Skip to main content

หมายเหตุ: ข้อเขียนชิ้นนี้เป็นคำแถลงของ ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อกล่าวเปิดวงเสวนาวิสัยทัศน์ “แนวโน้มการสื่อสารหลากหลายช่องทางกับสันติ (ที่มองเห็น) ภาพ” ในกิจกรรมวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2 “สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ” เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเป็นการขมวดแนวคิดของสิ่งที่เรียกว่า “การสื่อสารสันติภาพ” ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการจัดตั้งและดำเนินงาน “ศูนย์การศึกษาและพัฒนาการสื่อสารเพื่อสันติภาพ” ของคณะวิทยาการสื่อสารในอนาคต

[ภาพโดย WeWatch DSP Coordinate]

Peace Communication: การศึกษาและพัฒนาการสื่อสารเพื่อสันติภาพ

 

วลักษณ์กมล จ่างกมล

ด้วยความเชื่อมั่นพื้นฐานต่อบทบาทและความสำคัญของการสื่อสารที่เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมร้อยความคิด ความต้องการ ความเข้าใจ และความรู้สึกของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ในนามของคณะวิทยาการสื่อสาร เราจึงมีความยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งทุกๆ ครั้งที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นสักขีพยานของกิจกรรมที่สะท้อนถึงนัยสำคัญของการสื่อสาร ดังเช่นงานวันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในวันนี้

เมื่อปีสองปีที่ผ่านมาเราทั้งหมดในที่นี้ รวมไปถึงผู้มีบทบาทต่างๆ ในแวดวงการสื่อสารและสันติภาพได้ทำให้คำว่า “Peace Journalism” การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ หรือวารสารศาสตร์สันติภาพ ถูกรับรู้และถกเถียงกันในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคองค์กรสื่อ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพเป็นแนวคิดการปฏิรูปการสื่อข่าวของผู้สื่อข่าวในสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่ไม่ใช่เพียงแต่การรายงานข้อเท็จจริง แต่เป็นการเลือกว่าจะรายงานอะไร อย่างไร ด้วยความรับผิดชอบและจริยธรรมของสื่อในเป็นเครื่องมือในการลดความขัดแย้งและการนำสังคมไปสู่เป้าหมายที่เป็นสันติภาพ แทนที่จะเป็นผู้จุดไฟและขยายขอบเขตของความขัดแย้งเสียเอง

โดยการใช้ชื่อการสื่อข่าวเพื่อสันติภาพ และแนวปฏิบัติที่เน้นไปที่กระบวนการคัดเลือก กลั่นกรอง ออกแบบ และการนำเสนอข้อมูลสู่สาธารณะ เป้าหมายของการสื่อสารเกี่ยวกับแนวคิดจึงถูกจำกัดไปที่ผู้ประกอบวิชาชีพข่าวเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังหรือร่มใหญ่ของ Peace journalism นั้นก็มีจากแนวคิดภาพรวมของการศึกษาและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสันติภาพและการสื่อสาร

“สันติภาพและการสื่อสาร” “การสื่อสารเพื่อสันติภาพ” ซึ่งอาจไม่ได้มีความหมายตรงกับเสียทีเดียว แต่ในที่นี้ ขอให้คำรวมๆว่า Peace Communication

Peace communication ในมุมมองนั้นอาจมี 2 นัยความหมาย คือ การสื่อสารเกี่ยวกับสันติภาพ (Communicating Peace) และ การสื่อสารเพื่อสันติภาพ (Communication for Peace – C4P)

การสื่อสารเกี่ยวกับสันติภาพ (Communicating Peace) เป็นการเน้นว่าเราควรจะสื่ออะไร เราควรสื่อสารเรื่องราวอะไรบ้างที่เกี่ยวกับสันติภาพ เรื่องของวัฒนธรรมสันติภาพ (Peace culture) วัฒนธรรมการไม่ยึดความรุนแรง (Non-violence culture) ทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติ (Non-violence solution) วัฒนธรรมประชาธิปไตย ความเป็นธรรมและทางออกของปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสังคม การเคารพความหลากหลายเหล่านั้น และมีเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับสันติภาพที่ยังขาดหายไปอีกบ้างในกระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้ ทุกท่านในที่นี้น่าจะเพิ่มเติมได้ดีกว่าดิฉัน

