เมื่อไม่นานมานี้ เกิดเหตุคาใจคนในพื้นที่ปาตานี/ชายแดนใต้ กรณีศาลจังหวัดนราธิวาส อ่านคำพิพากษาเมื่อวันจันทร์ที่ 26 ม.ค.58 ยกฟ้องอดีตทหารพราน 2 นายในคดียิงเด็ก 3 ศพ ตระกูลมะมันที่บ้านบลูกาแปเราะ อ.บาเจาะจ.นราธิวาส ทำให้สังคมสาธารณะทั่วไปที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่มีปฏิกิริยาแบบต้องอึ้งและทึ่งในเวลาเดียวกันอย่างพร้อมหน้ากันโดยไม่ต้องนัดหมาย เพราะคงไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้ว่าหลังจากที่อดีตทหารพรานทั้งสองคนดังกล่าวถูกทางตำรวจติดตามจับกุมได้และต่อมาก็ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุจริงนั้น ความเข้าใจตรงกันของทุกคนต่อฆาตรกรใจโหดเหี้ยมครั้งนี้ก็คืออดีตทหารพรานนั้นเอง
โดยเหตุผลที่ศาลยกฟ้องคือไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าบุคคลทั้งสองเป็นคนฆ่า มีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยเท่านั้นส่วนแม่ของเด็กทั้งสามคือน.ส.พาดีละ ก็ไม่สามารถจดจำใบหน้าของผู้ก่อเหตุได้
น่าสนใจว่าอะไรคือเหตุจูงใจทำให้อดีตทหารพรานทั้งสองได้ตัดสินใจยอมรับสารภาพในชั้นสอบสวน แต่พอถึงกระบวนการชั้นศาลกลับปฏิเสธคำให้การ เพราะถ้าเปรียบเทียบกับหลายๆกรณีของคดีความมั่นคงที่ได้รับการยกฟ้องในชั้นต้นหลังจากจำเลยถูกฝากขังเป็นเวลา2ปีขึ้นไปเป็นอย่างน้อยนั้น ส่วนใหญ่จำเลยดังกล่าวให้เหตุผลว่าที่ได้ตอบปฏิเสธไปในชั้นศาลก็เพราะในชั้นสอบสวนนั้นตนได้ถูกซัอมทรมานอย่างสาหัสเพื่อบังคับให้ตนนั้นรับสารภาพตามข้อกล่าวหาหรืออดีตทหารพรานทั้งสองนั้นจะถูกบังคับให้รับสารภาพด้วยหรือไม่ ก็ไม่มีใครตอบได้นอกจากตัวอดีตทหารพรานทั้งสองเองเท่านั้น
กรณีเช่นนี้คงเป็นเรื่องที่ตลกขบขันมากเลยทีเดียว หากว่าการยอมรับสารภาพของทหารพรานทั้งสองนั้นมาจากการถูกซ้อมทรมานจริง แต่ถ้าไม่ได้ถูกซ้อมทรมานบังคับให้รับสารภาพ เหตุผลอะไรเล่าที่ทำให้ทหารพรานทั้งสองได้ตัดสินใจยอมรับสารภาพว่าเป็นคนร้ายที่ลงมือกราดยิงบ้านนายเจ๊ะมุ มะมัน จนเป็นเหตุให้ลูกชายสามพี่น้องของตระกูลมะมันเสียชีวิตและนายเจ๊ะมุกับภรรยาเองก็ได้รับบาดเจ็บ
ขอบคุณภาพข่าวจากศูนย์ข่าวอิศรา
หากจับปฏิกริยาของสังคมสาธารณะในพื้นที่ต่อกรณีการพิพากษายกฟ้องสองอดีตทหารพรานดังกล่าวค่อนข้างเป็นปฏิกริยาที่เงียบๆแบบปลงๆประมาณว่า"นึกอยู่แล้วตัองเล่นไม้นี้" "พวกกันเองจะลงโทษไปขนาดไหนกัน" บางกระแสถึงขั้นสรุปคาบเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่รัฐบาลปัจจุบันปั้นไม้ปั้นมืออย่างมีความหวังว่าจะดับไฟใต้ได้ว่า "ถ้าเอาผิดลงโทษอดีตทหารพรานทั้งสองซึ่งรับสารภาพอย่างสมัครใจแล้วไม่ได้ ก็อย่าหวังว่านักรบหรือขบวนการปลดปล่อยเพื่อปาตานีเอกราชตัวจริงจะยอมพูดคุย เพราะขนาดคดีที่ชัดเจนและจำเลยก็รับสารภาพอย่างสมัครใจ กระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่สามารถให้ความเป็นธรรมได้ นับประสาอะไรกับสถานะของนักรบที่ต่อสู้ด้วยอาวุธกับรัฐไทยจะได้รับความเป็นธรรม "หมายถึงว่าไม่มีหลักประกันว่าจะไม่ถูกหลอก
ขอบคุณภาพข่าวจากเว็บไซท์ไทยรัฐออนไลน์
บวกกับการให้สัมภาษณ์นักข่าวล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนา่ยกรัฐมนตรีว่า การพูดคุยกับขบวนการฯไม่ใช่การพูดคุยสันติภาพเพราะไม่ใช่ภาวะสงคราม ทหารที่อยู่ในพื้นที่ไม่ได้มาสู้รบ แต่มารักษากฎหมายและต้องเรียกขบวนการว่า "ผู้เห็นต่าง" อย่าเรียกตามชื่อกลุ่มเพราะเป็นการให้เครดิต และได้ให้ความหมายกลุ่มผู้เห็นต่างว่าคือคนไทยที่ทำผิดกฎหมายไทยและได้ก่ออาชญากรรม ส่วนทางด้านกลุ่มขบวนการฯจะมีกี่กลุ่มและจะทำยังไงให้ทุกกลุ่มได้มาพูดคุยในเป้าหมายสำคัญสุดคือ
