เรื่องเล่า ผ่านการเดินทาง
เราได้รับข้าวสาร 100 ถุง/5 กิโลกรัมและยาอีกจำนวน จาก พลังใจงถึงชายแดนใต้ และได้รับคำแนะนำจาก บังยุบ หรือพี่ยุบ มูฮำมัดอายุบ ปาทาน ลองสำรวจความเป็นไปได้ในการไปช่วยพี่น้องคนไทยพุทธที่ตุมปัต กลันตัน มาเลเซีย
การวาดเส้นทางการเดินทางของเราก็เริ่มกำหนดขึ้นโดยกำหนดเอาวันเสาร์ที่ 17 มกราคม 2558 เป็นวันเดินทางเข้าสู้ตุมปัส กลันตัน แต่ก็มีอันต้องเลื่อนการเดินทาง เป็นวันเสาร์ที่ 24 มกราคม 2558 แทน เพราะเรามีความจำเป็นต้องเดินทางไป บ.ตาพะเยา ต.แม่หวาด เบตง ยะลา แทนเพื่อนำข้าวสาร อาหารแห้ง ไปมอบให้กับพี่น้อง ที่บ้านพังเนื่องจากเกิดฝนตก พร้อมทั้งหาทางประสานงานกับหน่วยงานที่มีเครื่องจักรกล ในการปรับพื้นที่ เพื่อที่จะปลูกบ้านหลังใหม่ ส่วนคนที่ไม่มีที่ดินเหลืออยู่ก็ต้องประสานให้เจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลต่อไป
เช้าตรู่ในเวลา 05.30 น. ของวันเสาร์ที่ 24 มกราคม 2558 ออกจากบ้านเพื่อมารับเพื่อนร่วมทางน้องแคน โสภณ สุกุมารพันธุ์ ช่างภาพฝีมือดี ที่โรงพยาบาลยะลา ออกเดินทางสู่หมู่บ้านมั่นคง ปัตตานี ตามจุดนัดหมาย ที่นั้นเราได้พบกับพันธมิตรที่จะร่วมเดินทางไปกับเรา ไม่ว่าจะเป็นคนพุทธ คนมุสลิม ในนามขององค์กรต่างๆ เราในฐานะ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ, สมาคมลุ่มน้ำสายบุรี, ชุมชนศรัทธา เราออกเดินทางทันทีเพื่อให้ถึงด่านสุไหงโก-ลก ในเวลา 09.00 น. ที่นั้นเราได้พบองค์กรพันธมิตรที่จะร่วมเดินทางกับเรา คือ เครือข่ายองค์กรประชาสังคมนราธิวาส กว่าพวกเราจะผ่านด่านสุดท้ายเพื่อเข้าไปในประเทศมาเลเซียได้ ก็กินเวลานานทีเดียว เพราะรถต่อแถวกันเพื่อผ่านด่านเยอะมาก
เส้นทางที่เรากำลังจะไปเป็นเส้นทางที่มุ่งสู่ ตุมปัต เพื่อแวะเยี่ยมและนำข้าวสาร พร้อมน้ำดื่ม มอบให้กับพี่น้องคนไทยพุทธที่นั้น เรามาถึงวัดพิกุลทองวราราม ที่นั้นพบพี่น้องคนไทยพุทธ ที่ถือสัญชาติมาเลเซีย พูดจาภาษาเจ๊ะแห ที่กำลังช่วยเหลืองานภายในวัด มีพระครูสุวรรณวรานุกูล เป็นรองเจ้าอาวาส ได้พบลุงชวน ซึ่งเป็น รองนายกสมาคมชาวสยามรัฐกลันตัน ที่นี้มีโรงเรียนสอนภาษาไทยภายในวัด เราได้สอบถามว่า กลัวภาษาที่ใช้ๆ กันอยู่ จะหายไปหรือไม่ คำตอบที่ได้จากคนที่นั้น คือ ไม่เคยกลัว เพราะเกิดมาเราก็ภาษาไทย มันไม่มีทางสูญหาย เราก็เป็นคนไทย แต่เราเกิดที่มาเลเซีย เท่านั้นเอง
สิ่งที่ทำให้เราดีใจมาก คือ การได้ไปยืนอ่านคำที่เขียนติดฝาผนังโรงเรียนสอนภาษาไทย คือ “ภาษาไทยของเรา แต่โบราณ สร้างตำนานชนชาติที่ยิ่งใหญ่ เป็นภาระหน้าที่ของคนไทย ธำรงรักษาไว้คู่ไทยเอย” หรือแม้แต่หน้าห้องน้ำวัด คำว่า ห้องน้ำ ก็มีเขียนไว้เป็น 3 ภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ พวกเรามอบข้าวสาร และน้ำดื่ม ให้กับทางวัด เพื่อจะได้มอบให้กับพี่น้องคนไทยพุทธต่อไป
อาจารย์นุกูล รัตนดากุล เป็นตัวแทนมอบ
