Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ (IDSW)

 

ตอนที่ 1.จากปล้นปืน สู่เสียงเพรียกหาปืนในสถานการณ์ใต้


"พวกเราต้องการปืน!"

สวัสดิ์ ยืนยง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย หนึ่งในแกนนำม็อบชาวไทยพุทธหน้าที่ว่าการอำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลากว่า 1 พันคนที่เดินทางมายื่นหนังสือให้ พล.อ.ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและแก้ไขกรณีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมาพูดเสียงดังฟังชัด


เขาบอกว่า ได้ยื่นข้อเรียกร้องไปจำนวน
6 ข้อ ประเด็นหลักคือเรื่องการคัดค้านไม่ให้ถอนกองกำลังทหารพรานและตำรวจตระเวนชายแดนที่ตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในบ้านควนหรัน ซึ่งเกิดกรณีการยิงเด็กปอเนาะเมื่อคืนวันที่ 17 มีนาคม นอกจากนั้นข้อเรียกร้องส่วนใหญ่คือความต้องการให้ฝ่ายรัฐอำนวยความยุติธรรม รวมทั้งการบังคับใช้กฏหมายให้บังเกิดความเท่าเทียมกันระหว่างคนไทยนับถือศาสนาพุทธและอิสลาม


แต่ข้อเรียกร้องที่น่าสนใจคือข้อที่
5 ที่ระบุว่าให้ทางราชการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ในการป้องกันตนเองของชาวบ้านและข้อที่ 6 ที่มีเนื้อหาว่า ให้ความอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในการขออนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนและผ่อนปรนในการพกพา


สวัสดิ์อธิบายว่าข้อที่
5 นั้นเขาให้ทางราชการจัดซื้อจัดหาอาวุธมอบให้กับชาวบ้าน ส่วนข้อที่ 6 นั้นมีความหมายว่า ให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในการอนุญาตให้ครอบครองอาวุธปืนโดยถูกกฏหมาย ช่วยอำนวยความสะดวกในการฝึกซ้อมการใช้อาวุธปืนและผ่อนปรนทางข้อกฏหมาย อนุญาตให้ประชาชนสามารถพกพาอาวุธปืนได้


ผู้ใหญ่บ้านแกนนำม็อบให้ภาพว่า เหตุที่เขาต้องรวบรวมชาวบ้านขึ้นมาเรียกร้องแก่ทางการ นั่นก็เพราะประมวลจากความต้องการของชาวบ้านไทยพุทธในพื้นที่ซึ่งระบุตรงกันว่า มาตรการปราบปรามและเฝ้าระวังเหตุของเจ้าหน้าที่ยังคงหละหลวมอยู่ ในขณะที่การบังคับใช้กฎหมายก็ยังกระทำอย่างไม่เอาจริงเอาจัง ข้อพิสูจน์คือเหตุร้ายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ไม่ห่างกัน


เขาบอกว่าคนไทยพุทธเสียชีวิตมากกว่ามุสลิมหากเทียบตามสัดส่วนของประชากร แม้ตัวเลขการเสียชีวิตของชนทั้งสองศาสนิกมีอัตราใกล้เคียงกัน นั่นเป็นที่มาของข้อเรียกร้องการขออาวุธเพิ่มในการป้องกันตัวเองและอำนวยความสะดวกและผ่อนปรนในการขออนุญาตและพกพาอาวุธปืนแก่
"ผู้บริสุทธิ์"


ข้อเรียกร้องหาปืนของชาวไทยพุทธในอำเภอสะบ้าย้อย จึงเป็นสัญญาณล่าสุดที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายหันมาให้ความสนใจต่อ
"เสียงเพรียกหาปืน" ของคนในพื้นที่กันอย่างจริงจังอีกครั้ง


เหตุการณ์ปล้นปืนที่กองพันพัฒนาที่
4 ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อค่ำคืนของวันที่ 4 มกราคม 2547 ทำให้ปืนกว่า 300 กระบอกในคลังแสงของค่ายปิเหล็งหายไป ทัศนะของรัฐต่อการปล้นปืนครั้งนั้นคือการเย้ยอำนาจรัฐอย่างใหญ่หลวงที่สุด นำไปสู่การนำกำลังทหารลงมาเพิ่มใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อตามล่าหาปืนที่ถูกปล้นไป กระทั่งปัญหาไฟใต้ได้ลุกโชนขึ้นอีกครั้ง ชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกเข่นฆ่าไปเป็นจำนวนมาก นับเป็นปฐมบทของการปรับเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เน้นให้ประชาชนมีความเข้มแข้งปกป้องตนเองได้


ปืนจำนวนมากหลากชนิดถูกส่งลงมากระจายอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านนโยบายรัฐที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่อเอื้อให้ประชาชนสามารถครอบครองและใช้อาวุธปืน อาทิโครงการสวัสดิการ โครงการจัดตั้งกองกำลังภาคประชาชน ฯลฯ รวมถึงการผ่อนปรนความเข้มงวดในการขอใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนสำหรับประชาชน


นาน
3 ปีอาวุธปืนจำนวนหลายสิบกระบอกถูกตามจนพบแต่ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปืนที่ถูกปล้น มีหลักฐานปรากฏว่าปืนบางกระบอกในจำนวนที่พบถูกนำไปใช้ในการก่อเหตุร้าย แต่ในขณะที่การก่อเหตุร้ายรายวันดำเนินไปอย่างเข้มข้น นอกจากการซุ่มยิงด้วยอาวุธปืนแล้ว การไล่ฟัน การวางระเบิด การเผา ก็กลายเป็นยุทธวิธีที่สำคัญของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ ปะทะกันระหว่างกองกำลังของฝ่ายรัฐและฝ่ายแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบยังเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ครั้ง


การสูญเสียของประชาชน นับวันยิ่งทวีความรุนแรงและปริมาณความสูญเสียได้ก่อให้เกิดภาวะแห่งความหวาดกลัว และไม่มั่นใจว่าทหารและตำรวจจะปกป้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของตนเองได้ ส่งผลให้
"เสียงเพรียกหาอาวุธปืน"เกิดขึ้นแทบทุกพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้  


กรณีของชาวบ้านไทยพุทธใน อ.สะบ้าย้อย นับเป็นกรณีศึกษาต่อเสียงเพรียกหาอาวุธปืนของประชาชนที่น่าสนใจ  ที่ทำให้หลายฝ่ายอดเป็นห่วงต่อปรากฏการณ์นี้ไม่ได้ เพราะชาวบ้านทั้งหมดรู้สึกว่าตนเองถูกคุกคาม แต่กรณีการสังหารเด็กปอเนาะบำรุงศาสตร์ ที่บ้านควนหรัน ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงกัน พวกเขากลับไม่มีข้อมูลใดๆ เลย และต่างยอมรับว่า พวกเขาไม่กล้าที่จะเดินทางไปสถานที่เกิดเหตุ และความรู้สึกลึกๆ เขาเชื่อว่าความรุนแรงทั้งหมดเกิดจากน้ำมือของคนมุสลิมด้วยกันเอง


ความต้องการต่ออาวุธปืนของชาวบ้านไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ได้ปรากฏชัดมานานแล้วในหลากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่มีคนไทยพุทธตั้งถิ่นฐานอยู่ หลังจากชีวิตของผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องตกเป็นเหยื่อของฝ่ายคนร้ายที่อยู่ในเงามืด หลังข้อเรียกร้องของชาวไทยพุทธใน อ.สะบ้าย้อย ก็มีเสียงตอบรับจากฝั่งรัฐว่าจะเพิ่มอาวุธปืนให้กับชาวบ้านใน
62 หมู่บ้านอีกว่าหนึ่งพันกระบอก จากเดิมที่มีอยู่แล้วประมาณ 900 กระบอกในจำนวนหมู่บ้านดังกล่าว


ชัดเจนว่าข้อเรียกร้องของชาวบ้านสะบ้าย้อยคือปรากฏการณ์ที่เป็นผลลัพท์ของภาวะความหวาดกลัว หวาดระแวง และความไม่ไว้เนื้อเชื่อมั่นต่อระบบการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของตำรวจทหาร และยังเป็นผลที่บังเกิดขึ้นจากยุทธวิธี
"สร้างอาณาจักรแห่งความกลัว" ของฝ่ายแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ


แต่ในมุมของชาวบ้าน ความต้องการปืน ไม่ได้คำนึงถึงการตกหลุมพรางเป้าหมายของขบวนการความไม่สงบ เป็นความต้องการที่เกิดจากความเชื่อว่า อาวุธปืนคือที่พึ่งในยามที่ความเชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่ของฝ่ายรัฐลดน้อยถอยลงอย่างน่าใจหาย

ภาวะเช่นนี้ กำลังเป็นกระแสที่น่าสนใจยิ่ง เมื่อสังคมไทยโดยรวมก็มีความเชื่อเช่นเดียวกันว่า ฝ่ายรัฐควรจะกระจายอาวุธปืนจำนวนมากไปให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งของชาวไทยพุทธซึ่งเชื่อว่าเป็นเหยื่อโดยตรง  สอดรับกับผลสำรวจล่าสุดของมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ที่ระบุว่า ชาวหาดใหญ่ซึ่งคยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในภาคใต้มาแล้วหลายครั้งต้องการให้รัฐบาลมอบปืนให้กับประชาชนใน 3 จังหวัด มากกว่านี้ เพื่อป้องกันตนเองและต่อกรกับฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ตอนที่ 2. ปริมาณปืนชายแดนใต้ ดัชนีอำนาจรัฐ หรือชี้วัดความรุนแรง


การแพร่กระจายของอาวุธปืนใน
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ พบว่ามีอยู่เป็นปริมาณมาก ข้อมูลจากสำนักงานปกครองจังหวัดปัตตานีจังหวัดเดียวระบุว่า มีปืนที่ถูกขออนุญาตอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ทั้งปืนพกสั้นขนาด .38 ลงมาและปืนยาวประเภทลูกซอง มีมากกว่า 30,000 กระบอก


นี่เป็นสถิติเฉพาะของจังหวัดปัตตานีและเป็นปืนที่ขออนุญาตอย่างถูกกฏหมาย มีทะเบียนถูกต้อง ซึ่งไม่รวมอาวุธปืนอีกจำนวนมากของฝ่ายปราบปรามอย่างทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ที่อนุญาตให้ครอบครองอาวุธปืนได้โดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติจากนายทะเบียน


รวมถึงอาวุธปืนที่ทางราชการมอบให้กับ
"หน่วยจัดตั้ง" ในภาคประชาชน อาทิ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) อาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) ฯลฯ และ "กองกำลังพิเศษ" อื่นๆ ที่มีอีกมากมาย ที่ทางตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองได้จัดตั้งขึ้นตามความต้องการของแต่ละหน่วยงาน เพื่อช่วยเสริมกำลังในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

ทางฟากจังหวัดนราธิวาส ซึ่งปัญหาความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างรุนแรงต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ข้อมูลจากสำนักงานปกครองจังหวัดระบุว่า มีตัวเลขจำนวนอาวุธปืนอยู่ในมือประชาชนขณะนี้มากกว่า 45,000 กระบอก ส่วนใหญ่เป็นปืนพกสั้น และสถิติที่ประชาชนมายื่นคำขอใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนยังสูงถึงเดือนละ 100 รายต่อเดือน ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับจำนวนอาวุธปืนถูกกฏหมายของจังหวัดยะลา


"ความต้องการปืนของประชาชนยังมีอยู่มาก แต่ปัญหาก็คือปัจจุบันราคาปืนค่อนข้างแพง ส่วนใหญ่คนที่มาขอใบอนุญาตจึงยังเป็นข้าราชการและผู้มีฐานะ หรือเป็นผู้นำท้องถิ่น ส่วนประชาชนทั่วไปยังมีอาวุธปืนอยู่น้อย ยิ่งในอำเภอรอบนอกที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นแทบทุกวันคนยิ่งไม่มีเงินไปซื้อหาอาวุธ เพราะเขาไม่มีเงิน ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ แต่ความต้องการของเขายังมีอยู่มาก" มะซอรี มะ เจ้าหน้าที่กองทะเบียนอาวุธปืน สำนักงานปกครองจังหวัดนราธิวาสกล่าว


จากข้อมูลดังกล่าว มะซอรียังแสดงความเห็นว่า จำนวนปืนในจังหวัดนราธิวาสจะเพิ่มขึ้นอีกมาก ตราบใดที่ความไม่สงบยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ และที่สำคัญคือ ตัวเลขนี้ไม่ได้รวมกับปืนที่ไม่มีทะเบียน หรือ
"ปืนเถื่อน" ที่คาดว่า มีเป็นจำนวนมหาศาลที่ทะลักทะลายเข้ามาสู่มือของประชาชนทั้งฝ่ายผู้บริสุทธิ์และฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ


ดูเหมือนการยื่นขอใบอนุญาตเพื่อครอบครองอาวุธปืนจะเข้มงวด กวดขันเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ แต่กรณีของประชาชนใน
4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจมีกรณีพิเศษนอกเหนือไปจากนั้น เมื่อแหล่งข่าวจากสำนักงานปกครองจังหวัดปัตตานีรายหนึ่งระบุว่า "เดี๋ยวนี้ใครขอก็ได้เกือบหมด"


เขาระบุเหตุผลว่า ในสถานการณ์ความรุนแรงที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อล้มตายมากมาย อำนาจรัฐไม่สามารถปกป้องคุ้มครองประชาชนได้ ปืนจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ต้องเลือกใช้ปกป้องคุ้มครองตนเอง แม้จะรู้ว่าคนธรรมดาที่ไม่ได้รับการฝึกฝนการใช้อาวุธจะใช้ได้ไม่ดีเท่ากับเจ้าหน้าที่และฝ่ายคนร้าย แต่หากมีปืนอยู่ข้างๆ ก็จะรู้สึกอุ่นใจ


ในขณะที่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีก็ยอมรับว่าทางรัฐไม่ได้อิดออด ถ้าประชาชนจะขอ(ปืน) มา เพราะว่า ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ก็ต้องการความปลอดภัยของตนเองและครอบครัวเป็นอันดับแรก เพราะสถานการณ์รุนแรงขึ้น ปืนคือความต้องการเป็นอันดับแรก 