ส่วน การสื่อสารเพื่อสันติภาพ (Communication for Peace) นั้น เน้นไปที่เป้าหมายของสื่อสาร เช่นเดียวกับในยุคหนึ่งที่นักวิชาการนำเสนอแนวคิดการสื่อสารเพื่อการพัฒนา การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นการใช้บทบาทของการสื่อสารเพื่อเป้นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายอะไรบ้างอย่าง และในที่นี้คือการใช้กระบวนการสื่อสารเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่เรียกว่า “สันติภาพ”

จากสองนัยของความหมายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ใน Peace Communication  นั้นมี องค์ประกอบของ Peace เป็นทั้งเนื้อหา (content) และเป้าหมาย (goal) เมื่อเป็นเช่นนี้ การสื่อสารสันติภาพ หรือ Peace Communication จึงมีลักษณะของการหลอมรวมและหลากหลาย (Hybrid & Diverse) หลากหลายในแง่องค์ประกอบ หลากหลายในแง่ของผู้แสดง และหลากหลายในแง่ช่องทางการสื่อสาร

หลากหลายในแง่ขององค์ประกอบ หมายถึง

  • วารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ (Peace journalism)
  • สื่อเพื่อสันติภาพ (Peace media)
  • การศึกษาและวิจัยการสื่อสารเพื่อสันติภาพ
  • การศึกษาและการพัฒนาหลักสูตรการสื่อสารเพื่อสันติภาพ
  • การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ของภาคประชาชนและประชาสังคม
  • กิจกรรมและการรณรงค์ภาคประชาชนและประชาสังคม
  • สื่อใหม่และเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • วัฒนธรรมและวิถีของผู้คนและชุมชน

หลากหลายในแง่ของผู้แสดง

  • ภาคองค์กรสื่อ องค์กรการสื่อสาร
  • ภาควิชาการ
  • ภาคประชาชน
  • ภาคกลุ่มองค์กรประชาสังคม
  • ภาครัฐ

หลากหลายในแง่ช่องทางการสื่อสาร

  • สื่อมวลชน
  • สื่อชุมชน
  • สื่อทางเลือก
  • สื่อใหม่และสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • สื่อบุคคล
  • สื่อกิจกรรม
  • ฯลฯ

ในแง่รูปแบบและเป้าหมายจะเห็นได้ว่าการสื่อสารเพื่อสันติภาพไม่ได้จำกัดอยู่ที่บทบาทเดิมๆ ของการสื่อสารที่หมายถึง การโน้มน้าวความคิด การทำให้เชื่อ การอธิบายข้อมูลบางด้าน หรือการมุ่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกัน และการสื่อสารสันติภาพ ไม่ใช่สูตรสำเร็จหรือเป็นเครี่องมือผูกขาด แต่การสื่อสารสันติภาพเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของการเป็นพาหะนำความรู้ ความคิด อีกทั้งเป็นเครื่องมือในการรับฟัง เครื่องมือในการยืนยันความมีตัวตน ด้วยวิธีการและกระบวนการที่เป็นปฏิสัมพันธ์ นั่นคือการมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องภาคส่วนต่างๆ อย่างเป็นธรรม ซึ่งกระบวนการปฏิสัมพันธ์นี้จะทำให้เกิดภาวะแห่งเสรีจากข้อจำกัดทั้งปวง

เหล่านี้คือทั้งหลักการของการสื่อสารสันติภาพ และเป้าหมายของ “ศูนย์การศึกษาและพัฒนาการสื่อสารเพื่อสันติภาพ” ที่คณะวิทยาการสื่อสารกำลังจะปลุกปั้นให้เป็นรูปเป็นร่างในเร็ววัน เป็นที่น่ายินดีที่ประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาคใต้ของฝ่ายความมั่นคงได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้การสื่อสารเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้ระบุไว้ในเรื่องของการเปิดช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบและการเชื่อมโยงการสื่อสารหลายทางร่วมกับทุกภาคส่วนให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ วิถีชีวิตประชาชน ตลอดจนให้ประชาชนมีโอกาสใช้ช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบเพื่อการเสนอข้อมูลข่าวสารและสร้างสื่อเชิงบวก

