Skip to main content
ฟารีดา ปันจอร์
สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD)

 

ในช่วงกลางปี 2557 ร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (The Proposed Bangsamoro Basic Law - BBL)  ที่พัฒนาจากกรอบข้อตกลงบังซาโมโร (Framework Agreement  on the  Bangsamoro - FAB) ระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front - MILF)  ได้ดำเนินร่างเป็นกฎหมายเพื่อพิจารณาต่อสภาเสร็จสิ้นแล้ว โดยคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโร (The Bangsamoro Transition Commission- BTC) เพื่อใช้เป็นกฎหมายในการก่อตั้งรัฐบาล และกำหนดอำนาจในการปกครองภายใต้หน่วยปกครองใหม่ที่เรียกว่า “บังซาโมโร”  ซึ่งกำลังจะเข้าแทนที่เขตปกครองตนเองมุสลิมมินดาเนา (Autonomous Region in Muslim Mindanao - ARMM)

ต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกัน รัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเบนนิกโน อากิโน ที่ 3 ได้เสนอกฎหมายพื้นฐานดังกล่าวต่อรัฐสภาฟิลิปปินส์ด้วยตนเอง เพื่อให้รัฐสภาทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณา โดยรัฐบาลมีความหวังว่ารัฐสภาจะผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในช่วงต้นปี 2558  หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบันสมาชิกทั้งสองสภากำลังเดินหน้ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นเชิงสาธารณะ (Public Hearing) จำนวน 32 ครั้ง เพื่อรับฟังและปรับปรุงร่างกฎหมายอีกทั้งเป็นการหาเสียงสนับสนับสนุนกฎหมายดังกล่าวท่ามกลางเสียงสะท้อนแตกต่างหลากหลายต่อกฎหมายฉบับนี้

บทความนี้จะเป็นการทำความเข้าใจถึงร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรและติดตามความคืบหน้าในการเสนอกฎหมายดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพที่มินดาเนา

ผู้คนกว่า 1,500 คน เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (BBL) ในเมืองมิดซายาบ จังหวัดโคตาบาโตเหนือ เมื่อวันที่ 12  ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่ที่สุด (ภาพจากสำนักข่าวมินดานิวส์ โดย Keith Bacongco คลิกดู www.mindanews.com)

กฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรและกลไกการขับเคลื่อน

ผู้ร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร คือ คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโร (BTC)   ประกอบไปด้วย สมาชิก 15 คน ทั้งหมดเป็นคนที่มีถิ่นที่อยู่ในบังซาโมโร ซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ทั้งมุสลิม คริสเตียน และคนพื้นเมือง โดยสมาชิก 7 คน ได้รับการคัดสรรจากคณะรัฐบาล ส่วนอีก 8 คน เป็นสมาชิกที่ได้รับการเลือกจาก MILF  ในสมาชิกทั้งหมด มีคณะกรรมการที่เป็นหญิงจำนวน 4 คน คณะกรรมการฯ ดังกล่าวมีหน้าที่ร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร (คลิกดูร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรที่ http://www.opapp.gov.ph/milf/news/draft-bangsamoro-basic-law) จากข้อตกลงบังซาโมโรเพื่อเปลี่ยนผ่านโครงสร้างไปสู่เขตปกครองตนเองบังซาโมโร อีกทั้งยังต้องดำเนินสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลบังซาโมโรชั่วคราวจนกว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2559    นอกจากนี้การมีคณะกรรมเปลี่ยนผ่านบังซาโมโร  เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดพื้นที่การพูดคุยมากขึ้นระหว่างกลุ่มขบวนการต่างๆ ทั้งกลุ่มที่แตกต่างทั้ง MILF  MNLF และกลุ่มขบวนการอื่นๆ ที่แยกตัวออกไป

ร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ทางการของสำนักงานที่ปรึกษาประธานาธิปดีเพื่อกระบวนการสันติภาพ หรือ OPAPP กรุณาคลิกดูรายละเอียดที่ http://www.opapp.gov.ph/milf/news/draft-bangsamoro-basic-law

 

คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านแห่งบังซาโมโร (Bangsamoro Transition Committee) ซึ่งมีที่มาจากทุกฟากฝ่าย กรุณาคลิกดูภูมิหลังและประวัติย่อของแต่ละท่านที่  www.opapp.gov.ph/resources/bangsamoro-transition-commission

ที่จริงแล้ว การเกิดขึ้นร่างกฎหมายบังซาโมโรนั้นได้รับประโยชน์จากข้อตกลงระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์และ MILF ในปี 1996 (2539) ในเรื่องการแบ่งสรรอำนาจ ซึ่งสะท้อนแรงบันดาลใจกับชาวบังซาโมโรในการมีหน่วยทางการเมืองที่มีระบบสังคมและเศรษฐกิจ เหมาะสมกับชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในบังซาโมโร ซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง การเกิดกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรจากข้อตกลงบังซาโมโรในปี 2556  จะผลักดันให้เกิดการปกครองตนเอง มีรัฐบาลท้องถิ่นที่บริหารงานในรูปแบบของกระทรวง ซึ่งมีอำนาจในด้านต่างๆ ได้แก่  อำนาจปกครองตนเอง อำนาจในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ  มีกระบวนการที่กลับสู่สภาวะปกติ (Normalization) มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเปลี่ยนผ่าน และมีงบประมาณเป็นของตนเอง ดังนั้น กฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรจะเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงโครงสร้างทางการเมือง การเงิน เศรษฐกิจ การพาณิชย์ ชาติพันธุ์และการบริหารเข้าด้วยกันเพื่อที่จะบรรลุในเรื่องของสันติภาพและการพัฒนาสำหรับผู้คนทั้งหมดในบังซาโมโร

ในการร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยคณะกรรมการห้าชุด ได้แก่ คณะกรรมการการปกครองตนเองในทางการเมือง (Political Autonomy) คณะกรรมการการปกครองตนเองด้านงบประมาณ (Fiscal Autonomy)  คณะกรรมการด้านความยุติธรรมและความมั่นคง (Justice and Security Matters) คณะกรรมการด้านสิทธิขั้นพื้นฐาน วัฒนธรรม ความยุติธรรมทางสังคมและชนกลุ่มน้อย (Basic Rights, Culture, Social Justice and Indigenous Peoples) คณะกรรมการข้อกำหนดต่างๆ ในการเปลี่ยนผ่าน เช่น การแก้ไขกฎหมาย การทบทวนกฎหมาย หรือในประเด็นอื่นๆ  (Transitory Provisions, Amendments, Revisions and Miscellaneous Matters)   อีกทั้งยังมีคณะกรรมการฯ อีกสองชุด ด้านการประสานงาน (Coordination Committee) และด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (Constitutional Amendments)

แผนที่เดินทางสันติภาพหรือ “โรดแมป” ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้ง “บังซาโมโร” (คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย, ที่มา: www.opapp.gov.ph)

 

กระบวนการในโรดแมปตามข้อตกลงบังซาโมโรเพื่อจัดตั้งหน่วยการเมืองใหม่ (คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขยาย, ที่มา: www.opapp.gov.ph)

 

โครงสร้างอำนาจใหม่

ประเด็นที่ได้รับความสนใจและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ พื้นที่ทั้ง 5 จังหวัดในเขต ARMM ยังเป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในฟิลิปปินส์ นำมาสู่คำถามว่า กฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรจะมีส่วนในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับผู้คนใน ARMM อย่างไร  เพื่อตอบคำถามนี้ กฎหมายบังซาโมโรจะมีอำนาจอิสระในการบริหารงบประมาณของตนเอง (Fiscal Autonomy)  กล่าวคือ  รัฐบาลท้องถิ่น สามารถจัดเก็บภาษีและรายได้ต่างๆ เป็นของตนเอง ได้ถึง 75 % แต่ส่งคืนรัฐบาลกลางเพียง 25 %   สิ่งนี้ได้สะท้อนว่าระบบราชการของ ARMM ที่เป็นโครงสร้างเก่าที่กำลังจะถูกแทนที่ด้วยระบบราชการของรัฐบาลบังซาโมโรในอนาคต กล่าวคือ เดิมนั้น ARMM  ใช้ กฎหมายท้องถิ่น  หรือ LGC (Local Government Code)  ปี 1991  (พ.ศ.2534) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี หลังจากฟิลิปปินส์ฟื้นจากระบอบอำนาจเผด็จการนิยมทำให้ในตอนนั้นรัฐบาลท้องถิ่นยังขาดอำนาจในการพัฒนา สังคม เศรษฐกิจ อำนาจที่ได้รับคืออำนาจที่ได้รับมอบจากรัฐบาลกลางเท่านั้น