ออกจากวัด พวกเราแวะบ้าน เปาะวอ ซึ่ง อาจารย์นุกูล รัตนดากุล เคยไปพักอาศัยด้วยอยู่บ่อยๆ เราทราบจากเปาะวอว่า แถวบ้านมีน้ำท่วมเยอะ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ เคยเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายคือเมื่อปี พ.ศ. 2510 โรงเรียนที่อยู่ตรงข้ามบ้าน เปาะวอ มีชาวบ้านมาพักอาศัยราว 5,000 คน ซึ่งบ้านของเปาะวอ ต้องให้บริการชาวบ้านในเรื่องของการอาบน้ำ ซึ่งบ้านของเปาะวอ ใช้น้ำบ่อ และการใช้ห้องสุขา เปาะวอบอกกับพวกเราว่า คน 5,000 คน เข้าแถวเพื่อใช้น้ำบ่อ หรือเข้าห้องน้ำ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. จนถึง 05.00 น.ของอีกวัน แต่ก็ยินดีให้การช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่มีบ้านอีกหลายหลังที่ใช้น้ำบ่อ แต่เขาไม่เปิดบ้านให้ชาวบ้านมาใช้ และสิ่งที่ขาดแคลนที่สุด คือ เทียนไข มีผู้ไปซื้อมาจากฝั่งประเทศไทย แต่นำมาขายให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัย เล่มละ 100 บาทไทย เราได้ถามไปว่า แล้วรัฐบาล มาช่วยอะไรบ้างแล้วหรือยัง เปาะวอ บอกกับพวกเราว่า รัฐบาลก็มีมาช่วยบ้าง แต่มาช้ามาก ทำให้พวกเราหันกลับมาคุยกันว่า อาจจะเป็นเพราะ กลันตัน เป็นฐานเสียงของฝ่ายค้าน ทำให้รัฐบาลไม่ค่อยจะสนใจเท่าไหร่ ก็เป็นไปได้
เยี่ยม เปาะแว (ลุงแระ)
ออกเดินทางจากบ้านเปาะวอ มุ่งหน้าสู่ Kualas Krai ซึ่งเป็นที่ที่มีน้ำท่วมหนัก ระยะทางค่อนข้างไกล ใช้เวลาในการเดินทางเกือบ 2 ชั่วโมง เราแวะทานข้าวเที่ยงเอาตอนเกือบบ่าย 2 ร้านที่พวกเราแวะเป็นร้านอาหารธรรมดา มีไก่ทอดชิ้นใหญ่ๆ พร้อมข้าวที่ห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาล (ที่หลายคนบอกว่า อร่อยกว่า แมรี่ บราวน์ ที่ยะลาซะอีก) กฎระเบียบของร้านไก่ทอด คือ ต้องเข้าคิว เมื่อถึงคิว ไม่ว่าจะสั่งไก่ทอด ปลาดุกทอด ทุกอย่างจะห่อด้วยกระดาษสีน้ำตาล เรารับของที่สั่งแล้วเอามานั่งทานที่โต๊ะ กวาดสายตามองไปรอบๆ หลายโต๊ะใช้มือแทนช้อน ง่ายๆ สำหรับวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร แต่พวกเราใช้ช้อน ส่วนตัวผมเอง ทานไก่ไม่ได้ ก็เดินเข้าไปสั่งข้าวไข่เจียว แต่พูดภาษามลายูไม่ได้ จะทำไงดีละ คุณลุงมุสลิมผู้ร่วมเดินทาง ส่งภาษา เขาก็ไม่เข้าใจ ผมเลยจำเป็นต้องสวมวิญญาณของผู้รู้ภาษาอังกฤษ เพื่อสั่งข้าวไข่เจียว บอกเขาไปว่า Rice เขาตอบ OK แต่ชี้มือไปที่หน้าร้านที่กำลังทำอาหารอยู่ เหมือนทุกคนจะเป็นห่วงเราในเรื่องของอาหารการกิน พี่มาเรียม ชัยสันทนะ แห่งศูนย์ฟ้าใส ก็คอยแนะนำอาหารที่ไม่ใช้ไก่ พี่ลม้าย มานะการ จากสมาคมลุ่มน้ำสายบุรี หรือพี่คนึงนิจ มากชูชิต จากชุมชนศรัทธา เราก็ได้แต่เงียบ เพราะอาหารที่พี่ๆ แนะนำคือ ปลาดุกทอด ซึ่งคนเป็นเก๊าต์ ก็ทานไม่ได้เหมือนกัน ครับ ขอบคุณทุกๆ ท่าน ครับ
เสร็จจากการรับประทานอาหาร เราเดินทางกันต่อ เราสังเกตความเป็นเมืองของที่นี้ ที่นี้ ไม่มีโรงภาพยนตร์ ที่นี้มี 7-Eleven น้อยมาก แทบจะไม่มีให้เห็น ซึ่งต่างจากบ้านเราที่มีอยู่แทบทุกจุดของเมือง ร้านอาหารในช่วงเวลากลางวัน ค่อนข้างจะเปิดให้บริการน้อย ตลอดเส้นทางเราได้พบเห็นบ้านเรือนที่โดนน้ำท่วมถึงหลังคาบ้านเป็นหย่อมๆ แทบไม่หน้าเชื่อว่าบ้านที่เหมือนกับจะตั้งอยู่บนที่สูง บนเขา จะโดนน้ำท่วมแบบจมหลังคาบ้าน
สภาพบ้านเรือนใน Kampung Manek Urai Lama
เราเดินทางเข้าไปใน ผ่านหมู่บ้าน Kampung Manek Urai ใหม่ ซึ่งโดนน้ำท่วมไม่มากนัก ไปจนถึงหมู่บ้าน Kampung Manek Urai Lama ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่า ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่า หมู่บ้านที่อยู่ปากทาง ก็เป็นหมู่บ้านที่มาจาก Kampung Manek Urai Lama เช่นเดียวกัน แต่อพยพถิ่นฐานออกมาตั้งที่ใหม่ หนีภัยธรรมชาติมาจากที่เก่าเช่นกัน ระหว่างทาง เราจะพบผู้คนที่มีทั้งรอรับของที่เอามาช่วย พบผู้คนที่เดินทางเข้ามาช่วย ยืนอยู่ทั้ง 2 ข้างราวสะพาน จนเข้าไปถึงหมู่บ้านที่น้ำท่วมหนักที่สุด คือ Kampung Manek Urai Lama ทั้งหมู่บ้านเต็มไปด้วยร่องรอยของน้ำท่วม เต็มไปด้วยฝุ่น ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาช่วยผู้ประสบภัย เราได้พบคนไทยมุสลิม ที่มาจากสายบุรี เพื่อมารับจ้างตัดยางที่นี้ สภาพของหมู่บ้านแทบไม่ต่างอะไรกับการโดนสึนามิถล่ม บ้านบางหลังไปอยู่บนยอดไม้สูง บ้านบางหลังพังราบลงกับพื้น สภาพของผู้คนที่เต็มไปด้วยความทุกข์
สภาพบ้านเรือน และความเป็นอยู่
รัฐบาลปล่อยพวกเรา เราโดนน้ำท่วมมา 3 – 4 วันแล้ว ถึงจะเข้ามาช่วย เราขอบคุณ NGOs ที่มาช่วยพวกเรา นั้นคือเสียงพูดที่ออกจากปากของผู้ประสบภัยธรรมชาติ
ชาวบ้านบอกกับเราว่า NGOs จากไต้หวัน ลงมาช่วยเยอะมาก ด้วยการจ้างเด็กๆ เยาวชน ในหมู่บ้าน Kampung Manek Urai Lama เก็บขยะ ให้ค่าจ้างวันละ 1,000 บาท/คน เพื่อสร้างรายได้ในพื้นที่ ขณะเดียวกันขยะก็ถูกเก็บกวาดไปด้วย
คุณลุงคนนี้ มาช่วยขนข้าวสาร เข้าไปไว้ในมัสยิด
ในขณะเดียวกันที่เราลงพื้นที่ เราได้ทราบจากชาวบ้านในพื้นที่อีกว่า ของที่นำมาช่วยเหลือ พยายามมอบให้กับคนในพื้นที่ หรือนำมามอบให้กับมัสยิดในหมู่บ้าน อย่าไปมอบให้กับคนที่ยืนรอรับของตามเส้นทาง หรือที่ยืนรออยู่แถวสะพาน เพราะคนเหล่านั้น ไม่ได้ลำบากอะไร
เราตัดสินใจมอบข้าวสารให้กับทางมัสยิด เพื่อส่งต่อพี่น้อง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต่อไป
ลาก่อน คนไทย ในตุมปัต ลาก่อนเปาะแว ลาก่อนหมู่บ้าน Kampung Manek Urai Lama ดินแดนที่มีแต่ความเศร้า แล้วเราจะกลับมาเยือนดินแดนเหล่านี้อีกครั้ง
ออกเดินทางเพื่อกลับเข้าสู่ด้านสุไหงโก-ลก กลับเข้าสู่ประเทศไทย ด่านปิดเวลา 21.00 น. ตามเวลาประเทศไทย กลับถึงบ้านโดยสวัสดิภาพในเวลา 24.00 น.
พวกเราขอขอบคุณ ข้าวสาร จากกลุ่ม พลังใจถึงชายแดนใต้ จำนวน 100 ถุง ขอบคุณพี่มาเรียม ชัยสันทนะ จากศูนย์ฟ้าใส่ ที่ประสานเรื่องน้ำดื่ม ขอบคุณพี่ลม้าย มานะการ ประสานเรื่องการ ขอบคุณ อ.ฆอซาลี อาแว ที่ช่วยขับรถตลอดเส้นทาง ทั้งไปและกลับ (อาจารย์บอกว่า นั่งไม่ได้จะเวียนหัว ขอขับเองดีกว่า) เดินทาง ขอบคุณพี่คนึงนิจ มากชูชิต จากชุมชนศรัทธา ขอบคุณทุกๆ องค์กร ที่ไม่ได้กล่าวถึงที่ให้ความร่วมมือกันทำงานชิ้นนี้ ขอบคุณเครือข่ายองค์กรประชาสังคมนราธิวาส
ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับ อาจารย์นุกูล รัตนดากุล ในการร่วมเดินทาง
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