“ศูนย์การศึกษาและพัฒนาการสื่อสารเพื่อสันติภาพ” ของเราจะเน้นการบูรณาการองค์ประกอบต่างๆ ของความเป็นการสื่อสารสันติภาพดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อให้เป็นที่ทางและเวทีกลางของผู้แสดงในประเด็นของสันติภาพชายแดนใต้ ทั้งภาคประชาชน ภาคองค์กรประชาสังคม ภาคองค์กรวิชาชีพสื่อ ภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ และภาควิชาการหรือสถาบันการศึกษา

เรามีเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพในการสื่อสารของภาคประชาชนและผู้แสดงอื่น ๆ ในพื้นที่ ให้สามารถเป็นทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารที่ยึดสันติภาพเป็นทั้ง “เนื้อหา” และ “เป้าหมาย” เพื่อหนุนเสริมกระบวนการสันติภาพและสร้างสันติสุขในพื้นที่

โดยศูนย์การศึกษาและพัฒนาการสื่อสารเพื่อสันติภาพนี้จะร่วมจัดทรัพยากรการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมด้านทักษะและการใช้เทคโนโลยี รวมไปถึงการพัฒนาเนื้อหาเพื่อการสื่อสารของภาคส่วนต่าง ๆ โดยร่วมมือกับภาคเครือข่ายที่เราได้ขับเคลื่อนร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เครือข่ายสื่อภาคประชาชน และกลุ่มประชาสังคมในพื้นที่ รวมทั้งเครือข่ายวิชาชีพสื่อมวลชน ที่ทำงานทางวิชาการร่วมกับคณะวิทยาการสื่อสารมาโดยตลอดคือ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ThaiPBS ซึ่งเราหวังว่าในอนาคตเราได้ขยายความร่วมมือไปยังองค์กรวิชาชีพอื่นๆ ที่สนับสนุนกิจกรรมของเราและสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาสม่ำเสมอ เช่น สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 โดยรายงานข่าวสามมิติ เป็นต้น

และท้ายที่สุดเราก็คาดหวังว่าเราจะทำให้เกิดหน่วยฝึกปฏิบัติทักษะการสื่อสารและการผลิตสื่อเพื่อสันติภาพ ที่ดำเนินงานโดยภาคประชาชนที่มีทักษะการสื่อสารหลากหลายรูปแบบทั้งการสื่อสารผ่านสื่อมวลชน สื่อใหม่ สื่อเทคโนโนโลยีสารสนเทศ และสื่อแบบเครือข่ายแนวราบ และศูนย์นี้ก็จะเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญเพื่อสันติภาพทั้งข้อมูล บุคคล และช่องทางการสื่อสาร

เวทีเสวนาวิสัยทัศน์แนวโน้มการสื่อสารหลากช่องทางกับสันติภาพ ที่เป็นเวทีความคิดเห็น ความรู้ และประสบการณ์ของผู้แสดงหลายหลายภาคีที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ น่าจะเป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบและบทบาทที่สำคัญของการสื่อสารสันติภาพ และการทำงานของศูนย์การศึกษาและพัฒนาการสื่อสารเพื่อสันติภาพที่จะเกิดขึ้นใสนอนาคตได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการขมวดภาพในตอนท้ายเรื่อง กระบวนการสื่อสารและพลังการสื่อสารใหม่ ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุสุมา กูใหญ่ ซึ่งเป็นผู้วางกรอบแนวคิดและจะเป็นกำลังสำคัญหนึ่งของศูนย์การศึกษาและพัฒนาการสื่อสารเพื่อสันติภาพในอนาคต ก็น่าจะเป็นภาพฉายที่เด่นชัดของผลลัพธ์ของศูนย์ฯ แห่งนี้ที่พวกเราฝันถึงค่ะ

สุดท้ายนี้ ในนามของความเป็นพลเมืองชายแดนใต้ที่เกิด เติบโต และใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งนี้ ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยเป็นผู้แสดงทั้งโดยตรงและโดยอ้อมให้กับกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ค่ะ ขอบพระคุณและสวัสดีค่ะ

อ่านรายงานเกี่ยวกับเสวนาวิสัยทัศน์: แนวโน้มการสื่อสารหลากหลายช่องทางกับสันติ (ที่มองเห็น) ภาพ โดย DSJ คลิกที่นี่