ปัญหาดังกล่าวทำให้ท้องถิ่นที่ไม่ได้มีอำนาจในการปกครองตนเองอย่างแท้จริงในกว่า 20 ที่ผ่านมา จึงเป็นจุดอ่อนในแง่ของการกระจายอำนาจใน ARMM  นอกจากนี้ ตัวรัฐบาล  ARMM เองก็ขาดความสามารถในการบริหาร การที่ กลุ่ม MNLF  ซึ่งมีเข้ามามีอำนาจในการบริหาร ARMM มักกีดกันกลุ่มอื่นๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วม เกิดการคอรัปชั่นในระดับต่างๆ และภาวะการไร้ความสามารถของผู้นำในการหยิบยกปัญหาดังกล่าวแก่ประธานาธิบดี  อีกทั้งภูมิภาคนี้ยังพึ่งพาแต่ทุนช่วยเหลือที่แบ่งจากรัฐบาลส่วนกลางตามปีงบประมาณ  ทำให้ไม่สามารถจัดสรรทรัพยากรของตนเองได้อย่างงยืน  อย่างไรก็ตามในร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรได้หยิบยกและเสนอการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แม้จะมีข้อกังวลอยู่ว่า การมีกฎหมายท้องถิ่นสองฉบับ ทั้ง LGC และ กฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรในโครงสร้างใหม่ที่หลังจากนี้จะเกิดความซ้ำซ้อนหรือไม่ ทั้งในแง่ของการบริหารและความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ในระดับต่างๆ  เนื่องกฎหมายท้องถิ่นฉบับเดิมไม่ได้ถูกยกเลิกโดยทันที กระนั้น ร่างกฎหมายดังกล่าวจะได้รับเปลี่ยนแปลง แก้ไข ให้มีความเหมาะสมกับบริบทใหม่ อีกทั้งมีการพยายามสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐในบังซาโมโร

เสียงสะท้อนต่อกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร

หลังจากที่ประธานาธิบดีได้นำเสนอร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรเข้าสู่สภาแล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงได้ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นเชิงสาธารณะ (Public Hearing) ต่อร่างกฎหมายดังกล่าวในพื้นที่ต่างๆ ทั่วมินดาเนาอย่างกว้างขวาง ทั้งที่เป็นเกาะและดินแดนหลัก โดยแบ่งการรับฟังความคิดเห็นเชิงสาธารณะออกเป็นสี่กลุ่มหลัก (Clusters)  มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายทั้งภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆ เช่น มีข้อกังวลจากชุมชนจากเกาะ Tawi-Tawi ว่าชุมชนของพวกเขาส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของ MNLF กฎหมายพื้นฐานบังซาโรจะนับรวมเอาพวกเขา เป็นหุ้นส่วนสำคัญในหน่วยการเมืองใหม่นี้หรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ตัวแทนกว่า 300 คน จากคาบสมุทร Zamboanga ซึ่งไม่เคยเป็นส่วนหนึ่ง ARMM และ จะไม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Bangsamoro ในอนาคต ก็มารับฟังและแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เป็นที่กังวลต่างๆ  เช่น ผลที่เกิดขึ้นการไม่เป็นส่วนหนึ่งของ Bangsamoro หรือน่านน้ำบังซาโมโรที่อาจมีผลกระทบกับน่านน้ำของคาบสมุทร Zamboanga ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการเฉพาะกิจ (Ad hoc committee) ของสภาผู้แทนราษฎรที่จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2557 ที่ผ่านมา โดยรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือผ่านมาแล้วกว่า 30  เวที ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับร่างกฎหมายบังซาโมโร  โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วม เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และ ตัวแทนจากสถานทูตประเทศต่างๆ เช่น ออสเตรเลีย สเปน อินโดนีเซีย และสหภาพยุโรป ดังเช่น การประชุมเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายคนหนึ่งซึ่งเป็นอดีตผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาแสดงความคิดเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ว่าในเชิงกฎหมาย รัฐสภาไม่มีอำนาจในการลงมติเห็นชอบบางส่วนของกฎหมายบังซาโมโร และอาจเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะหน่วยการปกครองใหม่ อาจถูกพิจาณาได้ว่าเป็นดินแดนที่แยกตัวออกไปจากส่วนอื่นของประเทศ นอกจากนี้เขายังกังวลกับอำนาจที่ให้กับหน่วยการปกครองใหม่อย่างกว้างขวางนั้นจะไปจำกัดอำนาจของรัฐบาลกลาง ส่วนการประชุมในครั้งต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 กรรมการเฉพาะกิจยังได้จัดให้มีการประชุมคณะคณะกรรมการเฉพาะด้าน คือ คณะกรรมการฝ่ายที่สามด้านการติดตามและประเมินผล (Third Party Monitoring Team – TPMT) และคณะกรรมการด้านความยุติธรรมเปลี่ยนผ่านและสร้างความสมานฉันท์ (Transitional Justice and Reconciliation Commission - TJRC)  ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่ เป็นเครื่องมือ หรือ เป็นกลไกที่ทำงานควบคู่ไปกับกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร

ชาวมุสลิมที่ต้องการสันติภาพในมินดาเนารวมตัวหน้ารัฐภาเมืองเคซอน เพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติผ่านร่างกฎหมายบังซาโมโร (BBL)  เพื่อเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพในมินดาเนา (ที่มา: www.demotix.com)

ส่วนเสียงสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ เกิดขึ้นเช่น ดังผู้ว่าการ ARMM นายมูวิจ ฮาลามัน (Mujiv Hataman) กล่าวสนับสนุนว่า การเกิดขึ้นของบังซาโมโรจะมีความสอดคล้องกับการปฏิรูปโครงสร้าง ARMM ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ARMM กำลังจะเปลี่ยนรูปโฉมใหม่จากเดิมที่มีความล้มเหลวในการปกครองและข้าราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ โครงสร้างใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องการผู้นำที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาชนและสร้างความเชื่อมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงว่าจะให้สิ่งที่ดีให้กับพวกเขา เช่น บริการพื้นฐานต่างๆ การศึกษาและการบริการสุขภาพ ผู้ว่าการ ARMM สนับสนุนอีกว่าร่างกฎหมายพื้นฐานของบังซาโมโรนั้นจะกลายมาเป็นพระราชบัญญัติเขตการปกครองตนเองที่จะส่งผลที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานที่ปรึกษาประธานาธิบดีเพื่อกระบวนการสันติภาพ (OPAPP) โฮเซ่ โลเรน่า (Jose Lorena)  กล่าวว่า การเกิดขึ้นของกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโรมีความจำเป็นต่อการบูรณาการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีนี้ เพราะความมั่นคงและเสถียรภาพในมินดาเนาจะเป็นประตูไปสู่การเชื่อมภาคต่อเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาภูมิภาคจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต  เพราะหลังจากเกิดข้อตกลงบังซาโมโรฉบับครอบคลุมในปี 2556 OPAPP ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาในภูมิภาคที่เรียกว่า Sajahatra Bangsamoro Program (SBP)  โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาสังคมเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในการปรับปรุงพื้นฐานการบริการต่างๆ ต่อชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ความรุนแรง และความยากจน

มิเรียม คอรอเนล-เฟอเรอร์  (ซ้าย) หัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพฝ่ายรัฐบาล, เทเรซิต้า ควินโตส-เดล ที่ปรึกษาประธานาธิบดีในกระบวนการสันติภาพ และ โมฮาเกอร์ อิกบาล ประธานคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านบังซาโมโร (จาก MILF) เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกวุฒิภา ต่อร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 (ที่มา: www.gmanetwork.com)

เจ้าหน้าที่อัยการ อัล จูกิฟลี คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์กล่าวในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งหนึ่งว่า อำนาจฝ่ายบริหารของร่างกฎหมายพื้นฐานบังซาโมโร ไม่ควรจำกัดอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่น (LGUs) ที่มีอยู่เดิมในบังซาโมโร (ที่มา: www.opapp.gov.ph)

