา กฎหมายส่วนบุคคลอย่างกฎหมายครอบครัว และ การยอมรับในพื้นที่สาธารณะ ในเรื่องเช่น การปฏิบัติตามศาสนา วันหยุดสาธารณะ หรือ การยอมรับภาษาของชนกลุ่มน้อยบางภาษาอย่างเป็นทางการ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ในบริบทของความคิดเชิงพหุวัฒนธรรม วิธีในการเรียกร้องสิทธิต่างๆนั้นก็ต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีและแต่ละชุมชน แต่ท้ายสุดแล้วก็มีเป้าหมายเพื่อปกป้องชุมชนชนกลุ่มน้อยนั่นเอง

            อย่างไรก็ตาม สิทธิของชนกลุ่มน้อยนั้นก็ไม่ได้หมายถึงสำหรับทุกๆการปฏิบัติทางวัฒนธรรมของแต่ละเชื้อชาติ รัฐธรรมนูญของอินเดียนั้นให้สิทธิเพียงแค่ในเรื่องของสิทธิด้านการศึกษาและวัฒนธรรม โดยไม่รวมถึงประเด็นสำคัญเช่น อาชีพ สุขภาพหรืออาหาร (นอกจากมีให้กับชนเผ่าและวรรณะที่ได้กำหนดไว้แล้วในอัตราที่ได้กำหนดไว้เท่านั้น)

            Gupta[10] ได้เสนอไว้ว่า การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในเรื่องของชนกลุ่มน้อยนั้นสามารถทำได้โดยการทำให้ความคิดของความเป็นพลเมืองและสิทธิที่มีควบคู่กันไปนั้นเข้มแข็งขึ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า ท้ายสุดแล้ววิธีในการแก้ปัญหาเรื่องสิทธิชนกลุ่มน้อยนั้นก็คือการให้สิทธิขั้นพื้นฐานที่ครอบคลุมพลเองทุกคนในรัฐโดยปราศจากการทำให้สมาชิกทางสังคมเหล่านี้รู้สึกได้ถึงความด้อยโอกาสและไม่ให้ความสำคัญกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมเป็นพิเศษ วิธีการเช่นนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ยากที่จะทำจริงในสังคม แต่อย่างน้อยที่สุดการสนับสนุนวิถีแห่งการสร้างความเข้าใจในสังคมจะเป็นความคิดพื้นฐานที่สำคัญในการปกป้องกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “ชนกลุ่มน้อย”

 

 

เอกสารอ้างอิง

Bakshi, P.M. The Constitution of India, New Delhi: Universal Law Publishing Co.Pvt. Ltd., 2009.

Mahajan, Gurpreet. The Multicultural Path, New Delhi: Sage Publication, 2002.

Mahajan, Gurpreet and D.L. Sheth. Minority Identities and the Nation-State, USA: Oxford University Press, 2000.

___, Government of India, Ministry of Minority Affairs, Available URL : http://minorityaffairs.gov.in/newsite/main/FAQ_Ministry.pdf  (October 2010)

 



[1] Bakshi, P.M., p. 66

[2] Government of India , Ministry of Minority Affairs , http://minorityaffairs.gov.in/newsite/main/FAQ_Ministry.pdf

[3] Mahajan, Gurpreet and D.L. Sheth, p. 10

[4] Ibid., p.8

[5] Ibid., p. 62

[6] Ibid., p. 61

[7] Mahajan, Gurpreet, p. 88

[8] Ibid., p. 85

[9] Ibid., p. 101

[10] Mahajan, Gurpreet and D.L. Sheth, p. 11