Skip to main content

ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้

 

 "ชีวิตที่ยืนบนเหล็กร้อนกลางทะเลเพลิง อยู่ที่ว่าฝ่ายไหนจะผลักเขาให้ตายก่อน" คำจำกัดความที่สะท้อนความรู้สึกและวิถีชีวิตของสมาชิกอบต.ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยามนี้

การเสียชีวิตของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งอยู่ภายในองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ปัญหาไฟใต้ได้ทวีความรุนแรงขึ้น ในจำนวน 230 อบต.มีสมาชิกประมาณ  2,660 ราย

ตั้งแต่ปี 2547-28 เมษายน 2550 จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บได้พุ่งสูงถึง 66 ราย โดยแยกเป็นผู้บาดเจ็บ 37 รายและเสียชีวิต 29 ราย น่าสนใจว่าในปี 2549 มีตัวเลขผู้เสียชีวิต 16 รายและบาดเจ็บ 26 ราย ขณะที่ปี 2548 นั้น มีผู้เสียชีวิตเพียง 3 ราย บาดเจ็บเพียง 5 รายเท่านั้น ส่วนปี 2547 เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บเพียง 2 ราย

จำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าวแม้ว่ายังน้อยกว่าคนของภาครัฐกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ หรือครู แต่นัยยะท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง กลับดูลึกซึ้งและถูกนำไปตีความอย่างหลากหลายกว่า

เหตุผลสำคัญเพราะ อบต.เป็นข้าราชการการเมือง ไม่ใช่ข้าราชการประจำเหมือนตำรวจ ทหารหรือครู ฉะนั้นที่มาที่ไปของพวกเขาจึงถูกตีความให้เป็นภาพสะท้อนพลังมวลชนและวิถีชุมชนที่พวกเขาสังกัดอยู่

ล่าสุด นายฆอยรินทร์ ดอเลาะ อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 13 ม.6 ต.บาโงสะโตร์อ.ระแงะ มีตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบาโงสะ อ.ระแงะ จ.นราธิวาสถูกสังหารเมื่อวันที่ 30 เมษายน ซึ่งก่อนหน้าสองวัน นายอับดุลมานะ มูดอ อายุ 45 ปี สมาชิก อบต.ตะปอเยาะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตขณะขับรถจักรยานยนต์ ส่วนอีกรายคือ นายซัมซูดิง หะยีสาแม สมาชิก อบต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ถูกยิงเสียชีวิตภายในสวนลองกอง

ตัวเลข อบต.ตกเป็นเหยื่อการถูกมุ่งหมายเอาชีวิตที่พุ่งสูงขึ้น ไม่มีใครอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ดีที่สุดเท่ากับเจ้าของปัญหาเอง

 นายก อบต.รายหนึ่งในเขต อ.บันนังสตา จ.ยะลาที่ขอร้องไม่ให้เปิดเผยชื่อ ให้ความเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่า "เป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายของคนที่ยืนข้างรัฐในท้องถิ่น"

เขาบอกว่า ยามนี้แม้แต่คนงานรถดูดส้วมยังถูกฆ่า คนที่ทำงานกับรัฐจึงเสี่ยงอันตรายหมด  แต่ อบต.ในทุกพื้นที่กำลังถูกจับตามองทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบเป็นพิเศษ ว่าจะเลือกเอาใจให้ฝ่ายไหน เขาให้ข้อมูลว่า ฝ่ายขบวนการฯ กำลังมอง "ใจ" ของคนนั้นว่า ทำงานฝ่ายรัฐแล้ว จะเอาใจให้รัฐด้วยหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ถูกพิสูจน์อย่างเข้มงวดจากคนในขบวนการฯ หากเมื่อไหร่ที่ให้ความร่วมมือกับรัฐจนส่งผลเสียต่อขบวนการเพียงครั้งเดียว จะถูกตามเก็บทันที

