มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง[1]
“ชาวพุทธ (ในแคว้น คูราซาน) ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีจิตใจกว้างขวางและเอื้อเฟื้อที่สุดในบรรดาผู้คนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ทั้งนี้เนื่องจากศาสดาของพวกเขา (พระพุทธเจ้า) ได้สอนพวกเขาไว้ว่า บาปใหญ่ที่สุดที่แม้แต่จะคิดก็ไม่ควร (ไม่ต้องพูดถึงการลงมือกระทำมันจริงๆ) นั่นคือ การกล่าวคำว่า “ไม่” [การปฏิเสธต่อการขอความช่วยเหลือ การขาดเมตตาธรรม] ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงปฏิบัติตามคำสอนนี้[อย่างเคร่งครัด] โดยถือว่าการกล่าวเช่นนั้น [การขาดเมตตาธรรม] คือพฤติกรรมของมารร้าย [ตัวตน การยึดมั่นถือมั่น] และแก่นแท้ของศาสนาของพวกเขาคือการขจัดมารร้ายนั้นออกไป”[2]
คำกล่าวข้างบนคือบางส่วนที่ มูฮัมหมัด บิน อบียะฮกู๊บ อิสหาก อิบนุ อัลนาดิม (Muhammad bin Abi Ya’qub Ishaq Ibn al-Nadim: เสียชีวิต ค.ศ.995) นักวิชาการคนสำคัญในช่วงต้นของประวัติศาสตร์อิสลาม ได้สะท้อนความเข้าใจของเขาที่มีต่อพุทธศาสนาในงานเขียนที่ชื่อ อัลฟิรฮิสต์ (al-Firhist) จะถูกผิดหรือคลาดเคลื่อนจากคำสอนของพุทธศาสนาหรือไม่อย่างไร แต่ข้อเขียนชิ้นนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าอิสลามและพุทธศาสนานั้นคุ้นเคยต่อกันและกันมาเป็นระยะเวลานานมาก ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองอาระธรรมเกิดขึ้นพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของประวัติศาสตร์อิสลามเลยทีเดียว โดยในช่วงศตวรรษที่สองของอิสลามนักวิชาการมุสลิมได้แปลงานเขียนทางพุทธศาสนาจำนวนหลายเล่มเป็นภาษาอาหรับ ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง เช่น บิลาวัร วะ พุทธสัพ (Bilawhar wa Budhasaf) และกีตาบ อัล-บุดด (Kitab al-Budd) เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่ามุสลิมในอดีตได้พยามศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อและหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาแม้มุสลิมซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่อาศัยอยู่กับสังคมที่มีพุทธศาสนิกชนอันเป็นชนกลุ่มน้อยในเอเชียกลางดังเช่นแคว้นคูราซาน (ดินแดนทางตอนเหนือของอิหร่านในปัจจุบัน) ก็ตาม
การศึกษาพุทธศาสนาและการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างพุทธและอิสลามนำมาซึ่งความใกล้ชิดกันจนกระทั่งมีการหยิบยืมรูปแบบการศึกษาแบบมัดราซะฮ (Madrasah) ในอารยะธรรมอิสลามมาจากรูปแบบการศึกษาในอารยธรรมของพุทธศาสนา ซึ่งในขณะนั้นเจริญเติบโตอยู่บริเวณทางตะวันออกของอิหร่าน เช่นเดียวกับสถาบันการศึกษาศาสนาอิสลามที่เรียกว่า ปอเนาะ (pondok) หรือ เปอร์เซ็นเตร็น (pesentren)ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ได้รับอิทธิพลจากสถาบันการศึกษาแบบอาศรมในอารยะธรรมพุทธ-ฮินดูซึ่งเจริญเติบโตในแถบนี้มาก่อนที่อิสลามจะแผ่ขยายเข้ามา ไม่เพียงแต่รูปแบบการศึกษาเท่านั้น “เนื้อหา” เกี่ยวกับการชำระล้างและยกระดับจิตวิญญาณของมนุษย์ในประเพณีทางความคิดของซูฟี (Sufi: รหัสยนัย) ซึ่งเป็นสำนักคิดที่สำคัญในอิสลามยังมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับหลักคิดในเรื่องเดียวกันของพุทธอีกด้วย หากเราจะเปรียบเทียบว่า กฏหมายอิสลามหรือที่เรียกว่าชารีอะฮ (Shari’ah)คือการแสดงออกทางภายนอกของความเป็นอิสลาม เช่น พิธีกรรมทางศาสนา การแต่งงาน ชีวิตครอบครัว ตลอดจนระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆทางสังคมซึ่งมักให้ภาพของความแข็งกระด้างในมิติทางกฎหมายที่มีการบังคับและบทลงโทษ ซูฟี คือความอ่อนโยนและความสวยงามภายในของอิสลามอันเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการขัดเกลาจิตใจอย่างเคร่งครัดเพื่อระงับอารมณ์ใฝ่ต่ำอันจะนำไปสู่ภาวะของการดับสูญของตัวตน โดยในทางรหัสยนัยอิสลามเรียกภาวะเช่นนี้ว่า “ฟานา (fana)” เพื่อที่จะตื่นขึ้นมาและมีสถานะที่สูงส่งกว่าอันเป็นสถานะของผู้รู้อย่างแท้จริงหรือที่เรียกว่า “อิรฟาน(Irfan)” ซึ่งเป็นสถานะอันสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ หรือที่ เรียกว่า “อินซาน อัล-กามิล (Insan al-Kamil)” การขัดเกลาดังกล่าวมีองค์ความรู้และกระบวนการเฉพาะของมันอย่างเป็นขั้นตอน การขัดเกลาตนเองและการต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำจึงถูกจัดให้เป็น “การต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่” หรือ ญีฮาด อัล-อัคบัร (Jihad al- Akbar) ซึ่งหากเราพิจารณาหลักการสุญตาในพุทธศาสนาก็จะพบว่าแม้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่พบว่ามีส่วนที่คล้ายคลึงกันอยู่มาก
บทความสั้นๆ ชิ้นนี้ไม่มีวัตถุประสงค์จะพิจารณาในรายละเอียดของแนวคิดและปรัชญาของทั้งสองศาสนาอันเป็นกิจกรรมทางปัญญาของผู้รู้ทางด้านศาสนาเปรียบเทียบ ตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงบทสะท้อนเล็กๆที่ต้องการชี้ให้เห็นว่าอิสลามและพุทธศาสนามิได้เป็นความแปลกหน้าต่อกันหากแต่มีการปฏิสัมพันธ์กันอย่างสร้างสรรค์ หยิบยืม แลกเปลี่ยนระหว่างอารยะธรรมกันมาตลอด การคงอยู่ของอีกฝ่ายมิได้เป็นภัยคุกคามต่อการคงอยู่ของอีกฝ่ายหากแต่ต่างเป็นต้นทุนทางสังคมของกันและกัน ข้อเท็จจริงที่ว่ามีบางช่วงในประวัติศาสตร์ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งทำให้ทั้งสองศาสนาถูกดึงเข้าสู่สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนทางการเมืองโบราณอันมีศาสนาเป็นศูนย์รวมของความภักดีทางการเมืองของผู้คน(แตกต่างจากปัจจุบันที่ศูนย์รวมของความภักดีทางการเมืองอยู่ที่ความเป็น “ชาติ”) ความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตจึงผูกโยงเข้ากับศาสนาและแปลงร่างกลายเป็นความขัดแย้งทางศาสนาไปโดยปริยาย นอกจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ชุมชนทางการเมือง) ในอดีตนั้นก็มักเป็นความสัมพันธ์ในเชิงสงครามระหว่างกันเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้เองผู้คนในปัจจุบันจึงมักมีความเข้าใจที่ผิดๆต่อความขัดแย้งในอดีต เช่นสงครามครูเสดหรือการยึดครองอินเดียโดยกองทัพมุสลิมว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนา และได้มีการนำเอาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อหนึ่งพันปีที่แล้วมาสร้างความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างกันของผู้คนในปัจจุบันที่นับถือศาสนาต่างกัน ทำให้ผู้คนในปัจจุบันต้องรับผลของการกระทำในอดีตอันไกลโพ้นซึ่งตัวเองไม่ได้มีส่วนรู้เห็นใดๆ
กล่าวเฉพาะในสยามประเทศการอยู่ร่วมกันระหว่างมุสลิมและพุทธศาสนิกชนนั้นเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยมาก่อน สาเหตุสำคัญน่าจะเกิดจากอิสลามในสมัยนั้นมีลักษณะของอิสลามตามแนวทางซูฟีดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ด้วยการดำเนินชีวิตประจำวันของมุสลิมในแนวทางนี้ที่มีลักษณะติดดิน เป็นเนื้อหนึ่งเดียวกันกับชาวบ้านและชุมชน (ทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม) ปรองดองกับความเชื่อดั้งเดิม ส่วนทางด้านพุทธนั้นก็มีลักษณะของความหลากหลาย มีความเป็นอิสระ ยังไม่ได้มีลักษณะของการรวมศูนย์และยังไม่มีกระบวนการทำพุทธศาสนาให้กลายเป็นไทยดังเช่นในปัจจุบัน ความมีจิตใจกว้างขวางต่อความแตกต่างจึงเป็นลักษณะทั่วไปของพุทธศาสนิกชนในสมัยก่อน ดังที่ อิบนุ อัลนาดิม ได้สะท้อนเอาไว้ข้างต้น
เมื่อเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ขึ้นทั้งอิสลามและพุทธก็เปลี่ยนไป ความต้องการให้เป็นแบบเดียวกันภายใต้รัฐชาติโดยการรวมศูนย์ ทำให้ทั้งสองศาสนาหลักของโลกสูญเสียมิติทางด้านความอดทนต่อความแตกต่างหลากหลายไปโดยเฉพาะในแง่ของการตีความ นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ศาสนิกชนสามารถเข้าถึงความรู้ทางศาสนาได้ด้วยตัวเองแทนการฝึกฝน ปฏิบัติและการขัดเกลาตนเองกับครูผู้รู้ในช่วงระยะเวลาที่กำหนด ได้นำไปสู่ความเข้าใจศาสนาที่ขาดมิติทางจิตวิญญาณที่อ่อนโยนและการมีเมตตา สำหรับอิสลามนั้นการตีความตัวบททางศาสนาตามตัวอักษรที่มิได้พิจารณาถึงบริบทของสังคมไทยที่มุสลิมดำรงอยู่ได้ก่อให้เกิดความคิดทางศาสนาที่มีมุมมองคับแคบ แข็งกระด้างและตายตัว ความเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มนำไปสู่ความสัมพันธ์ในลักษณะต่างคนต่างอยู่ (Live and let Live) ขาดการปฏิสัมพันธ์กันของชุมชนพุทธและชุมชนมุสลิม เหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และความรุนแรงในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อชุมชนมุสลิม ความรู้สึกถึงความเป็นอื่นต่อกันและกันจึงค่อยๆก่อตัวและได้พัฒนาไปเป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านซึ่งกันและกันอย่างเปิดเผย เหตุการณ์การต่อต้านการก่อสร้างมัสยิดที่จังหวัดทางภาคเหนือ และเหตุการณ์การร้องเรียนของผู้ประกอบการโรงแรมในเรื่องเสียงดังของมัสยิดในจังหวัดภูเก็ตซึ่งต่อมาทำให้ชุมชนมุสลิมรวมตัวกันประท้วงปิดทางเข้าโรงแรม เป็นสัญญาณที่จะต้องนำมาขบคิดอย่างจริงจังเพื่อหาทางไม่ให้ลุกลามบานปลายไปสู่ความขัดแย้งระหว่างสองชุมชนทางศาสนา ดังเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน
ในฐานะพลเมืองที่เท่าเทียมกันแต่มีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่แตกต่างจากผู้คนส่วนใหญ่ มุสลิมจำเป็นต้องอธิบายความแตกต่างนั้นให้ชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้มีความเข้าใจและมั่นใจว่าการดำเนินชีวิตของมุสลิมมิได้เป็นอุปสรรคหรือเป็นภัยคุกคามต่อความเชื่อและแบบแผนการดำเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชน มุสลิมเป็นสินทรัพย์ (Asset) ที่สำคัญของชุมชน มิใช่ภาระ(Liability)ที่ชุมชนจะต้องแบก การ “อธิบาย” นี้ มิได้หมายถึงแค่การพูดว่าศาสนาอิสลามคืออะไร วิถีปฏิบัติของมุสลิมเป็นอย่างไรหรืออะไรที่เป็นข้อห้ามทางศาสนาอิสลาม หากแต่คือการสร้างปฏิสัมพันธ์กันอย่างเข้มข้นกับชุมชนชาวพุทธที่เป็นคนส่วนใหญ่ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เป็นปัญหาร่วมกัน เช่นปัญหายาเสพติด การศึกษา ปัญหาความความเหลื่อมล้ำในสังคม การคอรัปชั่น ธรรมาภิบาล การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ฯลฯ การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ความเข้าใจ ความไว้วางใจ และความมั่นใจ ตลอดจนการเคารพนับถือต่อกันและกันเกิดจากการทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ มิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือการคาดหวังลมแล้งๆว่าผู้อื่นจะเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของมุสลิม การปฏิสัมพันธ์เช่นนี้เองที่ทำให้มุสลิมซึ่งมีอยู่จำนวนน้อยมากในจังหวัดชัยนาถสามารถตั้งมัสยิดอยู่ใจกลางเมืองโดยได้รับการสนับสนุนจากชุมชนพี่น้องชาวพุทธ เช่นเดียวกับที่จังหวัด ราชบุรี นครปฐม และจังหวัดอื่นๆ
นักวิชาการศาสนาในอดีตจริงจังมากในประเด็นของการเป็นผู้ริเริ่มยื่นมือออกไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างศาสนา อิบนุ อัล อะรอบีย์ (เสียชีวิต ค.ศ. 1148) และ อัลกุรฏูบีย์ (เสียชีวิต ค.ศ. 1273) มีความเห็นว่า คำว่า อัล-กิสฏ (تُقْسِطُو) ในบทที่ 60 วรรคที่ 8 ของคัมภีร์อัลกรุอ่าน ซึ่งเป็นวรรคที่ว่าด้วยการสร้างสัมพันธ์กับชนต่างศาสนา โดยทั้งสองท่านอธิบายว่ามันหมายถึง “การมอบทรัพย์สินส่วนหนึ่งของพวกเจ้า (มุสลิม) ให้แก่พวกเขา (เพื่อนต่างศาสนา) เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธ์” เลยทีเดียว[3]
จากความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมและพุทธศาสนิกชนในปัจจุบันที่มีสัญญาณของความขัดแย้งและเค้าลางของความตึงเครียดในอนาคต มุสลิมในประเทศไทยมิอาจนั่งอยู่เฉยๆ (passive) เพื่อรอความเข้าใจจากพี่น้องต่างศาสนา หากแต่ต้องเป็นผู้ริเริ่ม (pro-active) ยื่นมือไปออกไปยังชุมชน ทำงานร่วมกัน ดังชายหนุ่มที่ยื่นมือไปยังหญิงสาวพร้อมกับเชิญชวนด้วยถ้อยคำที่สุภาพและเป็นมิตรที่สุดว่า Shall we dance? (เต้นรำกันมั้ยครับ?)
[1] นักวิชาการ สถาบันวะซาฏียะฮเพื่อสันติภาพและการพํฒนา สำนักจุฬาราชมนตรี
[2] อ้างใน Imtiyaz Yusuf, “Dialogue Between Islam and Buddhism through the Concepts Ummatan Wasaṭan (The Middle Nation) and Majjhima-Patipada (The Middle Way)”, Islamic Studies, 48:3, 2009 หน้า 370.
[3] โปรดดู อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา, อิสลามศาสนาแห่งสันติภาพ (ปัตตานี: สถาบันอัสลาม มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา, 2554), 74.