โอกาสในสภา

แม้จะมีการรับฟังความคิดเห็นต่อกฎหมายพื้นฐานบังซาโมอย่างกว้างขวาง แต่คณะกรรมการวุฒิสภาอาจตรวจสอบร่างกฎหมายอย่างละเอียดและพิจารณาว่าร่างกฎหมายดังกล่าวอาจขัดรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่เกี่ยวกับอำนาจพิเศษในการบริหารงบประมาณ และอำนาจในการจัดเก็บภาษีของบังซาโมโร อย่างไรก็ตาม เนื้อหาอื่นๆ ในร่างฉบับเดิมยังจะไม่ได้ถูกแก้ไขมากนัก อีกทั้งทางวุฒิสภาจะยังไม่ฟ้องต่อร้องศาลสูงสุดในประเด็นดังกล่าว ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าว OPAPP พยายามเดินหน้าทำความเข้าใจต่อฝ่ายวุฒิสภาว่า หน่วยการเมืองบังซาโมโรนั้นมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 1987 ของฟิลิปปินส์ ที่ได้ระบุให้มีการปกครองตนเองสำหรับมุสลิมมินดาเนา นอกจากนี้ หน่วยทางการเมืองใหม่ ดังกล่าวยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศฟิลิปปินส์ ไม่ได้แยกเป็นอีกประเทศหนึ่งแต่อย่างใด

ร่างกฎหมายบังซาโมโรเป็นผลมาจากข้อตกลงบังซาโมโรฉบับครอบคลุม (Comprehensive Agreement of Bangsamoro – CAB ) ที่จะให้เกิดเขตปกครองบังซาโมโร ซึ่งจะเข้ามาแทนที่  ARMM ในช่วงปี 2559  ศาสตราจารย์มิเรียม คอรอแนล-เฟอเรอร์ ประธานคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพของ OPAPP แสดงความคิดเห็นว่า การที่คณะกรรมการวุฒิสภาได้ทักท้วงต่อปัญหาดังกล่าว ทำให้เราเข้าแง่มุมบางอย่างของรัฐธรรมนูญที่ต้องตระหนักถึง และมองเห็นหนทางต่างๆ ในการแก้ไขที่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยร่างกฎหมายบังซาโมโรจะได้รับการแก้ไขในแง่ของการปรับการใช้ภาษา ท่วงทีและการบัญญัติตัวกฎหมายจากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านนิติบัญญัติ ซึ่งการพิจารณาที่เข้มงวดของวุฒิสภาจะใช้เวลาถึงช่วงประมาณมิถุนายน ก่อนที่จะมีการเซ็นรับรองจากประธานาธิบดี และประชาชนจะลงประชามติให้สัตยาบันต่อกฎหมายได้ในช่วงเดือนกันยายน เพื่อกำหนดดินแดนหลักในเขตปกครองตนเองบังซาโมโร หลังจากนั้นจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งรัฐบาลแห่งบังซาโมโรขึ้นในปี 2559

ที่มา: Manila Bulletin (www.mb.com.ph)

อ่านเรื่องเกี่ยวข้องในบล็อกของ Fareeda

อ้างอิง

Center for Human Dialogue. A primer on the Bangamoro transition commission and the Bangsamoro basic law. European Union, 2014

Gmanetwork.com. Ad hoc panel holds executive session on Bangsamoro bill [Online]. 2014. Available http://www.gmanetwork.com/news/story/389627/news/nation/ad-hoc-panel-holds-executive-session-on-bangsamoro-bill/  [2015, January 5]

Manila times Public hearings on proposed Bangsamoro Basic Law set [Online]. 2014. Available http://www.manilatimes.net/public-hearings-proposed-bangsamoro-basic-law-set/131240/  [2015, January 5]

Mindanews. Minda News: BBL Timeline from the Senate [Online]. 2015. Available http://www.mindanews.com/mindaviews/2015/01/09/mind-da-news-bbl-timeline-from-the-senate/  [2015, January 11]

OPAPP. Bangsamoro vital to 2015 ASEAN integration [Online]. 2014. Available http://www.opapp.gov.ph/milf/news/bangsamoro-vital-2015-asean-integration/   [2014, December 10]

OPAPP. Solons resume public hearings in Mindanao‎; first stop Tawi-Tawi and Zamboanga City [Online]. 2014. Available http://www.opapp.gov.ph/milf/news/solons-resume-public-hearings-mindanao%E2%80%8E-first-stop-tawi-tawi-and-zamboanga-city/  [2015, December 12]

PEACETALK: Learning a lesson from the LGC and the ARMM [Online]. 2014. Available http://www.mindanews.com/mindaviews/2014/04/23/peacetalk-learning-a-lesson-from-the-lgc-and-the-armm/   [2014, December 10]

Sunstar.com. Legal experts ‘clash’ over BBL’s legality [Online]. 2014. Available http://www.sunstar.com.ph/breaking-news/2014/10/28/legal-experts-clash-over-bbl-s-legality-373466/  [2014, December 10]