คดีวิสามัญฆาตกรรม เป็นที่พบเห็นเป็นประจำจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สื่อมวลชนมักจะเสนอข่าวทำนองว่า “ เจ้าหน้าที่ทำการวิสามัญโจรใต้ ” โดยได้รับข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รายงาน และนำเสนอต่อสาธารณะชนหลังเหตุการณ์เสร็จสิ้น ในเหตุการณ์วิสามัญหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้ว ได้สร้างความเสียหายต่อผู้ตาย รวมทั้งเกียรติยศและชื่อเสียงของทางฝ่ายครอบครัวผู้ตายเป็นอย่างมาก
ผลที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ดังกล่าว มักจะมีข้อเท็จจริงหรือข้อมูลสองด้านที่โต้แย้งอยู่เสมอ ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะมีข้อมูลว่าผู้ตายเป็นผู้ก่อแหตุรุนแรง มีประวัติเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุหลายคดี มีหมายจับในคดีความมั่นคงหลายหมาย แต่ทางฝ่ายครอบครัวของผู้ตายซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน ไม่มีความรู้ความใจข้อกฎหมาย มีความรู้สึกหวาดกลัวกับเหตุการณ์ รวมทั้งถูกกดดันจากทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ รายใดที่ได้รับความสนใจจากสาธารณะชนก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง แต่รายใดที่ไม่มีสถานะทางสังคม ไม่ได้รับความสนใจ ได้แต่เก็บความรู้สึกเจ็บปวดไว้ในใจ
อยากชวนให้มาดูมุมมองทางกฎหมายเกี่ยวกับคดีวิสามัญเพื่อให้เห็นภาพในกระบวนการยุติธรรมได้ชัดขึ้นคดีวิสามัญ ตามกฎหมายคือคดีที่ความตายเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ดังนั้น ถ้ามีเหตุการณ์ใดที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังในการปฎิบัติหน้าที่ เป็นผลให้เกิดความตาย หรือเจ้าหน้าที่ได้ทำการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ใดแล้วทำให้ผู้ถูกควบคุมถึงแก่ความตาย เช่นนี้ถือว่าเป็นคดีวิสามัญ ซึ่งสาระสำคัญมีความแตกต่างกับคดีทั่วไปคือต้องมีการชันสูตรพลิกศพ โดยผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์นิติเวช และหน่วยงานอื่นด้วย
การชันสูตรพลิกศพ ในคดีวิสามัญ กฎหมายกำหนดบทบาทของพนักงานสอบสวนเป็นหลัก ข้อแตกต่างกับการตายในกรณีทั่วไป คือ นอกจากพนักงานสอบสวนและแพทย์นิติเวชแล้ว ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครอง เข้าร่วมในการชันสูตรพลิกศพด้วย และก่อนที่จะทำการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบเท่าที่จะทำได้
เนื่องจากคดีวิสามัญจะมีปัญหาที่เกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะในเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ถูกกล่าวหาต่อสังคมแล้วว่า ทำให้ประชาชนตาย แต่เจ้าหน้าที่มักจะอ้างว่าผู้ตายกระทำต่อเจ้าหน้าที่ก่อน คดีวิสามัญในต่างประเทศจึงเห็นว่าเป็นคดีสำคัญ บางประเทศจะลดบทบาทของพนักงานสอบสวน โดยให้แพทย์นิติเวชที่มีความเชี่ยวชาญการพิสูจน์หรือผ่าศพ ซึ่งเป็นแพทย์อิสระที่ไม่ได้ขึ้นตรงกับหน่วยงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือที่ทำให้ตาย เพราะมีจรรยาบรรณทางวิชาชีพที่จะต้องรับผิดชอบ แพทย์นิติเวชจึงมีหน้าที่ให้ความเป็นธรรมต่อศพ
ความรู้ของแพทย์สามารถที่จะอธิบายสภาพของศพต่อสาธารณะชนได้ เพราะตามหลักวิชาการแล้ว ถือว่าศพสามารถพูดได้โดยผ่านบาดแผลตามเนื้อตัวหรือร่างกายของศพ บาดแผลจากศพถือว่าเป็นพยานที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวให้รู้ในโลกนี้ โดยไม่ต้องรอจากโลกหน้าแต่อย่างใด หากแพทย์จำเป็นต้องผ่าศพ แพทย์ต้องทำการผ่าเพราะเห็นว่าการพิสูจน์การตาย เป็นการให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน และหากปรากฎว่า เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำความผิด ก็จะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ไม่ได้รับการยกเว้น ในประเทศที่เจริญแล้วจะรักษาหลักการนี้ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่มีบุคคลใดอยู่เหนือกฎหมาย เพื่อสร้างความเท่าทียมกันของบุคคลในสังคม
ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นในคดีวิสามัญในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกครั้งคือผู้ตายมีการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ต้องทำการยิงตอบโต้ และเมื่อความตายเกิดขึ้น จะปรากฎภาพอาวุธปืนที่ศพของผู้ตาย ตามด้วยข้อกล่าวหาว่าผู้ตายเป็นแกนนำในระดับปฎิบัติการ ก่อเหตุมาแล้วหลายคดี มีหมายจับตามพรก.หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาแล้วหลายคดี แต่นั่นเป็นเพียงการสร้างเหตุผลและความชอบธรรมต่อสาธารณชนเท่านั้น เพราะเจ้าหน้าที่มีอำนาจและมีอิทธิพลทางด้านสื่อมากกว่า โดยเฉพาะภายใต้กฎหมายพิเศษ แต่หลักประกันทางกฎหมาย และมาตรการทางสังคมต่อเรื่องนี้ จะรับผิดชอบหรือคุ้มครองสิทธิของผู้ตายและครอบครัวได้อย่างไร
ด้วยเหตุที่คดีวิสามัญฆาตรกรรม เกี่ยวข้องกับการกระทำของเจ้าพนักงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อำนาจในสอบสวนและแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงล้วนเป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ การที่กฎหมายกำหนดรูปแบบการชันสูตรที่พิเศษและแตกต่างกับการทำสำนวนในดคีอาญาทั่วไป ก็เนื่องจากผู้ตายไม่สามารถเรียกร้องหาความเป็นธรรมได้ จึงต้องสร้างกลไกในการตรวจสอบ และสุดท้ายพนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานเสนอพนักงานอัยการยื่นต่อศาลให้มีคำสั่ง หากความตายเป็นผลจากการกระทำความผิดอาญาของเจ้าหน้าที่ ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย
แม้ในชั้นของการยื่นคำร้องขอไต่สวนการตายของพนักงานอัยการ จะเป็นการยื่นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นทนายของแผ่นดิน และกฎหมายเปิดโอกาสให้ญาติของผู้ตายแต่งตั้งทนายความมาซักถาม แต่บทบาททั้งของพนักงานอัยการและของทนายความในทางทฤษฎีแล้วก็คือ ร่วมกันในการตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อเสนอข้อมูลต่อศาล เพื่อให้ศาลได้เห็นภาพและอธิบายถึงพฤติการณ์แห่งการตายได้โดยละเอียด รวมทั้งวินิจฉัยไปโดยถูกต้องและเป็นธรรม ไม่ใช่แยกส่วนแยกฝ่ายเหมือนคดีอาญาทั่วไป
ปัญหาที่พบในทางปฏิบัติ สำนวนการไต่สวนการตายในคดีวิสามัญในภาคใต้ ข้อเท็จจริงในส่วนของสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตายนั้น ยังไม่มีระบบของการค้นหาความจริงได้อย่างแท้จริง บทบาททั้งของพนักงานอัยการ ยังเป็นบทบาทที่พยายามปกป้องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่ทนายความของญาติผู้ตายพยายามนำเสนอพยานหลักฐานให้ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งเป็นพยานแวดล้อมเสียส่วนใหญ่ เพราะทางญาติของผู้ตายไม่สามารถเข้าถึงพยานหลักฐานในชั้นต้น แม้แต่รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ศาลก็ยังมองว่าเป็นพยานหลักฐานนอกสำนวน
นอกจากนี้รายงานของแพทย์ในการชันสูตรพลิกศพ ไม่มีรายละเอียดอธิบายให้เห็นความชัดเจน ในลักษณะของศพและบาดแผลของผู้ตาย พนักงานสอบสวนจะเน้นการสอบสวนพฤติการณ์แห่งการตายจากเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ตายเป็นหลัก สำนวนการสอบสวนจึงมีแต่บันทึกคำให้การของเจ้าหน้าที่ที่ทำให้ตาย ซึงส่วนใหญ่แล้วเป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง ในขณะที่แพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ ก็ให้ข้อมูลหรือจัดทำรายงานตามสภาพของศพที่ปรากฏภายนอกทางด้านกายภาพเท่านั้น ทั้งไม่ได้พิจารณาในส่วนของความสัมพันธ์ของข้อเท็จจริง ว่ามีความสอดคล้องกันจากสภาพของศพ วิถีกระสุน รวมทั้งผลการตรวจของวิทยาการ เช่น ลายนิ้วมือแฝงและเขม่าดินปืน รวมทั้งดีเอ็นเอซึ่งเป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์
