Skip to main content

ตูแวดานียา ตูแวแมแง

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าวันที่ 4 มกราคม 2547 คือจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความขัดแย้งระลอกใหม่ที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย หลังจากที่ความเข้าใจของสังคมไทยและแม้กระทั่งฝ่ายความมั่นคงเองก็เข้าใจอย่างมีข้อสรุปว่าไฟใต้ได้ดับสนิทลงไปแล้ว

แต่สิ่งที่รัฐไทยและสังคมไทยไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็เกิดขึ้นจนได้

นั่นก็คือไฟใต้ก่อนปี 2547 ที่เงียบไปราวๆ 20 ปีอยู่ๆ ก็ได้ปะทุออกมาในรูปแบบการตอ่สู้ด้วยอาวุธต่อต้านรัฐไทย ซึ่งได้เริ่มด้วยเหตุการณ์อันเนื่องมาจากปฏิบัติการของฝ่ายต่อต้านได้ทำการปล้นอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่รัฐในค่ายทหารกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์หรือที่รู้จักกันในชื่อ"ค่ายปิเหล็ง"

แต่ในช่วงเวลานั้นทุกภาคส่วนในสังคมไทยยกเว้นฝ่ายความมั่นคงต่างไม่เชื่ออย่างสนิทใจว่าเป็นฝีมือของขบวนการต่อสู้เพิ่อเอกราชปาตานี ส่วนใหญ่โฟกัสไปที่สมมติฐานว่าน่าจะเป็นฝีมือของภาครัฐด้วยกันเองซึ่งขัดแย้งทางผลประโยชน์ทางการเมืองและปัญหายาเสพติด

แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลในช่วงนั้นก็ได้ประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นทางการในทันที

ปีแรกของบรรยากาศการต่อต้านด้วยอาวุธซึ่งเริ่มต้นด้วยการปล้นปินในค่ายทหารของกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐไทยซึ่งขณะนั้นทางภาครัฐยังไม่ได้สรุปว่าเป็นขบวนการชื่ออะไรอย่างชัดเจนแต่ภาครัฐเรียกรวมๆว่า"ขบวนการก่อความไม่สงบหรือโจรใต้"

แต่ก็ถือว่าเป็น"จุดเปลี่ยนแรก"ในทางการเมืองของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐส่วนกลางกับสังคมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้หรือปาตานี จากความสัมพันธ์แบบพลเมืองไทยที่ดีกับรัฐไทยที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง กลายเป็นเพิ่มความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งคือแบบแยกแยะชัดเจนว่า "ใครคือมิตรใครคือศัตรู"

โดยเฉพาะในปี 2547 นี้ได้มี 2 เหตุการณ์ความสูญเสียที่กระชากความสนใจของสังคมสาธารณะทั้งในและต่างประเทศมาตั้งคำถามกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน นั่นก็คือเหตุการณ์กรือเซะเมื่อ 28 เมษายน 2547 กับเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่ง 2 เหตุการณ์นี้ได้ทำหน้าที่การขยายความรู้สึกร่วมของสังคมสาธารณะด้วยตัวของมันเอง โดยเฉพาะสังคมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้หรือปาตานีนั้น ได้เกิดท่าทีของประชาชนในพื้นที่เริ่มมองภาครัฐอย่างไม่เป็นมิตรโดยปริยาย

ต่อมาปี 2548 ภาครัฐตัดสินใจประกาศบังคับใช้พรบ.ในสถานการณ์ฉุกเฉินหลังจากเหตุการณ์ปฏิบัติการปิดและเผาเมืองยะลาไม่กี่วัน