แต่สำหรับการควบคุมอาวุธปืนมิให้นำไปใช้ในทางที่ผิด ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีระบุว่า ทางฝ่ายปกครองมีมาตรการควบคุมจำนวนกระสุนปืน และจะมีการบันทึกตัวเลขกระสุนสำหรับผู้ที่ครอบครองอยู่แล้ว


เขาบอกว่าถ้าประชาชนอยากได้ปืน ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายอำเภอ แต่หากทำตามระเบียบการที่วางไว้ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะอนุญาตให้ครอบครองได้ ระเบียบการที่ว่าคือ ให้ดูจากความจำเป็นสำหรับการใช้ปืน ดูจากอาชีพ ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เคยมีอยู่แล้วกี่กระบอก ถ้ามากเกินไป ก็ไม่ดี ดูจากความประพฤติ ให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับรอง  และสุดท้ายให้ดูขนาดปืนที่ยื่นขออนุญาตว่า มีความเหมาะสมในการใช้อย่างไร

 

ส่วนความเห็นของ พล.ต.ท.เจตนากร นภีตะภัฏ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ยังมองว่า มาตรการในการอนุญาตและพกพาปืนของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงอยู่ในมาตรฐานปกติ มีขั้นตอนการขออนุญาตต่อฝ่ายปกครองเหมือนทั่วไป ส่วนคนที่จะพกพาก็ต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งไม่น่าจะเกิดปัญหาใดๆ


อย่างไรก็ตามผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค
9 ยังอดหวั่นวิตกไม่ได้ว่าการที่ประชาชนในพื้นที่ครอบครองอาวุธปืนไว้เป็นจำนวนมากก็เป็นดาบสองคมเช่นเดียวกัน เพราะหากไม่สามารถควบคุมการใช้ให้รัดกุมก็จะทำให้ควบคุมพื้นที่ได้ยาก


เมื่อมองถึงความสำคัญของอาวุธปืน กระแสความต้องการของคนไทยพุทธมีมากกว่า ด้วยเหตุผลที่บอกว่าตนเองคือเหยื่อ ถูกคุกคามเอาชีวิตไม่เว้นแต่ละวัน ฝ่ายรัฐไม่สามารถปกป้องคุ้มครองพวกเขาได้ ฉะนั้น
"ปืน" จึงเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่เขาเลือกจะเชื่อและหยิบมาใช้ อย่างที่ ลุงริ่น สดศรี บอกว่า คนไทยพุทธในตำบลเปียน อ.สะบ้าย้อย ถึงกับท่องคำขวัญว่า "หลับเถิดตำรวจจ๋า ชาวประชาชนจะคุ้มภัย" แปลงจากคำขวัญ "หลับเถิดชาวประชา ตำรวจกล้าจะคุ้มภัย" ของกรมตำรวจในอดีตให้ได้ยินได้ฟังมานานแล้ว


สะท้อนถึงความไม่วางใจในการป้องกันและดูแลของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างชัดเจนที่สุด


ทั้งที่ในอดีต อาวุธปืน เปรียบดัง
"ดัชนีอำนาจรัฐ" เนื่องจากรัฐเป็นฝ่ายหยิบยื่นปืนให้กับประชาชน แต่เมื่อฉายภาพปัจจุบัน ปริมาณของปืนกลับสวนทางกับนิยามในอดีตอย่างสิ้นเชิง เมื่อปริมาณของปืน บ่งบอกถึงความอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพของอำนาจรัฐ


ประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ที่ปรึกษาสมาพันธ์ครูจังหวัดจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ความเห็นว่า ความต้องการปืนเกิดจากความล้มเหลวของรัฐ ที่ไม่สามารรถปกป้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ และเป็นตัวชี้ระดับความรุนแรงของสถานการณ์


เขาบอกว่าการครอบครองและพกพาอาวุธปืนของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ยังไม่น่าเป็นห่วงเพราะเป็นการอนุญาตในทางปฏิบัติ แต่ในทางกฏหมายยังเหมือนเดิมทุกอย่าง ทุกคนไม่สามารถใช้ปืนตามอำเภอใจได้ 


แต่กรณีของฝั่งชาวมุสลิมนั้น จะมีปรากฏปฏิกิริยาต่อปืนในอีกทางหนึ่ง พวกเขาเลือกที่จะปฏิเสธอาวุธปืนเป็นส่วนใหญ่ เพราะเชื่อว่าปืนคือสิ่งที่จะนำอันตรายมาสู่ตน ในอดีตหน่วยจัดตั้งภาคประชาชนอย่าง ชรบ.เคยแห่แหนนำปืนไปคืนให้ทางการมาแล้ว เพราะเกิดกรณีการถูกปล้นอาวุธปืนจากฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ และยังถูกทางราชการตั้งข้อสงสัยว่าสมรู้ร่วมคิดกับฝ่ายแนวร่วมด้วย แต่คนมุสลิมอีกส่วนหนึ่งก็ยังต้องการอาวุธปืนไว้สำหรับป้องกันตนเองเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคนที่ทำงานราชการ หรือมีบทบาทอยู่กึ่งกลางระหว่างรัฐและประชาชน


