Skip to main content

กลุ่มด้วยใจบันทึกเหตุการณ์ความรุนแรงที่ทุ่งยางแดง จ. ปัตตานีหลังจากความรุนแรงผ่านไป 1 เดือน

 

Article 3 Everyone has the right to life, liberty and security of person.

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ใน ข้อ 3 กล่าวว่าคนทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิตเสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน

สิทธิในชีวิต ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้และได้รับการคุ้มครองให้ปลอดภัยได้รับการตอบสนองตามความต้องการขั้นพื้นฐานของชีวิต

 ศาสตราจารย์วิทิต มันตราภรณ์ [1]  จาก คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์  ได้กล่าวเมื่อ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557 ว่า สิทธิในชีวิต ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย และไม่มีใครควรถูกพรากชีวิตไปโดยพลการ และ ในกติการะหว่างประเทศมีหลักการมากมายที่รับร้องสิทธิพื้นฐานนี้ ว่าไม่ควรมีใครถูกฆ่าตายหรือพรากชีวิตไปโดยพลการเช่น Code of conduct ระบุว่าเจ้าหน้าที่ใช้กำลังได้ แต่ต้องใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และใช้อย่างสมสัดส่วนและไม่เกินกว่าเหตุ แล้วก็ต้องใช้แนวทางที่ไม่ใช้อาวุธก่อนการใช้อาวุธ การยิงหรือการใช้อาวุธต้องดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอน มีการเตือนก่อนว่าจะใช้ความรุนแรง กฎการใช้กำลังต้องสั่งอย่างเป็นทางการ มีระบบการสั่งการเป็นโครงสร้างที่ชัดเจนหรือไม่ หรือให้ใช้อาวุธบางประเภทก่อน แล้วค่อยใช้อาวุธปืนหรืออาวุธรุนแรงอื่นๆ

 หลักการกับความเป็นจริงอาจไม่ตรงกันได้แต่หากสามารถทำความจริงให้ตรงกับหลักการก็สามารถนำสู่การสร้างสันติภาพได้

 จากเหตุการณ์การปะทะที่บ้านโต๊ะชูด ตำบลพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 ที่ปรากฏตามข่าวในช่วงแรกและกลายเป็นโศกนาฏกรรมเมื่อกลับกลายเป็นว่าประชาชนจำนวน 4 คน ที่เสียชีวิตมิใช่ผู้ก่อความไม่สงบตามข่าวสารที่หน่วยงานความมั่นคงได้รับแจ้ง จนนำไปสู่การตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงและปรากฏผลการสอบข้อเท็จจริงว่า

1.     ผู้ตายเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือไม่? ทางคณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบจากพยานหลักฐานคำให้การยืนยันของผู้นำชุมชน ตลอดจนอาจารย์ของมหาวิทยาลัยฟาฏอนี รวมทั้งจากการตรวจสอบด้านการข่าว ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทั้ง 4  คน มีพฤติการณ์เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือแนวร่วมมาก่อน จะมีเพียงผู้ตายบางคนมีส่วนเกี่ยวข้องและเคยถูกจับกุมในคดียาเสพติด (เสพน้ำกระท่อม) และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานบุคคล ยืนยันว่าก่อนที่จะเกิดเหตุถึงแก่ความตาย และขณะวิ่งหลบหนีการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทั้ง 4 คน ครอบครองอาวุธปืนแต่อย่างใด นอกจากนี้ ผลการตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่พบใกล้ศพผู้ตายก็ไม่ปรากฏประวัติในการก่อเหตุรุนแรงในคดีอื่น

