Skip to main content

สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 23

วันพุธที่ 8 เมษายน 2558

ณ โรงแรม ซี เอส ปัตตานี

 

ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคดำรงไทย นักการเมืองท้องถิ่น อดีตนักการเมือง เจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล

เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมให้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

 

ที่ประชุมได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนกับตัวแทน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข และเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนั้น ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนและมีข้อคิดเห็นซึ่งสรุปได้ดังนี้

1) กรณีที่มีการแถลงข่าวผลการสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์บ้านโต๊ะชูด อำเภอทุ่งยางแดง ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 4 คนนั้น ที่ประชุมมีความเห็นว่า การยอมรับข้อเท็จจริง การกล่าวคำขอโทษของแม่ทัพภาคที่ 4 และการดำเนินการเยียวยานั้น ช่วยให้เกิดความเข้าใจและความรู้สึกที่ดีขึ้น และหากดำเนินการที่จะให้เกิดความยุติธรรมในเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งควรเริ่มด้วยการให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงออกจากพื้นที่ในระหว่างการสอบสวน ก็จะเป็นผลดียิ่งขึ้น ทั้งต่อความรู้สึกของประชาชน และต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขต่อไป อนึ่ง ในส่วนของเงินเยียวยานั้น เมื่อได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแล้ว ก็ควรให้ผู้กระทำความผิดนั้นมีส่วนรับผิดโดยจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าวด้วย

2) ที่ประชุมขอชื่นชมการที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้แถลงจุดยืนต่อสื่อมวลชนอย่างชัดเจนในกรณีการเสียชีวิตของนักศึกษาในเหตุการณ์บ้านโต๊ะชูด และขอชื่นชมการเรียกร้องความยุติธรรมจากหลายองค์กร รวมทั้งเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ

3) ในการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีเกิดเหตุรุนแรงเช่น กรณีบ้านโต๊ะชูด นั้น ควร ประกอบด้วยบุคคลที่น่าเชื่อถือ และบุคคลผู้มีความชำนาญการ เช่นในทางนิติวิทยาศาสตร์ และในการสืบสวน ทั้งนี้ เพื่อให้ผลการสอบข้อเท็จจริงเป็นที่ยอมรับทั้งฝ่ายรัฐและประชาชน นอกจากการมีคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่แต่งตั้งโดยทางการแล้ว ควรที่ฝ่ายวิชาการและภาคประชาสังคมในพื้นที่จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการคู่ขนานซึ่งจะทำงานเสริมฝ่ายราชการ และเป็นที่พึ่งแก่ฝ่ายประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย อนึ่ง กรณีการมีกระทู้ของฝ่ายการเมืองในสภา จะมีส่วนช่วยให้ความทุกข์ของประชาชนได้มีช่องทางที่จะนำเสนอสู่สาธารณะและสู่การรับรู้ของผู้รับผิดชอบได้อีกทางหนึ่ง

4) การตรวจค้น ปิดล้อมที่ผ่านมา มักดำเนินการจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งต่อมาหลายคนก็ถูกปล่อยตัวโดยไม่ตั้งข้อหา แต่ก็อาจทำให้เกิดความเคลือบแคลงและความเดือดร้อนเกินกว่าเหตุ อันที่จริง การดำเนินการจับกุม ควรมีการสืบสวนและมีบุคคลเป้าหมายที่จะจับกุมที่ชัดเจนอยู่ก่อนแล้ว

5) ก่อนเปิดการพูดคุยอย่างเป็นทางการในรอบต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนั้น ทางราชการน่าจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดี โดยมีมาตรการที่เกื้อกูลต่อประชาชนในพื้นที่และต่อการลดความตึงเครียดกับฝ่ายที่เห็นต่าง เช่น การลดการใช้กฎหมายพิเศษในบางพื้นที่  

6) ในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุข รัฐควรเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยผ่านหลายช่องทาง (multi-track process) ช่องทางหนึ่งคือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงและเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพูดคุยและเสนอความต้องการแก่ฝ่ายที่เห็นต่าง อีกช่องทางหนึ่งคือการเปิดโอกาสให้ญาติพี่น้องของผู้มีความประสงค์จะกลับบ้านสามารถติดต่อกับผู้มีความประสงค์ดังกล่าวได้โดยตรง

7) กระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขได้ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ ที่ประชุมมีความเห็นว่า หากมีความคืบหน้าประการใด คณะพูดคุยควรจัดเวทีสาธารณะในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนในผลความคืบหน้าและแนวทางที่จะดำเนินการพูดคุยต่อไป

8) ควรมีพื้นที่สื่อที่เปิดให้แก่ทั้งฝ่ายประชาชน ฝ่ายที่เห็นต่าง และฝ่ายรัฐ ได้สามารถสะท้อนความคิดเห็น ทั้งในเรื่องความปลอดภัย การพุดคุยสันติภาพ/สันติสุข และการพัฒนาสู่อนาคตที่จะอยู่ร่วมกัน