ประสิทธิ์บอกว่าจุดอ่อนสำคัญ
2 ประการสำหรับประชาชนผู้ถือปืนคือ เสี่ยงต่อการเป็นเป้าหมายของฝ่ายผู้ก่อการและความไม่สันทัดในการใช้อาวุธปืน เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ เมื่อถูกโจมตี คนเหล่านี้ก็มักจะใช้ปืนไม่ทัน ท้ายที่สุดก็ต้องเสียไปทั้งคนและปืน


ซึ่งจุดนั้นก็จะอันตรายไปอีกขั้น เพราะปืนของคนบริสุทธิ์ จะถูกนำมาสังหารคนบริสุทธิ์ล้มตายอีกมากมายดังที่เกิดขึ้นทุกวันนี้

 

ตอนที่ 3. สถานการณ์ใต้กับผลประโยชน์ธุรกิจค้าปืน


"ที่ใดมีสงครามที่นั่นมีคนได้ผลประโยชน์จากสงคราม" อดีตเจ้าของร้านขายปืนที่ผันตนเองออกจากธุรกิจดังกล่าวมานานเกือบสิบปีให้กล่าว ปัจจุบันเขาอยู่ในชมรมกีฬายิงปืนแห่งประเทศไทย ซึ่งยังคลุกวงในอยู่กับธุรกิจค้าปืนอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น


เขา ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอาวุธปืนถูกกฎหมายอยู่ในความครอบครองของพลเรือนมากกว่า
4,000,000 กระบอก ส่วนใหญ่เป็นปืนพกสั้น และมีปืนเถื่อนอยู่ไม่เกิน 2-3 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนปืนทั้งหมด แต่ในกรณีของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบนั้น เขาไม่สามารถระบุได้ เพราะมีข่าวว่า ปืนจำนวนหนึ่งที่ถูกนำมาก่อเหตุ เป็นปืนที่นำเข้ามาจากชายแดนฝั่งตะวันออกของประเทศไทย และยังมีอาวุธปืนที่ผ่องถ่ายระหว่างกันกับเครือข่ายผู้ก่อการร้ายในประเทศที่มีปัญหาความไม่สงบ ซึ่งไม่มีข้อมูลหลักฐานว่าจริงเท็จอย่างไร


ตามฐานข้อมูลของกรมศุลกากร การนำเข้าอาวุธปืนมาในประเทศไทยปี
2549 มีจำนวนราว 55,000 กระบอก โดยรวมปืนทุกชนิด ตั้งแต่ขนาด.357, 5.5 ม.ม., 6.35 ม.ม., 7.65 ม.ม., 9.00 ม.ม., 11 ม.ม. ปืนพกสั้นอื่นๆ รวมทั้งปืนลูกซองและ ไรเฟิล

อดีตเจ้าของร้านขายปืนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การนำเข้าปืนถูกกฏหมายของประเทศไทย เป็นไปตามโควต้าที่ทางราชการกำหนดให้ ร้านปืนแต่ละร้านจึงมีโควต้าของตนเอง ที่กำหนดให้ 1 โควต้า สามารถนำเข้าปืนสั้นได้ 30 กระบอก และปืนยาว 50 กระบอก ร้านปืนแต่ละร้านอาจมีโควต้าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย และ "เส้นสาย" ของเจ้าของร้านปืนกับผู้มีอำนาจในกระทรวงฯ ด้วย


แต่การนำเข้าอาวุธปืนตามโควต้าของร้านปืน ยังไม่เท่ากับ
"ปืนสวัสดิการ" ที่กระทรวงมหาดไทยสั่งตรงเข้ามา ที่เขาระบุว่ามากกว่าจำนวนโควต้าทั้งหมดที่ร้านปืนทุกร้านรวมกัน โดยเฉพาะหลังจากปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ทวีความรุนแรงขึ้น ปืนสวัสดิการโดยการอนุมัติของกระทรวงมหาดไทยถูกสั่งตรงเข้ามาเป็นจำนวนมากและเป็นระลอกๆ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับข้าราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การสั่งนำเข้าก็ต้องสั่งผ่าน "เอเย่นส์" อีกทอดหนึ่ง


เรื่องปริมาณปืนในประเทศไทย อดีตเจ้าของร้านปืนรายดังกล่าวให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องของ
Demand และ Supply ตามหลักเศรษฐศาสตร์ เมื่อมีความต้องการใช้เกิดขึ้น การนำเข้าก็เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำค่อนข้างสูง เพราะเมื่อเปรียบเทียบจำนวนปืนกับความต้องการในปัจจุบันแล้ว ปริมาณปืนจึงมีอยู่น้อยมาก