เขายกตัวอย่าง นายก อบต.เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา คนเก่า (ก่อนคนใหม่จะมาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 9 เมษายน) ในอดีตเขาวางตัวอยู่ตรงกลาง ถูกฝ่ายรัฐจับตามองอยู่ว่าเป็นฝ่ายขบวนการหรือไม่ และถูกฝ่ายขบวนการจ้องมองอยู่อย่างไม่กะพริบ แต่เหตุชาวบ้านลุกขึ้นมาประท้วงขับไล่ตำรวจตระเวนชายแดนที่โรงเรียนบ้านบาเจาะ อ.บันนังสตา ซึ่งไม่ได้เป็นเขตรับผิดชอบของตนเอง ทหารได้ไปขอร้อง "แกมบังคับ" ให้มาเป็นตัวกลางในการเจรจากับชาวบ้าน หลังการเจรจาสิ้นสุดไม่กี่วันเขาต้องอพยพครอบครัวหนีออกจากพื้นที่ทันที เพราะฝ่ายขบวนการตามล่าเอาชีวิต

นิยามที่ว่า "ชีวิตที่ยืนบนเหล็กร้อนกลางทะเลเพลิง" จึงฉายภาพได้ชัดเจนที่สุด

ขณะที่นายก อบต.แห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส บอกว่าใน 7 หมู่บ้านของตำบลที่เขาทำหน้าที่อยู่ ถูกฝ่ายขบวนการยึดไปแล้วถึง 5 หมู่บ้าน

"โดนยึดในที่นี้ อาจไม่ได้เป็นมวลชนฝ่ายขบวนการทั้งหมด แต่ต้องวางเฉย ที่แน่ๆ ก็คือ มีคนของขบวนการแทรกซึมอยู่" เขาอธิบาย

การแทรกซึมทำได้ง่าย เพราะ ก่อนปี 2547 ทุกหมู่บ้านเงียบสงบ แต่เป็นที่อยู่ของปัญญาชน เป็นคนมีอุดมการณ์ เมื่อเหตุการณ์ปะทุขึ้น การปลุกระดมจึงทำได้ง่ายและเร็ว

ภาพลักษณ์ที่ อบต.ส่วนใหญ่เผชิญคือผู้ที่อยู่บนผลประโยชน์ ไม่สนใจปัญหาบ้านเมือง แต่ นายก อบต.รายนี้บอกว่า จริงๆ  อบต.เองมีความคิดที่จะแก้ปัญหา แต่มักจะถูกมองข้าม และไม่ได้รับโอกาส เนื่องจากภาครัฐรัฐมีแนวคิดด้านลบต่อ อบต.ใน 3 จังหวัดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น อบต.เองก็ต้องแสดงบทบาทให้เป็นที่ประจักษ์ว่าตั้งใจทำงานและตั้งใจมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาภาคใต้ด้วย

เขายืนยันว่า อบต.ถูกกระหนาบไว้สองด้าน ด้านหนึ่งคือขบวนการก่อความไม่สงบ อีกด้านคือภาครัฐ ซึ่งอันตรายพอๆกัน เพราะภาครัฐเองก็พร้อม "เก็บ"เขาได้เสมอ หากมีข้อมูลหลักฐานว่ามีส่วนร่วมกับขบวนการ หรือแอบผันงบประมาณบางส่วนให้ฝ่ายขบวนการใช้ประโยชน์

ด้านนายก อบต.ในพื้นที่สีแดงอีกแห่งหนึ่งคือ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาสให้ความเห็นอีกด้านว่า การทำงานของ อบต.ในพื้นที่ ซึ่งต้องสวมเครื่องแบบของรัฐ กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเล่นงาน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฝ่ายแนวร่วมเองก็ประเมินว่า อบต.คนดังกล่าวมีบารมีอิทธิพลเพียงใด เพราะฝ่ายผู้ก่อการกลัวถูกตอบโต้กลับ เพราฉะนั้นเกราะป้องกันอย่างหนึ่งของ อบต.ก็คือต้องสร้างบารมีและอิทธิพลในท้องถิ่นของตนเองขึ้นมา เพื่อไม่ให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาทำลาย เขาบอกว่า อิทธิพลและบารมีก็ไม่ใช่ด้านลบเพียงอย่างเดียว แต่กลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงอยู่ในพื้นที่ของตนเอง

