Skip to main content

ปริมาณน้ำฝนในจังหวัดชายแดนใต้เริ่มลดลงแล้ว แนวทางการฟื้นฟูหลังจากนี้ ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนกำลังพูดถึง  รวมถึงการเตรียมความพร้อมของชุมชนในการจัดการภัยพิบัติในระยะยาว   ติดตามรายงานได้จากทีมข่าวพลเมือง(ออกอากาศวันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม 2557)

ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี เพิ่มสูงขึ้น หลังจากปริมาณน้ำฝนที่ตกต่อเนื่องในพื้นที่  รวมถึงการระบายน้ำจากเขื่อนบางลางจ.ยะลา ส่งผลให้หลายพื้นที่ติดแม่น้ำปัตตานีและที่ราบลุ่มหลายจุดได้รับผลกระทบน้ำท่วมขัง

แวหามะ แวกือจิก   ผู้อำนวยการมีเดียสลาตัน ข้อมูลจากการลงพื้นที่ พบว่า ในพื้นที่ฝนตกหนัก ที่หนักๆก็มีสี่อำเภอ เเม่ลาน ยะรัง อำเภอเมือง อำเภอหนองจิก จ.ปัตตานี  เป็นพื้นที่ก่อนที่จะลงทะเลจะผ่านจุดนี้เป็นน้ำจากยะลามา  ถือว่าหนักพอสมควรเเต่ว่ามีเดียทำงานปีนี้เน้นลุ่มน้ำปัตตานี  ถ้าเทียบทั้งหมดปะกาฮารังจะหนักที่สุด  เพราะว่าก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ลุ่มทุกหมู่บ้านของปะกาฮารังจม

 

อ.สมพร ช่วยอารีย์  นักวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มอ. ปัตตานี  ระบุว่า ในช่วงระหว่างวันที่  29 – 31 ธันวาคม ฝนตกหนักอยู่ที่มาเลเซีย ปริมาณฝนในสามจังหวัดชายแดนใต้ลดลงแต่ต้องดูข้อมูลต่อเนื่อง   การปล่อยน้ำจากเขื่อนบางลาง จะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำปัตตานีได้รับผลกระทบ 

แม้ในช่วงนี้ ปริมาณฝนเริ่มลดลงแล้ว  แนวทางการฟื้นฟูหลังจากน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งจะทำอย่างไร ที่จะให้ชุมชนเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นด้วยตัวเอง 

แวหามะ แวกือจิก   ผู้อำนวยการมีเดียสลาตัน  กล่าวต่อว่า จนถึงตอนนี้น้ำเริ่มลดเเล้วตั้งเเต่เมื่อวาน เมื่อคืนเป็นต้นมามีฝนอีกเราต้องดูความคืบหน้าประกอบกับน้ำในเขื่อนบางลางถึงปัตตานี  ตอนนี้เราเเก้ปัญหาเฉพาะหน้าอาหารกล่องดีที่สุดเเละเราก็เเจกจ่าย ปัญหาหลังจากนี้คิดว่าเป็นปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ ที่จะต้องประสานงาน 

อ.สมพร ช่วยอารีย์ นักวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มอ. ปัตตานี กล่าวต่อว่า ทุกวันคือการเตรียมความพร้อม ทำทุกวันให้เป็นวันปกติ บางทีเราเตรียมพร้อมก่อนพายุมา ก่อนฝนจะมา 3 วัน มันก็อาจจะไม่ทัน บางอย่างต้องเตรียมความพร้อมไว้ก่อน เช่นต้นไม้ต้องตัดกิ่งไว้บ้าง ถ้ามีพายุจะมา แทนที่เราจะโค่นโคนต้นไม้ เราก็จัดการให้ลมมันผ่านได้เพื่อให้ต้นไม้ยังอยู่กับเราแม้พายุจะผ่านไปแล้ว นี่ก็จะเรียกว่าเราสามารถจัดการได้ดีกว่าการทำลาย ถ้าเราวางแผนไว้ดีทำงานร่วมกันมีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ตัวประชาสังคม นักวิชาการ ตัวประชาชนเองในพื้นที่ นักข่าว สื่อทั้งหลายทำงานร่วมกัน กู้ภัย พยาบาล โรงพยาบาล ก็สามารถที่จะทำให้งานเชิงเครือข่ายที่มีศักยภาพสูงได้ นี่คือสิ่งที่เราวาดฝันไว้ว่าอยากเห็นภาพแบบนี้

แม้วันนี้ในบางพื้นที่ระดับน้ำจะเริ่มคลี่คลายลงแล้ว  สิ่งสำคัญหลังจากนี้ก็ยังคงติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด  เพื่อเตรียมรับมือในการจัดการภัยพิบัติในระยะยาว