"ยิ่งเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ คนยิ่งต้องการซื้อปืนมาก ปืนที่มีอยู่น้อยก็ถูกปรับราคาขึ้นสูงลิ่ว คนที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ คือเจ้าของร้านขายปืนต่างๆ นั่นเอง" เขากล่าว


เขาระบุว่า ปืนสั้นบางยี่ห้อ ราคาจริงขณะนำเข้าเมื่อบวกภาษีแล้วอยู่ที่ประมาณ
20,000 บาทแต่ราคาขายอยู่ที่ 60,000 บาท กำไรที่ร้านปืนได้ จึงมากกว่าราคาจริงถึง 2 เท่าตัว เท่ากับเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชน


ในฐานะอดีตเจ้าของร้านขายปืน ที่คลุกคลีกับธุรกิจดังกล่าวมามากกว่า
20 ปี เขาบอกว่าราคาปืนในปัจจุบันราคาแพงจนเกินไป เขาเคยร้องเรียนเรื่องดังกล่าวไปยังผู้รับผิดชอบแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ


"ราคาขายจริง 60,000 บาท แต่เปิดเบิลแค่ 20,000 บาท และลูกค้าทุกคนก็ไม่มีใบเสร็จ เพราะสำหรับการค้าขายอาวุธในปัจจุบันจะไม่มีการง้อลูกค้า เขาถือว่าการซื้อปืนคือความจำเป็นที่จะต้องใช้ ยิ่งในสถานการณ์ภาคใต้ยิ่งคนต้องการมาก แต่ทุกอย่างขึ้นอยู่กับร้านปืน ทุกวันนี้ผลประโยชน์ที่ควรจะเป็นรายได้ของรัฐกลับตกอยู่ในมือของพ่อค้าปืนกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มหนึ่งที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย"


เขาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในอดีตการขอใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนขึ้นอยู่กับกรมทะเบียนกรมตำรวจ ในช่วงที่โอนย้ายไปให้กับกรมการปกครองใหม่ๆ เคยเกิดกรณีที่นายกสมาคมร้านปืนจับมือกับข้าราชการในกรมการปกครอง บอกกับประชาชนว่าหากจะขอใบอนุญาตต้องผ่านร้านปืนก่อน ร้านปืนจะเรียกเก็บเงินกระบอกละ
4,000 - 5,000 บาทเป็นค่าวิ่งเต้นมาแล้ว ซึ่งจะเห็นว่า ธุรกิจประเภทนี้ยังมีช่องทางหาประโยชน์ได้อยู่เสมอ


แม้แต่การใช้ปืนหาประโยชน์จากสถานการณ์ภาคใต้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปลายปีที่แล้วอาวุธปืนในคลังตำรวจที่จังหวัดขอนแก่นถูกยักยอกไปโดยตำรวจกลุ่มหนึ่งนำไปขายที่
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำไปตกแต่งและสวมทะเบียนใหม่ขึ้นมาเพื่อหลอกขายประชาชน เรื่องมาแตกเอาตอนที่ทางอำเภอนำเลขทะเบียนไปตรวจสอบกับต้นขั้วแล้วไม่เจอ ซึ่งปัจจุบันนี้การทำเช่นนี้อาจจะยังมีอยู่โดยฝีมือของคนในเครื่องแบบเอง เพราะคลุกคลีใกล้ชิดกับอาวุธปืนมากที่สุด จึงน่าจะเป็นคำตอบว่าปืนเถื่อนส่วนหนึ่งในภาคใต้ที่อยู่ในมือประชาชนมาจากไหน


เขาบอกว่า เมื่อปืนถูกลำเลียงเข้าสู่สงครามคนที่ได้ประโชน์จากสงครามก็จะอยู่ในเงามืด ไม่มีใครรู้ว่ามีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ไปจากธุรกิจประเภทนี้เท่าไหร่ หากใครไปถามร้านหรือเอเย่นส์ว่าปัญหาภาคใต้ทำให้เงินในกระเป๋าของเขาเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน เขาจะไม่มีวันบอก แถมคนถามยังจะถูกด่าอีกด้วยซ้ำ


เขาตั้งข้อสังเกตว่า ตั้งแต่อดีตภาคใต้ถือเป็นตลาดปืนที่ใหญ่มาก คนใต้คือลูกค้ารายใหญ่ของร้านขายปืน  แต่เหตุใดเมื่อเกิดความไม่สงบ จึงยังมีคนมาซื้อหาอาวุธปืนเพิ่มขึ้นตลอด ปืนที่เคยซื้อไว้หายไปไหน?


และยังตั้งข้อสงสัยว่า หลายคนที่ถูกยิงมีปืนเหน็บอยู่กับเอวตนเอง ทำไมจึงไม่สามารถนำออกมาใช้ได้ จึงตั้งคำถามว่าการฝึกฝนเพื่อการใช้อาวุธปืน ยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประชาชนทุกคน จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ที่ต้องหาทางฝึกอบรมให้กับคนเหล่านี้ เพราะแทนที่จะมีปืนสำหรับป้องกันตนเอง กลับกลายเป็นของแถมให้กับฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ

 

ตอนที่4. (จบ) ติดอาวุธสู้ไฟใต้ หนทางเสื่อมถอยหรือปูทางสร้างสันติ?


เสียงร่ำลือเรื่องคนไทยพุทธเริ่มต้นตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อสู้กับฝ่ายกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันเริ่มหนาหูขึ้นเรื่อยๆ คำร่ำลือภายในชุมชนมุสลิมกลายเป็นเรื่องเล่าที่ทรงอำนาจ สร้างความหวาดระแวง และระแวดระวังคนไทยพุทธมากขึ้น


แม้จะยังไม่มีใครมองเห็นกับตาว่า กองกำลังที่ว่ามีจริงหรือไม่ แต่เสียงดังกล่าวได้สะท้อนความรู้สึกแปลกแยกกับคนไทยพุทธได้พอสมควร บางคนถึงขนาดบอกว่า คนไทยพุทธกำลังตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อ
"เอาคืน" คนมุสลิม หลังจากคนไทยพุทธตกเป็นเหยื่อในการสังหารของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ


มีกระแสข่าวมากมายระบุว่ามีกองกำลังติดอาวุธในภาคประชาชนอยู่จริงโดยการสนับสนุนของเจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงาน เพื่อลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง สิ่งที่หลายคนตั้งคำถามคืออาวุธปืนที่อยู่ในมือของกลุ่มคนเหล่านี้จะถูกใช้ไปในทิศทางใด รวมทั้ง
"ท่าที" ต่ออาวุธปืนของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้


คำถามเรื่อง
"ท่าที" ต่ออาวุธปืนมีหลายเหตุที่สามารถอธิบายทำความเข้าใจได้ แต่ผลสรุปของนักวิจัยด้านปืนศึกษารายหนึ่งน่าสนใจอย่างยิ่ง เธอสะท้อนว่ามีอีกหลายวิธีที่มนุษย์สามารถแก้ไขปัญหาได้ผลมากกว่าปืน แต่เมื่อไหร่ที่มีปืนกรอบความคิดในการแก้ปัญหาก็แคบมากขึ้น


"ปืนไม่ได้เป็นแค่วัตถุชิ้นหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาบางอย่างของตนเองได้สัมฤทธิ์ผล ยังมีอีกหลายวิธีหลายแนวทางที่ทำได้ผลมากกว่าปืน และยังสร้างความสงบสุขได้อย่างยั่งยืนมากกว่า" เธอกล่าว และว่าอาวุธปืนในมือของมนุษย์มันจะเป็นเพียงเศษเหล็กชิ้นหนึ่ง หากจิตใจของผู้เป็นเจ้าของอยู่เหนือกว่าและควบคุมมันได้ แต่มันจะมีชีวิตมีความรู้สึกเช่นเดียวกับเจ้าของ หากอาวุธปืนเข้าไปควบคุมอารมณ์ความรู้สึกและอยู่เหนือกว่านายตนเอง มันจะแสดงออกเช่นเดียวกับผู้ที่ถือมันอยู่ และพร้อมจะระเบิดออกมา เมื่อถูกปัจจัยแวดล้อมตกกระทบรุนแรง


เธอขยายความให้เห็นภาพว่า อย่างกรณีที่เจ้าของบ้านยิงโจรที่เข้าไปขโมยจตุคามรามเทพตายอย่างน่าอนาจ กลายเป็นข่าวดังที่คนหันไปสนใจรุ่นขององค์จตุคามรามเทพ และความตายของโจรก็กลายเป็นความชอบธรรมทั้งในแง่ของความรู้สึกและความชอบธรรมในแง่ของกฏหมาย สังคมมองว่าก็เพราะผู้ตายเป็นโจรที่จะเข้าไปขโมยองค์จตุคาม ซึ่งเป็น
"สินค้า" ราคาสูงลิ่ว มีค่างวดราคามากมายที่ใครก็ยังต้องการ แต่คนไม่ได้ตั้งคำถามว่า นอกจากการยิงโจรคนนั้นทิ้ง เรายังจะมีวิธีการอื่นอีกไหมที่จะจัดการกับเขา นอกจากใช้ปืน ถ้าเจ้าของจำรูปพรรณสัณฐานของคนร้ายได้แล้วตะโกนบอกว่า เราเห็นคุณแล้วนะ ตำรวจกำลังมา โจรคนนั้นก็จะวิ่งหนีไป ค่อยสืบตามไปจับภายหลังก็ได้ นี่ก็เป็นวิธีการจัดการกับปัญหาโดยไม่ต้องใช้ปืนหนทางหนึ่ง 