จากนั้นทางฝ่ายความมั่นคงของรัฐก็ได้ดำเนินการแผนยุทธการพิชิตบันนังสตาและพิทักษ์สุไหงปาดี เสมือนเป็นโมเดลตัวอย่างสำหรับพื้นที่อื่นๆซึ่งต้องใช้ความเข้มข้นของกิจกรรมทางการทหารในการ ไล่ล่า ปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม วิสามัญฆาตรกรรม ต่อกลุ่มเป้าหมายที่ทางฝ่ายข่าวกรองของรัฐเชื่อว่าเป็นสมาชิกกองกำลังขบวนการเพื่อเอกราชปาตานี จนบางพื้นที่ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากยุทธการดังกล่าวอย่างหนักจนต้องสูญเสียสมา่ชิกระดับนำของครอบครัวและบางคนต้องถูกจับกุมด้วยข้อหาที่ทางชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะเป็นเรื่องจริงได้

ส่งผลให้บางพื้นที่มีท่าทีต่อต้านแบบสันติวิธีด้วยการรวมตัวกันของผู้หญิงออกมาชุมนุมปิดถนนกันอย่างเงียบๆและปิดบังใบหน้า เพราะผู้ชายวัยฉกรรจ์ส่วนใหญได้่ถูกควบคุมตัวด้วยกฎหมายพิเศษและที่ยังไม่ถูกควบคุมตัวก็มีหมาย พรบ.ฉุกเฉิน

โดยสรุปแล้วภาพรวมผลลัพธ์ของจุดเปลี่ยนแรกต่อสถานการณ์ชายแดนภาคใต้หรือปาตานีซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อ 4 มกราคม 2547 คือสังคมสาธารณะทั่วไปทั้งในและต่างประเทศได้เห็นภาพความขัดแย้งซึ่งแสดงออกด้วยการต่อต้านของกลุ่มขบวนการไม่ทราบชื่อชัดเจนกับการปราบปรามของภาครัฐด้วยกิจกรรมทางอาวุธกันอย่างเข้มข้นของทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก และโดยรวมสภาพพื้นที่ความขัดแย้ง ณ เวลานั้น จำกัดเฉพาะเพียงกิจกรรมทางอาวุธอย่างเดียว

ฝั่งภาคประชาชนพยายามใช้กิจกรรมทางการเมืองด้วยวิธีการชุมนุมประท้วงก็ไม่เป็นที่ยอมรับอย่างชอบธรรมของภาครัฐและสังคมสาธารณะ

กล่าวคือผลพวงของจุดเปลี่ยนแรกนั้น ได้ก่อให้้เกิดสภาพประชาชนและภาครัฐตกอยู่"ภายใต้บรรยากาศการสู้รบแบบกองโจรของฝ่ายต่อต้านรัฐอย่างเต็มรูปแบบ"

ส่วนภาคประชาสังคม องค์กรเอ็นจีโอและนักศึกษาปัญญาชนยังไม่ได้มีบทบาทร่วมโดยตรงกับการพยายามสร้างสันติภาพหรือการเรียกร้องความเป็นธรรมและการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบแต่อย่างใด"

ขณะเดียวกันภาคประชาชนโดยเฉพาะชาวบ้านตามชุมชนต่างๆที่ฝ่ายความมั่นคงได้จัดวางให้เป็นเขตพื้นที่สีแดงนั้น พวกเขาเป็นได้แค่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบและจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษจนสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าพวกเขาจะพยายามด้วยวิธีการชุมนุมแบบปิดหน้าหลายต่อหลายครั้งและรวมตัวกันลี้ภัยข้ามไปฝั่งประเทศมาเลเซียก็ตาม "ภาครัฐก็มองแค่เพียงว่าพวกเขาคือมวลชนจัดตั้งหรือแนวร่วมหรือสมาชิกของขบวนการโจรใต้ที่ได้กระทำความผิดต่อกฎหมายแห่งรัฐธรรมนูญไทยอย่างร้ายแรงซึ่งไม่สามารถยอมความได้เท่านั้น"

จนกระทั่งสถานการณ์การสู้รบเดินทางเข้าสู่ปีที่ 4 ของบรรยากาศการรบแบบกองโจรนั่นคือปี 2550 ท่ามกลางความห่วงกังวลของสังคมในภูมิภาคอาเซียนและสังคมโลกต่อสถานการณ์การสู้รบแบบกองโจรที่ไม่ทีท่าว่าจะสงบด้วยตัวของมันเองได้ในเร็ววันและนับวันกิจกรรมการใช้อาวุธตอบโต้กันไปมาของทั้งสองฝ่ายก็ยกระดับความเข้มข้นและระดับความสูญเสียมากขึ้นเรื่อยๆ