2.     เหตุผลของเจ้าหน้าที่ในการริเริ่มปฏิบัติการ  การริเริ่มปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ถูกต้องและสมเหตุผลหรือไม่? จากการให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการและผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการมีความเห็นร่วมกันว่าจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในครั้งนี้ น่าเชื่อว่ามีเหตุผลเพียงพอเนื่องจาก ประการแรก เมื่อพิจารณาจากข้อมูลด้านข่าวกรองแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติอ้างว่า ปรากฏข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวผู้ก่อเหตุรุนแรงรายสำคัญในพื้นที่ปฏิบัติการ คือ นายอันวาร์  ดือราแม ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับสั่งการ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าผลจากการซักถามผู้ถูกควบคุมตัวในกรณีนี้ของเจ้าหน้าที่ฯ ยืนยันว่าบุคคล 3 คนใน จำนวน 22 คน ที่ถูกควบคุมตัวมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงในกลุ่มของนายอันวาร์ฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นผลจากการซักถามมีคำรับสารภาพของผู้ถูกควบคุมตัว  นอกจากนี้ เหตุผลของเจ้าหน้าที่ ยังเกี่ยวข้องกับการที่เขตอำเภอทุ่งยางแดงเป็นพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารสามารถปฏิบัติการได้ทันทีเมื่อมีเหตุจำเป็น โดยไม่ต้องมีหมายค้น ในขณะที่การจัดกำลังเข้าปฏิบัติการที่มีจำนวนเพียง 40 นาย และปฏิบัติการมุ่งต่อเป้าหมายเฉพาะนั้นก็เป็นไปตามนโยบายของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. “ในชั้นนี้ คณะกรรมการมีความเห็นว่าจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นครั้งนี้ชอบด้วยเหตุผลในการปฏิบัติการ”

3.     ปืนเป็นของผู้ตายหรือไม่?  ทางคณะกรรมการฯ เห็นว่าเหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้มีการเสียชีวิตทั้ง 4ราย นั้นเกิดขึ้นห่างจากจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการประมาณ 300   เมตร ในบริเวณป่าสวนยางพารา มีเฉพาะเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการเท่านั้นที่เห็นเหตุการณ์ ประกอบกับคณะกรรมการมีเวลาจำกัดในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพียง 7 วัน จึงไม่สามารถหาประจักษ์พยานอื่นใดมาให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการได้ ส่วนหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ระบุเขม่าดินปืนที่มือผู้ตาย และที่อาวุธปืนของกลาง ไม่มีหลักฐานบ่งชี้เชื่อมโยงระหว่างผู้ตายกับอาวุธปืนอย่างชัดเจนและยังมีความเคลือบแคลงในบางประเด็น แต่จากการให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ และพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายคน ให้ข้อมูลยืนยันตรงกันว่าก่อนเกิดเหตุวิสามัญฆาตกรรม ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทั้ง 4 คน ครอบครองอาวุธปืนแต่อย่างใด คณะกรรมการจึงมีความเห็นน่าเชื่อว่าอาวุธปืนของกลางไม่ใช่เป็นของผู้ตายตั้งแต่เริ่มต้น[2]

นอกจากนี้ทางคณะกรรมการก็ได้เสนอแนวทางในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทั้งในระดับปฏิบัติการและระดับนโยบาย

แต่ในมุมมองของกลุ่มด้วยใจที่ได้ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2558 , 3,17 ,18 และ 23 เมษายน 2558 โดยการสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีวิต 2 ครอบครัว และ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จำนวน 5 คน มีข้อสงสัยและตั้งคำถามต่อประเด็นดังต่อไปนี้

1.   การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ถึงแม้จะดำเนินการภายใต้กฎอัยการศึกแต่การปฏิบัติการไม่เป็นไปตามกฎการปะทะจากปฏิบัติการที่ควรจะเริ่มจากเบาไปหาหนัก ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่แม่ทัพภาค 4ได้ให้ความสำคัญมาโดยตลอด   หรือ หลักสิทธิมนุษยชนที่คำนึงถึงสิทธิในการการมีชีวิต ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม

2.   เจ้าหน้าที่สามารถมองเห็นผู้ที่วิ่งหนีว่ามีอาวุธหรือไม่เพราะเป็นเวลากลางวันที่มีแสงสว่างเพียงพอและเป็นที่โล่งแจ้ง แต่การปฏิบัติการก็ใช้ความรุนแรงจนทำให้ประชาชนเสียชีวิตถึง 4 รายด้วยกัน

3.   ผู้ที่เสียชีวิตมีบัตรประชาชนและบัตรนักศึกษา และ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวสามารถระบุได้ว่าผู้เสียชีวิตคือใครแต่กลับปรากฏข่าวในสื่อกระแสหลักที่ระบุชื่อผู้เสียชีวิตเป็นบุคลที่มีหมายจับไม่ใช่บุคคลที่เสียชีวิตซึ่งเป็นการหละหลวม บกพร่องหรือ บิดเบือนข้อมูลผู้เสียชีวิต

4.   มีความเป็นไปได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนย้าย และสร้างพยานหลักฐาน เช่นการเคลื่อนย้ายศพ  มีการสร้างพยานหลักฐานโดยนำอาวุธมาวางที่ข้างๆ ศพ ซึ่งเป็นการสร้างพยานหลักฐาน เหมือนกรณีเหตุยิงเด็กเสียชีวิตที่อำเภอศรีสาครเมื่อปีที่แล้ว และเป็นวิธีปฏิบัติที่ควรได้รับการแก้ไข ซึ่งเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรง

5.   การไม่แจ้งให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตทราบทั้งนี้เหตุเกิดเมื่อเวลา 16 :00 น ญาติได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ เวลา 24: 00 น

ประเด็นเหล่านี้คงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์หรือค้นหาในทางกระบวนการยุติธรรมต่อไป ซึ่งความคืบหน้าในกระบวนการยุติธรรมทางกลุ่มด้วยใจได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ[3] ซึ่งได้แจ้งให้ทราบว่า ตอนนี้ทางตำรวจได้เรียกเจ้าหน้าที่ทหาร 3 คน และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 คนที่ร่วมปฏิบัติการในวันดังกล่าวมารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งทุกคนปฏิเสธ โดยข้อกล่าวหาที่ทางตำรวจจะดำเนินการส่งให้อัยการมี 3 สำนวน คือ

1 สำนวนไต่สวนการตาย

2 ผู้ตายพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน

3 เจ้าหน้าที่ร่วมกันฆ่าผู้อื่น

 

ทั้งนี้การส่งฟ้องศาลต่อไปจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอัยการว่าจะส่งสำนวนใด สำหรับการดำเนินการภายในองค์กรตำรวจ ทางศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ตั้งกรรมการสอบทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติการ และ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ทหารก็มีการดำเนินการให้ พ.อ. พิเชษฐ์ ชุติเดโช ผู้บังคับการกรมทหารพราน 41 ไปช่วยราชการนอกพื้นที่ที่มณฑลทหารบก 42 แล้ว เป็นเวลา 1 ปี และให้ พ.อ.สิทธิศักดิ์ เจนบรรจง รองผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 41 มาช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วม กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2558 เช่นกัน

แม้ว่าครอบครัวผู้เสียชีวิตมีความพอใจในระดับหนึ่งต่อการแถลงถึงผลสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวแต่พวกเขาก็ยังเดินหน้าในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษโดยมีการไปร้องเรียนที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี แต่สิ่งที่น่ากังวลใจในขณะนี้ คือความปลอดภัยของพยานในที่เกิดเหตุ   การดำเนินคดีในกระบวนการยุติธรรม และ การสร้างมาตรการที่ป้องกันมิให้เกิดเหตุลักษณะนี้  ซึ่งรัฐที่มีหน้าที่ในการปกป้องประชาชน ควรแสดงความรับผิดชอบที่มากกว่าการเยียวยา ซึ่งก็คือการแสดงความจริงใจให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าและนำกรณีนี้เป็นบทเรียนต่อไป จึงอยากให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญและติดตามกรณีนี้ต่อไปเพื่อสร้างบรรทัดฐานในการป้องกันการละเมิดต่อชีวิตของทุกคน ดังที่ในปฏิญญาสากลได้กล่าวถึง สิทธิ ในการมีชีวิตรอด

 

 



[2] http://www.deepsouthwatch.org/node/7028 สืบค้นวันที่ 25 เมษายน 2558

[3] สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจทุ่งยางแดงเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558