"บางครั้งรัฐเองก็ไม่เข้าใจ เมื่อเห็นผู้นำเหล่านั้นมีอำนาจ มีอิทธิพลมักมองไปทางด้านลบไปทั้งหมด และมักจะลงมือกวาดล้างด้วยความไม่ไว้ใจ"

นับวันการทำงานในพื้นที่ของอบต.ยิ่งยากลำบาก นายกอบต.รายนี้บอกว่า สิ่งสำคัญคือการวางตัวไม่ให้มีปัญหา เมื่อมีอิทธิพลและบารมีก็ต้องแสดงจุดยืนว่ามีเพื่ออะไร การทำงานก็ต้องผูกใจประชาชนให้ยืนอยู่ฝ่ายตนเอง ต้องมีแนวคิดที่ชัดเจนว่า ท้องถิ่นของตน ใครจะมาแบ่งแยกเพื่อเป้าหมายใดๆ ไม่ได้ เพราะคือแผ่นดินเกิด

"ปัญหาสำคัญคือ ฝ่ายรัฐเองก็ไม่มีเอกภาพในการทำงาน ใน 3 จังหวัด มีหน่วยงานมากมายที่ลงมาทำงาน ไม่ว่าจะเป็น ตำรวจท้องที่ ฝ่ายปกครอง ศปก.ตร. กอ.รมน. ศอ.บต.กองทัพภาคที่ 4 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ฯลฯ ซึ่งไม่ได้ประสานกัน บางครั้ง อบต.หรือผู้นำท้องถิ่นคนอื่นก็ปวดหัวกับการประสานจากหน่วยต่างๆ เหล่านี้

กรณีที่พุ่งเป้าการเสียชีวิตของ อบต.ไปที่ปัญหาความไม่สงบ นักวิชาการสันติวิธีอย่างนายฮัอหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง อดีตกอส.ที่ผันตัวเองมาลงรับสมัครเลือกตั้งจนได้รับเลือกเป็นนายกอบต.ปูยุต อ.เมือง จ.ปัตตานี ให้ภาพว่า เท่าที่ผ่านมา บางพื้นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องภายในของ อบต.เอง ไม่ว่าผู้ชนะ จะชนะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ย่อมดีใจ ส่วนผู้แพ้ ซึ่งอาจมีอิทธิพลเดิมอยู่ ย่อมเสียใจและยอมรับการพ่ายแพ้ไม่ได้  จึงต้องหาวิธีชนะนอกเกม

"สิ่งที่น่ากังวล  คือการอาศัยสถานการณ์ความไม่สงบก่อเหตุร้าย ใครไม่ชอบหน้าใครก็ฆ่าแกงกันได้ กรณีของ อบต.ก็เช่นกัน หลายกรณีน่าสงสัยมาก อย่างเช่นการบุกไปยิงถึงในบ้าน ผมเองยังไม่เชื่อว่าผู้ก่อการจะกล้าลงมือบุกเก็บคนทำงานให้รัฐถึงในบ้าน แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ทุกกรณี ไม่ใช่เฉพาะการเสียชีวิตของ อบต. ตำรวจกลับสรุปสำนวนว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบรายวัน แต่จับคนร้ายมาลงโทษตามกฏหายไม่ได้ เมื่อความจริงไม่เปิดเผยออกมา การตายของคนใน 3 จังหวัดจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา ความขัดแย้ง อิทธิพลท้องถิ่น หรือการโกงกินคอรัปชั่นจะถูกกดทับด้วยปัญหาความไม่สงบ"

นายก อบต.ปูยุตบอกว่า ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องอิทธิพลของมาเฟียเป็นสิ่งใกล้ตัวที่ชาวบ้านทุกคนรู้ แต่ไม่กล้าพูด เพราะฉะนั้นเมื่อ อบต.คนใดคนหนึ่งเสียชีวิต ชาวบ้านก็รู้ว่าใครทำ ใครลงมือ แต่ตำรวจกลับเร่งปิดคดี และจ่ายเงิน 3 แสนบาทเป็นการเยียวยา เพื่อแลกกับการไม่ต้องทำงาน เมื่อเป็นเช่นนี้ ความจริงจึงไม่ปรากฏ