อยู่ๆเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 ก็ได้มีการชุมนุมเรียกร้องรัฐให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษและถอนทหารออกนอกพื้นที่ อีกทั้งยังขอให้รัฐตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมต่อกรณีชาวบ้านในพื้นที่ถูกลอบทำร้ายจนเสียชีวิตซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเหล่านิสิตนักศึกษาจากในพื้นที่ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆโดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงเสียส่วนใหญ่

กลุ่มนิสิตนักศึกษาดังกล่าวเรียกตัวเองว่า "เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน" ล้อไปกับ "ศูนย์พิทักษ์ประชาชน"เมื่อปี 2518 ในเหตุการณ์การชุมนุมประท้วง 45 วัน ที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ต่อกรณีสะพานกอตอ   

ไม่น่าเชื่อว่าชาวบ้านประชาชนในพื้นที่ประมาณ 10,000 คน ก็ได้ร่วมกันชุมนุมกับนักศึกษาที่มัสยิดกลางปัตตานีเช่นกัน

ภายใต้ชื่อ "ศูนย์ประสานงานนักศึกษาและประชาชนชายแดนภาคใต้"

วันที่ 5 ของการชุมนุมคือวันที่ 4 พฤษภาคม 2550 ทางเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนและศูนย์ประสานงานนักศึกษาและประชาชนชายแดนภาคใต้ ก็ได้ตัดสินใจสลายการชุมนุมอย่างสงบสันติโดยสมัครใจ เนื่องด้วยพอใจกับข้อตกลงจากการเจรจากับตัวแทนภาครัฐ ที่เสนอจะจัดตั้ง"คณะกรรมการแสวงหาความจริง"ต่อกรณีเหตุการณ์ที่ชาวบ้านได้รับความสูญเสียซึ่งทางนักศึกษาได้รวบรวมและนำเสนอให้ตรวจสอบทั้งหมด 21 เหตุการณด้วยกัน แต่ประชุมได้ 1 ครั้งคณะกรรมการชุดนี้ก็สลายไปโดยปริยาย เพราะทางตัวแทนภาครัฐอ้างว่าไม่มีงบประมาณจากรัฐในการสนับสนุน

แม้ว่าข้อเรียกร้อง 10 ข้อของผู้ชุมนุมจะไม่ได้รับการยอมรับได้ของทางภาครัฐ แต่สถานะของการชุมนุมซึ่งใช้เวลา 5 วันของนักศึกษาและประชาชนที่เรียกตัวเองว่า เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนและ ศูนย์ประสานงานนักศึกษาและประชาชนชายแดนภาคใต้ ที่ได้สลายการชุมนุมด้วยตัวเองอย่างสงบตามหลักการ "สันติประชาธรรม"และไม่มีฝ่ายเจ้าหน้าที่มาใช้ความรุนแรงเหมือนเหตุการณ์ตากใบนั้น ถือได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับภาคประชาชนได้ทำการพิจารณาเลือกท่าทีหรือวิธีการเพื่อกำหนดบทบาทการมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพและปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเรียกร้องความเป็นธรรม

ท่ามกลางสภาพบรรยากาศของสถานการณ์การสู้รบแบบกองโจรตลอดระยะเวลา 3 ปีก่อนหน้านั้นถูกผูกขาดด้วยพื้นที่ของกิจกรรมการใช้อาวุธกันของทั้งสองฝ่ายทั้งขบวนการฯและรัฐส่งผลให้สังคมในพื้นที่แทบจะหมดหวังกับการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี แต่พื้นที่ทางการเมืองที่เป็นที่ยอมรับของรัฐและสังคมสาธารณะก็เกิดขึ้นจนได้นั้น ถือได้ว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็น "จุดเปลี่ยนที่ 2" ในทางการเมือง