ดังได้กล่าวมาแล้ว จุดมุ่งหมาของกฎหมายในการร่วมกันชันสูตรพลิกศพในดคีไต่สวนการตาย ก็เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกัน ไม่ให้ผูกขาดอำนาจเฉพาะพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับคดีอาญาทั่วไป เพราะข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกับความจริง และข้อเท็จจริงที่ขาดตกบกพร่องนั้น ไม่สามารถที่จะหามาเติมเต็มในภายหลังได้ โดยเฉพาะศพของมุสลิมซึ่งต้องรีบฝังภายใน ๒๔ ชั่วโมง หากการสอบสวนไม่ชัดเจน มีประเด็นต้องทำการตรวจพิสูจน์ศพเพิ่มเติม ก็ไม่สามารถที่จะขุดศพมาชันสูตรใหม่ได้ แม้จะเคยมีคำวินิจฉัยจากผู้นำศาสนาว่าสามารถทำการขุดเพื่อผ่าศพได้ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ หลักความเชื่อจึงเป็นอุปสรรคเสียเองในการหาข้อเท็จจริง กลับกลายเป็นว่าฝ่ายญาติผู้ตายต้องเป็นผู้ดิ้นรนแสวงหาพยานหลักฐานด้วยตนเอง ทั้งที่การให้ความเป็นธรรมเป็นหน้าที่หรือภาระกิจของรัฐ
ปลายทางของกฎหมายในคดีวิสามัญ ก็คือหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ไม่ใช่ไต่สวนให้ได้ตามรูปแบบและพิธีทางกฎหมายเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุดเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลไกทางกฎหมายกลับเป็นอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ ผู้ตายและญาติของผู้ตายหลายรายไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะภายหลังการตายแล้วมีการกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสี ยัดเยียดอาวุธปืนที่ศพ นอกจากจะไม่เป็นธรรมการญาติผู้ตาย ยังเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมของการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง ระบบของกฎหมายจึงกลายเป็นว่าทำหน้าที่ในการปกป้องคนผิด หรือสร้างวัฒนธรรมปล่อยคนผิดลอยนวล (impunity)
กระบวนการสันติภาพหรือสันติสุขไม่สามารถสร้างได้โดยสมบูรณ์ หากขาดกระบวนการในการสร้างความเป็นธรรมที่เป็นรูปธรรม คนที่ไม่ดีย่อมมีอยู่ในสังคมไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติหรือศาสนาใด แต่คนที่ไม่ดีไม่สามารถอยู่ได้ในระบบกฎหมายและวัฒนธรรมที่ดี หากยังมีการส่งเสริมวัฒนธรรมบางอย่างภายใต้ระบบกฎหมายที่ไม่ดี เราไม่มีหลักประกันใดเลยที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม แม้จะมีบทเรียนมาแล้วมากมายเพียงใด โดยเฉพาะในสามจังหวัดแล้ว ไม่สามารถที่จะลบความรู้สึกเกลียดชัง และยังคงหล่อเลี้ยงความขัดแย้งให้ยังคงอยู่ต่อไป ไม่มีประโยชน์ที่เราจะเรียกร้องและสร้างกระบวนการสันติภาพหรือสันติสุข หากปราศจากการสร้างกระบวนการยุติธรรมที่ให้ความเป็นธรรมอย่างเป็นรูปธรรมได้จริง
แม้ทุกวันนี้ภาครัฐจะใช้ความพยายามในการให้ความเป็นธรรม และพัฒนากลไกในกระบวนการยุติธรรมให้สามารถที่จะดำเนินคดีโดยมีประสิทธิภาพ และใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์หรือ ดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลย แต่มุ่งแต่หาความผิดของฝ่ายที่ถูกกล่าวหาเท่านั้น แต่สำหรับคดีวิสามัญ ยังไม่เห็นความพยายามในการแสวงหาพยานหลักฐานเหล่านี้ เพื่อให้กลไกของกระบวนการยุติธรรม ทำหน้าที่ในการหาคนกระทำความผิดมาลงโทษ หากยังเป็นอยู่เช่นนี้ โครงสร้างของสังคมในสามจังหวัดก็ยังคงอยู่บนโครงสร้างเดิม ที่ไม่สามารถสร้างความเท่าเทียมได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการหาสันติภาพในพื้นที่