"ส่วนหนึ่งของความขัดแย้งของ อบต.คือผลประโยชน์ ด้วยปัญหาด้านการศึกษา หรือการถูกจำกัดโลกอยู่ภายในสังคมแคบๆ ของตัเอง ทำให้เขาไม่รู้ว่าการถูกลงโทษทางวินัยหรือทางกฏหมาย มันน่ากลัวแค่ไหน เลยกล้าที่จะโกงกิน จึงเกิดเป็นปัญหาเยอะแยะมากมายตามมา"

เมื่อ 2 ปีก่อนคนสนิทของฮัอหมัด สมบูรณ์ ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทำให้เขาต้องประเมินสถานการณ์ภายในท้องถิ่นของตัวเองใหม่

"ผมเป็นคนแรกของพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่เครือญาติของผู้มีอิทธิพลในตำบลที่ได้รับเลือกตั้ง ทำให้ได้รับแรงกระทบมากมายหลังการเลือกตั้ง แต่ผมก็แสดงให้เขาเห็นว่า ผมไม่ได้เข้ามาสร้างอิทธิพลหรือสืบทอดอำนาจ เพียงแต่เข้ามาวางระบบการทำงานของนักปกครองท้องถิ่น และใช้หลักธรรมาภิบาลในการทำงาน ตอนนี้เขาเริ่มเข้าใจ จึงไม่กดดันมาก งานก็ไปได้ดี แต่ผมต้องแลกกับชีวิตของคนสนิทของผม"

นายฮัอหมัดบอกว่า ความน่ากลัวของระบอบการปกครองท้องถิ่น คือ 1.ผู้ปกครองไม่มีความรู้ 2.อยู่ในสายอิทธิพล 3.เกี่ยวข้องกับการเมืองระดับสูง 4.เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักปกครองมาก่อน เช่น ปลัดอำเภอ, นายอำเภอ, ผู้ว่าราชการจังหวัด ฯลฯ ซึ่งนักปกครองเหล่านี้เข้าไปครอบงำความคิดของบาง อบต. ยังใช้บารมีเดิมๆ เข้าไปชี้นำท้องถิ่น และใช้เป็นหุ่นเชิด

ส่วนความเห็นจากฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นนายทหารระดับสูงในกองทัพภาคที่ 4 ได้แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับนายฮัอหมัด สมบูรณ์ ว่า เกิดจากปัญหาความขัดแย้งเรื่องของผลประโยชน์ และอำนาจอิทธิพลท้องถิ่นมากกว่า

เขาให้ภาพว่า การเสียชีวิตของ อบต.ในพื้นที่ต่างๆ หากมีการศึกษาดีๆ จะพบว่า พื้นที่แห่งนั้น อบต.กับกำนันมีความขัดแย้งกันสูง แต่พื้นที่แห่งใดที่กำนันกับ อบต.เข้ากันได้ดี จะไม่พบการเสียชีวิตของ อบต.เลย ซึ่งเขาบอกว่าทั้งสองกรณี คือเงื่อนไขสำคัญของปัญหาภาคใต้

"ถ้า อบต.กับกำนันประสานความร่วมมือกัน ท้องถิ่นแห่งนั้นจะแข็งแกร่งมาก ฝ่ายแนวร่วมจะแทรกซึมไม่ได้ แต่หากที่ไหนขัดแย้งกัน ฝ่ายแนวร่วมแทรกซึมได้ง่าย จะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกจำนวนมาก"  นายทหารคนนี้ยังบอกด้วยว่า ความขัดแย้งในบริบทดังกล่าว ฝ่ายขบวนการฯจะมีส่วนร่วมทำให้ปัญหาบานปลายทั้งนั้น

"เมื่อมีการเลือกตั้ง ผู้มีอิทธิพลสองฝ่าย ต่างส่งคนของตัวเองลงรับเลือกตั้ง เมื่อฝ่ายใดพ่ายแพ้ก็จะงัดเกมใต้ดินมาเล่นงานผู้ชนะ หรือหากฝ่ายใดเข้าร่วมกับรัฐ อีกฝ่ายจะเลือกอยู่กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพื่อหาร่มเงาปกป้องคุ้มครองตนเอง สิ่งเหล่านี้คือปัญหาหมักหมมที่ทำให้ปัญหาภาคใต้ยืดเยื้อไม่จบสิ้น"

