Skip to main content
เครือข่ายสตรีจังหวัดชายแดนใต้ ๒๖ องค์กร
๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘
 
เรื่อง      ข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ  
              และตระหนักถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่และผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้
 
เรียน      ศ.ดร.บวรศักดิ์  อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
            ผ่านนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว  กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
 
สิ่งที่ส่งมาด้วย      แผ่นพับข้อเสนอของขบวนผู้หญิงต่อร่างรัฐธรรมนูญเพื่อมีมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ
 
โดยตระหนักถึงความรับผิดชอบของผู้หญิงในฐานะประชากรกว่าครึ่งของประเทศ ในการมีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่และการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อให้รัฐธรรมนูญใหม่มีความชอบธรรม  เครือข่ายสตรีจังหวัดชายแดนใต้ ๒๖ องค์กร จึงได้ร่วมมือกับขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย จัดประชุมระดมความคิดเห็นสตรีจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งยืนยันข้อเสนอของขบวนผู้หญิงต่อร่างรัฐธรรมนูญเพื่อมีมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ  แต่โดยกังวลถึงลักษณะอันเฉพาะเจาะจงทั้งทางประชากร วิถีชีวิต และสภาพความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธในพื้นที่มายาวนานกว่าสิบปี  เครือข่ายสตรีจังหวัดชายแดนใต้ ๒๖ องค์กรจึงได้จัดทำข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ  และตระหนักถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่และผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้ฉบับนี้ขึ้น
 
ในฐานะที่ท่านเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญ  ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  ขณะเดียวกันท่านและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ  มีหน้าที่รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  เพื่อนำไปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  เครือข่ายสตรีจังหวัดชายแดนใต้ ๒๖ องค์กร จึงขอเสนอ ข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ  และตระหนักถึงอัตลักษ์เฉพาะของพื้นที่และผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้  ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
 
๑. ความเสมอภาคระหว่างเพศในกระบวนการตัดสินใจ  รัฐธรรมนูญใหม่ต้องยืนยันให้กระบวนการและกลไกการตัดสินใจในประเด็นสาธารณะ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และความเจริญ ก้าวหน้าของประเทศทุกขั้นตอน ทุกมิติ (ทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม กระบวนการสันติภาพ และอื่น ๆ)  ต้องมีส่วนร่วมของหญิงชายบนหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศ หรือในสัดส่วน 50:50 โดยเฉพาะในการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น  ซึ่งการส่งเสริมหลักการความเท่าเทียมระหว่างเพศนี้จะส่งประโยชน์ให้กับประเทศชาติโดยรวม  เพราะนอกจากผู้หญิงจะเป็นพลเมืองมากกว่าครึ่งของประเทศ ปัจจุบันผู้หญิงจำนวนมากก็ได้แสดงความสามารถเป็นที่ประจักษ์ในทุกวงการ  ยิ่งกว่านั้น ในกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความขัดแย้งและการใช้กำลังอาวุธในการต่อสู้มานับสิบปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับผลกระทบจำนวนนับหมื่นราย     ผู้หญิงทุกสถานภาพคือผู้แบกรับผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากความรุนแรงดังกล่าวมาอย่างยาวนานและหนักหน่วง แต่ผู้หญิงกลับมีโอกาสน้อยมากที่จะมีส่วนร่วมรับรู้ ให้ความเห็น และร่วมตัดสินใจต่อกระบวนการสร้างสันติภาพทั้งในอดีตและปัจจุบัน (แม้แต่ในฐานะสมาชิกสภาที่ปรึกษาศอ.บต.ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด ๔๙ คน ก็พบว่าเป็นผู้หญิงเพียง ๖ คน)    
 
๒. เสรีภาพในการนับถือศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจ   โดยที่สิทธิการเลือกนับถือศาสนาเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน  เพื่อให้ประชาชนทุกศาสนาได้รับการคุ้มครองจากรัฐในการนับถือศาสนาและปฏิบัติศาสนกิจที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม   โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้  รัฐธรรมนูญใหม่ควรรับรองหลักการและสร้างหลักประกันที่แท้จริงที่จะทำให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา  และมีบทบัญญัติที่คุ้มครองทั้งหญิงชายให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจหรือพิธีกรรมทางศาสนาที่ไม่ได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม  ตลอดจนได้รับโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพโดยไม่นำมาเป็นข้อจำกัดในการปฏิบัติศาสนกิจ
 
