การเดินธรรมยาตรา เป็นการเดินอย่างสงบ ด้วยใจที่เชื่อมั่นในอานุภาพแห่งธรรมว่าสามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้เป็นความพยายามที่จะเชื่อมกิจกรรมเพื่อสังคมและการปฏิบัติธรรมเข้าด้วยกันและในช่วงนี้มีกิจกรรมการเดินเพื่อสังคมในหลายพื้นที่ ทั้งกิจกรรม ธรรมยาตรา นิเวศภาวนาที่จังหวัดพะเยา...โครงการเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ และ”ธรรมชาติยาตราเพื่อแม่น้ำมูลที่จ.ศรีสะเกษ”
เพราะรักและหวงแหนมรดกทางธรรมชาติอย่าง..”แม่น้ำมูล”ที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์และศรีสะเกษจึงมีการจัดกิจกรรม”ธรรมชาติยาตรา“ปั่นจักรยาน บอกรักแม่น้ำมูล” ในวันที่ 12-23 กุมภาพันธ์นี้ โดยเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำมูลจัดงานนี้ขึ้นเพื่อเชื่อมร้อยคนในชุมชน...คนในลุ่มน้ำและเพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูลเข้าด้วยกัน
ปัญญา คำลาภ นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กล่าวว่า การเดินธรรมยาตราเป็นการคิดค้นกิจกรรม เพื่อที่จะเชื่อมร้อยคนในลุ่มน้ำมูลตอนกลางให้เห็นว่า ชุมชนมีสิทธิที่จะลุกขึ้นมาจัดการธรรมชาติ สิทธิที่จะจัดการธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นป่าทามแม่น้ำมูล ไม่ว่าจะเป็นป่าที่ยังคงเหลืออยู่ ซึ่งกระบวนการที่ผ่านมา เราเห็นการจัดการเรื่องนี้ของภาครัฐ มันไม่สำเร็จแต่ไม่ใช่ล้มเหลว แต่ไม่สำเร็จในเชิงของการมีส่วนร่วมจากจิตสำนึก
ขณะที่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพร่วมกับเครือข่ายองค์กรประชาสังคมจัดโครงการเดินสานใจสู่สันติชายแดนใต้ เดินเท้าวันละ 25 กิโลเมตรจากเมืองยะลาผ่านปัตตานีและสิ้นสุดที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส การเดินครั้งนี้ จะเริ่มตั้งแต่วันที 15 – 21 กุมภาพันธ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างสันติภาพและสร้างบทสนทนาในระดับชุมชน
นางละม้าย มานะการ ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพกล่าวว่า ในเมื่เกิดเรื่องนี้ขึ้นมาแล้วพวกเราจะต้องอยู่กับมันให้ได้ก็จะมีการแบ่งบันทุกข์สุขระหว่างเส้นทางอาจจะ มีผู้ได้รับผลกระทบหรือ คนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมอาจจะไม่ได้มีใครสูญเสียชีวิตแต่ว่าความเป็นอยู่ยากลำบากขึ้น เราก็อยากไปแบ่งบันทุกข์สุขกันถ้ามีโอกาสทึ่จะได้สื่อสารสิ่งที่เป็นทุกข์เราก็สามารถที่จะแปลงไปสู่การปฏิบัติทั้งในเชิงนโยบายและการดำเนินการเพื่อให้ร่วมคลี่คลายปัญหาถือว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดที่เราอยากจะเห็น
ก่อนหน้านี้ในปี 2553 มีการเดินเท้าครั้งแรกของคณะเดินเพื่อสันติภาพโดยศูนย์ศึกษาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดลและสภาศาสนสัมพันธ์เพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการออกเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยเป้าหมายชวนสังคมให้ตั้งคำถามต่อการใช้ความรุนแรงในการจัดการความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัด ขณะที่จังหวัดพะเยา ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สภาประชาชนลุ่มน้ำอิงก็ได้จัดกิจกรรม “ธรรมยาตรา นิเวศภาวนา: รักษ์กว๊านพะเยา-แม่น้ำอิง” ขึ้นซึ่งรายละเอียดเราจะไปสอบถามจากคุณ
นายบรรจง วงค์ราษฎร์ ที่ปรึกษาสภาลุ่มน้ำอิงกล่าวว่า คือวันที่14 กุมภาพันธ์ จะเป็นพิธีสืบชะตากว้านพะเยาและเป็นวาเลไทน์ก็จริงแต่เราจะใช้เป็นวันที่จะสืบชะตากว้านพะเยาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชน ที่มีส่วนร่วนในการใช้ทรัพยากรลุ่มน้ำอิงกว้านพะเยาและจะเดินรอบกว้านพะเยา เส้นทางการเดินระยะทาง 28 กิโลเมตร เดินไปและแวะพักตามหมู่บ้านต่างๆ
ทั้งหมดคือกิจกรรมการเดินอย่างสงบที่มีจุดมุ่งหมายในการทำประโยชน์เพื่อสังคมในพื้นที่ต่างๆ