แต่ข้อมูลที่น่าสนใจจากนายทหารรายนี้บอกว่า จากการทำงานแบบเกาะติด ผสานกับหน่วยข่าวความมั่นคงในพื้นที่ พอจะประมวลภาพได้ว่า ฝ่ายกำนันส่วนใหญ่จะเลือกอยู่กับรัฐ ส่วน อบต.จะเกื้อกูลกับขบวนการผู้ก่อความไม่สงบมากกว่า แต่ข้อมูลที่ฝ่ายความมั่นคงได้มา ส่วนใหญ่เป็น "พื้นที่สีแดง" เท่านั้น ส่วน อบต.ในพื้นที่อื่นยังคงทำงานประสานกับฝ่ายรัฐได้ดี

"เราต้องพยายามเข้าไปเชื่อมประสานกับผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ปัญหา ทั้งฝ่ายกำนัน นายก อบต. ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำศาสนา เพื่อให้เขาเกิดความเข้มแข้งไม่มีเชื้อโรคร้ายเล่นงาน แต่ส่วนใหญ่มักไม่สำเร็จ เพราะเมื่อฝ่ายไหนเข้ากับรัฐได้ อีกฝ่ายจะไปเข้ากับโจรทันที"เขาพยายามหาทางออก แต่ดูแล้วช่วงยากเย็น

ขณะที่มีข้อมูลบางส่วนจากงานวิจัยของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับนักวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดลใน "โครงการศึกษาการปกครองท้องถิ่นของจังหวัดที่มีหลายชาติพันธุ์ กรณีศึกษา จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส" พบว่าปัญหาสำคัญของ อบต.คือ ไม่ได้รับการยอมรับจากฝ่ายความมั่นคงที่ลงไปทำงานในพื้นที่ เพราะมองว่า อบต.เป็นกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพล ผลประโยชน์ ให้เงินสนับนุนขบวนการฯ เช่นที่อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดรายหนึ่ง เคยออกมาบอกว่า 80% ของ อบต.ใน 3 จังหวัดอยู่ฝ่ายแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ

กรณีเช่นนี้จึงเกิดเป็นโลกทัศน์ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของรัฐต่อ อบต. ฝ่าย อบต.ก็จึงเกิดความน้อยใจ ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐในบางกรณี จึงเกิดช่องว่างระหว่างกันในที่สุด

จากข้อมูลยังพบว่า อบต.ส่วนใหญ่ ต้องการให้รัฐมอบความเชื่อมั่นและการยอมรับให้พวกเขาจึงจะแก้ไขปัญหาได้ แต่ต้องสนับสนุนด้านงบประมาณด้วย  โดยเขาจะเอาเงินส่วนนั้นไปสร้างอาสาสมัครป้องกันตนเอง และให้ขึ้นอยู่กับหมู่บ้าน โดยมีทหารเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้ แต่รัฐต้องถอนกำลังหลักออกไป หากวิธีของเขาไม่ได้ผล ทหารค่อยยกกำลังกลับใหม่

ข้อสังเกตเรื่องความสมดุลของโครงสร้างอำนาจชุมชนพบว่า อบต.ส่วนใหญ่คือคนหนุ่มที่มีการศึกษา มีวิสัยทัศน์และยอมรับการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างอำนาจ แต่กลุ่มอำนาจเก่า อาจเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำศาสนา ซึ่งมักยึดอยู่กับอิทธิพลเดิมของตน จึงเกิดความขัดแย้งกัน หรือ อบต.ส่วนใหญ่มักจะไม่ถูกยอมรับจากกลุ่มอำนาจเก่า จึงเกิดเป็นความขัดแย้งที่บานปลายถึงปัจจุบัน

แต่ส่วนหนึ่งก็ทำงานได้ดี ประสานกับผู้นำศาสนา นำศาสนามาพัฒนาคนในชุมชน พร้อมกับการเปิดกว้างด้านทางโลก