๓. การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น รัฐธรรมนูญใหม่ต้องส่งเสริมการกระจายอำนาจ และส่งเสริมให้จังหวัดที่ประชาชนมีเจตนารมณ์ต้องการปกครองตนเองเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ทั้งจังหวัด  ตลอดจนมีสภาพลเมืองที่มีสัดส่วนของหญิงชายที่เท่าเทียมกัน  และกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นในทุกระดับมีสัดส่วนหญิงชายที่เท่าเทียมกัน  เพื่อรับรองหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศ ตอบโจทย์สันติภาพและอัตลักษณ์ของสังคมพหุเชื้อชาติและวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
 
๔. สิทธิในกระบวนการยุติธรรม   รัฐธรรมนูญใหม่ต้องจัดให้เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ  และได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในคดีเกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศ ตลอดจนป้องกันแก้ไขเยียวยาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว  และมีกลไกคุ้มครองที่มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมของหญิงชายที่ให้หลักประกันว่าผู้หญิงสามารถเข้าถึง ได้รับความเป็นธรรม และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ  โดยเฉพาะกรณีความรุนแรงในครอบครัวจังหวัดชายแดนใต้
 
๕. นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  รัฐธรรมนูญใหม่ต้องกำหนดให้องค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินงานต่อไปอย่างเป็นอิสระและมีประสิทธิภาพ โดยไม่ควบรวมกับองค์กรใด ๆ  เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีปัญหาการละเมิดสิทธิหลายมิติอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านชีวิตร่างกาย สิทธิชุมชน สิทธิผู้หญิงและสิทธิเด็ก เพื่อให้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและผู้หญิง
 
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการ
 
ขอแสดงความนับถือ
 
รอซิด๊ะ  ปูซู
คนึงนิจ  มากชูชิต
เตะหาวอ สาและ
ละม้าย   มานะการ
ปาตีเมาะ  เปาะอิแตดาโอะ
 
ในนามเครือข่ายสตรีชายแดนใต้ ๒๖ องค์กร

 

รายชื่อองค์กรเข้าร่วม ประชุมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้ชีวิตผู้หญิงดีขึ้นอย่างไรและผู้หญิงจะทำให้รัฐธรรมนูญใหม่ดีขึ้นอย่างไร

1.     เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

2.     เครือข่ายชุมชนศรัทธา กัมปงตักวา

3.     สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ

4.     เครือข่ายการช่วยเหลือเด็กกำพร้าภาคใต้

5.     เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้

6.     เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติชายแดนใต้

7.     ศูนย์เยาวชนฟ้าใส

8.     เครือข่ายสตรีชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ

9.     เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

10.  สมาคมสตรีไทยมุสลิมปัตตานี

11.  สมาคมสวัสดิการมุสลิม จังหวัดยะลา

12.  ชมรมผู้นำมุสลีมะห์ จังหวัดนราธิวาส

13.  สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนใต้เพื่อสันติภาพ (ดีพพีท)

14.  สมาคมยุวมุสลิม แห่งประเทศไทย (ยมท.)

15.  มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

16.  กลุ่มด้วยใจ

17.  สำนักงานกองทุนการวิจัยท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง(สกว)

18.  บัณฑิตอาสา มอ.

19.  ศูนย์ช่วยเหลือทางวิชาการแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนใต้(ศวชต.)

20.  คณะกรรมการพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด(คพสจ)

21.  กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัด

22.  สมัชชาสุขภาพจังหวัดปัตตานี

23.  มูลนิธิเด็กกำพร้าปัญญาเลิศบ้านสุไหงปาแน

24.  ผู้แทนผู้ได้รับผลกระทบ

25.  กลุ่มซอซิก

26.  สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง)