อสนียาพร นนทิพากร
“ปอเนาะสีเทา” เรื่องสั้นรางวัลชมเชยในโครงการ“เรื่องดีๆ ที่บ้านเรา ประจำปี 2557” โดยกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเขียนโดย อับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด บล็อก AwanBook ได้นำมาเผยแพร่ใน www.deepsouthwatch.org ซึ่งหากท่านผู้อ่านยังไม่ได้อ่านว่างๆ ลองเข้าไปอ่านกันดูครับ
เป็นเรื่องสั้นที่เขียนได้ดีมาก ผู้เขียนมีจินตลีลาผูกเรื่องราวได้อย่างลงตัว และมีความกลมกลืน ผมได้อ่านแล้วรู้สึกคล้อยตาม เสมือนหนึ่งว่าตัวอักษรที่เรียงร้อยถ้อยคำอยู่ตรงหน้ามีชีวิต กระตุ้นต่อมจินตนาของผมประหนึ่งอยู่ร่วมเหตุการณ์ปิดล้อมโรงเรียนปอเนาะในวันนั้น
เดินเรื่องฉากแรกในยามอรุณรุ่ง ตำรวจ ทหารอาวุธครบมือบุกจู่โจมปิดล้อมโรงเรียนปอเนาะ เหนือท้องฟ้าเสียงเฮลีคอปเตอร์แบล็กฮอว์ก บินวนเวียนตรวจการณ์ ประดุจฉากหนึ่งในหนังสงครามของ Hoolywood มีตัวละครเล่นไปตามบทบาทของตัวเองตามที่ได้มีการผูกเรื่องราวขึ้นมาเพื่อชวนให้น่าติดตาม
ตัวเอกของเรื่อง“ปอเนาะสีเทา”คงหนีไม่พ้น‘โต๊ะครูอับดุลการีม’ที่ถูกผู้ร้ายในเรื่องบุกจู่โจมปิดล้อมโรงเรียนปอเนาะอัดดีนุลอิสลามของตัวเอง ส่วน‘อามีน มามะ’นักเรียนผู้อยู่ในโอวาทของโต๊ะครู มิเคยเกเรออกนอกลู่นอกทางเหมือนคนอื่น ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน สุดท้ายได้หันหน้าเข้าสู่ขบวนการเนื่องจากความเก็บกดเคียดแค้นที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เขารู้สึกตอนที่ถูกปฏิบัติในวันนั้น และได้หายสาบสูญไปไม่มีใครรู้ข่าวคราว มีเพียงข่าวที่เล็ดลอดมาว่าชื่อของเขาถูกขึ้นบัญชีอยู่ในข่ายผู้ต้องหาในคดีความมั่นคง ผ่านไปห้าปีมีเพียงจดหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งมายังครอบครัวว่า นายอามีน มามะ มีความผิดในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนพกพาในที่สาธารณโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นคดีที่เก้าในรอบห้าปีของผู้ต้องหา ขอให้ผู้ปกครองหรือญาตินำผู้ต้องหาไปทำการมอบตัวต่อเจ้าพนักงานโดยเร็วที่สุด
นอกจากนั้นเนื้อหาของเรื่องเป็นการสื่อถึงการกระทำของผู้ร้ายในเรื่อง ซึ่งนำทีมโดยผู้การยศพันเอก ที่เข้าประกบตัวโต๊ะครูอับดุลการีม ถือหมายตรวจค้นปอเนาะและคอยชี้แจงเหตุผลการเข้าตรวจค้นและสั่งการลูกน้องอยู่ตลอดเวลา
การจงใจสื่อให้เห็นถึงการใช้ถ้อยคำหยาบคายของเจ้าหน้าที่ทหาร ใช้คำสบถด่าทอนักเรียนปอเนาะ พร้อมกับถ่มน้ำลายรดหน้า‘อามีน’ตัวเอกของเรื่อง ผู้ที่ได้อ่านต่างมีความรู้สึกในทันทีว่าเป็นการหยามเกียรติกันอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นที่มาของความเคียดแค้นชิงชังต่อเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งการสื่อให้เห็นกระบวนการเก็บข้อมูล เก็บตัวอย่าง DNA ตัวประกอบของเรื่อง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันนิติเวช (ซึ่งจริงๆ แล้วควรเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์มากกว่า มีการหลงบทซึ่งสถาบันนิติเวชเป็นสถาบันที่รักษาคนบ้า) สื่อให้เห็นเจ้าหน้าที่ตั้งข้อสงสัยกลุ่มนักเรียนกัมพูชา และมีการผูกเรื่องการพูดจาโต้ตอบไปมาระหว่างโต๊ะครูและผู้ร้ายในเรื่อง
ผู้เขียนสรุปเนื้อหาสำคัญ เพียงบางช่วงบางตอน พอให้มองเห็นภาพการนำเสนอของบทความเรื่องนี้ส่วนเนื้อหาเต็มๆ ต้องเข้าไปอ่านกันเอาเอง ไม่ได้เป็นการกล่าวหาและโต้ตอบอับดุลเลาะ วันอะฮ์หมัด ผู้เขียนแต่ประการใด เพียงแต่ต้องการชี้แจงสร้างความเข้าใจต่อท่านผู้อ่านให้เข้าใจถึงกระบวนการปิดล้อมตรวจค้นไม่ได้กระทำตามอำเภอใจ อยู่บนหลักของเหตุและผล ข้อมูลเชื่อมโยงที่มีความรัดกุมเพียงพอจึงจะตัดสินใจเข้าดำเนินการ และจากนโยบายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่อการปฏิบัติในสถานศึกษาหรือมัสยิด ซึ่งเป็นจุดอ่อน ล่อแหลมต่อการสร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา อย่างไรก็ตามผู้นำศาสนา, ผู้นำชุมชนจำเป็นต้องเข้าร่วมการตรวจค้นกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดที่จะตามมา
