Skip to main content

 

            เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 คณะกรรมการที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) ซึ่งเป็นโครงสร้างการตัดสินใจหลักขององค์การสหประชาชาติ และมักเรียกว่าเป็น “รัฐสภาโลก” ได้ลงคะแนนเสียงให้มีข้อตกลงเพื่อพักใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราว ถือว่าเป็นขั้นตอนแรกของเส้นทางในระดับโลกที่นำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยผลโหวตในปีนี้มีจำนวนประเทศมากเป็นประวัติการณ์ที่สนับสนุนมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเรื่องนี้ พร้อมทั้งร่วมกันกำหนดแนวทางยกเลิกโทษประหารชีวิตระดับโลกด้วย

            รัฐภาคี 117 จาก 193 แห่งขององค์การสหประชาชาติ ลงคะแนนเสียงเห็นชอบมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ก โดยมีเสียงคัดค้าน 38 เสียงและงดออกเสียง 34 นับเป็นครั้งที่ห้าที่มีการลงคะแนนในมติดังกล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยการลงคะแนนเสียงครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2555 โดยครั้งนั้นมีรัฐที่เห็นชอบ 111 แห่ง คัดค้าน 41 และงดออกเสียง 34

            Chiara Sangiorgio ผู้ชำนาญการด้านโทษประหารชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่าคะแนนเสียงที่มากเป็นประวัติการณ์ในวันนี้สะท้อนให้เห็นอีกครั้งหนึ่งถึงแรงสนับสนุนระดับโลกเพื่อขจัดโทษประหารชีวิต เป็นคะแนนเสียงที่ส่งสัญญาณอย่างหนักแน่นว่า มีประเทศต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นที่พร้อมจะดำเนินการเพื่อยุติการใช้โทษประหารชีวิตอย่างสิ้นเชิง

            “แรงสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากทั่วทุกภูมิภาคซึ่งเห็นได้จากคะแนนเสียงในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการพักการใช้โทษประหารชีวิตเป็นเป้าหมายระดับโลกอย่างแท้จริง ประชาคมระหว่างประเทศตระหนักว่า โทษประหารชีวิตเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน และเปิดพื้นที่ให้มีการอภิปรายครั้งใหม่เกี่ยวกับความพยายามที่จะยกเลิกการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์”

            นับแต่ปี 2550 มีการลงมติห้าครั้งเรียกร้องให้มีข้อตกลงระดับโลกเพื่อพักใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และมีแรงสนับสนุนเพิ่มขึ้นทุกครั้ง ในการลงมติครั้งนี้มีอีกหกประเทศที่ออกเสียงสนับสนุน เมื่อเปรียบเทียบกับการลงมติที่คล้ายคลึงกันเมื่อปี 2555

            เสียงสนับสนุนเพิ่มเติมมาจากประเทศอิเควทอเรียลกินี เอริเทรีย ไนเจอร์และซูรินาเม นอกจากนั้น ยังมีสัญญาณในเชิงบวกเนื่องจากประเทศบาห์เรน พม่า ตองกา และยูกันดาได้เปลี่ยนจากท่าทีคัดค้านมาเป็นการงดออกเสียง แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ปาปัวนิวกินีเปลี่ยนจากการงดออกเสียงมาเป็นการคัดค้านมติดังกล่าว

            แม้ว่ามติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย แต่มีน้ำหนักทางศีลธรรมและการเมืองที่สำคัญ

            “ผลการลงคะแนนเสียงในวันนี้เป็นสัญญาณเตือนสำหรับ 38 ประเทศที่ยังคงลงคะแนนคัดค้านข้อตกลงดังกล่าว พวกเขาเริ่มเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวในขณะที่ยังสนับสนุนการลงโทษที่โหดร้าย โทษประหารชีวิตไม่ได้ตอบสนองเป้าหมายที่ชอบธรรมแต่อย่างใด หากเป็นรอยด่างของสถิติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศเหล่านั้น” Chiara Sangiorgio กล่าว

            แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอกระตุ้นทุกประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ให้จัดทำข้อตกลงเพื่อยุติการประหารชีวิตโดยทันที โดยให้เปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นโทษอย่างอื่น และให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท

            างสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  เปิดเผยว่าสำหรับประเทศไทย เป็นปีที่ห้าติดต่อกันที่ไม่มีการประหารชีวิต ถือเป็นพัฒนาการที่ดีอีกขั้นหนึ่งในประเด็นสิทธิมนุษยชนของไทย

            ในปีนี้ประเทศไทยได้ “งดออกเสียง” เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกครั้งหนึ่งเมื่อเทียบกับการลงมติ “คัดค้าน” เมื่อปี 2550 และ 2551 สำหรับการลงมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อพักใช้โทษประหารชีวิตในครั้งต่อไป เราคาดหวังว่าประเทศไทยจะลงมติ “สนับสนุน” รับมติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ

            เหตุผลที่ทำให้มีเสียงสนับสนุนมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะข้อเท็จจริงสะท้อนให้เห็นว่าโลกกำลังถอยห่างออกจากการใช้โทษประหารชีวิต ในปี 2488 ซึ่งมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ มีเพียงแปดประเทศที่ยกเลิกกฎหมายให้ประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาใด ๆ แต่ในทุกวันนี้ รัฐภาคีสหประชาชาติ 140 จาก 193 แห่งยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางนิตินัยหรือพฤตินัย เมื่อปีที่แล้ว มีรัฐภาคีเพียง 20 แห่งที่ประหารชีวิตบุคคล

            “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามเจตน์จำนงที่ระบุไว้ในแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่สามสำหรับปีพ.ศ. 2557-2561 ที่กำหนดรวมถึงการยกเลิกโทษประหารชีวิตไว้ด้วย และขอประกาศพักใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ รวมทั้งให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติกา ICCPR ด้วย” ปริญญากล่าว

            แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

ตารางเปรียบเทียบจำนวนรัฐภาคีของสหประชาชาติ

กับการลงนามในข้อตกลงเพื่อพักใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราว

 

สนับสนุน

คัดค้าน

งดออกเสียง

ประเทศไทย

ปี 2550

104

54

29

คัดค้าน

ปี 2551

106

46

34

คัดค้าน

ปี 2553

109

41

35

งดออกเสียง

ปี 2555

111

41

34

งดออกเสียง

ปี 2557

117

38

34

งดออกเสียง