ทั้งนี้ อบต.ที่ผ่านการสำรวจความเห็น ต่างยอมรับว่าพวกเขาตกเป็น "เป้า" มากขึ้น และไม่ได้รับการสนับสนุนดูแลเท่าที่ควร จึงตกเป็นเหยื่อจากความอ่อนแอในที่สุด

ตัวอย่างชุมชนที่สามารถจัดการตนเองในเรื่องของโครงสร้างอำนาจ จนกลายเป็น "โมเดล" การจัดการความขัดแย้งในรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น คือองค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ที่นี่มีลักษณะการจัดการแบบพิเศษ คือผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนของคนทั้ง 2 ศาสนาคือพุทธ และมุสลิมขึ้นมาเป็นผู้นำท้องถิ่นกันคราวละ 1 สมัย ทั้งตำแหน่ง อบต.และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ประเสริฐ ภาสะโร นายก อบต.ทรายขาวบอกว่า เขาเป็นชาวไทยพุทธ เป็นอดีตกำนันที่เพิ่งมารับตำแหน่งนายก อบต.เมื่อ 2 ปีก่อน กำนันคนปัจจุบันจึงต้องเป็นคนมุสลิมสลับกัน ชุมชนที่นี่มีลักษณะพิเศษกว่าที่อื่น คือมีความสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์ร่วมกันตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน

สังคมที่นี่ทั้งคนพุทธและมุสลิม มีการแต่งงานด้วยกันจนเป็นเครือญาติหลายครอบครัว และที่สำคัญคือ ผู้นำศาสนาทั้งสองฝ่ายได้ปลูกฝังแนวคิดการอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้องจนฝังแน่น

หมู่บ้านแห่งนี้ มีชาวบ้านมุสลิมราว 55% และชาวพุทธ 45% จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการแทรกซึมจากบุคคลภายนอกเข้ามาปลุกปั่นยุแยงได้ ที่สำคัญคือในพื้นที่เองก็ไม่เคยเกิดเหตุร้ายใดๆ ทั้งสิ้น

นายอาดัม บาเหมบูงา อดีตนายก อบต.สมัยที่แล้วซึ่งเป็นมุสลิม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกฯ เปิดเผยว่า ต.ทรายขาวจะไม่มีเรื่องของอำนาจอิทธิพลใดๆ ทั้งสิ้น ทุกคนเชื่อว่าเป็นพี่น้องกัน การดำรงตำแหน่งผู้นำท้องถิ่นจะเป็นไปตามข้อตกลงที่กำหนดร่วมกัน ปัจจัยภายนอกนั้น ไม่สามารถแทรกแซงการตัดสินใจได้

"ปัจจัยภายนอก" ที่เขาพูดถึง หมายความรวมทั้งฝ่ายขบวนการความไม่สงบและการชี้นำความคิดจากฝ่ายรัฐ

"เราไม่เหมือนที่อื่น และพื้นที่อื่นจะนำไปใช้ก็คงยาก เพราะต้นทุนต่างกัน หากแต่สนใจศึกษาแนวคิด จะนำไปปฏิบัติแบบค่อยเป็นค่อยไปก็สามารถทำได้ แต่ต้องตั้งใจดี และสลัดความคิดเรื่องผลประโยชน์และอำนาจทิ้งไปเสียก่อน"

จากการพูดคุยสัมภาษณ์ หรือผลสรุปจากงานวิจัย ค่อนข้างประจักษ์ชัดว่า ปัญหาความไม่สงบ และความขัดแย้งหรืออิทธิพลท้องถิ่นต่างก็แยกปัญหากันไม่ออก มีการเชื่อมโยงกันในหลายกรณี ทางออกสำคัญของเรื่องนี้ คือการทำความจริงให้ปรากฏ

วันนี้รัฐบาลต้องกำหนดทิศทางในการทำงานร่วมกับท้องถิ่นให้ชัดเจน เพราะการอยู่ร่วมกันด้วยความหวาดระแวงย่อมไม่เป็นผลดีในทุกๆด้าน

รัฐบาลต้องตกผลึกทางความคิดให้ได้ว่า "อบต."ในจังหวัดชายแดนใต้ เป็นคนของรัฐ หรือเป็นจำเลยของทางการกันแน่