ผลของจุดเปลี่ยนที่ 2 นี้ ได้เพิ่มตัวละครหรือผู้เล่นใหม่ในสนามความขัดแย้ง ที่มีบทบาทเฉพาะในสนามทางการเมืองด้วยกิจกรรมทางการเมืองแบบต่างๆอาทิเช่นกลุ่มงานการพัฒนาศักยภาพด้านความรู้เกี่ยวกับหลักกฎหมายพื้นฐานและหลักสิทธิมนุษยชนสากลให้ชาวบ้าน กลุ่มงานรณรงค์เพื่อยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ยุติการซัอมทรมานผู้ต้องสงสัยและผู้ตัองหา ยุติการฆาตกรรมนอกระบบยุติธรรม รณรงค์ให้รัฐเปิดพื้นที่ทางการเมือง รณรงค์การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพ รณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่มีความสามัคคีโดยใช้สโลแกน "Satu Patani" เป็นต้น

ตัวละครหรือผู้เล่นใหม่ดังกล่าวก็คือ "นักศึกษา"นั่นเอง

อิทธิพลของจุดเปลี่ยนที่ 2 นี้ ทำให้ภาคประชาสังคม กลุ่มองค์กรเอ็นจีโอและชาวบ้านมีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น เกิดรูปแบบกิจกรรมที่แสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองเชิงวิพากษ์สาธารณะมากขึ้น โดยผ่านงานเวทีอบรม เวทีเสวนาสัมมนาและ งานเขียนเชิงวิพากษ์ต่างๆ

จนกระทั่งช่วงปี 2554-2555 หลายๆคนที่เคยเป็นนักศึกษาร่วมชุมนุมที่มัสยิดกลางเมื่อปี 2550 ได้ผันตัวเองมามีบทบาทเป็นนักประชาสัมคมในประเด็นต่างๆบ้าง เป็นนักเขียนอิสระบ้าง แต่ยังคงมีการเคลื่อนไหวเชิงรณรงค์อย่างไม่ขาด ขึ้นอยู่กับภาววิสัยที่เหมาะสม ส่งผลให้ในช่วง 2 ปีนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เพดานการรณรงค์วาทกรรมทางการเมืองที่อ่อนไหวแต่แหลมคมมีความเข้มข้นมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะการรณรงค์วาทกรรมการกระจายอำนาจจากสำนักคิดต่างๆของนักวิชาการและนักประชาสังคมที่มีประสบการณ์สูง วาทกรรมการกำหนดชะตากรรมตนเองจากสำนักคิดของนักประชาสังคมรุ่นใหม่กับกลุ่มขบวนการนักศึกษาร่วมสมัย

การรณรงค์ดังกล่าวถือได้ว่าได้รับความสนใจจากเหล่านักวิชาการ นักประชาสังคมและแหล่งทุนจากองค์กรเอ็นจีโอทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันฝ่่ายความมั่นคงของรัฐก็มีการเดินสายการพูดคุยเจรจากับฝ่ายสมาชิกขบวนการเพื่อเอกราชปาตานีที่อยู่ในต่างประเทศอย่างไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ

เสมือนเป็นการเดินเกมกันแบบคู่ขนาน

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ได้มีการเปิดเผยการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการ  BRN ต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการ โดยมีรัฐมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุย

โดยรัฐไทยมีเงื่อนไขว่าต้องพูดคุยภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย ขณะเดียวกันฝ่าย BRN ก็มีเงื่อนไขให้รัฐปฏิบัติตามเงื่อนไข 5 ข้อและต้องผ่านมติเห็นชอบของรัฐสภาอีกทั้งต้องเป็นวาระแห่งชาติโดยการประกาศของนายกรัฐมนตรีิ

จากท่าทีของ BRN ที่ได้เสนอเงื่อนไข 5 ข้อซึ่งมีนัยยะโดยรวมคือ "ให้รัฐไทยและสังคมระหว่างประเทศยอมรับในสถานะทางการเมืองของขบวนการ BRN"

