Skip to main content
สุวรา แก้วนุ้ย
อาจารย์นักวิจัยสถานวิจัยความขัดแย้งและความลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มอ. ปัตตานี

 

ภาพรวมความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพ

            “...เมื่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐกับกลุ่มบุคคลที่มีความเห็น และอุดมการณ์แตกต่างซึ่งเลือกใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐ (กลุ่มบีอาร์เอ็น) ปรากฎขึ้นอย่างเปิดเผย ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการดังกล่าว จะทำให้เกิดสันติภาพจริงๆ ได้มากน้อยเพียงใด?”

            คำถามข้างต้นนี้มีความน่าสนใจและความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ในช่วงปี 2556 ทางสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงได้ออกแบบการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อสถานการณ์ความไม่สงบ และกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ (Deep South Poll) โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบ 2 ช่วงเวลา คือ ในช่วงเดือนมีนาคม และเดือนมิถุนายน โดยทำการสุ่มตัวอย่างจากตำบลทั้งหมดที่มีอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งในการสอบถามความคิดเห็นครั้งนี้ ได้มีการกำหนดเกณฑ์ หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพ ผ่านตัวเลือกในการให้คะแนน โดยประเมินจาก 0-10 ซึ่งหากผู้ประเมินให้คะแนนตั้งแต่ 5-10 ถือว่าผ่านเกณฑ์หรือยอมรับ และให้ความเชื่อมั่นหรือเกณฑ์ผ่านมากกว่าร้อยละ 50 แต่ถ้าให้คะแนนต่ำกว่านี้ให้ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์หรือไม่ให้การยอมรับเชื่อมั่นกระบวนการสันติภาพ

สิ่งสำคัญที่ค้นพบก็คือ ผลการสำรวจความคิดเห็นในช่วงเดือนมีนาคม ประชาชนร้อยละ 67.1 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มบีอาร์เอ็น ส่วนอีกร้อยละ 32.9 ให้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์การยอมรับและเชื่อมั่น และผลการสำรวจความคิดเห็นในช่วงเดือนมิถุนายน ประชาชนร้อยละ 76.6 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์หรือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มบีอาร์เอ็น ส่วนอีกร้อยละ 23.4 ให้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์การยอมรับและเชื่อมั่น แต่ประเด็นน่าสนใจก็คือว่า เมื่อพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ยในการประเมินดังกล่าวโดยรวมทั้ง 2 ครั้งแล้ว พบว่ามีระดับคะแนนที่ 5.16 (เดือนมีนาคม) และ 5.80 (เดือนมิถุนายน) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีคะแนนที่ให้ผ่านเกณฑ์ในระดับปานกลาง ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพที่ “ริเริ่ม”การพูดคุยสันติภาพกัน แต่อย่างไรก็ตามประชาชนก็มีแนวโน้มคะแนนการยอมรับกระบวนการสันติภาพสูงขึ้น

แผนภาพที่ 1 – ผลการให้คะแนนต่อการยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

นอกจากนี้การศึกษาพบว่า ข้อเรียกร้องจากทุกฝ่ายรวมทั้งข้อเรียกร้อง 5 ข้อจากบีอาร์เอ็นได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่เมื่อเทียบระดับคะแนน ข้อเรียกร้องแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มตามระดับ คือ 1) กลุ่มที่ได้คะแนนการยอมรับสูงมากเป็นข้อเรียกร้องจากประชาชนเรื่องการร่วมกันแก้ปัญหายาเสพติด การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ การหลีกเลี่ยงความรุนแรงต่อเป้าหมายที่เป็นผู้บริสุทธิ์ การลดความรุนแรงจากทุกฝ่าย เป็นต้น 2) กลุ่มที่ได้คะแนนสูงในระดับที่สอง คือข้อเรียกร้องเรื่องบทบาทภาคประชาสังคมในการพูดคุยสันติภาพ การเปลี่ยนการพูดคุยสันติภาพให้เป็นการเจรจาสันติภาพ การยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน และการปกครองแบบพิเศษ เป็นต้น และ 3) ส่วนข้อเรียกร้องในระดับที่สามส่วนใหญ่ คือข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น คือการลงประชามติเรื่องอนาคตปัตตานี ยะลา และนราธิวาส การให้มีประเทศอาเซียน โอไอซีและเอ็นจีโอเป็นสักขีพยานในการเจรจา และการยกเลิกบัญชีดำที่หมายตัวผู้กระทำผิด เป็นต้น ข้อเรียกร้องทั้งสามกลุ่มได้รับการยอมรับจากประชาชนผู้ตอบทั้งหมดแต่มีระดับความรู้สึกความเชื่อมั่นสูงต่ำแตกต่างกันไป

ความไว้วางใจต่อกลุ่มคนหรือองค์กรต่างๆ ในพื้นที่

การสร้างบรรยากาศที่ดีในกระบวนการสันติภาพเป็นกระบวนการของการสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจ ของผู้คนในสังคม การสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจนี้ควรจะต้องเกิดขึ้นในทุกระดับ เพื่อที่จะให้เกิดบรรยากาศการพูดคุยหรือสานเสวนาระหว่างคนในสังคมที่มีความขัดแย้ง ซึ่งไม่เพียงเฉพาะเป็นการพูดคุยของผู้คนในระดับสูงหรือผู้กำหนดทิศทางของคู่ขัดแย้งหลักเท่านั้น หากแต่ยังต้องสร้างกระบวนการพูดคุยในระดับของเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมและระหว่างผู้คนในระดับรากหญ้าด้วยเช่นกัน ดังนั้น การทดสอบระดับของความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อบุคคล กลุ่มและองค์กรต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงมีความสำคัญ

การสำรวจในที่นี้จะเป็นการประเมินความเชื่อมั่นไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อกลุ่มบุคคล และกลุ่มองค์กรทั้งเอกชนและรัฐ โดยการสำรวจความเชื่อมั่นไว้วางใจจะพิจารณาจากภารกิจงานในสองประเภท คือในงานด้านการพัฒนาและในงานด้านกระบวนการสันติภาพ เมื่อถามเกี่ยวกับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อกลุ่มคนหรือองค์กรในด้านการพัฒนา ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามวางลำดับความเชื่อมั่นไว้วางใจลำดับที่ 1 ให้กับกลุ่มหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารสุข เจ้าหน้าที่อนามัย ลำดับที่ 2 คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและผู้นำศาสนา (อิหม่ามหรือพระ) ลำดับที่ 3 คือ ครูโรงเรียนรัฐบาล ลำดับที่ 4 คือ ศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต). และลำดับ ที่ 5 คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอ เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุดในด้านความเชื่อมั่นไว้วางใจต่อการพัฒนา คือ กองกำลัง อส. และทหารพราน ทั้งสองกลุ่มนี้มีค่าระดับความเชื่อมั่นไว้วางใจต่ำที่สุด

เมื่อถามความเชื่อมั่นไว้วางใจเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยและการสร้างสันติภาพ กลุ่มที่ประชาชน ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเชื่อมั่นไว้วางใจลำดับที่ 1 คือ คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ลำดับที่ 2 คือครูโรงเรียนรัฐบาล ลำดับที่ 3 คือ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เจ้าหน้าที่อนามัย ลำดับที่ 4 คือ ศูนย์อำนวยการบริหารชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) และ ลำดับที่ 5 คือ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ส่วนกลุ่มที่มีคะแนนต่ำมากคือ เจ้าหน้าที่ทหารและทหารพราน ซึ่งมีระดับค่าความเชื่อมั่นไว้วางใจต่ำสุด

การแก้ปัญหาในเส้นทางกระบวนการสันติภาพที่ยั่งยืน

จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ พบว่ามีความสอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในโพลสำนักอื่น ที่ประชาชนประมาณสองในสามสนับสนุนกระบวนการสันติภาพที่ริเริ่มอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นี่เป็นฐานที่เข้มแข็งสำหรับฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมกระบวนการอันจะถือได้ว่าเป็นสัญญาณในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพและพยายามสนับสนุนซึ่งกันและกันในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการสันติภาพ แต่เราก็ต้องตระหนักว่าจากประสบการณ์ของที่อื่น ความสนับสนุนต่อกระบวนการนี้อาจจะลดลงได้เมื่อกระบวนการสันติภาพไปพบกับอุปสรรคที่เป็นวิกฤติ สิ่งท้าทายที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือกระบวนสันติภาพที่จะสำเร็จได้นั้นต้องอาศัยการยินยอมและผ่อนปรนประนีประนอมจากทุกฝ่าย การประนีประนอมดังกล่าวอาจทำให้คนของแต่ละฝ่ายผิดหวังที่ตั้งตารอคอยผลลัพท์ที่วาดหวังมานานและคาดหวังจะได้รับการตอบแทนเยียวยาจากความเจ็บปวดและขมขื่นในอดีตของฝ่ายตน

ปัญหาอีกประการหนึ่งของกระบวนการสันติภาพทุกแห่งก็คือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะยังคงตกอยู่ภายใต้ความเชื่อหรือทัศนคติที่ถูกสร้างสมมานานในเรื่อง “ความไม่เชื่อมั่นไว้วางใจ ความระแวงสงสัย และความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์”ต่อฝ่ายอื่น สันติภาพสำหรับพวกเขาแต่ละฝ่ายอาจจะมีความหมายต่างกัน รัฐบาลและฝ่ายสนับสนุนรัฐต้องการให้ฝ่ายขบวนการผู้ก่อการยุติความรุนแรงก่อนเป็นลำดับแรก “เมื่อใดที่ยุติความรุนแรงได้สำเร็จ เราจึงจะพูดเรื่องอื่นกันได้ เช่นการประนีประนอมทางการเมืองอื่นๆ” ส่วนฝ่ายขบวนการและแนวร่วมก็ต้องการ “ความยุติธรรม ความเสมอภาค และรูปแบบการปกครองร่วมกันบางประเภทในดินแดนของตนเอง” เมื่อใดที่พวกเขามองเห็นความก้าวหน้าที่มีความหมายสำคัญและน่าเชื่อถือในเรื่องดังกล่าว พวกเขาจึงจะยอมยุติความรุนแรง เป็นต้น

เพื่อจัดการกับปัญหาที่ยอกย้อนดังกล่าว ความก้าวหน้าไปสู่สันติภาพเชิงลบ (negative peace, การยุติความรุนแรง) และสันติภาพเชิงบวก (positive peace, ความยุติธรรม ความเสมอภาค และการจัดการตามเจตนารมณ์ของตนเอง) จึงไม่อาจจะแก้ไขได้ด้วยเพียงแค่มีกลุ่มผู้สร้างสันติภาพ (peacebuilders) เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการเท่านั้น (หรือที่เรียกกันว่าเส้นทางสายที่ 1) กระบวนการสันติภาพจักต้องมีการระดมการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้างเพื่อสร้างพลังสันติภาพทั้งในแง่มุมของสันติภาพเชิงบวกและสันติภาพเชิงลบ

กล่าวโดยสรุปก็คือการจะทำให้กระบวนการสันติภาพยั่งยืนในขณะนี้ กระบวนการสันติภาพจำต้องแผ่ร่มเงาออกไปให้มากที่สุด จะต้องให้ความสำคัญกับความต้องการและความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างสันติภาพก้าวเล็กๆ ในจำนวนที่มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในหมู่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ช่วยกันสร้าง เครือข่ายความปลอดภัยที่สนับสนุนการพูดคุยสันติภาพโดยภาคประชาสังคมให้เข้มแข็ง รวบรวมและขยายการ สนับสนุนกระบวนการสันติภาพจากทุกฝ่าย สร้างแรงหมุนหรือแรงเหวี่ยงที่ดึงดูดใจเพื่อสนับสนุนการเปิดเผย กระบวนการสันติภาพไปสู่สาธารณะ กระบวนการสันติภาพของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องศึกษาบทเรียน จากประเทศอื่น เช่น ในกรณีไอร์แลนด์เหนือ ที่กลุ่มผู้สนุบสนุนสันติภาพจากหลายฝ่ายร่วมมือกันกับองค์กรภาค ประชาสังคมและสื่อมวลชนที่มีจิตใจเปิดกว้างเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะและการสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้าง เพื่อหนุนช่วยกระบวนการเจรจาสันติภาพให้ยั่งยืนในที่สุด

 

เอกสารอ้างอิง

1. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี. มุมมองของประชาชนชายแดนใต้: ‘ความหวัง’ ในสถานการณ์ความรุนแรงอันยืดเยื้อใต้ร่มเงาแห่ง ‘สันติภาพ’. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. 2556 หรือดูรายละเอียดที่ www.deepsouthwatch.org/node/4147

2. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี, เชาวเลิศ ล้อมลิ้ม, ดุษณ์ดาว เลิศพิพัฒน์ อิทธิชัย สีดำ และวารุณี ณ นคร. รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต่อสถานการณ์ความไม่สงบและกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้. สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี. 2556 ดูรายละเอียดที่ http://www.deepsouthwatch.org/node/4397