การลดความรุนแรงนั้นเป็นหน้าที่ของประเทศมาเลเซีย
ประกอบกับปรากฏการณ์การปราบปรามบุคคลที่มีหมายจับป.วิอาญาและหมายควบคุมตัวของกฎหมายพิเศษอย่างเข้มข้นและเด็ดขาดด้วยการจับตายเกือบทุกรายตลอดช่วงของการบริหารของรัฐบาลปัจจุบันนับจากการทำรัฐประหาร แสดงว่าการพูดคุยกับขบวนการฯที่นำโดยรัฐบาลรัฐประหารหรือคสช.มีความชัดเจนในตัวของมันเองว่าไม่ได้มีเป้าประสงค์ตั้งแต่ที่จะพัฒนาไปถึงขั้นเกิดสันติภาพด้วยข้อตกลงผ่านโต๊ะการเจรจาตามมาตรฐานสากลหมือนในกรณีความขัดแย้งอื่นๆในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามประเด็นที่เป็นเป้าประสงค์หลักสำคัญของการพูดคุยที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเรียกว่า "พูดคุยสันติสุข"นั้นก็คือ การพยายามสร้างความแตกแยกกันภายในกลุ่มขบวนการกันเองโดยเฉพาะสายปฏิรูปกับสายปฏิวัติและระหว่างกลุ่มขบวนการต่างๆ อีกทั้งเพื่อสกัดกั้นการเติบโตของมวลชนทั่วไปสู่การเป็นมวลชนปฏิวัติโดยผ่านการเชื่อมประสานกันระหว่างขบวนการฯกับประชาชนชาวปาตานีภายใต้บรรยากาศการสู้รบแบบกองโจรและความเป็นชนชาติเดียวกันที่มีสิทธิความเป็นของบนดินแดนตนเอง และเมื่อชั้นความลับเชิงโครงสร้างองค์กรของขบวนการฯถูกเปิดเผยด้วยการเสียลับเพราะต้องส่งคนมาเป็นตัวแทนการพูดคุยกับรัฐ ก็จะถูกกำจัดและทำลายตามทฤษฎีการรบที่ว่า"ขุดบ่อล่อปลา"หรือไม่
เมื่อเป็นเช่นนี้จริงแน่นอนถ้าฝ่ายขบวนการฯ ยังมีศักยภาพมากพอที่จะตอบโต้ด้วยกิจกรรมทางอาวุธอย่างเข้มข้น เพื่อเป็นการแสดงถึงความไม่พอใจที่รัฐไทยไม่จริงใจที่จะเจรจาตามมาตรฐานสากล ก็จะเกิดบรรยากาศของการใช้กิจกรรมทางอาวุธโดยขบวนการฯอย่างหนักหน่วงและอาจจะขยายพื้นที่ไปยังนอกพื้นที่ชายแดนภาคใต้ก็เป็นได้
ดูท่าว่าเส้นทางกระบวนการสันติสุขที่ทางรัฐบาลคสช.ได้ดำเนินการมาเพื่อหวังจะสามารถยุติความรุนแรงนั้น จะต้องเดิมพันด้วยสถานการณ์การสู้รบแบบกองโจรที่หนักหน่วงกว่ารัฐบาลที่แล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และเชื่อว่าตราบใดที่การเจรจาที่เป็นมาตรฐานสากลซึ่งรัฐไทยให้การยอมรับสถานะของขบวนการฯว่าเป็นขบวนการอุดมการณ์ปลดปล่อยปาตานีเป็นเอกราชไม่ใช่คนไทยที่คิดเห็นต่างและทำผิดกฎหมายอาญาไทยควบคู่กับการให้ความเป็นธรรมกับประชาชนพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการทางทหารของเจ้าหน้าที่รัฐไม่เกิดขึ้น
พื้นที่ชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยหรือปาตานีก็ยังต้องช่วยกันโหมกระแสสันติภาพและสันติสุขอีกยาวนาน จนกว่าฝ่ายขบวนการจะถูกปราบปราบจนไม่มีศักยภาพพอที่จะต่อต้านอีกต่อไป หรือจนกว่าฝ่ายรัฐไทยต้องเผชิญกับภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง
การยกฟ้องอดีตทหารพราน 2 คน กรณีคดีกราดยิงใส่บ้านนายเจ๊ะมุ มะมัน ครั้งนี้เป็นการรักษาอิสรภาพของอดีตเจ้าหน้าที่รัฐหรือเป็นการรักษาหน้าตาของรัฐไทยต่อกลไกสิทธิมนุษยชนสากลที่กำลังถูกตั้งคำถามกับระดับสถานะของสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยก็ไม่มีใครตอบได้นอกจากภาครัฐเอง
แต่ที่ต้องยอมรับความจริงก็คือผลลัพธ์ของการยกฟ้องในคดีนี้ ย่อมส่งผลสะุเทือนไปยังโต๊ะการพูดคุยสันติสุขอย่างแน่นอน...
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกที่ Patani Forum http://www.pataniforum.com/single.php?id=472