แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ประจำปี 2557-2558 ซึ่งรวบรวมสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนตลอดปี 2557 และเหตุการณ์สำคัญด้านสิทธิมนุษยชนบางส่วนในปี 2558 โดยให้ภาพรวมของห้าภูมิภาคและข้อมูลของแต่ละประเทศทั้งหมด 160 ประเทศและดินแดน รายงานชี้ให้เห็นว่าการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนยังดำเนินต่อไปอย่างเข้มแข็งในทุกมุมโลก
สำหรับประเทศไทยมีหลายประเด็นที่น่าห่วงใยเช่น การขัดแย้งกันด้วยอาวุธภายในประเทศการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย การบังคับบุคคลให้สูญหาย เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม การจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ การไต่สวนคดีอย่างไม่เป็นธรรม การลอยนวลพ้นผิด นักปกป้องสิทธิมนุษยชน การค้ามนุษย์ ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิง และโทษประหารชีวิต โดยนายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ผู้อำนวยการกองการสังคม กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ เป็นตัวแทนรัฐบาลรับมอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2557-2558 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลและข้อเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนถึงรัฐบาลไทย
นอกจากนั้นในรายงานยังระบุว่า รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้อง ‘ยุติการเสแสร้งว่าการคุ้มครองพลเรือนเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจของตน’ โดยคาดการณ์ว่าจะมีพลเรือนมากขึ้นที่เสี่ยงจะถูกปฏิบัติมิชอบโดยกลุ่มติดอาวุธ มีการปราบปรามอย่างต่อเนื่องต่อเสรีภาพในการแสดงออก และวิกฤตด้านมนุษยธรรมและผู้ลี้ภัยจะเลวร้ายลง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในแง่การรับมือระดับโลกต่อความขัดแย้ง
ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเรียกร้องให้มีปฏิบัติการระดับโลก รวมทั้งการที่สมาชิกถาวรห้าชาติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ งดเว้นจากการใช้สิทธิยับยั้งกรณีที่เป็นข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทารุณกรรมขนานใหญ่ และผู้นำโลกต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อเผชิญหน้ากับสภาพสงครามความขัดแย้ง และคุ้มครองพลเรือนจากความรุนแรงทั้งที่กระทำโดยรัฐและกลุ่มติดอาวุธ ตามข้อเรียกร้องที่เผยแพร่ในรายงานประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปีทั่วโลก
ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า 2557 เป็นปีหายนะสำหรับประชาชนหลายล้านคนที่ตกอยู่ในวังวนของความรุนแรง การตอบสนองระดับโลกต่อสงครามความขัดแย้งและการปฏิบัติมิชอบทั้งของรัฐและกลุ่มติดอาวุธ ยังเป็นเรื่องน่าละอายและไม่เป็นผล ในขณะที่ประชาชนต้องเผชิญกับการทำร้ายและการปราบปรามที่ป่าเถื่อนมากขึ้น ประชาคมนานาชาติยังต้องมีบทบาทที่จำเป็น”
“องค์การสหประชาชาติก่อตั้งขึ้นเมื่อ 70 ปีที่แล้วเพื่อประกันว่า เราจะต้องไม่เห็นความโหดร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ปัจจุบันเรากำลังเห็นความรุนแรงในวงกว้าง และเป็นวิกฤตใหญ่หลวงด้านผู้ลี้ภัยที่เป็นผลมาจากความรุนแรงเหล่านั้น ที่ผ่านมามีความล้มเหลวในการค้นหาทางออกเพื่อรับมือกับความจำเป็นเร่งด่วนมากสุดในยุคของเรา”
การคาดการณ์สถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2558-2559
รายงานประจำปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลให้ภาพรวมอย่างละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนใน 160 ประเทศในช่วงปี 2557 หากผู้นำโลกไม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อเผชิญหน้ากับสภาพสงครามความขัดแย้ง และแก้ปัญหาตามที่ระบุไว้ในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปีต่อไปคงดูมืดมน กล่าวคือ
- ประชากรที่เป็นพลเรือนจำนวนมากขึ้นจะต้องมีชีวิตอยู่ในสภาพกึ่งรัฐ ภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธที่โหดร้าย และต้องตกเป็นเหยื่อของการทำร้าย การคุกคาม และการเลือกปฏิบัติ
- มีการคุกคามมากขึ้นต่อเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิอย่างอื่น รวมทั้งการละเมิดที่เป็นผลมาจากกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายฉบับใหม่ๆ ที่มีลักษณะเผด็จการ และการสอดแนมข้อมูลของประชาชนอย่างไม่ชอบด้วยเหตุผล
- ยังคงปิดกั้นพรมแดน และประชาคมนานาชาติล้มเหลวในการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองได้
สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคืออำนาจที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่รัฐ รวมทั้งกลุ่มที่เรียกตนเองว่า Islamic State (IS)
กลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ปฏิบัติการที่มิชอบในอย่างน้อย 35 ประเทศในปี 2557 หรือกว่าหนึ่งในห้าของประเทศต่าง ๆ ที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลทำการศึกษา
แอนนา นีสแตต (Anna Neistat) ผู้อำนวยการวิจัยอาวุโส แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ในขณะที่อิทธิพลของกลุ่มต่าง ๆ เช่น Boko Haram, IS และ Al Shabaab แพร่ขยายเลยเส้นแบ่งพรมแดน จะมีพลเรือนมากขึ้นที่ถูกบังคับให้อยู่ในสภาพการควบคุมของกึ่งรัฐ ต้องตกเป็นเหยื่อของการปฏิบัติมิชอบ การคุกคาม และการเลือกปฏิบัติ
“รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องยุติการเสแสร้งว่าการคุ้มครองพลเรือนเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนืออำนาจของตน และหาทางแก้ไขสถานการณ์ที่ทุกข์ทรมานของประชาชนหลายล้านคน ผู้นำโลกต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในระหว่างการตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ทั่วโลก”
เอกสารแนบ:
ข้อเรียกร้องจากแอมเนสตี้ถึงรัฐบาลไทย