บทความ“ปอเนาะสีเทา” มีเนื้อหาที่มีการบิดเบือน แต่งเติมเพิ่มสีสันลูกเล่นในการนำเสนอมีอรรถรสในการอ่าน แต่มีการใส่ความ ใส่ร้ายเจ้าหน้าที่เต็มๆ และมีเจตนาจงใจต้องการที่จะสื่อสารต่อสาธารณะให้เกิดความรู้สึก หวาดระแวง เกลียดชังเจ้าหน้าที่ ด้วยข้อมูลที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน
จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน“ปอเนาะ” มักจะได้ยินอยู่บ่อยครั้งจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน มีคำว่าปอเนาะเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการสั่งปิดโรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือปอเนาะญิฮาด อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549 และ “ปอเนาะสะปอม” หรือ “โรงเรียนอิสลามบูรพา” หมู่ที่ 5 ตำบล กะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550
โรงเรียนทั้งสองแห่งเป็นตัวอย่างของการปิดล้อมของเจ้าหน้าที่ และผลตามมาคือถูกศาลแพ่งออกคำสั่งให้เป็นผู้ถูกกำหนดตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย มีผลทำให้ถูกอายัดทรัพย์ไว้เป็นการชั่วคราวและขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
โรงเรียนญิฮาดวิทยา โดนซัดทอดจากการซักถามผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแหล่งซ่องสุมการฝึกฝนการต่อสู้เมื่อปี พ.ศ.2546 ก่อนที่จะเข้าทำการปล้นอาวุธปืนที่ค่ายปิเหล็ง กองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาส ส่วนโรงเรียนอิสลามบูรพา บุคลากรทางการศึกษาอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงการก่อการร้ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โรงเรียนปอเนาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หากนับจำนวนทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนจะมีหลายพันโรง และเป็นอุปสรรคและปัญหาในการควบคุมเป็นสิ่งที่ยากต่อการตรวจสอบและเข้าถึงของเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการไม่มีมาตรฐานและศักยภาพพอที่จะดำเนินการควบคุมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้กลายเป็นช่องทางให้กลุ่มขบวนการใช้เป็นแหล่งซ่องสุมกำลัง วางแผน สั่งการ ฝึกฝนการต่อสู้ เป็นแหล่งผลิตวัตถุระเบิดเพื่อทำการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โรงเรียนญิฮาดวิทยา ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ไฟใต้ จากการซักถามผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวซึ่งหนึ่งในนั้นให้การยอมรับว่ามีการฝึกฝนการต่อสู้ในพื้นที่นี้จริงเมื่อปี พ.ศ.2546 ก่อนที่จะเข้าทำการปล้นอาวุธปืนกองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 โดยใช้เทคนิคการฝึกแบบเข้มข้น ระยะเวลาในการฝึกเพียงแค่ 26 วันเท่านั้น แต่สามารถเทียบหลักสูตรการใช้อาวุธการต่อสู้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 6 เดือน
สำหรับผู้ต้องสงสัยจำนวน 4 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเหตุปล้นอาวุธปืนกองพันพัฒนาที่ 4 จังหวัดนราธิวาส ที่ถูกเชิญตัวไปซักถามที่ค่ายอิงคยุทธบริหารอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี คือ นายอาดือนัน เจะอาแซ ลูกโต๊ะครูเก่า อยู่บ้านเลขที่ 16 หมู่ 3 ตำบลตะโละกาโปร์ นายมาซือลัม ดาแม อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ 6 ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี นายอับดุลเลาะ กะเจ อยู่บ้านเลขที่ 187 หมู่ 8 ตำบลตะโละกาโปร์ และนายแวฮาฟิซ แกตอง อยู่บ้านเลขที่ 126 หมู่ 8 ตำบลบางปอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งทั้งหมดเป็นนักศึกษาโรงเรียนปอเนาะญิฮาดวิทยาการ เมื่อมีการตรวจสอบหลักฐานพยาน วัตถุต่างๆ ที่ได้จากการตรวจค้นโรงเรียน นำมาซึ่งการสั่งปิดปอเนาะญิฮาด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2549
ตรวจค้นจับกุมผู้ต้องสงสัยเจออุปกรณ์ประกอบระเบิด ชุดวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เอกสารเชื่อมโยงการก่อเหตุ สั่งปิดโรงเรียนอิสลามบูรพาทันที เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550
โรงเรียนอิสลามบูรพาเป็นโรงเรียนประจำ มีครูเวรสลับกันทำหน้าที่ตรวจตราตั้งแต่เช้าถึง 23.00 น.ของทุกวัน มีการจัดระบบดูแลรักษาความปลอดภัยภายในโรงเรียน บุคคลภายนอกเข้าไปอาศัยอยู่ได้ย่อมต้องได้รับความช่วยเหลือหรือยินยอมจากผู้ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น จึงเชื่อว่ามีบุคลากรของโรงเรียน รู้เห็นเป็นใจให้ผู้ก่อเหตุรุนแรง เข้าไปพักอาศัยจนกระทั่งถูกตรวจค้นจับกุม
นี่คือผลผลิตของโรงเรียนปอเนาะที่ได้ปลุกฝังแนวความคิดที่ผิดแก่นักเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่าเหมารวมโรงเรียนปอเนาะทั้งหมด โรงเรียนที่ดีๆ ก็มีอยู่เยอะ ซึ่งถ้าหากฝ่ายผู้บริหาร ครู และอุสตาสของโรงเรียนปอเนาะฉาวดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวพันกับขบวนการโจรก่อการร้ายแล้ว โรงเรียนก็คงไม่โดนสั่งปิด ซึ่งตัวอย่างที่ได้จากการตรวจค้น อย่างเช่น
เอกสารขั้นตอนสู่ความสำเร็จ เป็นแผนผังลักษณะขั้นบันได 7 ขั้น ที่ตรวจพบในโรงเรียนปอเนาะญิฮาดวิทยา ซึ่งมีเนื้อหาเป็นแผนงานต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน (มีลักษณะเป็นข้อความเขียนด้วยลายมือเป็นภาษามลายู อักษรยาวี และนำมาโรเนียวเพื่อทำสำเนาเอกสารสำหรับแจกจ่าย) และมีบันทึกเพิ่มเติมเขียนด้วยลายมือ คล้ายกับเป็นการอธิบายขยายความ
หนังสือประวัติศาสตร์ และการต่อสู้ของรัฐปัตตานีภาษามลายู เขียนโดย อายะ บางนรา และ อับดุล ดาวูด หนังสือ เจมาห์ อิสลามิยา/แผ่นบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การฝึกของกลุ่มก่อการร้าย อัลไคด้า และตะปูเรือใบ ตรวจพบในโรงเรียนปอเนาะญิฮาดวิทยา เมื่อ 18 พ.ค.48
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ที่เชื่อว่านำไปประกอบระเบิด) ที่ตรวจพบภายในโรงเรียนปอเนาะอิสลามบูรพา บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกของร้านอีซีทีอิเล็กทรอนิกส์ สอบถามเจ้าของร้านได้รับการยืนยันว่าบุคคลที่โดนจับกุม มาซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากร้านอยู่บ่อยครั้ง
การปลูกฝังแนวความคิดบิดเบือนประวัติศาสตร์ การปลุกกระแสความรักชาติปาตานี ในลักษณะบิดเบือนภายในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม หรือโรงเรียนปอเนาะ ตาดีกา เพื่อให้เยาวชนมุสลิมมีความเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐ และชาวไทยพุทธยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง การเล่านิทานของเจ๊ะฆู ในโรงเรียนตาดีกาให้เด็กและเยาวชนฟังทุกๆ วัน ผ่านไปวันแล้ววันเล่าเด็กเหล่านี้ได้ซึมซับและฝังชิปความเกลียดชัง ทั้งหมดทั้งสิ้นที่กล่าวมาคือเหตุผล และเป็นที่มาทำไมเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องเข้าดำเนินการตรวจสอบโรงเรียนสอนศาสนาเหล่านี้ หากเราไม่ทำอะไรเลย ปล่อยเสรีให้มีการปลูกฝังแนวคิดที่ผิดๆ ต่อไป อะไรจะเกิดขึ้นกับเยาวชนคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ผลผลิตของโรงเรียนสอนศาสนาปัจจุบันนี้เริ่มแตกดอกออกผล หากพี่น้องประชาชนปาตานีต้องการเห็นสันติสุขไม่ต้องการความรุนแรง ช่วยกันหาต้นเหตุ“ปอเนาะสีเทา”ใคร? คือผู้ที่ระบายสีให้กับเด็กและเยาวชนต้องเปรอะเปื้อน โรงเรียนปอเนาะทั้งหมดต้องเสื่อมเสีย..ไม่ใช่เจ๊ะฆู โต๊ะครู อุสตาซ หรอกหรือ?....