Skip to main content

แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนักการเมืองหรือเพื่อประชาชน

 

บาว นาคร*

 

ในช่วงระยะเวลา 78 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วรวมถึง 18 ฉบับ ซึ่งการยกเลิกและประกาศใช้รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยใช้กำลังเข้ายึดอำนาจในรูปแบบของการทำรัฐประหาร และการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มชนชั้นนำทางการเมือง จนมาถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบันประกาศใช้วันที่ 24 สิงหาคม 2550 มีทั้งหมด 309 มาตรา

 

ในท่ามกลางกระแสข่าวและสถานการณ์ทางการเมืองไทยในปัจจุบัน ที่มีทั้งข่าวลือเรื่องการปฏิวัติ การยุบสภา รวมทั้งประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา บ่งบอกได้ถึงเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาลปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร ตลอดจนความเห็นต่างระหว่างรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและกลุ่มที่ไม่สนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลุ่มนักการเมืองและพรรคการเมืองที่มีแนวคิดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

 

สาระสำคัญในการแก้ไขในมาตราหลัก คือ มาตรา 94 และมาตรา 190 นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง อีกประเด็นหนึ่งก็คือการทำหนังสือสนธิสัญญาระหว่างประเทศนั้น เมื่อพิจารณาจากเหตุผลในทั้งสองประเด็นหลักของกลุ่มนักการเมืองที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่ แก้ไขมาตรา 94 โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ทำให้เขตเลือกตั้ง หรือเขตพื้นที่ที่ ส.ส.ปฏิบัติงานนั้นมีขนาดเล็กลงเป็นเขตเดียวคนเดียวซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงส.ส.ได้มากกว่า และส.ส.มีโอกาสทำงานรับใช้ทำงานให้ประชาชนได้ทั่วถึงกว่า และเป็นการสร้างความเท่าเทียม เสมอภาคในการเลือกตั้งของประชาชน เพราะ 1 เสียงเลือก ส.ส.ได้ 1 คน” ส่วนประเด็นการให้เหตุผลในการแก้ไขมาตรา 190 นั้นว่า “เพื่อปรับปรุงข้อกำหนด รัฐบาลทำสัญญานานาชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาลอย่างมาก โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง รัฐบาลต้องมีความคล่องตัวพอสมควรในการทำงานเพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพแข่งขันในเวทีโลก”

 

ซึ่งจากเหตุผลและคำอธิบายดังกล่าวนั้น ผู้เขียนมีมุมมองว่า ไม่มีประเด็นใดที่กล่าวอ้างมาจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง หากแต่เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองของทั้งผู้สนับสนุนและไม่สนับสนุนที่มักจะกล่าวอ้างถึง “ประชาชน” มาเป็นวาทกรรมหลักเพื่อตอบสนองความต้องการและผลประโยชน์ของนักการเมืองเองเท่านั้น ทั้งเรื่องประเด็นเขตการเลือกตั้งและประเด็นการตัดสินใจของรัฐสภาในการทำหนังสือสำคัญระหว่างประเทศ

 

แต่เมื่อมาพิจารณาถึงความรู้ความเข้าใจเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญของประชาชนนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ผลการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในวันที่ 10 ตุลาคม 2552 เรื่อง สำรวจการอ่านรัฐธรรมนูญ และความคิดเห็นต่อข่าวปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในรัฐบาลชุดปัจจุบัน : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศนั้นพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ คือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.1 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญปี 40 ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.2 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญปี 50 นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.3 ยังคงคิดด้วยว่าประชาชนเองก็ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจมากเพียงพอถ้าจะต้องตัดสินใจลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (http://www.abacpoll.au.edu/nandi/2552/nandi_poll101052.html)

 

ถึงแม้ว่า การสำรวจครั้งนี้จากกลุ่มตัวอย่างของประชาชนจาก 17 จังหวัด หากว่าผลการสำรวจนั้นสะท้อนนัยสำคัญและข้อเท็จจริงบางประการออกมาให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่นั้นไม่เคยได้อ่านรัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550 มากถึงกว่าร้อยละ 65 และคิดว่าตนเองยังไม่มีความรู้ความเข้าใจมากพอ ถ้าหากจะต้องตัดสินใจลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นประเด็นที่สำคัญมากที่สุดหรือไม่ที่จะดำเนินการแก้ไข มีวาระและประเด็นอื่นๆของประเทศที่สำคัญและเป็นปัญหาสำคัญที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนก่อนหรือไม่ เช่น ความแตกแยกทางคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง ความสามัคคีของคนในประเทศ ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความอยู่ดีมีสุขของประชาชนในประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายควรที่จะร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกัน

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นผู้เขียนมีมุมมองว่า เป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าควรมีการแก้ไขในบางประเด็นและต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในประเทศ รวมทั้งควรมีการพิจารณากฎหมายหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่แก้ไขเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเท่านั้น ไม่ควรมีวาระซ่อนเร้นอื่นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญทำอย่างไรจะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้กับประชาชน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

 



* บุญยิ่ง ประทุม . [email protected]