อย่างประจบเหมาะควบคู่กันกับจังหวะการแสดงท่าทีจากในพื้นที่ด้วยข้อความบนป้ายผ้าซึ่งมีใจความว่า "สันติภาพจะไม่เกิดขึ้นตราบใดที่สิทธิความเป็นเจ้าของไม่เป็นที่ยอมรับ" ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าเป็นฝีมือของหน่วยจรยุทธ์ที่มีอยู่ตามชุมชนนั้น ได้สร้างผลสะเทือนทางการเมืองไปยังพื้นที่ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและระหว่างชนชาติบนพื้นฐานของระดับความขัดแย้งทางชนชาติที่คาบเกีี่ยวกับกลไกทางการเมืองระหว่างประเทศโดยปริยาย

เห็นได้ชัดว่าผลของกระแสการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการนั้นได้ทำให้ท่าทีสังคมระหว่างประเทศเริ่มตั้งคำถามอย่างจริงจังกับสถานการณ์การสู้รบแบบกองโจรที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยหรือปาตานีว่า "ปัญหาที่นี่เป็นปัญหาความไม่สงบอันเนื่องมาจากประเด็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ทางการเมืองของนักการเมืองและข้าราชการ หรือเป็นปัญหายาเสพติด หรือเป็นปัญหาการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเป็นปัญหาความไม่เป็นธรรมสะสมเรื้อรัง หรือเป็นปัญหาชาวปาตานีถูกล่าอาณานิคมจริงแล้วก็พวกเขาต้องปลดปล่อยให้ได้มาซึ่งเอกราชหรือการกำหนดชะตากรรมตนเองจริง"

สภาพการณ์ของท่าทีสังคมระหว่างประเทศเริ่มตั้งคำถามอย่างจริงจังกับสถานการณ์การสู้รบ ซึ่งเป็นผลพวงจากการเปิดตัวการพูดคุยเพื่อสันติภาพอย่างเป็นทางการที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซียเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นั้น ถือว่าเป็น "จุดเปลี่ยนที่ 3" ของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับชาวปาตานีซึ่งถูกปกคลุมด้วยบรรยากาศการสู้รบแบบกองโจรโดยการนำของขบวนการBRN

จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2556 สถานการณ์รัฐบาลยิ่งลักษณ์เริ่มส่อสัญญาณว่าไปไม่รอดตลอดรอดฝั่งแน่ ทาง BRNโดยการนำของฮาซัน ตอยิบ ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุย ได้ออกแถลงการณ์ผ่านยูทูบ ประกาศว่าตนได้หมดสภาพจากการเป็นหัวหน้าการพูดคุยอย่างเป็นทางการด้วยการใช้คำว่า "อดีตคณะพูดคุย"และหลังจากนั้นไม่นานนายกยิ่งลักษณ์ก็ประกาศยุบสภา เป็นอันว่าโอกาสที่รัฐไทยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่BRNเสนอให้เป็นมติเห็นชอบของรัฐสภานั้นไม่มีทางเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ\

เริ่มต้นปี 2557 เลยถูกต้อนรับด้วยบรรยากาศของความชัดเจนว่าโต๊ะการพูดคุยเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ได้ล้มลงอย่างเป็นทางการอย่างไม่ต้องสงสัยและสิ่งที่ทุกฝ่ายต่างลุ้นอย่างระทึกใจก็คือ จะมีการปฏิบัติการของกิจกรรมการใช้อาวุธจากทั้งรัฐไทยและ BRN อย่างเข้มข้นแบบที่พลเรือนอาจเป็นเป้าหมายหรือไม่ และแล้วจนถึงทุกวันนี้สิ่งที่ทุกฝ่ายลุ้นอย่างระทึกใจเมื่อต้นปี 2557 ก็เกิดขึ้นอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แม้ว่าทางรัฐไทยได้เปลี่ยนรัฐบาลพลเรือนไปเป็นรัฐบาลทหารไปแล้วก็ตาม

ภาพรวมของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยหรือปาตานีตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันต้นปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่วงการนักธุรกิจข้ามชาติมีความคาดหวังค่อนข้างสูงว่าภูมิภาคอาเซียนจะได้สร้างความตื่นตาตื่นใจในนวัตกรรมใหม่ด้านเศรษฐกิจที่ชืี่อว่า "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" ที่สามารถสร้างกำไรแบบมั่นคงและร่วมกันสามัคคีกันรวยของเหล่านายทุนข้ามชาติกับรัฐสมาชิกอาเซียนอย่างถ้วนหน้าหากสถานการณ์ความไม่สงบขั้นสู้รบกันของภายในแต่ละรัฐสมาชิกอาเซียนได้รับการคลี่คลายและสถาปนาสันติภาพสันติสุขได้ในเร็ววัน

แต่สภาพสถานการณ์จนถึงปัจจุบันค่อนข้างมีแนวโน้มว่าจะไปขัดใจบรรดานายทุนข้ามชาติและรัฐสมาชิกอาเซียนพอสมควร เพราะ 11 ปีของสถานการณ์ความไม่สงบนั้นได้มีพัฒนาการยกระดับการต่อสู้โดยตัวของบรรยากาศการสู้รบแบบกองโจรเอง ที่เห็นได้ชัดก็คือการยืนระยะได้ถึง 11 ปีมานี้ของขบวนการ BRN นั้น ได้ผลิต 3 จุดเปลี่ยนทางการเมืองข้างต้นคือ "หนึ่งเกิดบรรยากาศการสู้รบแบบกองโจรอย่างเต็มรูปแบบ" "สองเกิดพื้นที่ทางการเมืองในระดับภาคประชาชน"

"สามเกิดพื้นที่ทางการเมืองในระดับสากล"

ซึ่งทั้งสามจุดเปลี่ยนนี้แน่นอนว่าไม่เป็นผลด้านลบกับฝ่ายอุดมการณ์เพื่อเอกราชเลย ในทางกลับกันอาจจะเป็นผลด้านลบกับรัฐไทยมากกว่า

"เพราะองค์ประกอบสำคัญที่สุดของพลังการปลดปล่อยชนชาติจากการล่าอาณานิคมก็คือพลังจากภายในของฝ่ายชนชาติที่สรุปว่าตนถูกล่าอาณานิคมซึ่งมาจากความเข้มแข็งของกองกำลังปลดแอกกับความเข้มแข็งของมวลชนเป็นหลักนั่นเอง"

ที่เหลือก็เป็นพลังจากภายนอกที่ประกอบด้วยการสนับสนุนของสังคมระหว่างประเทศและสภาพความอ่อนแอของเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของฝ่ายตรงข้ามขบวนการเพื่อเอกราช

ขึ้นอยู่กับว่าจุดเปลี่ยนที่ 4 ในทางการเมืองซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้และกำลังมีสัญญาณความเข้มข้นของการช่วงชิงการนำและการช่วงชิงความเป็นเจ้าของผลลัพธ์ของมันอย่างใจจดใจจ่อระหว่างรัฐไทยกับBRNนั้นจะได้เป็นของใครมากกว่ากัน 

จุดเปลี่ยนที่4ที่ใกล้จะมาถึงอีกไม่กี่ปีนี้คงจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก "ปรากฏการณ์การเกิดรูปขบวนของพลังมวลชนชาวปาตานีเคลื่อนไหวสนับสนุนหรือต่อต้านการพยายามให้ปาตานีเป็นเอกราชสำเร็จของ BRN นั่นเอง"

ทว่าสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุด ณ ปัจจุบันนี้ก็คือมวลชนชาวปาตานีโดยรวมนั้น มีการเตรียมพร้อมรับมือกับปรากฏการณ์การเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองที่4ของบรรยากาศการสู้รบแบบกองโจรที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยหรือปาตานีหรือไม่อย่างไร? เพราะมันหมายถึงอนาคตของชะตากรรมชาวปาตานีนั่นเอง