เธอบอกว่าอาวุธปืนเป็น
"อำนาจเชิงสัญญะ" แค่ยิงขึ้นฟ้า มนุษย์ทุกคนก็รู้สึกกลัวจนหัวหดแล้วโดยไม่จำเป็นต้องเล็งศูนย์ไปยังเป้าหมายด้วยซ้ำ แต่น่าเป็นห่วงบางคนที่รู้สึกว่าการที่ตนเองยิงคนตาย ด้วยเหตุผลเพราะคนนั้นเป็นคนชั่ว เป็นภัยคุกคามต่อสังคม เป็นโจรที่มาสร้างความเดือดร้อนให้ตนเอง การคิดเช่นนี้ทำให้การยิงคนตายไปหนึ่งคน ตนเองจะได้ไม่ต้องมารู้สึกผิด  


เธอยอมรับว่าปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ปืนยังเป็นความจำเป็นในระดับของการป้องกันตนเอง แต่ไม่ใช่กรณีของการติดอาวุธเพื่อลุกขึ้นสู้กับฝ่ายผู้ก่อการ เพราะกรณีเช่นนั้นนอกจากปัญหาจะบานปลายจนมองไม่เห็นทางออกแล้ว ความรุนแรงก็จะเพิ่มมากขึ้นอีกหลายระดับ


แต่ปัญหาสำคัญคือ ความ
"สมดุลทางอำนาจ" ระหว่างผู้มีปืนและไม่มีปืน โดยเธอยกกรณีของปัญหาใน อ.สะบ้าย้อยให้เป็นกรณีตัวอย่าง


"การที่ฝ่ายหนึ่งมีอาวุธ หรือได้รับการสนับสนุนจากรัฐให้มีอาวุธ เเละอีกฝ่ายไม่มี เเละไม่ได้รับการสนันบสนุนจากรัฐให้มีอาวุธจะทำให้ฝ่ายที่ไม่มีอาวุธ รู้สึกว่าตนเองถูกเเบ่งเเยก ไม่ได้รับยุติธรรม หรือถูกมองว่าเป็น "ศัตรู" กับรัฐหรือไม่ การติดอาวุธกับประชาชนบางกลุ่ม จะทำให้กลุ่มอื่นๆ ที่เเตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ ศาสนา เเละความเชื่อ รู้สึกว่าช่องว่างระหว่างทั้งสองกลุ่ม คือกลุ่มที่มีอาวุธ กับไม่มีอาวุธ ยิ่งกว้างขึ้น เเละเกิดความไม่ไว้วางใจกันหรือไม่"


เธอได้ตั้งคำถามว่าการเเข่งขันสะสม หรือครอบครองอาวุธ จะผลักดันให้ผู้ที่ไม่สามารถซื้อหาอาวุธที่ถูกกฎหมาย หันไปหาอาวุธที่ก้ำกึ่งระหว่างอาวุธถูกกฎหมายเเละผิดกฎหมาย หรืออาวุธผิดกฎหมาย เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับตนเองหรือไม่ ใครเป็นผู้ได้ผลประโยชน์ทางการค้า โดยตรงเเละผลประโยชน์แอบแฝง จากการเป็นผู้สนับสนุนให้รัฐบาลซื้ออาวุธเเจกจ่ายให้กลุ่มอาสาสมัครติดอาวุธ


สุดท้าย เธอตั้งคำถามอีกว่า
"การการแพร่กระจายอาวุธปืนไปสู่ประชาชนจะเกิดปรากฏการณ์เสพติดอำนาจเเละผลประโยชน์ โดยไม่สนใจการเเก้ปัญหาที่ไม่ใช้อาวุธเป็นหลักหรือไม่ หากรู้สึกว่าชุมชนเเละสังคมที่อยู่ไม่ปลอดภัย เคยถามตนเองเเละผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ว่า ใครควรจะรับผิดชอบปัญหาในการเเก้ไขปัญหานี้บ้าง รัฐเเละคนในชุมชนได้ทำความผิดพลาดอะไร จึงเกิด "ความไม่ปลอดภัย" ในสังคม การที่รัฐผลักภาระให้ประชาชนดูเเละความปลอดภัยของตัวเอง โดยการยื่นอาวุธให้ เเสดงว่ารัฐเเละเราทุกคนเองก็ล้มเหลว ในการสร้างสังคมที่ปลอด ภัยหรือเปล่า"


เป็นคำถามทิ้งท้าย จากคนที่ต้องการเห็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งภายในจังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมไทยโดยรวมปราศจากอาวุธปืน เพื่อจะได้มีสันติสุขที่แท้จริงและยั่งยืน.